ข้อดีของการไปทำงานที่ออฟฟิศสำหรับคุณคืออะไร?
สำหรับบางคนที่ทำงานในบริษัทที่มีความสมัยใหม่หน่อย ก็อาจจะคิดถึงสวัสดิการต่างๆ อย่าง ห้องเล่นเกม วายฟายฟรี ไม่เปลืองค่าไฟที่บ้าน ข้าวกลางวันฟรี ไปจนถึงน้ำและขนมที่สามารถเดินไปหยิบได้ตลอด
แต่สิ่งที่ใครหลายคนนั้นคิดถึงที่สุด หรืออาจจะคาดไม่ถึงว่าจะโหยหายามต้องนั่งทำงานแบบ Work From Home ก็คือ “บทสนทนา” ต่างๆ กับเพื่อนร่วมงานมากมายหลากหลายหน้าตา การทักทายยามเช้าของน้าเพ็ญที่ร้านกาแฟทุกเช้า การโดนพี่บิ๊กถามว่ากินอะไรในทุกมื้อกลางวัน ไปจนถึงการคุยเล่นตลอดวันกับเพื่อนสนิทอย่างแพรวาที่นั่งข้างๆ เวลาคิดงานไม่ออก กล่าวโดยง่ายคือ “การเมาท์มอย” ในที่ทำงานนั่นเอง
โดยปกติแล้ว การเมาท์มอยในที่ทำงานแบบนี้มักจะถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ไม่มีความเป็นมืออาชีพเท่าไหร่นัก เนื่องจากการเมาท์มอยมักจะถูกเชื่อมโยงเข้ากับ “การนินทา” หรือการว่าร้ายผู้อื่นแบบลับหลังอยู่เรื่อยมา แต่อันที่จริงแล้วการเมาท์มอยนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากการประสงค์ร้ายเสมอไป อีกทั้งยังมีผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่บอกว่า การเมาท์มอยเรื่อยเปื่อยทั่วไปแบบไร้สาระและไร้พิษภัยระหว่างเพื่อนร่วมงานนั้น ดีต่อสุขภาพจิตแถมยังช่วยให้คนเราทำงานได้มีประสิทธิภาพขึ้นอีกด้วย
เมาท์วันละนิด จิตแจ่มใส
ปกติแล้วมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ถึงแม้บางคนจะนิยามว่าตัวเองเป็นมนุษย์อินโทรเวิร์ต แต่เบื้องลึกแล้ว ทุกคนล้วนต่างก็มีความต้องการที่จะเข้าสังคมอยู่ในสัญชาตญาณ ซึ่งการพูดคุยเมาท์เรื่อยเปื่อยมักจะถูกสังคมตีตราว่าเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่มีการศึกษามาว่าอันที่จริงแล้ว ทั้งผู้หญิงและผู้ชายนั้นก็มีพฤติกรรมในการเมาท์มอยที่แทบไม่ต่างกันเลย
โดยมีการศึกษาวิจัยจาก Megan Robbins และ Alexander Karan สองนักจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัย UCLA เกี่ยวกับการเมาท์มอยของมนุษย์ โดยพวกเขาได้ทำการสวมเครื่องบันทึกแบบพกพาให้กับผู้เข้าร่วมการทดลองจำนวน 500 คนเป็นเวลา 2-5 วัน เพื่อเป็นการบันทึกและวิเคราะห์ “พฤติกรรมการเมาท์มอย” ซึ่งหลังจากสิ้นสุดการทดลองก็พบว่า เฉลี่ยแล้วมนุษย์นั้นซุบซิบกันวันละ 52 นาที ทั้งผู้ชายและผู้หญิง
พวกเขายังพบว่า 85% ของการพูดคุยซุบซิบเมาท์มอยนั้นไม่ได้เป็นการนินทาว่าร้ายที่มีพิษภัยอะไร โดยส่วนใหญ่เป็นเพียงการพูดคุยเล็กๆ น้อยๆ แลกเปลี่ยนข้อมูลประจำต่างฝ่ายต่างก็มีข้อมูลที่เหมือนๆ กันอยู่แล้ว ซึ่งมีเพียง 15% เท่านั้น ที่เป็นการนินทาผู้อื่นในแง่ลบ
นอกจากนี้ Elena Martinescu นักวิจัยผู้ศึกษาเรื่องเมาท์มอยในที่ทำงาน หรือ Workplace Gossip โดยเฉพาะจากสถาบันวิจัย Vrije Universitetit Amsterdam ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ให้สัมภาษณ์กับ NPR ว่า การเมาท์มอยในที่ทำงานนั้นเป็นเครื่องมือชั้นดีที่ช่วยให้ผู้คนสามารถตระหนักรู้ถึงสถานการณ์ต่างๆ รอบตัวที่เกิดขึ้นและช่วยสร้างสายสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ก็ได้มีการศึกษาวิจัยจากมหาวิทยาลัย Standford และ Berkeley แสดงให้เห็นว่าการซุบซิบเมาท์มอย สามารถเป็นวิธีที่ดีในการช่วยสร้างความสามัคคีและการทำงานเป็นทีมที่ดีได้อีกด้วย เพราะเราจะสามารถรู้ได้ว่าใครที่ควรทำงานด้วย หรือใครควรหลีกเลี่ยง
Positive Gossiping ส่งต่อเรื่องดีๆ แทนที่จะนินทาลับหลังอย่างเดียว
แต่แน่นอนว่า การเมาท์มอยจะมีประโยชน์ได้นั้น ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไม่มีพิษภัยและไม่มีจุดประสงค์ร้ายแอบแฝง โดย Matthew Feinberg ศาสตราจารย์ด้านการจัดการที่มหาวิทยาลัยโตรอนโต ชี้ให้เห็นว่าการเมาท์มอยที่เกิดขึ้นเพราะต้องการว่าร้ายผู้อื่น เช่นการนินทาลับหลัง บูลลีรูปร่างหน้าตาของใครบางคน ล้วนแต่จะสร้างผลลัพธ์เชิงลบ สร้างความเสียหาย และสร้างแต่ปัญหาเช่นกัน
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อเราอยู่ในวงของการเมาท์มอยในที่ทำงาน หัวข้อของนินทาคนในออฟฟิศนั้นจะต้องผุดขึ้นมาบ้างสักครั้ง ไม่ว่าจะเป็นชีวิตรักของพี่ที่แผนก HR เงินเดือนของน้องที่เพิ่งเข้ามาใหม่ ไปจนถึงความลับของประธานบริษัท เมื่อเราบังเอิญถลำเข้าไปอยู่ท่ามกลางวงนินทาจนเกินคำว่าเมาท์มอยเรื่อยเปื่อยแล้วล่ะก็ ก็ควรพยายามถอนตัวออกมาจากวงสนทนานั้นจะเป็นการดีที่สุด
ในท้ายที่สุด ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ถ้าหากเราบังเอิญตกอยู่ท่ามกลางวงซุบซิบนินทาเพื่อนร่วมงานเมื่อไหร่แล้วล่ะก็ แทนที่เราจะนินทาลับหลังแต่เรื่องไม่ดี จะดีกว่าไหมถ้าเราลองเมาท์มอยถึงเรื่องราวและโมเมนต์ดีๆ ของเพื่อนร่วมงานในออฟฟิศ ซึ่งสิ่งนี้เรียกว่า การเมาท์มอยเชิงบวก (Positive Gossip)
แบ่งปันสิ่งที่เราชอบเกี่ยวกับเพื่อนร่วมงานต่างๆ ในเชิงบวก แอบชมพวกเขากับหัวหน้าของพวกเขาว่าทำไมเราถึงชอบทำงานกับเขา และในที่สุด คำชมแบบลับหลังของเราก็จะไปถึงหูของคนคนนั้นได้เอง กลายเป็นว่าจากการนินทาธรรมดา กลับเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นระหว่างเรากับเพื่อนร่วมงานนั่นเอง ซึ่งไม่ว่ามองอย่างไรก็น่าจะดีกว่าการนินทาลับหลังกันในทางที่ไม่ดี จริงไหม?
ที่มา:
– Why gossiping at work is good for you : Bryan Lufkin, BBC – https://bbc.in/3KM16eG
– The Surprising Benefits of Gossiping at Work, According to New Psychology Research : Scott Mauz, Inc – https://bit.ly/3x0HGx1
– Spread the Word: Productive Gossip as a Skill : Jacquelyn Ferguson, Corporate Wellness Magazine – https://bit.ly/3qbYv4n
– Workplace Gossip: What Crosses the Line? : Dana Wilkie, SHRM – https://bit.ly/3q9XgTd
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#worklife
#gossiping