INSPIRATIONInspireproject2022 เป็นปีที่ย่ำแย่ที่สุดในรอบ 30 ปี.. แต่ 2023 จะเป็นปีแห่งการลงทุนหรือไม่?

2022 เป็นปีที่ย่ำแย่ที่สุดในรอบ 30 ปี.. แต่ 2023 จะเป็นปีแห่งการลงทุนหรือไม่?

ปี 2022 เป็นปีที่ตลาดหุ้นทั่วโลกให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบเกือบ -25% นับว่าเป็นปีที่ย่ำแย่ที่สุดในรอบ 12 ปี นับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008

และในปี 2022 นี้ก็ยังเป็นปีที่ตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบมากถึง -20% หรือนับว่าเป็นปีที่ย่ำแย่ที่สุดในรอบ 31 ปี ต้องย้อนกลับไปถึงก่อนปี 1991 เลยที่เราจะเห็นตลาดตราสารหนี้โดนเทขายหนักขนาดนี้

หากเรามองสถานการณ์การลงทุนในตลาดหุ้นและตราสารหนี้ทั่วโลกพร้อมกันแล้ว ปี 2022 จึงนับว่าเป็นปีที่ย่ำแย่ที่สุดสำหรับการลงทุนในรอบมากกว่า 30 ปีเลยทีเดียว

โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนที่เน้นการจัดพอร์ตแบบกระจายความเสี่ยง (60/40) หรือการแบ่งสัดส่วนลงทุน 60% ในหุ้น และอีก 40% ลงทุนในตราสารหนี้ ที่ถือเป็นกลยุทธ์คลาสสิกที่นักลงทุนเลือกใช้มากที่สุด แต่คราวนี้การใช้กลยุทธ์นี้กลับให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุดในประวัติศาสตร์เลย

1) แต่… ในอดีตนั้นการลงทุนในช่วงวิกฤตจะให้ผลตอบแทนระยะยาวที่ดีที่สุดเสมอใช่ไหม?

หากเราย้อนกลับไปดูอดีตจะพบว่า การลงทุนในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจนั้นมักจะให้ผลตอบแทน “ระยะยาว” ที่ดีที่สุดเสมอ ไม่ว่าจะเป็นช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1997 วิกฤตฟองสบู่ดอตคอมในปี 2000 วิกฤต Subprime หรือ Hamburger Crisis ในปี 2008 รวมไปถึงวิกฤตโรคระบาดในปี 2020 ด้วยเช่นกัน

หากนักลงทุนเข้าไปลงทุนในดัชนี S&P 500 ซึ่งเป็นดัชนีที่เป็นที่นิยมมากที่สุดของนักลงทุนทั่วโลก ที่แสดงถึงเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ และถือการลงทุนยาวมาจนถึงทุกวันนี้ นักลงทุนจะได้ผลตอบแทนที่ 300%, 400%, 500% และ +50% ตามลำดับ

ทำให้กลายเป็นสิ่งที่ถูกพิสูจน์มาแล้วในโลกของการลงทุนว่า “การลงทุนระยะยาวในช่วงที่กำลังเกิดวิกฤต” เป็นสิ่งที่ดีที่สุด

แม้แต่คุณปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนอันดับหนึ่งของโลก ถึงกับออกมาแนะนำนักลงทุนทุกคนว่า “จงกล้าเมื่อคนอื่นกลัว แต่จงกลัวเมื่อคนอื่นกล้า”

2) แค่เราลงทุนในช่วงที่เกิดวิกฤต เราก็จะได้ผลกำไรใช่ไหม?

คำตอบคือ “ใช่” แต่เราต้องลงทุนในสินทรัพย์ที่ถูกต้องและลงทุนให้ยาวที่สุด

ในแง่ของสินทรัพย์ที่ถูกต้องนั้น ถ้าไม่อยากเสียเวลาศึกษาหุ้นและเลือกลงทุนในหุ้นรายตัว การลงทุนในดัชนี S&P 500 ก็สามารถที่จะให้ผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นทั่วโลกได้ง่าย และมีต้นทุนในการทำธุรกรรมที่ต่ำที่สุด ซึ่งทำให้นักลงทุนไม่ต้องทำการบ้านหนัก

