บทเรียนความล้มเหลวจาก Startup ชื่อดังทั่วโลก

2068
startup

ข่าวที่เราได้เห็นและได้ยินกันบ่อยๆ มักจะเป็นเรื่องราวความสำเร็จอย่างเรื่องราวของ Jeff Bezos, Elon Musk หรือ Whitney Wolfe Herd ผู้สร้างแพลตฟอร์ม Bumble ที่ขึ้นแท่นเศรษฐีพันล้านที่อายุน้อยที่สุด

ซึ่งในโลกความเป็นจริงแล้วมีคนที่ประสบความสำเร็จเพียง 5% เท่านั้น และมีคนส่วนใหญ่ถึง 95% ที่ไม่ประสบความสำเร็จตามที่หวังไว้ หรือบางครั้งก็ดูเหมือนธุรกิจกำลังไปได้สวย แต่ก็มีเรื่องที่ทำให้ต้องสะดุดและล้มเลิกไปในที่สุด

ชวนดูบทเรียนความล้มเหลวจากสตาร์ทอัพทั่วโลก ว่าอะไรคือปัญหาและสาเหตุที่ทำให้บริษัท Startup ชื่อดังเหล่านี้ต้องหยุดกิจการไป

1. Beepi แพลตฟอร์มซื้อขายรถมือสอง

Beepi เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีไอเดียธุรกิจคือ ต้องการให้คนที่สนใจขายรถติดต่อเข้าไป และทาง Beepi จะส่งคนเข้ามาประเมินสภาพรถยนต์ก่อนที่จะทำการอัพโหลดลงแพลตฟอร์มเพื่อทำการขายให้กับผู้ที่สนใจ โดยถือว่าเป็นธุรกิจที่กำลังไปได้สวย มีการประเมินมูลค่าอยู่ที่ 560 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 17,462 ล้านบาท

Advertisements

ในขณะที่ Beepi กำลังขยายแพลตฟอร์มไปหลายสิบเมือง เมื่อระดมเงินทุนได้เยอะมากขึ้น บริษัทกลับใช้จ่ายเงินไปอย่างสิ้นเปลืองเช่น เงินเดือนผู้บริหารที่มีอัตราสูงเกินไปท้ายที่สุด Beepi ทำธุรกิจได้เพียง 4 ปีก็ต้องล้มเลิกไปก่อนที่จะขยายไปยังเมืองอื่น ซึ่งการใช้จ่ายเงินไปกับสิ่งไม่จำเป็นถือเป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้หลายธุรกิจต้องหยุดไปเป็นจำนวนมาก

2. Jawbone ริสต์แบนด์วัดชีพจร

Jawbone เป็นสตาร์ทอัพที่สามารถระดมทุนได้อันดับต้นๆ ผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีอย่าง หูฟัง Bluetooth, Wearable Devices วัดสุขภาพ แต่ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาบางตัวกลับไม่ตอบโจทย์และไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรอย่างเช่น ริสต์แบรนด์วัดชีพจร ที่ผู้ใช้ต่างบอกว่ามันหลวมเกินไปทำให้ตรวจจับชีพจรได้ไม่ดีมากนักและหน้าตาของ UX ก็ไม่เหมาะสมต่อการใช้งาน

อย่างที่เราทราบกันดีว่าสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีถือว่ามาแรงและมีคู่แข่งในตลาดเยอะมากอย่าง Ftibit, Xiaomi, Apple, Samsung จึงเกิดเป็นจุดด้อยของ Jawbone เพราะนอกจากสินค้าไม่ดีแล้วทางบริษัทยังหยุดให้บริการลูกค้าถึงแม้สินค้าจะอยู่ในประกันก็ตาม Jawbone จึงปิดตัวไปในปี 2017 มีการประเมินมูลค่าบริษัทอยู่ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการระดมทุนอยู่ที่ 930 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ 28,995 ล้านบาท

3. Yik Yak แอปพลิเคชันแชตคุยได้แค่ 1 ไมล์

Yik Yak แอปพลิเคชันแชตแบบไม่เปิดเผยตัวตน สามารถอ่านได้ในรัศมี 1 ไมล์ เป็นที่นิยมมากในหมู่นักศึกษา มียอดดาวน์โหลดมากถึง 1.5 ล้านครั้งใน 1 ปี แต่ปัญหาของแอปพลิเคชันคือ ผู้ใช้เกิดการเหยียดผิว เหยียดเพศ และคำพูดล่วงละเมิด สิ่งที่เกิดขึ้นในแอปฯ ส่งผลให้ Yik Yak โดนแบนจากโรงเรียนจำนวนมาก จนต้องปิดตัวไปในที่สุด มูลค่าบริษัทอยู่ที่ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 12,471 ล้านบาท

Advertisements

4. Doppler Labs หูฟังไร้สายสุดล้ำที่มาก่อนกาล

Doppler Labs เป็นสตาร์ทอัพแรกๆ ที่ผลิตหูฟังไร้สายตัดเสียงรบกวนและสามารถปรับแบบดนตรี เช่น Acoustic ได้ โดยหูฟังไร้สายของ Doppler Labs ออกมาก่อนที่ Airpods จะผลิตออกมา แต่ติดปัญหาเรื่องการผลิตที่ล่าช้า ไม่สามารถออกขายได้ในช่วงที่ตลาดต้องการ รวมไปถึงแบตเตอรี่ที่เป็นคุณสมบัติสำคัญของหูฟังไร้สายกลับไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะใช้ได้เพียงแค่ 2 ชั่วโมง สุดท้ายจึงแพ้แบรนด์ใหญ่อย่าง Apple ไปในที่สุด

5. Juicero เครื่องบีบอัดน้ำผลไม้ออกจากซอง

แบรนด์เครื่องคั้นน้ำผักผลไม้สุดล้ำที่มีผู้บริหารจาก Coca-Cola มาช่วยบริหาร โดยตัวเครื่องออกแบบให้ผู้ใช้ใส่ซองน้ำผลไม้เข้าไปโดยไม่ต้องฉีกซองออก และตัวเครื่องจะมีแรงดันบีบอัดน้ำผลไม้ออกจากซองถึง 4 ตัน จากนั้นค่อยหยิบเอาซองออกมาทิ้ง แต่ที่สำคัญก็คือ ราคาของเครื่องที่สูงถึงประมาณ 699 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 21,805 บาท ประกอบกับไม่สามารถใช้กับน้ำผลไม้ยี่ห้ออื่นได้ สุดท้ายก็ต้องปิดตัวลงไปทั้งที่ตอนแรกมีการระดมทุนจำนวนมากถึง 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าบริษัท 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 17,148 ล้านบาท

จากทั้ง 5 สตาร์ทอัพที่ได้กล่าวมาในเบื้องต้น แสดงให้เห็นว่า ต่อให้เป็นบริษัทที่มีเงินระดมทุนมากมายติดอันดับบริษัทสตาร์ทอัพยูนิคอร์น แต่ถ้ามีปัจจัยที่ไม่สามารถแก้ไขให้ตอบโจทย์กับผู้ใช้หรือการบริหารจัดการไม่ดีเท่าที่ควร ก็ส่งผลให้บริษัทที่ดูกำลังจะไปได้ดีต้องล้มเหลวได้เช่นเดียวกัน

ถ้าใครสนใจอยากฟัง “บทเรียนความล้มเหลวจาก Startup ชื่อดังทั่วโลก” แบบเต็มๆ สามารถเข้าไปฟังได้ที่ https://bit.ly/3h6dXeW

#MissionToTheMoonPodcast

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/online-content/

Advertisements