‘กล้าที่จะถูกเกลียด’ รวม 5 ข้อคิด ให้ใช้ชีวิตอย่างอิสระและมีความสุข

32686
กล้าที่จะถูกเกลียด

“ถ้ากลับไปเป็นเด็กได้ก็คงดี” 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคำคำนี้คงเป็นความคิดที่แล่นเข้ามาในหัวเราบ่อยครั้ง ยิ่งเมื่อเราโตขึ้นและต้องเผชิญกับโลกแห่งความเป็นจริงที่โหดร้าย 

ตอนเรายังเป็นเด็ก ไม่เห็นมีเรื่องให้คิดมาก ไม่มีเรื่องให้เครียด ไม่มีงานต้องทำ ไม่ต้องรับรู้เรื่องราวต่างๆ ทำอะไรผิดพลาดก็ยังมีผู้ใหญ่คอยโอ๋ แถมยังดูมีความสุขกับเรื่องเล็กๆ ในชีวิตได้มากกว่านี้ 

Advertisements

ทั้งที่ตอนเด็ก เราก็อยากรีบโตไวๆ เพราะคิดว่าจะได้มีอิสระ แต่ทำไมยิ่งโต ยิ่งรู้สึกว่าอิสระที่ว่านั้นกลับไม่มีจริง เรายังคงต้องอยู่ภายใต้กรอบของสังคมที่จำกัดไว้ ต้องแคร์คนรอบข้าง แคร์สังคม จนสุดท้ายแทบไม่ได้แคร์ตัวเองเลย 

ย้อนกลับไปคิดดูแล้ว… ตอนเด็กเราดูมีอิสระ และมีความสุขกว่านี้ตั้งเยอะ

เพราะยิ่งวันปีเริ่มเปลี่ยนผ่าน วัยที่มากขึ้นตามกาลเวลา มาพร้อมกับภาระหน้าที่และความกดดันที่ต้องแบกรับ สิ่งที่เคยคิดว่าเป็นไปได้ ก็กลับมาค้นพบว่าเป็นไปไม่ได้ บางครั้งก็ทำให้คิดว่า โลกใบนี้ใจร้ายแต่กับเรา… มากเสียจนทำให้เกือบหลงลืมไปแล้วว่า 

“เรามีความสุขจริงๆ ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่กัน?”

หนังสือเรื่อง “กล้าที่จะถูกเกลียด” โดยคิชิมิ อิชิโร และโคะกะ ฟุมิทะเกะ บอกเล่าเรื่องราวในมุมมองจิตวิทยาแนวปรัชญาของ Alfred Adler ผ่านบทสนทนาระหว่างชายหนุ่มผู้มีปัญหากับชีวิต และนักปรัชญาผู้ศึกษาทฤษฎีของแอดเลอร์ หนังสือเล่มนี้ จะพาเราก้าวไปสู่ความจริงที่ว่า โลกใบนี้ไม่ได้โหดร้าย แต่เป็น “ความคิดของเราเอง” ต่างหากที่ทำให้มันสับสนวุ่นวาย เราจึงต้องใช้ ‘ความกล้า’ ในการที่จะถูกเกลียด เพื่อนำไปสู่ ‘อิสรภาพ’ ที่แท้จริง

หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับคนที่กำลังรู้สึกเหนื่อยล้ากับแรงกดดันและความคาดหวังจากคนรอบข้าง อยากค้นหาตัวเอง หรืออยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง วันนี้เราจึงได้สรุป 5 ข้อคิดสำคัญจากหนังสือเล่มนี้มาฝากกัน!

5 ข้อคิดจากหนังสือกล้าที่จะถูกเกลียด

ข้อคิดที่ 1 อย่าเชื่อเรื่องแผลใจ

“ไม่ว่าจะเคยเกิดอะไรขึ้นในอดีต สิ่งเหล่านั้นก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อในปัจจุบันแม้แต่น้อย คนที่กำหนดชีวิตของคุณคือคุณที่มีชีวิตอยู่วินาทีนี้ต่างหาก”

หลายครั้งเมื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้น เรามักจะนึกหาเหตุผลว่าทำไมเราจึงเป็นเช่นนั้น โดยอ้างถึงอดีตที่ว่า เรามีแผลใจอะไรบางอย่างที่ส่งผลต่อตัวเราในปัจจุบัน หากคิดเช่นนี้แล้วก็เท่ากับเราเชื่อว่า ‘อดีตเป็นตัวกำหนดทุกสิ่ง’ และความคิดเช่นนี้เองเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ชีวิตเราไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ เพราะมัวแต่ติดอยู่กับ ‘กับดักอดีต’ ที่ย้อนกลับไปแก้ไขและเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้อีกแล้ว 

แอดเลอร์เชื่อว่าแผลใจไม่มีอยู่จริง ความจริงแล้วคนเราไม่ได้ถูกกำหนดด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมา แต่ถูกกำหนดโดยขึ้นอยู่กับว่า “เราให้ความหมายแก่ประสบการณ์นั้นอย่างไร” 

หากเชื่อว่าเพราะมีแผลใจในอดีต เช่น เคยโดนหมากัดเลยกลัวหมา ถ้าอย่างนั้น ไม่ว่าใครที่เคยโดนหมากัดก็ต้องกลัวหมาเหมือนกันหมด แต่หากเชื่อว่าเป็นเพราะเราให้ความหมายในแง่ลบกับประสบการณ์นั้น เราก็จะเชื่อว่าที่เราเกิดความกลัวก็เป็นแค่เพราะความคิดของตัวเอง ดังนั้นเราจึงสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดนั้น และเปลี่ยนแปลงตัวเองกันได้ในภายหลัง 

ถึงแม้ว่าอาจจะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนกันไม่ได้ง่ายๆ ในเวลาอันสั้น แต่นี่ก็นับว่าเป็นการเริ่มต้นจากการเปลี่ยนที่มุมมองให้รู้ว่า อย่างน้อยสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราตอนนี้ก็ยังเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงกันได้

ข้อคิดที่ 2 ความทุกข์ใจทั้งหมดล้วนเกิดจากความสัมพันธ์

“หากอยากกำจัดความทุกข์ใจให้หมดไป ต้องอยู่คนเดียวในจักรวาลเท่านั้น”

คำถามที่ตามมาคือ ‘ถ้าเราอยู่คนเดียวแล้วจะไม่ยิ่งทุกข์เพราะความเหงาเหรอ?’ ความจริงแล้ว ความเหงาไม่ใช่การอยู่เพียงลำพัง แต่คือการรู้สึกแปลกแยกจากคนอื่นรอบๆ ตัว ความทุกข์ต่างๆ ล้วนเกิดจากการมีสังคม เราจะไม่มีความรู้สึกต่ำต้อย หากไม่นำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นที่ดีกว่า หรือรู้สึกแพ้เมื่อบางอย่างไม่เป็นไปตามความคาดหวังเหมือนคนอื่นเขา 

Advertisements

ความทุกข์ทุกอย่างจึงเกิดมาจากการที่เราอยู่ร่วมกันคนอื่น ถ้าไม่อยากมีความทุกข์ ก็คงต้องตัดขาดทุกคนออกไปให้หมด แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เราก็ไม่สามารถตัดขาดจากสังคมโดยสิ้นเชิงได้จริง เราจึงทำได้เพียงแค่ปรับเปลี่ยน ‘มุมมอง’ ของเราเอง เลิกเปรียบเทียบแข่งขันหาผู้แพ้ผู้ชนะกับคนอื่น แต่ให้มองว่า การใช้ชีวิตคือเป็นการเดินไปข้างหน้าในพื้นราบพร้อมกับทุกคน แล้วโฟกัสแค่ว่าเราต้องเดินไปข้างหน้าให้ได้ไกลกว่าจุดเดิมที่ตัวเองอยู่ปัจจุบันก็พอ

ข้อคิดที่ 3 ตัดเรื่องของคนอื่นทิ้งไป

“มนุษย์เราไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อทำตามความคาดหวังของคนอื่น”

เพราะเราจำเป็นต้องอยู่ในสังคม เราจึงต้องการได้รับการยอมรับจากผู้อื่น หรือเรียกง่ายๆ ว่า “คนเราไม่อยากโดนใครเกลียด” สมมติว่ามีคนในห้อง 10 คน เราก็คงต้องพยายามทำตัว 10 แบบ เพื่อให้แต่ละคนในห้องชอบและยอมรับในตัวเรา ถ้าอย่างนั้นการทำตัวให้เป็นที่ยอมรับจากคนอื่นจะนับว่าเป็นความสุขที่แท้จริง… จริงๆ เหรอ? 