วอร์เรน บัฟเฟตต์ยังแนะนำอีกว่า หากใครไม่มีเวลาก็ให้ลงทุนในดัชนี S&P 500 ซึ่งมีกองทุนขายในทุกสถาบันการเงินทั่วโลกนั่นแหละ (ลองศึกษาเพิ่มเติมได้) ทำให้การเลือกสินทรัพย์ไม่ใช่เรื่องยาก

ทำให้สิ่งที่ยากกว่านั้นมาตกอยู่ที่การลงทุนให้ “ยาว” ที่สุด

หลายคนอาจจะสงสัยว่าการลงทุนระยะยาวมันจะยากได้อย่างไร? แค่เราถือการลงทุนและให้ “เวลา” ทำเงินให้เราแค่นี้ใช่ไหม? ไม่เห็นต้องทำอะไรเลย

อาจจะฟังดูเหมือนง่าย แต่นักลงทุนหลายๆ คนที่ลงทุนในช่วงที่วิกฤตที่ผ่านมา อาจจะไม่ได้รับผลตอบแทน 400% – 500% เหมือนกับที่เขียนมาในข้างต้นเพราะ บางคนอาจจะรีบขายทำกำไรไปก่อนแล้ว หรือบางคนกลัวผลตอบแทนที่แดงในพอร์ตจนขายตัดขาดทุนออกไปแล้วก็มี

ทำให้ศัตรูที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเราในการลงทุนในช่วงวิกฤตคือ “เวลา” ว่าเราจะสามารถถือการลงทุนของเรานี้ไปได้ยาวแค่ไหน (หากเราลงทุนในสินทรัพย์ที่ถูกต้องแล้ว)

Advertisements

3) ปี 2023 เรียกได้ว่าเป็นการลงทุนในช่วงวิกฤตแล้วใช่ไหม?

หากดูผลตอบแทนของการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้โดยรวมที่กล่าวไป ถึงแม้การลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้รวมกันจะให้ผลตอบแทนที่แย่ที่สุดในรอบ 30 ปี แต่หากเรามองในแง่ของการลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียวที่ให้ผลตอบแทน -25% (S&P 500) นั้น เราก็ยังไม่อาจเรียกว่าวิกฤตได้

เพราะสิ่งที่เราต้องเผชิญในปี 2022 ที่ผ่านมาคือการต่อสู้กับค่าเงินเฟ้อที่สูงลิ่วทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นผลจากการปิดเมืองในปี 2020 ที่ส่งผลกระทบมาสู่ระบบห่วงโซ่อุปทานในการผลิตทั่วโลก การพิมพ์เงินเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ และการโดนซ้ำเติมจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้ราคาอาหารและพลังงานปรับตัวสูงขึ้น จนธนาคารกลางทั่วโลกต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน

การขึ้นดอกเบี้ยสู้กับเงินเฟ้อทำให้ผลตอบแทนของพันธบัตรทั่วโลกกลายเป็นติดลบ สภาพคล่องที่หายไปดึงให้ราคาหุ้นโดยรวมตกลงมา แต่กลุ่มที่โดนผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มหุ้น Growth กลุ่มหุ้นเทคโนโลยี และเหล่าสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างคริปโทเคอร์เรนซี โดยสินทรัพย์เหล่านี้ได้ร่วงลงมามากถึง -50% ถึง -80% โดยเฉลี่ย

ทำให้ถึงแม้กลุ่มหุ้นทั่วไปทั่วโลกจะโดนดึงลงมาบ้าง แต่ดัชนี S&P 500 ที่ให้ผลตอบแทนติดลบเกือบ -25% ก็ยังไม่ถึงขั้นเรียกว่าวิกฤต และที่สำคัญคือเรายังไม่ได้เผชิญกับ “วิกฤตทางเศรษฐกิจที่แท้จริงเลย”

จากสถิติที่ผ่านมา หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงระดับโลกขึ้นมาจริง เราอาจจะเห็นตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงลงได้มากกว่านี้

Advertisements

4) ในปี 2023 นี้ คำถามที่สำคัญของนักลงทุนคือ “จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้นทั่วโลกหรือไม่?”

ในปี 2022 ที่ผ่านมานี้เป็นปีที่เราต้องสู้กับเงินเฟ้อและการขึ้นดอกเบี้ยของ FED (ธนาคารกลางสหรัฐ) แต่สงครามศึกนี้อาจใกล้จบลงแล้ว เพราะในช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สหรัฐได้ประกาศเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลงมาเร็วกว่าที่คาดแล้ว หลัง CPI รายงานออกมาที่ +7.1% หรือเป็นการสื่อว่า “ยาแรง” ในการพยายามลดดอกเบี้ยของ FED ได้ผล

แต่เมื่อศึกหนึ่งได้ผ่านพ้นไป ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะสดใสในอนาคต เพราะผลพวงจากการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วทั่วโลกกำลังทำให้เราอาจต้องเผชิญ “วิกฤตเศรษฐกิจ”

การขึ้นดอกเบี้ยสูง นอกจากจะเป็นการเพิ่มต้นทุนทางการเงินให้บริษัทต่างๆ ทั่วโลกแล้ว ยังเป็นการลดความต้องการซื้อ หรือลดการใช้จ่ายของผู้บริโภคทั่วโลก ซึ่งจะกดดันให้ผลกำไรของบริษัทต่างๆ ลดลงอีกด้วย

ทำให้เราเห็นว่าตลอดช่วงครึ่งปีนี้ หลายๆ บริษัทได้ทำการปลดพนักงานออกไป พยายามลดต้นทุนและรัดเข็มขัดให้มากที่สุด แต่การรัดเข็มขัดเหล่านี้ จะยิ่งเป็นผลลูกโซ่ทำให้เศรษฐกิจยิ่งแย่หรือไม่? เราคงยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

5) สรุปว่าปีหน้านี้เป็นปีที่เหมาะกับการลงทุนไหม?

ในภาพรวมนั้น ปีหน้าเป็นปีที่เหมาะกับการลงทุนอย่างแน่นอน เพราะตอนนี้มีบริษัทที่ดีและมีคุณภาพมากมายที่กำลังซื้อขายอยู่ใน P/E ที่ถูกที่สุดในรอบหลายปีเลยทีเดียว หากเราสามารถถือสินทรัพย์ที่มีคุณภาพเหล่านี้ไปได้นานเป็นระยะ 10 ปีขึ้นไป เราน่าจะมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่ดีมาก

แต่สิ่งที่ยังไม่แน่นอนคือ หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้นจริง ราคาสินทรัพย์เหล่านี้อาจจะร่วงลงต่อ “ในระยะสั้น” และนักลงทุนที่ทำการลงทุนไปแล้วจะสามารถรับผลลัพธ์เหล่านี้ได้ไหม? จะสามารถทำใจและยังไม่ขายตัดขาดทุนไปก่อนได้หรือเปล่า?

โดยรวมแล้วนักวิเคราะห์ยังมองว่าวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกไม่น่าจะเข้าขั้นวิกฤตมากนัก และหากไม่รุนแรงมาก ผลลัพธ์ของมันก็อาจจะถูกรับรู้เข้าไปในราคาหุ้นแล้ว แต่เศรษฐกิจมหภาคก็เป็นสิ่งที่ยากจะมีใครคาดเดาได้ ทำให้นักลงทุนต้องคอยติดตามแนวโน้มและตัวเลขเศรษฐกิจอยู่เสมอ

ถึงแม้เราจะควบคุมเศรษฐกิจมหภาคไม่ได้ แต่สิ่งที่เราควบคุมได้คือสัดส่วนของการลงทุน นักลงทุนที่ไม่มีมุมมองที่ชัดเจนต่อเศรษฐกิจมหภาคอาจจะทำการแบ่งสัดส่วนของการลงทุน หรือการทำ DCA ลงทุนเฉลี่ยไปเรื่อยๆ

ถึงแม้ปีนี้จะเป็นปีที่ยากลำบาก แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือขอให้ทุกคน “อย่ากลัวการลงทุน” นะครับ และหมั่นศึกษาแนวทางในการลงทุนต่อไป เพราะสถิติในอดีตได้ถูกพิสูจน์มาแล้วว่า “การลงทุนระยะยาว” เป็นสิ่งที่ให้ผลตอบแทนทางการเงินที่ดีที่สุด

ผู้เขียน กิตพน กิตติอำพน ผู้ก่อตั้งเพจ ทันโลกกับ Trader KP

#inspireproject
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า