ชีวิตที่สมบูรณ์แบบมีจริงไหม? ค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ กับหนังสือ ‘The Midnight Library’

4666
1920-The Midnight Library

‘ถ้าในวันนั้นเลือกอีกทาง ชีวิตคงไม่เป็นแบบนี้ คงจะดีและมีความสุขกว่านี้’

เชื่อว่าหลายคนคงมีความคิดทำนองนี้ผุดขึ้นมาในหัวอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเวลาที่จมอยู่กับความเศร้าและความผิดหวัง เมื่ออะไรๆ ก็ดูไม่เป็นใจไปหมด จนสุดท้ายไม่กล้าออกไปใช้ชีวิต เอาแต่โทษตัวเอง อยู่กับความกลัว และกดดันตัวเองด้วยคำถามที่ว่า ‘ทำไม’ เต็มไปหมด

เรากำลังโหยหาชีวิตที่สมบูรณ์แบบอยู่หรือเปล่า? แล้วความสมบูรณ์แบบที่ว่ามีหน้าตาอย่างไร การได้ทำในสิ่งที่ชอบ ได้ทำอะไรเพื่อสังคม หรือได้เป็นที่ยอมรับของคนรอบข้าง ก็ยังไม่มีใครสามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ หรือว่าจริงๆ แล้วความสมบูรณ์แบบของชีวิตนั้นอาจไม่มีอยู่จริง

ผู้เขียนบทความเองก็เคยมีความคิดและนึกเสียดายกับหลายอย่างในชีวิตอยู่บ่อยครั้ง แต่เมื่ออ่านหนังสือ ‘The Midnight Library มหัศจรรย์ห้องสมุดเที่ยงคืน’ เล่มสีม่วงชวนสะดุดตาเล่มนี้จบลง ก็ทำให้สิ่งที่เคยคิดกลับเปลี่ยนไป ความรู้สึกเสียใจและเสียดายในแต่ละเส้นทางที่เลือกมาแล้วค่อยๆ ลดน้อยลง และค้นพบมุมมองใหม่ๆ ของชีวิตที่มีค่ามหาศาล

The Midnight Library มหัศจรรย์ห้องสมุดเที่ยงคืน

1. ‘นอรา ซีด’ วัย 35 ปี ตัดสินใจจบชีวิตลง หลังเผชิญกับโรคซึมเศร้าและความผิดหวังมานานหลายปี เมื่อลืมตาขึ้นมาเธอกลับไม่ตาย แต่กำลังตกอยู่ระหว่างความเป็นและความตายใน ‘ห้องสมุดเที่ยงคืน’

2. ห้องสมุดแห่งนี้มีชั้นวางหนังสือทอดยาวไปไม่รู้จบ ซึ่งหนังสือทุกเล่มคือชีวิตทั้งหมดที่เป็นไปได้ของนอรา และมี ‘หนังสือแห่งความเศร้าเสียใจ’ ที่บันทึกทุกความเสียใจเอาไว้

3. ‘มิสซิสเอล์ม’ บรรณารักษ์ห้องสมุด เสนอโอกาสให้นอราลองใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการอย่างไม่จำกัด เพื่อแก้ไขและเลือกเส้นทางที่แตกต่าง จนกว่าจะค้นพบชีวิตในแบบที่ต้องการ

4. เงื่อนไขคือ หากชีวิตที่เลือกกลับไป ทำให้นอราผิดหวังอย่างที่สุดและเกิดขีดจำกัดที่จะรับไหว เธอจะต้องกลับมาที่ห้องสมุดแห่งนี้ทุกครั้ง

5. ผู้แต่ง ‘Matt Haig’ นักเขียนชาวอังกฤษที่ฝากผลงานที่น่าประทับใจและได้รับรางวัลหนังสือขายดีอันดับหนึ่งหลายเรื่อง เช่น Reason to Stay Alive, How To Stop Time หรือ The Humans

6. ผู้แปล ‘คุณวรรธนา วงษ์ฉัตร’ ได้ฝากผลงานแปลอังกฤษ-ไทยไว้หลายเรื่อง เช่น บุกดวงจันทร์ ยานเวลาตะลุยโลกอนาคต คู่มือหัวใจสลาย เป็นต้น

หนังสือแห่งความเศร้าเสียใจ

1. หนังสือแห่งความเศร้าเสียใจของนอรานั้นหนักอึ้งมากพอสมควร เธอกลัวที่จะต้องอ่านเรื่องราวของหนังสือเล่มนี้

2. นอราเผชิญกับโรคซึมเศร้า การสูญเสียคนรัก หน้าที่การงาน และสัตว์เลี้ยง ทำให้ความเศร้าภายในใจเกินขีดจำกัดที่จะรับไหว