การที่เรามัวแต่สนใจคนอื่นว่าจะตัดสินคุณค่าของเราอย่างไร เท่ากับว่าเราใช้ชีวิตในแบบที่คนอื่นอยากให้เป็น หากการได้รับการยอมรับคือการไม่ถูกเกลียด ดังนั้น ‘การถูกเกลียดก็คือการได้มาซึ่งอิสรภาพ’ อิสระที่เราไม่ต้องทำตามใจทุกคนบนโลก และให้โอกาสตัวเองหันกลับมาฟังเสียงของหัวใจ เพื่อเดินทางตามหาความสุขของเราเองได้จริงๆ

สุดท้ายแล้ว ถ้าให้เลือกระหว่าง ‘ชีวิตที่มีแต่คนชอบ’ กับ ‘ชีวิตที่มีคนเกลียดบ้าง’ ชีวิตแบบไหนจะทำให้คุณมีความสุขได้มากกว่ากัน?

ข้อคิดที่ 4 เราไม่ใช่ศูนย์กลางของโลก

“แม้ว่าตัวคุณจะเป็นศูนย์กลางของชีวิตคุณเอง แต่คุณก็ยังเป็นแค่ส่วนหนึ่งของสังคมทั้งหมดเท่านั้น”

หากชีวิตเปรียบดั่งละคร เราก็คงเป็น ‘ตัวเอก’ ของละครเรื่องนี้ในเรื่องของเรา เรามีสิทธิ์ควบคุมเนื้อเรื่องของเราเองให้เป็นอย่างไรก็ได้ตามต้องการ แต่อย่างไรก็ตาม นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นศูนย์กลางของโลกใบนี้ เรายังคงเป็นแค่ ‘ตัวประกอบ’ ในเรื่องราวของคนอื่นด้วยเหมือนกัน และเราก็ไม่สามารถบังคับละครของคนอื่นให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้ เราไม่อยากใช้ชีวิตของตัวเองตามความคาดหวังของคนอื่นอย่างไร เราก็ไม่ควรไปควบคุม คาดหวัง ในชีวิตหรือละครของคนอื่นให้เป็นไปตามความต้องการของเราเช่นกัน

ข้อคิดที่ 5 ใช้เวลาในวินาทีนี้อย่างจริงจัง

“โลกรอบตัวเราไม่ใช่สิ่งที่ใครคนอื่นจะเปลี่ยนแปลงได้ จะมีก็แต่ตัวเราเท่านั้น”

การโกหกที่ร้ายแรงที่สุดคือการโกหกตัวเองด้วยการเอาแต่มองถึงอดีตและอนาคต โดยไม่อยู่กับความเป็นจริงของชีวิตในวินาทีนี้ จำไว้เสมอว่าเมื่อวานและวันพรุ่งนี้ไม่ได้เป็นตัวกำหนดชีวิตเรา แต่เป็นตัวเราตั้งแต่ ‘วินาทีนี้’ ที่กำลังทำอะไรอยู่ต่างหาก

ความจริงแล้ว เราไม่จำเป็นต้องกลับไปเป็นเด็กเพื่อให้กลับไปมีความสุขได้ดั่งเดิม หากเพียงแค่เรา ‘กล้า’ ที่จะใช้ชีวิต ‘กล้า’ ที่จะเปลี่ยนแปลง และ ‘กล้า’ ที่จะถูกเกลียด เราก็จะพบว่าโลกใบนี้นั้นเรียบง่ายจนไม่ว่าใครก็สามารถ “มีความสุข” ได้อย่างแท้จริง


เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ:

“Letting Go” 5 สิ่งที่ควรปล่อยเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น

อ้างอิง:
Kishimi Ichiro และ Koga Fumitake (2013), กล้าที่จะถูกเกลียด

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#inspiration

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements