ใช้ชีวิตด้วยเข็มทิศ ไม่ใช่แผนที่

3324
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • หากเราเลือกทางเดินชีวิตตามแผนที่ที่คนอื่นให้มา เราก็จะไปได้ไกลสุดเท่าที่แผนที่นั้นวาดไว้ แต่ถ้าเรามีเข็มทิศที่เป็นเหมือนความฝันเพื่อนำทาง เราก็จะได้ไปที่ที่มีความหมายกับเรา
  • เอลิซาเบท กิลเบิร์ต มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นนักเขียน เธอใช้สิ่งนี้เป็นเข็มทิศ แม้จะมีชีวิตยุ่งเหยิง แต่ก็ยังบังคับตัวเองให้เขียนอะไรซักอย่างให้ได้ทุกวัน จนหนังสือของเธอหลายเล่มติดชาร์ตหนังสือขายดี
  • จอห์น ลาสซีเตอร์ มีเข็มทิศชีวิตเป็นความฝันที่จะได้ทำงานแอนิเมชั่น เขาได้ทำงานกับดิสนีย์สมใจแต่ก็ถูกไล่ออก ด้วยความมุ่งมั่นที่ไม่ยอมล้มเลิกเขาสร้างภาพยนต์แอนิเมชั่นเรื่องแรกของโลกได้สำเร็จ จนดิสนีย์ต้องซื้อบริษัทพิกซาร์เพื่อดึงตัวเขามาเป็นผู้บริหารในที่สุด

“แผนที่” หรือ “เข็มทิศ”

ผมมีความเชื่อส่วนตัวว่า คนเราควรเลือกทางเดินชีวิตโดยใช้เข็มทิศไม่ใช่แผนที่ เข็มทิศเปรียบเสมือนความฝัน แผนที่เปรียบเสมือนแบบแผนอย่างละเอียด ที่แทบไม่มีความยืดหยุ่นเลย หลายครั้งในชีวิต คุณคงเคยถูกหยิบยื่น “แผนที่” มาให้ โดยที่คุณอาจจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

คุณว่ามันน่าเบื่อไหมครับ?

สำหรับตัวผมเอง ผมก็เคยเดินทางตามแผนที่ของการเรียนปริญญาตรี ปริญญาโท ทำงานตรงสายที่เรียนมาอยู่พักใหญ่ จนวันหนึ่ง ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่ และลองออกมาทำอะไรที่ผมไม่รู้ว่าจะทำได้ไหม แต่ผมคิดว่าผมน่าจะรักมันมากกว่า 

Advertisements

ออกมาลองผิดลองถูก ล้มลุกคลุกคลานอยู่นานสองนาน แล้วก็ค้นพบว่า ผมมีความสุขมากๆที่ได้ทำตามความฝันของตัวเอง ไม่ต้องเดินตามแผนที่ที่ใครวางไว้ให้  


คำปฏิญาณ

เอลิซาเบท กิลเบิร์ต (Elizabeth Gilbert) นักเขียนชื่อดังเล่าให้ฟังในหนังสือพลังวิเศษของคนธรรมดา (Big Magic) ว่า เธอได้ปฏิญาณกับตัวเองว่า จะเป็นนักเขียนตั้งแต่อายุ 16 ปี เธอปิดไฟในห้อง จุดเทียน ทรุดตัวลงคุกเข่า และสาบานว่าจะยึดมั่นเขียนหนังสือไปตลอดชีวิต 

ตอนที่เธอปฏิญาณตนนั้น เธอไม่รู้ว่าเธอจะทำได้ไหม หรือเธอจะเป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ได้รึเปล่า แต่สำหรับเธอมันไม่มีข้อแม้ใดๆ ทั้งสิ้น มันเป็นสิ่งที่เธอจะทำ เธอยังสัญญาด้วยว่า จะไม่เรียกร้องให้การเขียนมาดูแลเธอเรื่องการเงิน เธอจะพยายามทุกวิถีทาง เพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูตัวเองและการเขียน เธอไม่ขอร้องอะไรจากความทุ่มเทนี้ของเธอ เธอขอแค่มีชีวิตใกล้ชิดกับการเขียนก็พอ เธอพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เขียน

ในช่วงอายุ 20 กว่าๆ เธอมีชีวิตที่ยุ่งเหยิง และใช้ชีวิตแบบแทบไม่มีความรับผิดชอบอะไรซักเรื่องเดียว แม้ชีวิตเธอจะเลอะเทอะแค่ไหน แต่เธอก็ยังคงยึดมั่นต่อคำปฏิญาณในการเขียนไว้ได้ เธอเขียนหนังสือทุกวัน แม้ในวันที่แรงบันดาลใจหดหาย เธอก็จะตั้งนาฬิกาเพื่อจับเวลาไว้สามสิบนาที แล้วบังคับให้ตัวเองเขียนอะไรซักอย่างลงไป แม้ว่างานเขียนช่วงนั้นจะแย่แค่ไหนก็ตาม แต่เธอก็ยังมุ่งมั่นที่จะเขียนต่อไป 

ตลอดชีวิตของเธอ เธอบอกว่า เธอทำผิดคำสัญญามามากมาย รวมถึงคำปฏิญาณตอนแต่งงานด้วย แต่เธอยังรักษาคำมั่นสัญญาเรื่องการเขียนหนังสือของเธอไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

ในที่สุด หนังสือหลายเล่มของเธอก็กลายเป็นหนังสือที่ติดชาร์ตหนังสือขายดี (Best Seller) โดยเฉพาะหนังสือเรื่อง อิ่ม มนต์ รัก ข้ามขอบฟ้า (Eat Pray Love) ที่ถูกพิมพ์ไปกว่า 12 ล้านเล่ม เอลิซาเบทเป็นคนหนึ่งที่เดินทางชีวิตโดยใช้เข็มทิศเป็นเครื่องมือนำทาง

เข็มทิศของเธอคือ ความฝันที่จะได้เป็นนักเขียน 


ความฝัน

เดฟ ทร็อตต์ (Dave Trott) เคยเขียนถึง จอห์น ลาสซีเตอร์ (John Lasseter) ในหนังสือเรื่อง One + One = Three ไว้ว่าจอห์นต้องการเป็นนักสร้างภาพเคลื่อนไหว (animator) มาตลอดชีวิต และแน่นอนว่าความฝันของเขาคือ การได้ทำงานที่ดิสนีย์ (Disney)

และเขาก็ได้ไปทำงานที่ดิสนีย์ (Disney) จริงๆ นั่นแหละ แต่ว่าไปอยู่ในสวนสนุกนะ เป็นคนคุมเครื่องเล่นในตอนแรก แต่ในที่สุดจอห์นก็ได้ทำงานในแอนิเมชั่นสตูดิโอ (animation studio)

ตอนนั้นเขาเห็นหนังเรื่องทรอน (Tron) ซึ่งมีการเพิ่มดิจิทัลเอฟเฟกต์เข้าไป มันน่าตื่นเต้นสำหรับจอห์นมาก และเขาเห็นโอกาสในการสร้างสรรค์งานแอนิเมชั่น

งานแอนิเมชั่นในยุคนั้นมีแต่งานที่วาดด้วยมือแบบ 2 มิติ แต่สิ่งที่เขาคิดไว้ในหัวคือ งานแอนิเมชั่น 3 มิติ ที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งดิสนีย์สตูดิโอ (Disney studios) นั้น สร้างงานแอนิเมชั่นแบบ 2 มิติมาตั้ง 50 ปีแล้ว

เมื่อจอห์นนำเรื่องแอนิเมชั่น 3 มิติ ที่สร้างจากคอมพิวเตอร์ (computer-animated 3D) ไปเสนอผู้ใหญ่ ผลคือ เขาถูกไล่ออก!

อาจเป็นเพราะว่า ผู้บริหารดิสนีย์คิดว่าสิ่งที่พวกเขาทำนั้นดีอยู่แล้ว เขาไม่ต้องการแนวคิดบ้าๆ จากเด็กแหกคอกแบบจอห์นแล้วงานแอนิเมชั่น 2 มิติก็ไม่เห็นจะมีอะไรไม่ดีตรงไหน ตอนนี้จอห์นไม่มีงานในฝันของเขาอีกแล้ว เขาต้องหางานใหม่ทำ

ในที่สุดจอห์นก็ได้งานใหม่ที่บริษัทของ จอร์จ ลูคัส (George Lucas) ในระหว่างที่เขาทำงานอยู่ที่นั่น จอห์นได้มีโอกาสสร้างหนังสั้นที่ทำโดยคอมพิวเตอร์แอนิเมชั่น 3 มิติตามวิสัยทัศน์ที่เขาคิดไว้

ต่อมาจอร์จขายบริษัทให้ สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) ไปในราคา 10 ล้านเหรียญ ในตอนแรก จ็อบส์คิดว่าเขาซื้อบริษัทคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ (computer hardware) แต่เมื่อเขาเห็นหนังสั้นของ จอห์น ลาสซีเตอร์ จ็อบส์ ก็รู้ทันทีว่ามันไม่ใช่แค่นั้น

สตีฟ จ็อบส์ ถาม จอห์น ลาสซีเตอร์ ว่าถ้าจะทำให้งานส่วนนี้ของบริษัทสำเร็จ จะต้องทำอย่างไรและต้องใช้อะไรบ้าง จอห์นตอบว่าต้องทำหนังที่ยาวขึ้น และต้องใช้เงินอีกห้าแสนเหรียญ

สตีฟ จ็อบส์ เขียนเช็คส่วนตัวให้กับเขาเลย แต่ก่อนจะยื่นให้ จ็อบส์ พูดว่า
“มีเรื่องเดียวเท่านั้นจอห์น…” แล้วเว้นระยะไปแป๊ปนึง

จอห์นคิดในใจว่า นี่ไงมาแล้ว ข้อจำกัดต่างๆมากมายของพวกนักธุรกิจ ที่คงจะทำให้เขาสร้างสรรค์งานได้ไม่เต็มที่

Advertisements

แต่สตีฟ จ็อบส์พูดต่อแค่สั้นๆว่า
“ทำออกมาให้มันเจ๋งนะ”
แล้วก็ส่งเช็คให้

จอห์นทำตามสัญญา และหนังเรื่องนั้นออกมาเจ๋งมาก มันเจ๋งขนาดคว้ารางวัลออสการ์ไปได้ ซึ่งหนังเรื่องนั้นคือทอยสตอรี่ (Toy Story) หนังเรื่องแรกในอุตสาหกรรมภาพยนต์ที่สร้างโดยคอมพิวเตอร์ทั้งเรื่อง

ทอยสตอรี่ทำให้เกิดบริษัทใหม่ที่ชื่อพิกซาร์ (Pixar) ขึ้นมา ซึ่งเขย่าวงการภาพยนต์แอนิเมชั่นด้วยการสร้างภาพยนต์จากคอมพิวเตอร์ทั้งเรื่อง

พิกซาร์เดินหน้าสร้างภาพยนต์ที่สำเร็จระดับเขย่าบอกซ์ออฟฟิศ (Box Office) อีกมากมายอย่างทอยสตอรี่, ตัวบั๊กส์ หัวใจไม่บั๊กส์ (A Bug’s Life), รวมเหล่ายอดคนพิทักษ์โลก (The Incredibles), หุ่นจิ๋วหัวใจเกินร้อย (Wall-E), อัพ ปู่ซ่าบ้าพลัง (Up) เป็นต้น

และทอยสตอรี่ 3 เป็นหนังแอนิเมชั่นเรื่องแรกที่สร้างรายได้เกินหนึ่งพันล้านเหรียญ ส่วนอัพเป็นหนังแอนิเมชั่นเรื่องแรก ที่ได้ฉายเป็นเรื่องเปิดของเทศกาลภาพยนต์เมืองคานส์

ตัดภาพมาอีกฝั่ง


ในขณะที่พิกซาร์กำลังอยู่ในขาขึ้น ยักษ์ใหญ่อย่างดิสนีย์สตูดิโอกำลังตกอยู่ในที่นั่งลำบาก 

ภาพยนต์แอนิเมชั่นแบบเก่าที่ดิสนีย์ทำ ถูกกลบด้วยรัศมีอันเจิดจรัสของภาพยนต์แนวใหม่ของพิกซาร์ ในปี 2006 ดิสนีย์จึงยื่นข้อเสนอในการเข้าซื้อพิกซาร์ในราคา 7,700 ล้านเหรียญ

สตีฟ จ็อบส์ลงทุนไปแค่ 10 ล้านเหรียญ แต่ได้กำไรกลับมาถึง 3,700 ล้านเหรียญ (คาดว่ามีการปรับโครงสร้างก่อนขาย ตัวเลขกำไรจึงเป็นเท่านี้)

สิ่งที่น่าสนใจมากคือ ในข้อตกลงครั้งนี้ หัวข้อที่เป็นข้อเรียกร้องสำคัญจากดิสนีย์ในการเข้าซื้อกิจการของพิกซาร์คือ จอห์น ลาสซีเตอร์ ต้องเข้ามานั่งบริหารดิสนีย์แอนิเมชั่น

ครับ นี่คือ จอห์น ลาสซีเตอร์ คนเดียวกันกับที่โดนไล่ออกจากดิสนีย์เมื่อตอนเขายังเป็นจูเนียร์อยู่

แต่ตอนนี้ดิสนีย์กำลังจะบอกว่า หากไม่ได้จอห์นมาทำงานด้วย ดีลมูลค่า 7,700 ล้านเหรียญนี้จะไม่เกิดขึ้น ข้อตกลงนี้ถูกกำหนดลงไปเป็นลายลักษณ์อักษรในสัญญา

ในที่สุด จอห์น ลาสซีเตอร์ กลายเป็น CEO ของทั้งดิสนีย์และพิกซาร์

ในสวนสนุกของดิสนีย์ตอนนี้มีเครื่องเล่นชื่อ “Finding Nemo” และ “A Bug’s Land” ซึ่งเอามาจากหนังของจอห์นด้วย 

เครื่องเล่นนี้คล้ายกับเครื่องเล่นที่จอห์นเคยทำงานเป็นเด็กควบคุมเครื่องในสวนสนุกของดิสนีย์ตอนที่เขาเริ่มงานกับดิสนีย์ใหม่ๆ ชีวิตของจอห์นมหัศจรรย์ไม่แพ้ภาพยนต์ที่เขาสร้างเลย 

เรื่องนี้ท่านผู้อ่านคงสรุปเองได้ว่า อะไรคือเข็มทิศ อะไรคือแผนที่ 


ในชีวิตจริง เราไม่รู้หรอกว่า เราจะถูกพัดพาไปทางไหนบ้าง การเดินทางโดยไม่มีแผนที่ อาจจะดูน่ากลัวสักหน่อยในตอนแรก แต่ในที่สุดแล้ว เราจะเห็นโอกาสต่างๆ มากมายเดินเข้ามาในชีวิต หากเราเลือกเดินทางตามแผนที่ที่คนอื่นให้เรามา ไม่ว่าแผนที่นั้นจะมาในรูปแบบของการเรียนการสอน คำแนะนำ หรืออะไรก็แล้วแต่ อย่างมากเราก็จะไปได้ไกลสุดเท่าที่แผนที่นั้นวาดเอาไว้

แต่ถ้าเราอยากไปที่ที่มันตื่นเต้น และมีความหมายจริงๆ ผมเชื่อว่าเราต้องใช้ชีวิตโดยโยนแผนที่ทิ้งไป

และเก็บแค่เข็มทิศไว้กับตัวก็พอครับ

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่