ยิ่งเจ็บก็ยิ่งรัก? เข้าใจ ‘Trauma Bonding’ กับเหตุผลที่บางคนยอมทนอยู่ในความสัมพันธ์แย่ๆ

2517
Trauma Bonding

เคยมีคำกล่าวไว้ว่า ‘ความรักก็เหมือนกับยาเสพติด’ เมื่อมีแล้ว ก็อยากได้รับมากขึ้นอีกเรื่อยๆ ขาดจากกันไม่ได้ แม้ว่าคำกล่าวนี้ก็อาจไม่ถูกนักในทุกกรณี แต่ก็มีความสัมพันธ์บางรูปแบบที่ให้โทษแก่ร่างกายเปรียบเสมือนกับยาเสพติดจริงๆ และทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อทั้งร่างกายและจิตใจ แต่ก็ไม่รู้ทำไมบางคนถึงยังยอมติดอยู่ในวังวนความสัมพันธ์นี้ นี่นับเป็นอาการในความสัมพันธ์ที่เรียกว่า Trauma Bonding

Trauma Bonding หรือที่เรียกว่าเป็น Stockholm Syndrome คือ อาการที่เกิดขึ้นของคนที่อยู่ในความสัมพันธ์ที่มักถูกข่มเหง (Abusive Relationship) ได้รับความไม่เท่าเทียมกันในความสัมพันธ์ และอยู่ในความไม่แน่นอน เพราะบางทีเขาก็ดีจนใจหาย แต่บางครั้งเขาก็ทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า หากเป็นมุมมองจากคนภายนอกอาจฟังดูง่าย

“ก็แค่ก้าวออกมา มันจะไปยากอะไร”
“หากความสัมพันธ์นั้น มันแย่นัก ทำไมต้องยอมทน”

Advertisements

แต่สำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในความสัมพันธ์ประเภทนี้กลับไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะก้าวเดินออกมาได้

สาเหตุของ Trauma Bonding

เพราะสาเหตุที่ทำให้เกิด Trauma Bonding อาจมาจากประสบการณ์ในอดีต อย่างเช่น จากการเลี้ยงดูของครอบครัวในวัยเด็กที่เคยโดนทำร้ายสลับกับการได้รับคำชม จึงมีความเข้าใจที่ว่า การถูกดุด่าว่ากล่าว หมายถึง การแสดงความรักอย่างหนึ่ง ทำให้คนที่เป็นเหยื่อมีความหวังลึกๆ อยู่เสมอ ว่าจะได้รับความรักหรือคำปลอบโยนกลับมาจากคนคนเดียวกันที่เป็นคนทำร้าย และเข้าใจว่า ‘นี่แหละคือความรัก’

ต่อมาเมื่ออยู่ในความสัมพันธ์กับคนรัก ทำให้คนประเภทนี้กลายเป็นคนที่มักปกปิดความรู้สึกตัวเอง และเมื่อเกิดข้อผิดพลาดก็มักจะกลับมากล่าวโทษตนเองก่อน โดยคิดอยู่เสมอว่าเป็นความผิดตัวเองที่ ‘ไม่ดีพอ’ จึงทำให้พบเจอแต่ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (Toxic Relationship) อยู่เสมอ และไม่ว่าจะถูกทำร้ายมามากมายขนาดไหน คนประเภทนี้ก็ยังสามารถสร้างสายใยความผูกพันกลับมาใหม่ได้ทุกครั้ง เพียงแค่ได้รับคำปลอบใจดีๆ จากคนรัก อย่างคำบอกรักหวานๆ และหลงเชื่อในคำโกหก กับคำขอโทษ (ปลอมๆ) ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นวงโคจรไม่รู้จบ

เมื่อคนเรารู้สึกได้รับความรัก จะทำให้ฮอร์โมนแห่งความสุข จากสารเคมีในสมองอย่างโดพามีน (Dopamine) หลั่งออกมา ไม่ต่างจากการถูกกระตุ้นด้วยสารเสพติดอย่างโคเคน และนิโคตินในบุหรี่ ดังนั้น สำหรับคนที่มี Trauma Bounding ก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่ ‘ถอนยา’ และเมื่อได้รับ ‘ยา’ อีกครั้ง ความผูกพันก็ยิ่งรุนแรง และมีความต้องการที่มากขึ้น และมากขึ้นเรื่อยๆ

หากรู้ตัวแล้วว่ามีอาการเช่นนี้ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าใดนักสำหรับการห้าม ‘สายใย’ ความรู้สึกนี้ในทันที จนบางครั้งเพื่อนๆ รอบตัวอาจเหนื่อยใจแทนกันไปหมด แต่หากคุณกลับมาเห็น ‘คุณค่าของตัวเอง’ โดยเริ่มจากการลองบันทึก ทบทวนเหตุการณ์และความรู้สึกของตัวเอง สิ่งที่คุณต้องการและสิ่งที่ได้รับจากความสัมพันธ์นี้เป็นอย่างไร และพึงระลึกไว้เสมอว่า คุณสมควรที่จะได้รับความรักที่คู่ควร และเหมาะสมกับตัวเอง และไม่มีใครสมควรถูกทำร้ายทั้งทางด้านร่างกายหรือจิตใจ

หากคุณเริ่มรักตัวเองให้มากพอก่อนที่จะมอบใจไปให้คนอื่นแล้ว คุณก็จะได้รับความรักที่ดีกลับคืนมาเช่นกัน ในวันนั้นเองอาจช่วยให้คุณหลุดพ้นจากวัฏจักรความเจ็บปวดซ้ำๆ เหล่านี้

หากรู้แล้วว่าความสัมพันธ์นี้ไม่เหมาะสมกับตัวคุณ คงถึงเวลาปลดโซ่ตรวนความสัมพันธ์แย่ๆ นี้ได้แล้ว

Advertisements

เพราะคุณนั้นสมควรได้รับความรักที่ดีที่สุดกับตัวเอง


อ้างอิง:

https://bit.ly/2SfQy0J

https://bit.ly/3xDLWRa

https://bit.ly/2ST8rCF

#missiontothemoon 

#missiontothemoonpodcast

#relationship

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements