หากมีคนถามคุณว่าคุณรักแฟนของคุณไหม คงตอบได้ง่ายๆ เลยว่ารักสิ
หากเขาถามต่อว่าคุณรักเพื่อนสนิทของคุณไหม แน่นอนว่าคุณรักพวกเขาอยู่แล้ว
แต่ถ้าเขาถามว่า “แล้วคุณรักตัวเองหรือเปล่า?”
หลายๆ คนอาจใช้เวลาคิดอยู่สักพัก ก่อนจะตอบกลับอย่างไม่แน่ใจนัก
“รักสิ..”
ถ้าถามถึงคนในครอบครัว สัตว์เลี้ยงหรือคนอื่นๆ เรามีคำตอบให้อยู่แล้วแบบไม่ต้องคิดเยอะ ตั้งแต่รักมาก รัก ไม่รัก หรือเฉยๆ ตราบใดที่เป็นคนอื่นเราตอบได้เสมอ แต่เมื่อไหร่ที่เป็นเรื่องของตัวเราเอง เราอาจตอบไม่ได้เต็มปาก เพราะเราก็ไม่ค่อยได้มานั่งคิดเหมือนกันว่าจริงๆ แล้วเรารักตัวเองไหม
แล้วถ้าหากว่าคำถามถูกเปลี่ยนเป็นแบบนี้จะตอบง่ายขึ้นไหม
“คุณแคร์ความรู้สึกคนอื่นมากกว่าตัวคุณเองหรือเปล่า”
“คุณกังวลว่าคนอื่นจะไม่ชอบคุณไหม”
“คุณเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นบ่อยๆ ไหม”
ถ้าตอบว่าใช่ทุกข้อ บางทีนี่อาจจะถึงเวลาแล้วที่คุณต้องรักตัวเองให้มากกว่านี้อีกหน่อย
บอกรักตัวเองครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่
การบอกรักตัวเองไม่ใช่การยืนส่องกระจกแล้วพูดว่า “รักนะ” เสมอไป
การรักตัวเอง (Self-love) อาจหมายถึงการปฏิบัติต่อตัวเองด้วยความเคารพและอ่อนโยน
อาจหมายถึงการดูแลร่างกายและจิตใจให้ดี เช่น การออกกำลังกาย การอ่านอะไรดีๆ เป็นอาหารสมอง หรือการเลิกเล่น Instagram สักพัก เพราะชีวิตดีๆ ของคนอื่นทำให้เรารู้สึกแย่กับตัวเอง
อาจหมายถึงการมีจุดยืนที่ชัดเจน (Healthy Boundary) อย่างการรู้จัก ‘ปฏิเสธ’ เวลามีคนชวนไปไหนแต่เราไม่อยากไป หรือการตัดคนแย่ๆ ออกไปจากชีวิต
หรืออาจหมายถึงการเลิกพูดกับตัวเองในแง่ร้าย เช่น เปลี่ยนจากคำว่า ‘ฉันไม่เก่งอะไรสักอย่าง’ เป็น ‘ฉันยังมีอะไรอีกหลายอย่างให้เรียนรู้’
ความรักที่เรามอบให้ตัวเองมีหลายรูปแบบ อย่างเช่น การไม่ปล่อยให้คนอื่นเอาเปรียบ การให้อภัยตัวเองเวลาทำพลาด และการยอมรับว่าเราไม่สมบูรณ์แบบ เป็นต้น ขึ้นอยู่กับว่าเราจะกำหนดมันอย่างไร
คำถามที่ตามมาสำหรับหลายๆ คนคือ “รักตัวเองแล้วดีอย่างไร”
ในทางวิทยาศาสตร์ Self-love หรือ Self Compassion มีข้อดีอยู่มากมาย อย่างเช่น
1) ทำให้เราเข้มแข็งขึ้น
หากพูดว่า ‘รักตัวเอง’ หลายคนอาจคิดถึงแต่การสปอยล์ตัวเอง กินอะไรที่อยากกิน ทำอะไรที่อยากทำ ทั้งๆ ที่จริงไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไป การรักตัวเองยังหมายถึงการ “มีวินัย” และไม่ตามใจตัวเอง (Self-indulgent) จนเกินไปอีกด้วย
สมมุติว่าเป็นคนที่ชอบเล่นเกม แต่ก็มีความใฝ่ฝันว่าอยากเป็นนักเขียน บางครั้งเราก็อยากยอมแพ้ต่อความสุขตรงหน้าและนั่งเล่นเกมต่อไป แต่ถ้าเรารักตัวเองมากพอ เราจะบังคับตัวเองให้ฝึกเขียนสัก 2-3 ชั่วโมง เพราะเรารู้ดีว่าความฝันนั้นสำคัญกับเรามากแค่ไหน
ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะต่อสู้กับความต้องการของตัวเอง แต่เพราะ Self-love ที่เรามีให้ตัวเองนั่นแหละได้ทำให้เราเข้มแข็งขึ้นทั้งกายและใจ ซึ่งพลังนี้แหละจะนำไปสู่สิ่งดีๆ ในชีวิตเราวันใดวันหนึ่ง
2) ทำให้เราเรียนรู้ได้ดีกว่า
ในชีวิตของคนเรา ความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเราเอาแต่วิพากษ์วิจารณ์ตัวเองทุกครั้งที่ล้มเหลว ด้วยคำพูดอย่าง ‘ทำไมเราไม่เก่ง’ หรือ ‘ทำไมแค่นี้ถึงทำไม่ได้’ เราคงรู้สึกแย่กับตัวเองมากกว่าเดิม อาจยอมแพ้เและหลีกเลี่ยงการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ
ในทางกลับกัน หากเราใจดีกับตัวเองหน่อย เราจะมองความผิดพลาดเป็น ‘บทเรียน’ และนำไปพัฒนาตัวเองต่อไป
3) ทำให้เราเครียดน้อยลง
การพูดจาเชิงติเตียนตัวเองมีส่วนในการกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทติกให้และปล่อยฮอร์โมนส์แห่งความเครียดออกมา ในขณะเดียวกัน หากเราพูดจากับตัวเองดีๆ หรือกอดตัวเองบ้าง (Self-hugging) การกระทำเช่นนี้จะช่วยให้เราสงบ รู้สึกปลอดภัยและสบายใจขึ้นมาได้
อย่างไรก็ตาม บางคนที่อ่านมาถึงตรงนี้อาจสงสัยว่า Self-love ส่งผลต่อ Productivity และ Personal Growth เท่านั้นหรือ แล้วถ้าเราไม่ได้สนใจอยากจะพัฒนาตนเองล่ะ ที่เป็นอยู่เราก็มีความสุขแล้ว หากเป็นเช่นนั้นความรักต่อตัวเองยังจำเป็นอยู่ไหม
จริงๆ แล้ว การรักตัวเองไม่ได้ช่วยแค่เรื่องพัฒนาตนเอง แต่รวมถึง ‘ความสุขโดยรวม’ ในชีวิตเราด้วย
เราจะพาคุณไปรู้จักกับชีวิตสมมุติๆ ของ ‘เจน’ ที่จะช่วยให้คุณจินตนาการได้ง่ายขึ้นว่า จะเกิดอะไรขึ้นหากเราไม่รักตัวเอง
ในกลุ่มเพื่อน เจนเป็น People Pleaser คอยเอาใจคนอื่นตลอด และพูดว่า ‘ไม่เป็นไร’ บ่อย จนคนไม่ค่อยเกรงใจ แม้จะโดนแซวแรงๆ เธอก็ไม่กล้าโมโห เพราะกลัวโดนมองว่า ‘จริงจัง’ เกินไป
ในด้านความสัมพันธ์ ความสุขของเจนผูกอยู่กับแฟน เธอคาดหวังให้เขาเข้าอกเข้าใจทุกอย่างแบบไม่มีเงื่อนไข และรู้สึกผิดหวังเมื่อเขาทำไม่ได้ (อย่าลืมว่าเขาก็เป็นมนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่ง) ทั้งคู่เลยทะเลาะกันเป็นประจำ
เจนจับได้ว่าแฟนโกหกอยู่บ่อยๆ เธอไม่โอเคที่เขาทำเช่นนั้น แต่เธอก็ไม่กล้าเดินออกมาเพราะจินตนาการโลกที่ไม่มีเขาไม่ออก
ทีนี้เรามาดูกันว่า หากเราเปลี่ยนให้เจนรักตัวเองล่ะ ผลลัพธ์จะเปลี่ยนไปอย่างไร
