ทุกวันนี้เราได้ยินคนพูดเรื่องการ ‘Reskill’ หรือการพัฒนาทักษะใหม่อยู่บ่อยๆ มีคำเตือนให้เห็นอยู่เสมอว่าต้อง ‘ปรับตัว’ ถึงจะ ‘อยู่รอด’ ในยุคที่ธุรกิจเกิดการดิสรัปชัน (Disruption) และขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเช่นนี้ หากไม่ปรับ ไม่เรียนรู้ ก็ไม่รอด! แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงเลยว่า…
วิธีเรียนรู้และฝึกฝนทักษะใหม่ๆ จนสำเร็จนั้นต้องทำอย่างไร
แน่นอนว่าหลายๆ คนเคยพยายามที่จะพัฒนาตนเอง หรือ ปรับเปลี่ยนนิสัย โดยมีความอยากรู้อยากเห็นและความต้องการที่จะเป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ดีกว่าเป็นแรงผลักดัน และพวกเขาก็รู้ด้วยว่ากุญแจสู่ความสำเร็จหลายๆ ดอกที่ต้องมีนั้นคืออะไรบ้าง อย่างวิธีคิดแบบ ‘Growth Mindset’ พร้อมทักษะที่ถูกต้องอย่าง ‘Lifelong Learning Skill’ ไปจนถึงการวางขั้นตอนเล็กๆ ทีละก้าวในการไปสู่เป้าหมาย หรือ การมี ‘Small Goals’ นั่นเอง
แต่ถึงจะมีคำแนะนำและความรู้ท่วมท้นขนาดนี้ ทำไมหลายคนถึงทำไม่สำเร็จเสียที เพราะไม่รู้ว่ากุญแจมากมายหลายดอกนี้จะต้องใช้ตอนไหนหรือเปล่า!?!
บทความ Intentional Learning in Practice โดยบริษัทให้คำปรึกษาชื่อดัง McKinsey & Company ได้รวบรวมคำแนะนำต่างๆ และสร้างเป็นเทคนิคการเรียนรู้ที่ชื่อ “กฎ 3x3x3” ซึ่งเป็นวิธีที่จำได้ง่าย ทำได้ง่าย และนำไปใช้ได้จริง ทั้งในด้านหน้าที่การงานและการพัฒนาตนเอง
ใครที่กำลังอยากพัฒนาทักษะเดิม (Upskill) หรือเพิ่มเติมทักษะใหม่ (Reskill) แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร บางทีเทคนิคนี้อาจเป็นคำตอบของเราก็ได้! แต่ก่อนที่จะนำไปใช้ เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า “กฎ 3x3x3” ที่ว่านี้คืออะไร
ทำอะไรก็สำเร็จได้! ด้วยกฎ 3x3x3 จาก McKinsey & Company
มีความรู้และเคล็ดลับสู่การพัฒนาตนเองมากมายแค่ไหน หากไม่รู้ว่าต้องหยิบจับอะไรมาใช้บ้าง เป้าหมายของเราก็คงอยู่ในลิสต์ ‘เป้าหมายที่ตั้งไว้’ ตลอดไป ไม่ได้กลายเป็น ‘เป้าหมายที่ทำสำเร็จ’ เสียที บริษัท McKinsey & Company ผ่านประสบการณ์เช่นนี้มามากตลอดการให้คำปรึกษา จนพวกเขาค้นพบว่า ‘ส่วนประกอบของความสำเร็จ’ นั้นประกอบไปด้วย 3 อย่าง คือ เป้าหมายที่ชัดเจน ระยะเวลาที่พอดี และกลุ่มคนที่คอยช่วยเหลือ
พวกเขาจึงออกแบบกฎง่ายๆ แต่ใช้ได้จริงที่ชื่อ “3x3x3” ขึ้นมา ซึ่งเป็นวิธีที่เราสามารถนำไปปรับใช้ในการทำตามเป้าหมายใดๆ ก็ได้ ตั้งแต่เรื่องส่วนตัวไปจนถึงเรื่องการงาน โดย 3x3x3 ประกอบไปด้วย 3 เป้าหมาย 3 เดือน และ 3 คน ดังนี้
“3 เป้าหมาย”
ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าเรามีแรงบันดาลใจในการทำอะไรหลายอย่าง ทักษะอันนั้นก็อย่างมี ทักษะอันนี้ก็อยากเรียน แต่การจะทำให้สำเร็จนั้น McKinsey & Company แนะนำให้โฟกัสแค่ 3 เป้าหมายจะดีที่สุด!
หากเป้าหมายของเราเยอะเกินไป ทุกอย่างจะตรงข้ามกับคำว่า ‘Productive’ เสียหมด เพราะเราต้องแบ่งสมาธิ พลังงาน และเวลาไปให้อะไรหลายๆ อย่าง อย่างละนิดละหน่อย จนสุดท้ายก็ไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
หากเป้าหมายของเราน้อยเกินไปก็ไม่ดีนัก เมื่อคนเราโฟกัสในการทำ 1 อย่างให้สำเร็จ นั่นอาจหมายความว่าเรากำลังพลาดโอกาสในการเรียนรู้และขยายขอบความสามารถของตน จริงๆ แล้วคนเรามีเรื่องที่อยากเรียนรู้หลากหลายอยู่แล้ว หากเลือกเรื่องที่สามารถทำไปพร้อมๆ กันและส่งเสริมกันและกัน อาจช่วยให้เราพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในการทำงานในยุคปัจจุบันที่อาศัยทักษะมากกว่าอย่างเดียว
ดังนั้นจำนวนเป้าหมายของเราควรพอดี ไม่มากจนเราโฟกัสไม่ได้ และไม่น้อยเกินไปจนไม่ได้พัฒนาตนเองอย่างเต็มที่ อย่าง ‘3 เป้าหมาย’ ที่แนะนำนั่นเอง
“3 เดือน”
เลข 3 ตัวที่สองนั้นหมายถึงระยะเวลาที่เราตั้งไว้ว่าจะทำเป้าหมายให้สำเร็จ ซึ่งก็คือ ‘3 เดือน’ แน่นอนว่าตัวเลขนี้เปลี่ยนแปลงได้ หากเป้าหมายของเราต้องอาศัยระยะเวลานานกว่าหรือสั้นกว่าจริงๆ แต่มีหลายสาเหตุที่ McKinsey & Company แนะนำว่าทำไม 3 เดือนจึงมีประสิทธิภาพที่สุด
1. ไม่มากและไม่น้อยเกินไป คือ 3 เดือนเป็นช่วงเวลาที่พอดีสำหรับการเรียนรู้ ลงมือ ฝึกฝน และปรับปรุงจากฟีดแบ็ก ไม่น้อยจนกดดันเกินไป แต่ก็ไม่มากจนเราทำตัวเอื่อยเฉื่อย (มีรายงานพบว่า ระยะเวลา 12 สัปดาห์ หรือ 3 เดือนนั้นยากต่อการผัดวันประกันพรุ่ง)
2. สอดคล้องกับไตรมาสในโลกธุรกิจ หากเป้าหมายของเราเกี่ยวกับการทำงาน ระยะเวลา 3 เดือนจะสะดวกต่อการวัดผล
3. เป็น Check-Point ที่สำคัญ หากเรามีการเช็กอินและตกตะกอนทุกๆ 3 เดือน เราอาจรู้ตัวเร็วว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ใช่สิ่งที่สนใจนัก และสามารถเปลี่ยนเป้าหมายได้ทันท่วงที ลองจินตนาการดูว่า หากเราลงคอร์สเรียน 12 เดือน แต่รู้ตัวกลางคันว่า ‘ไม่ชอบ’ ท้ายที่สุดนอกจากจะเสียเวลาและเสียเงินแล้ว เราอาจไม่ได้อะไรเลย
“3 คน”
3 สุดท้ายหมายถึง ‘คนอื่นๆ’ อีก 3 คน (หรือมากกว่านี้ก็ได้) ที่จะคอยช่วยเราในการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นช่วยสอน ช่วยให้กำลังใจ หรือให้คำแนะนำ หากเราทำอะไรคนเดียว มีโอกาสที่เราจะรู้สึกกดดันมากเกินไปและหลงทางได้
การมีคนให้พูดคุยเรื่องเป้าหมาย นอกจากจะเปิดโอกาสให้เราได้มองจากมุมมองของคนอื่นแล้ว ยังเป็นโอกาสให้เราได้ขอคำปรึกษาหรือระบาย หากเราต้องเผชิญกับแรงกดดันมากเกินไป ในขณะเดียวกัน การมีคนรับรู้ถึงเป้าหมายของเรา ยังช่วยกดดันเราเบาๆ ให้ทำสำเร็จ ไม่เอ้อระเหยและไม่แอบล้มเลิกกลางคัน
จริงอยู่ที่คนเรามีสัญชาตญาณในการ ‘ไม่บอกใคร’ จนกว่าจะทำสำเร็จ เพราะเรากลัวว่าเราจะอับอายหากล้มเหลว หรือ กลัวว่าจะดูทะเยอทะยานเกินไปหากคนอื่นรู้ความฝันของเรา แต่ถ้าหากเราก้าวข้ามความรู้สึกนี้ได้ เราจะพบว่าการมีคนช่วยเหลือและคอยไปด้วยกันนั้น ไปได้ไกลกว่าเยอะเลย!
เราหาโอกาสเรียนรู้ได้จากทุกที่และทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นในโปรเจกต์ที่ได้รับมอบหมาย ในการประชุม หรือในการแลกเปลี่ยนความเห็น แต่ถ้าหากเราไม่ได้เรียนรู้อย่าง ‘ตั้งใจ’ (ซึ่งก็คือ การรู้แน่ชัดว่า เราอยากรู้อะไรและอยากรู้ไปทำไม) เราอาจปล่อยบทเรียนดีๆ ผ่านไปโดยไม่รู้ตัวก็ได้
การรู้ตัวว่าเรากำลังสนใจอะไรด้วยเครื่องมือช่วยโฟกัสอย่าง “กฎ 3x3x3” นั้น จะช่วยให้เราฝึกทักษะการเรียนรู้อย่างเป็นนิสัยและพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มที่ เครื่องมือช่วยโฟกัสเช่นนี้แหละ จะช่วยให้เรานำคำแนะนำต่างๆ ที่ได้เรียนรู้มา มาพัฒนาให้เติบโตได้อย่างงดงาม
อ้างอิง:
https://mck.co/3JbOA6C
เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
– ทำไมองค์กรถึงควร ‘Upskill’ และ ‘Reskill’ ให้พนักงาน? >> https://bit.ly/3q0FEcE
– พัฒนาทักษะและความรู้ ด้วย ‘Lifelong Education’ >> https://bit.ly/3wbsYDE
.
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#reskill