“อยากได้คุณ…เป็นนายกฯ!”
ช่วงใกล้เลือกตั้งเช่นนี้ หลายคนคงมีความคิดแบบนี้กันอยู่ แต่ละคนก็จะมีคนที่ตัวเองเชียร์แตกต่างกันไป เพราะผู้นำแต่ละคนก็จะมีนโยบาย ความสามารถ รวมถึงภาวะผู้นำที่ไม่เหมือนกัน บางคนอาจชอบผู้นำที่มีกลยุทธ์ บางคนอาจชอบผู้นำที่เปิดกว้างทางความคิด หรือบางคนอาจชอบผู้นำที่พร้อมจะสร้างการเปลี่ยนแปลง
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าผู้นำของประเทศไทยแต่ละยุคสมัยนั้นมีภาวะผู้นำที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ซึ่งภาวะผู้นำนี้จะเป็นภาพสะท้อนพฤติกรรมของผู้นำว่าเขาเหล่านั้นจะปฏิบัติกับประชาชนอย่างไร รวมถึงจะมีวิธีการแบบไหนในการบริหารประเทศ
โดยในปี 1930 มีนักวิจัยกลุ่มหนึ่งซึ่งนำโดยนักจิตวิทยาที่มีชื่อว่า Kurt Lewin ออกเดินทางเพื่อทำการวิจัยในเรื่องการแบ่งภาวะผู้นำออกเป็นหมวดหมู่ให้ชัดเจนมากขึ้น ในช่วงแรกๆ Kurt Lewin ได้กำหนดรูปแบบความเป็นผู้นำไว้ 3 รูปแบบ ซึ่งเราสามารถพบเจอได้ทั้งในโลกการทำงานและโลกการเมือง
ในบทความนี้ เราจะพาไปทำความรู้จัก 3 รูปแบบของความเป็นผู้นำที่พบเจอได้บ่อย เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจว่าผู้นำแต่ละรูปแบบมีความแตกต่างกันอย่างไร
1. ภาวะผู้นำแบบเผด็จการ
คำว่า “เผด็จการ” ไม่ได้หมายถึงระบอบการปกครองเท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาอธิบายรูปแบบการเป็นผู้นำของใครบางคนได้ด้วย ซึ่งภาวะผู้นำแบบเผด็จการนั้นจะเน้นหนักไปที่ “การบังคับบัญชา” หรือการที่ผู้นำมีอำนาจในการปกครอง ดูแล และสั่งการผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาให้ทำตามหน้าที่ ซึ่งแน่นอนว่ามีการแบ่งแยกชัดเจนว่าใครเป็นผู้นำและใครเป็นผู้ตาม
โดยทั่วไปแล้วผู้นำที่เผด็จการจะตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ อย่างอิสระ ไม่ค่อยรับฟังความเห็นจากคนอื่นๆ หรือหากรับฟังก็จะรับฟังเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งนักวิจัยได้ชี้ว่า ภายใต้การนำของผู้นำเผด็จการจะมีการตัดสินใจที่มีความสร้างสรรค์น้อยลง
ภาวะผู้นำทุกรูปแบบต่างก็มีประโยชน์และโทษในตัวเอง โดยประโยชน์ของผู้นำเผด็จการคือ เราจะมีทิศทางในการทำงานมากขึ้น เช่น สมมติว่าเราต้องทำงานกลุ่มร่วมกับคนอื่น แล้วในกลุ่มนั้นไม่มีใครสามารถเป็นผู้นำได้เลย ก็จะทำให้เราไม่สามารถแบ่งงานกันได้อย่างลงตัว เพราะไม่มีใครมอบหมายงาน สุดท้ายแล้วงานก็อาจจะล่มไม่เป็นท่า ในทางกลับกัน ถ้ามีใครสักคนหนึ่งขึ้นเป็นผู้นำที่มีความเด็ดขาด คอยกำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนอย่างชัดเจน สุดท้ายงานนั้นก็คงจะมีโอกาสสำเร็จมากกว่า
และหากมองถึงโทษ ก็พบว่าภาวะผู้นำรูปแบบนี้ส่งผลเสียหลายอย่างเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น..
[ ] มีวิธีการแก้ไขปัญหาที่ไม่หลากหลายและไม่สร้างสรรค์มากพอ เพราะชอบตัดสินใจโดยไม่ปรึกษาหารือและไม่ฟังคำแนะนำจากคนอื่นๆ จนสุดท้ายแล้วการตัดสินใจนั้นอาจส่งผลกระทบเชิงลบเป็นวงกว้าง
[ ] ทำร้ายขวัญกำลังใจคนที่อยู่ใต้การควบคุม เพราะผู้นำไม่ค่อยรับฟังความเห็นของใคร ทำให้คนที่เป็นผู้ตามรู้สึกไม่พอใจและรู้สึกว่าถูกปิดกั้น
#ตัวอย่างบุคคลชื่อดังที่มีภาวะผู้นำแบบเผด็จการ
1) วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ถือเป็นผู้นำที่มีความเผด็จการ ชอบตัดสินใจเรื่องสำคัญด้วยตัวเอง และสนใจเรื่องของตัวเองมากกว่าประชาชน เช่น บังคับให้ประชาชนไปเป็นทหารเพื่อไปรบในสงครามยูเครน
2) สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เป็นคนที่ครองอำนาจสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาหลายสมัย ความเผด็จการของสี จิ้นผิงก็มีให้เห็นในหลายๆ เหตุการณ์ เช่น การปราบปรามคนที่ไม่ลงรอยกับรัฐอย่างเด็ดขาด และการใช้มาตรการควบคุมธุรกิจในจีนอย่างเข้มงวด
3) อีลอน มัสก์ ซีอีโอบริษัท Tesla เป็นคนที่มีภาวะผู้นำแบบเผด็จการในตัว ซึ่งเราสามารถเห็นได้จากการกระทำหลายๆ อย่าง เช่น การบังคับให้พนักงานกลับเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศแบบเต็มเวลา หากใครไม่กลับก็มีการขู่ว่าจะไล่ออก
4) สตีฟ จอบส์ ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอบริษัท Apple เป็นคนใจร้อน รักความสมบูรณ์แบบ และเป็นคนที่ชอบตั้งความหวังไว้สูง เมื่อทำงานอยู่ที่ Apple เขามีความเชื่อว่าการควบคุมการตัดสินใจทั้งหมดจะทำให้องค์กรทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
2. ภาวะผู้นำแบบประชาธิปไตย
คำว่า ภาวะผู้นำแบบ “ประชาธิปไตย” นั้นมีความหมายตรงตัว คือรูปแบบภาวะผู้นำที่ทุกคนมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ ซึ่งความเป็นผู้นำรูปแบบนี้สามารถนำไปปรับใช้ได้ทั้งกับในธุรกิจ ในโรงเรียน ไปจนถึงรัฐบาล
โดยคนที่อยู่ภายใต้การปกครองของผู้นำแบบประชาธิปไตยจะได้รับโอกาสในการมีส่วนร่วม อภิปราย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างเสรีและเท่าเทียมซึ่งผู้นำจะมีหน้าที่สำคัญในการเสนอแนวทางและมีการควบคุมภาพรวมให้เป็นไปด้วยดี
และที่สำคัญคือ มีงานวิจัยพบว่า ภาวะผู้นำแบบประชาธิปไตยเป็นรูปแบบที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและนำไปสู่ผลิตภาพที่สูงขึ้น อีกทั้งยังทำให้การมีส่วนร่วมของคนในกลุ่มดีขึ้นและช่วยเพิ่มขวัญกำลังใจให้กับคนในกลุ่มอีกด้วย
โดยสรุปแล้วลักษณะสำคัญของผู้นำแบบประชาธิปไตย มี 3 อย่างด้วยกันคือ
[ ] Collaboration : คนที่อยู่ภายใต้ผู้นำประเภทนี้จะได้รับการสนับสนุนให้แชร์ความคิดเห็นซึ่งกันและกัน และผู้นำจะเป็นคนสุดท้ายที่ทำการตัดสินใจ
[ ] Engagement : คนที่อยู่ภายใต้ผู้นำประเภทนี้จะรู้สึกมีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ มากขึ้น
[ ] Creativity : ผู้นำส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์
ผู้นำแบบประชาธิปไตยที่ดีจะมีความจริงใจและตัดสินใจเรื่องต่างๆ อย่างมีศีลธรรม แสวงหาความเห็นที่หลากหลาย และไม่ปิดกั้นคนที่ไม่เห็นด้วยหรือคนที่มีมุมมองที่มีความนิยมน้อยกว่า ซึ่งทำให้การมีผู้นำแบบนี้มีข้อดีคือจะมีไอเดียในการแก้ปัญหาที่มีความสร้างสรรค์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การนำแบบประชาธิปไตยจะมีข้อเสียคือใช้เวลาในการตัดสินใจนาน เพราะต้องฟังความเห็นจากหลายๆ ฝ่าย ซึ่งอาจไม่เหมาะกับบางสถานการณ์
#ตัวอย่างบุคคลชื่อดังที่มีภาวะผู้นำแบบประชาธิปไตย
1) โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในคนที่มีความเป็นผู้นำแบบประชาธิปไตย โดยเขาให้ความสำคัญกับความคิดเห็นที่หลากหลาย ผ่านการเลือกสมาชิกที่มีภูมิหลัง เชื้อชาติ และเพศสภาพที่แตกต่างกัน เช่น การเลือกกมลา แฮร์ริส ที่เป็นคนผิวสีและเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ขึ้นเป็นรองประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐฯ เพื่อรับมือกับปัญหาต่างๆ เช่น ความเท่าเทียมทางเชื้อชาติ
2) แจ็ค ดอร์ซีย์ อดีตซีอีโอ Twitter เป็นอีกหนึ่งคนที่ได้รับการยกย่องว่ามีคุณลักษณะของการเป็นผู้นำแบบประชาธิปไตย โดยแจ็ค ดอร์ซีย์เคยกล่าวไว้ว่า ทุกคนต่างก็มีไอเดียกันทั้งนั้น แต่สิ่งสำคัญจริงๆ แล้วคือการที่เราลงมือทำไอเดียนั้นและดึงดูดให้คนอื่นๆ มาช่วยเราทำให้สำเร็จ ซึ่งนี่ก็เป็นวิสัยทัศน์ที่ทำให้เห็นว่าเขาให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของคนอื่นๆ
3) ซุนดาร์ พิชัย ซีอีโอ Google ภายใต้การนำของซีอีโอคนนี้เราจะเห็นว่ามีนโยบายหลายอย่างที่ส่งเสริมความมีอิสระและความเท่าเทียม เช่น ในปี 2021 Google ประกาศว่าจะจ้างคนที่เป็นออทิสติกมากขึ้น ผ่านการปรับวิธีการสัมภาษณ์ให้รองรับผู้สมัครที่มีความผิดปกติทางระบบประสาท
3. ภาวะผู้นำแบบเสรีนิยม
ภาวะผู้นำแบบเสรีนิยม หรือ Laissez-Faire Leadership คำว่า Laissez-Faire ในที่นี้เป็นคำภาษาฝรั่งเศสที่มีความหมายว่า “ปล่อยให้ทำไป” ซึ่งหมายความว่าผู้นำประเภทนี้จะปล่อยให้คนอื่นๆ เป็นผู้ตัดสินใจ แล้วตัวผู้นำเองทำแค่เพียงคอยดูอยู่ห่างๆ หากอ้างอิงจากงานวิจัยแล้ว รูปแบบความเป็นผู้นำนี้มีประสิทธิภาพต่ำที่สุด เพราะมีการกำกับดูแลเพียงเล็กน้อย
ลักษณะเฉพาะของผู้นำแบบเสรีนิยม
[ ] ผู้นำปล่อยให้คนในทีมจัดการการทำงานกันเอง ให้อิสระแก่คนในทีมในการแก้ปัญหาด้วยวิธีของตัวเอง
[ ] คนในทีมเป็นคนตัดสินใจเรื่องต่างๆ เอง
[ ] ผู้นำรับบทเป็นผู้สนับสนุน
[ ] ผิดพลาดได้ไม่เป็นไร
[ ] ความรับผิดชอบตกอยู่ที่ผู้นำ
ผู้นำประเภทนี้จะมีความไว้ใจคนในทีมเป็นอย่างมาก และรู้สึกมั่นใจว่าคนอื่นๆ มีความรู้ความสามารถมากพอ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปกำกับดูแลมากนัก ซึ่งทำให้เกิดข้อดีหลายๆ อย่างตามมา ไม่ว่าจะเป็นส่งเสริมการเติบโตของคนอื่นๆ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และช่วยให้ตัดสินใจได้รวดเร็วขึ้น เพราะไม่มีการจัดการแบบยิบย่อย