เจนเลิกตามใจผู้อื่นจนลืมนึกถึงความรู้สึกตัวเองและกล้าที่จะบอกเพื่อนตรงๆ ว่า ‘ไม่โอเค’ เวลาถูกทำอะไรแย่ๆ ผลที่ตามมาคือเธอมีความสุขมากขึ้น เพราะเพื่อนหลายคนเข้าใจและคำนึกถึงความรู้สึกเธอมากขึ้น
แน่นอนว่าไม่ใช่เพื่อนทุกคนที่จะเข้าใจ บางคนถามกลับว่า “แซวแค่นี้ไม่ได้เลยหรือไง”
เจนจึงเลือกถอยห่างออกมาจากคนเหล่านั้นเพื่อความสบายใจ
เธอรู้ดีว่าบางความสัมพันธ์ก็ไม่ได้มีค่าให้เราต้องอดทนถึงขนาดนั้น
ส่วนในด้านความรัก เจนเลิกผูกความสุขของเธอไว้กับแฟน วันไหนที่เขาไม่ว่างเธอก็หาความสุขให้ตัวเองได้โดยการทำกิจกรรมที่ชอบ ทั้งคู่ทะเลาะกันน้อยลงอีกด้วยเพราะเจนไม่ได้คาดหวังให้เขาเข้าใจทุกอย่าง จึงไม่ค่อยผิดหวังเท่าไร
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมโกหกของเขาไม่หายไปไหน เธอจึงเลือกยุติความสัมพันธ์เพราะเธอสมควรได้เจอคนที่ซื่อสัตย์กับเธอ
แน่นอนว่า เจนเสียใจมากแต่ก็ไม่ได้ถึงกับสูญสลาย เพราะเธอรู้ดีว่าสุดท้ายยังเหลือคนคนหนึ่งที่รักเธอเสมอ ซึ่งก็คือตัวเธอเอง
พอจะนึกภาพออกกันแล้วใช่ไหม ว่าความรักที่เรามีต่อตัวเองเป็นพื้นฐานของความสุขโดยรวมในชีวิตได้อย่างไร
ถ้าหากเราอยากรักตัวเองให้มากขึ้นต้องทำอย่างไร
John C. Maxwell ได้พูดไว้ในหนังสือ The 15 Invaluable Laws of Growth ว่า
“…ร่างกายของเราเติบโตโดยอัตโนมัติ เมื่อเวลาผ่านไป เราสูงขึ้น แข็งแรงขึ้น ทำอะไรได้หลายอย่างและรับมือกับความท้าทายได้หลายรูปแบบ ผมคิดว่าหลายคนเข้าใจอยู่ลึกๆ ว่าพอด้านร่างกายเติบโตแล้ว ด้านจิตใจ จิตวิญญาณ อารมณ์และความรู้สึกนึกคิดจักเติบโตตามเช่นกัน แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่แบบนั้น สิ่งเหล่านี้เราต้องตั้งใจพัฒนาด้วยตนเอง”
เช่นเดียวกับทักษะด้านอื่นๆ ในชีวิต รักที่มอบให้ตัวเองก็เป็นรักที่ต้อง ‘ฝึกฝน’ เพราะในหลายๆ ครั้ง เราอาจต้องทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน อย่างการตัดความสัมพันธ์เป็นพิษ (Toxic Relationship) ออกจากชีวิต การเรียนรู้ที่จะปฏิเสธ หรือการเรียนรู้ที่จะมีความสุขด้วยตัวเองในวันที่ไม่มีใคร
รักตัวเองเป็นทักษะที่ยาก แต่คุ้มค่าแก่การฝึกฝนอย่างแท้จริง
เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ
– มีความสุขกับชีวิตได้ในทุกๆ วัน เพียงยอมรับ ‘ความจริง 10 ข้อ’ นี้ >> https://missiontothemoon.co/inspiration-happiness-10-truths/
– มาเรียนรู้วิธีปรับความคิดให้ใช้ชีวิตแบบ ‘ไม่เกลียดตัวเอง’ กันเถอะ >> https://missiontothemoon.co/inspiration-selfimprovement-self-hatred/
อ้างอิง
#inspirational
ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/