3. เธอเอาแต่โทษตัวเองและเสียใจกับหลายๆ สิ่งที่เป็นอยู่ โดยคิดตลอดว่า ‘ถ้าตอนนั้นเลือกอีกแบบหนึ่ง ชีวิตคงจะดีและมีความสุขกว่านี้’

4. เธอติดแหง็กอยู่กับชีวิตที่เต็มไปด้วยความผิดหวัง ความล้มเหลว ไม่มีอะไรเป็นใจสักอย่าง และเป็นชีวิตที่เธอให้คำนิยามเองว่า ‘ไม่มีความสุข’

Advertisements

ข้อคิดจากหนังสือ ‘The Midnight Library’

1. ไม่มีใครสามารถเป็นในแบบที่อยากเป็นได้ทุกอย่าง และเราไม่ได้มีห้องสมุดเที่ยงคืนหรือมิสซิสเอล์มเหมือนนอรา ดังนั้น ขอบคุณตัวเองที่มีชีวิตอยู่ และนำเรื่องราวในอดีตไว้เป็นบทเรียนเพื่อขีดเขียนเส้นทางชีวิตใหม่ที่เราเป็นผู้กำหนด

2. ชีวิตที่สมบูรณ์แบบอาจไม่มีอยู่จริง เพราะชีวิตมีทั้งสุขและเศร้าปะปนกันไป แต่ต้องมีชีวิตที่ควรค่าแก่การมีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นเสมือนของขวัญล้ำค่าที่ควรค่าจะได้รับและน่าทะนุถนอมอย่างแน่นอน

3. เป็นปกติที่ชีวิตจะมีเส้นทางที่คดเคี้ยวไปบ้าง ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องเข้าใจชีวิตและสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นไปทุกอย่าง เพียงแค่ใช้ชีวิตต่อไปและค่อยๆ เรียนรู้มันไป

4. ทุกคนมีเรื่องที่ต้องตัดสินใจทั้งเรื่องเล็กและใหญ่ทุกวัน ตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมาในตอนเช้า ตลอดจนเข้านอน ซึ่งไม่มีใครที่ตัดสินใจถูกไปทุกอย่าง แต่จงเชื่อว่า ‘สิ่งที่เลือกมาแล้วดีเสมอ’ อย่ามัวแต่เสียใจ เสียดาย และโหยหาอดีตที่ไม่ได้เลือก มาโฟกัสกับสิ่งตรงหน้าที่มีผลต่อปัจจุบันและอนาคตดีกว่า

5. ควรเลือกทำและเชื่อมั่นในสิ่งที่เราต้องการ และหากสิ่งนั้นไม่ทำให้ใครเดือดร้อนก็เลือกทำต่อไป เพราะคอยทำแต่สิ่งที่คนอื่นอยากให้ทำ เพื่อให้คนอื่นยอมรับหรือประทับใจ จะทำให้เราไม่ได้อะไรเลย

6. สิ่งที่ดูธรรมดา ไม่หวือหวา อาจเป็นตัวช่วยสำคัญนำทางไปสู่จุดหมายและความสุขที่แท้จริงได้ และบางครั้งสิ่งที่ปักใจเชื่อไปแล้วนั้น ‘ความจริง’ อาจไม่ได้เป็นไปตามที่เราคิดเสมอไป อย่าเพิ่งรีบด่วนสรุปก่อนที่จะรับรู้เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น

7. ออกห่างจาก Social Media บ้าง เพราะมันทำให้เรายิ่งจมดิ่งและกดตัวเองอยู่กับการเปรียบเทียบกับชีวิตคนอื่น การบั่นทอน และความโดดเดี่ยว

8. เราเศร้าเพราะพาตัวเองไปจมอยู่กับความเศร้า ซึ่งความเศร้าเป็นเรื่องปกติไม่ต่างจากอารมณ์อื่นๆ ที่เกิดขึ้น มันจะผ่านมาและผ่านไป เวลาจะช่วยเยียวยาและซ่อมแซมจิตใจในยามที่แหลกสลาย

9. เราไม่จำเป็นต้องมีสมุดแห่งความเศร้าเสียใจเป็นของตัวเอง แต่ลองเริ่มเขียนสิ่งเล็กๆ ที่ทำให้เรามีความสุขในแต่ละวัน และกลับมาอ่านอีกครั้งในยามที่ทุกข์ใจ


เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ
– สรุปหนังสือ ‘Reasons to Stay Alive’ เรียนรู้การมีชีวิตต่อ แม้จะแหลกสลาย
– ถึงเวลาหรือยังที่เราต้องพบจิตแพทย์? ทำความเข้าใจมนุษย์ผ่านข้อคิดจากหนังสือ Maybe You Should Talk to Someone


อ้างอิง:
Matt Haig, The Midnight Library: มหัศจรรย์ห้องสมุดเที่ยงคืน


#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#inspiration

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่