แต่ภายใต้ข้อดีก็มีข้อเสียหลายอย่างเช่นกัน เช่น ในบางกรณีคนในทีมอาจขาดความชัดเจนในบทบาทหน้าที่เพราะไม่ค่อยได้รับคำแนะนำจากผู้นำ และการมีส่วนร่วมระหว่างผู้นำกับคนอื่นๆ อาจไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก เพราะคนอาจมองว่าผู้นำไม่ค่อยใส่ใจสิ่งที่เกิดขึ้น
และในบางครั้ง การที่ผู้นำไม่ได้เข้าไปสำรวจการทำงานของคนในทีม ก็อาจทำให้ไม่ทราบว่าทีมต้องทำงานหนักขนาดไหน นอกจากนี้ ผู้นำบางคนอาจใช้ประโยชน์จากรูปแบบนี้ เพื่อเลี่ยงความรับผิดชอบต่อความล้มเหลวของคนในทีม
#ตัวอย่างบุคคลชื่อดังที่มีภาวะผู้นำแบบเสรีนิยม
1) เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในทำเนียบมาก่อนและเป็นเพียงคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม ดังนั้นเขาจึงปล่อยให้คนในทีมทำงานในส่วนที่ตัวเองถนัดได้อย่างเสรี นอกจากนี้ เขายังเป็นหนึ่งในคนที่สนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ที่ให้เสรีภาพแก่เอกชนในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ โดยที่รัฐบาลจะไม่เข้าไปแทรกแซง
2) วอร์เรน บัฟเฟตต์ ซีอีโอ Berkshire Hathaway เน้นย้ำเสมอว่า สิ่งที่ควรค่าแก่การลงทุนมากที่สุดคือ การลงทุนในทีมผู้บริหารที่เก่งและไว้ใจได้ ซึ่งในปัจจุบันเขาก็รายล้อมไปด้วยผู้บริหารที่ตัวเองไว้ใจ และให้พวกเขาเหล่านั้นทำงานได้อย่างเสรี โดยที่ตัวเองไม่ต้องกังวลและไม่ต้องเข้าไปชี้แนะใดๆ มากนัก
ทั้งหมดนี้คือภาวะผู้นำ 3 รูปแบบที่มีบุคลิกลักษณะ รวมถึงข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป คนที่มีภาวะผู้นำแบบเผด็จการจะเน้นหนักไปที่ความเข้มงวดและการบังคับบัญชา คนที่มีภาวะผู้นำแบบประชาธิปไตยจะเน้นหนักไปที่ความเท่าเทียมและการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี และคนที่มีภาวะผู้นำแบบเสรีนิยมจะเน้นหนักไปที่การมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ ซึ่งโดยปกติแล้วคนเราจะมีภาวะผู้นำได้หลายรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องมีแค่รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเท่านั้น
สุดท้ายนี้ อยากทิ้งคำถามไว้ให้ทุกคนว่า ถ้าเลือกได้ คุณอยากได้ผู้นำแบบไหนมาบริหารองค์กรและประเทศกัน?
แปลและเรียบเรียง
– How to Lead: 6 Leadership Styles and Frameworks : Kendra Cherry, Verywell Mind – http://bit.ly/3zy2P2B
– What Is Autocratic Leadership? : Kendra Cherry, Verywell Mind – http://bit.ly/3zvUhZW
– Pros and Cons of Steve Jobs’ Autocratic Leadership Style : EWOR – http://bit.ly/3ZAHpfD
– What Is Democratic Leadership? : Kendra Cherry, Verywell Mind – http://bit.ly/3UaF0al
– What Is Laissez-Faire Leadership? : Kendra Cherry, Verywell Mind – http://bit.ly/3KHzmK5
– Introduction to Laissez-Faire Leadership : Indeed – https://bit.ly/3nPaOpa
#leadership
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast