“รู้อย่างนี้ เชื่อตัวเองดีกว่า”
มักเป็นความคิดแรกที่เกิดขึ้นหลังเราตัดสินใจทำบางสิ่งไป แต่กลับไม่ชอบผลลัพธ์ที่ได้ ขนาดใช้เวลานั่งคิดนอนคิดพิจารณาอยู่หลายตลบ ผลลัพธ์ก็ยังออกมาไม่ดีอีก! หลายครั้งเราเลยอดรู้สึกไม่ได้ว่า รู้แบบนี้ เชื่อสัญชาตญาณตัวเองแต่แรกดีกว่า แถมอดสงสัยไม่ได้ว่าท้ายที่สุดแล้วการ “คิดเยอะ” นั้นดีจริงไหม
การพิจารณาอะไรอย่างถี่ถ้วนนั้นเป็นเรื่องดี อย่างไรก็ตาม การที่เราปล่อยให้จิตใจเราเต็มไปด้วยความคิดและอารมณ์ต่างๆ มากเกินไปอาจทำให้เกิดผลเสียได้! เช่น ทำให้เราเหนื่อยล้าโดยไม่จำเป็น จนลดประสิทธิภาพในการตัดสินใจและการใช้ชีวิต
คิดมากไปก็ไม่ดี คิดน้อยไปก็ไม่ได้ แล้วถ้าเราอยากตัดสินใจให้ดีขึ้นล่ะ ต้องทำอย่างไร?
ว่าด้วยเรื่อง ‘การตัดสินใจ’
ทุกวันนี้เรามักตัดสินใจแบบมีจิตสำนึก (Concious) ซึ่งเป็นการคิดผ่านความรู้ที่เรามี ใช้ตรรกะ รวมถึงรับฟังความเห็นจากคนอื่นๆ มามากมาย แต่หลายครั้งผลลัพธ์ดันออกมาแย่ จนเริ่มมีการมองมุมกลับและตั้งคำถามว่าแล้วการคิดแบบ ‘จิตใต้สำนึก’ (Subconcious) ล่ะ จะช่วยให้เราตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ได้ดีแค่ไหน?
ในปี 2004 มหาวิทยาลัย Amsterdam ได้ทดลองเพื่อหาคำตอบว่า ‘การตัดสินใจแบบมีจิตสำนึก’ หรือ ‘แบบใช้จิตใต้สำนึก’ จะช่วยให้ตัดสินใจได้ดีกว่ากัน พวกเขาได้ทดลองให้คนเลือกอพาร์ตเมนต์ที่ดีที่สุดหลังได้รับข้อมูล 12 ข้อของแต่ละอพาร์ตเมนต์ เช่น ขนาด ที่ตั้ง หรือนิสัยของเพื่อนร่วมห้องว่าเป็นคนแบบไหน ตลกหรือเจ้าระเบียบ
หลังจากนั้นผู้ทดลองจะต้องเลือกอพาร์ตเมนต์ที่พวกเขาชอบโดยแบ่งกลุ่มเป็นการตัดสินใจแบบมีจิตสำนึก คือให้เวลา 3 นาทีเพื่อคิดไตร่ตรองแล้วเลือกตอบ ส่วนอีกกลุ่มจะต้องตัดสินใจแบบจิตใต้สำนึก ซึ่งพวกเขาจะต้องทำกิจกรรมยากๆ เป็นเวลา 3 นาทีแล้วเลือกอพาร์ตเมนต์ทันที ผลปรากฏว่า กลุ่มที่ตัดสินใจแบบจิตใต้สำนึกสามารถเลือกอพาร์ตเมนต์ได้ดีกว่า กลุ่มที่ต้องใช้จิตสำนึก ถึงแม้น้ำหนักตัวแปรในการตัดสินใจของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน เช่น บางคนให้ความสำคัญกับที่ตั้งของอพาร์ตเมนต์มากกว่าขนาดห้อง
ทำไมจึงเป็นเช่นนี้? สาเหตุที่การตัดสินใจแบบจิตใต้สำนึกได้ผลดีกว่าเป็นเพราะ ‘การคิดแบบมีจิตสำนึก’ เหมาะกับการต้องตัดสินใจทั้งที่มีข้อมูลน้อย ในขณะที่ ‘จิตใต้สำนึก’ สามารถประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ที่ได้รับ แล้วจึงค่อยทำการตัดสินใจ อย่างการเลือกอพาร์ตเมนต์ที่มีข้อมูลเยอะแยะ การวิเคราะห์จากภาพรวมอย่างรวดเร็วด้วยจิตใต้สำนึก อาจเป็นวิธีที่เหมาะสมและให้คำตอบที่ดีกว่า
แล้วถ้าเราอยากพัฒนาการตัดสินใจแบบจิตใต้สำนึกเพื่อนำไปใช้ตัดสินใจเรื่องอื่นๆ ในชีวิตเราล่ะ จะเป็นไปได้ไหม ชาวญี่ปุ่นมีวิธีการตัดสินใจแบบใช้จิตใต้สำนึก โดยการทำให้จิตว่างเปล่าไม่ให้ความคิดอื่นๆ มารบกวน ซึ่งเรียกว่า “Mushin No Shin”
“Mushin No Shin” คืออะไร?
แนวคิดที่รับมาจากพุทธศาสนานิกายเซน ‘Mushin No Shin’ หมายถึง จิตใจที่ไร้ซึ่งความคิด เป็นสภาวะที่เราไม่มีเสียงความคิดอื่นๆ มารบกวนใจเรา ทำให้จิตใจเราอยู่ในภาวะสงบ เมื่อเราอยู่ใน Mushin No Shin ทุกการกระทำจะออกมาจากจิตใต้สำนึกหรือสัญชาตญาณของเราล้วนๆ
“Mushin No Shin” กับหลักการวิทยาศาสตร์
เมื่อเราต้องอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเครียดสูง เช่น บนสนามแข่งขัน เราแทบไม่มีเวลาตั้งสติหรือไตร่ตรองตัดสินใจ ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้ในตอนนั้นคือ การทำตามสัญชาตญาณ ซึ่งเกิดจากการสร้าง “Muscle Memory” หรือความจำในกล้ามเนื้อ ผ่านการฝึกทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งซ้ำๆ โดยที่เราไม่มานั่งคิดหรือไตร่ตรองเวลากระทำสิ่งนั้น
เช่น เมื่อเราขี่จักรยานเป็น ต่อให้เราหยุดขี่ไปนานเท่าไหน พอเรากลับมาทำกิจกรรมนี้ เราก็ยังสามารถขี่จักรยานได้โดยอัตโนมัติทันที การสร้าง Mushin No Shin เองก็อาศัยหลักการนี้เช่นกัน เราจะลดการตัดสินใจแบบใช้สมองของเราลง แล้วไปเพิ่มที่การตัดสินใจผ่านสัญชาตญาณของเราแทน
‘Mushin No Shin’ ดีต่อเราอย่างไรบ้าง?
[ ] เพิ่มประสิทธิภาพการตัดสินใจ
หนังสือเรื่อง Blink โดย Malcolm Gladwell ได้อธิบายไว้ว่า สาเหตุที่เราตัดสินใจผิดพลาดนั้นเป็นเพราะขณะที่สมองเราคิดหรือตัดสินใจ เรามักถูกรบกวนโดยข้อมูลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง ในขณะที่ ‘จิตใต้สำนึกของเรามักตัดสินใจสิ่งต่างๆ ได้ดีกว่าการคิดแบบปกติ’ เพราะสามารถหลีกเลี่ยงการโดนข้อมูลอื่นๆ แทรกแซงได้
แล้ว ‘ข้อมูลอื่นๆ’ ที่ว่านั้นคืออะไร
ข้อมูลที่รบกวนเราอยู่ขณะนั้นคือ ‘อารมณ์และตรรกะ’ สองสิ่งนี้สามารถผันตัวไปเป็น ‘อคติ’ ทำให้เราตัดสินใจพลาดง่ายขึ้น ทางแก้คือการใช้ Mushin No Shin มาช่วยให้เราตัดสินใจผ่านตัวเราอย่างแท้จริง วิธีนี้จะทำให้เราไม่วิเคราะห์สิ่งต่างๆ มากเกินไปจนรู้สึกเครียด
[ ] โฟกัสกับงานตรงหน้าได้ดีขึ้น
เมื่อไร้สิ่งรบกวน จิตใจเราก็จะจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้ดีขึ้น นี่เป็นช่วงที่เราจะเกิด ‘Flow’ หรือความต่อเนื่องในการทำงานได้ดีที่สุด เช่น นักอ่านที่สามารถเห็นภาพผ่านนิยายที่อ่านได้ หรือนักเขียนที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานโดยไม่หลุดสมาธิ ไม่สนใจว่าเวลาผ่านไปนานเท่าไหนและบรรยากาศรอบข้างเป็นอย่างไร ความต่อเนื่องในการทำงานนี้ช่วยให้เราอยู่ในสภาวะที่ไม่ต้องคิดสิ่งอื่นให้วุ่นวาย และรู้สึกมีความสุขกับ Productivity
4 วิธีสร้างสภาวะ “Mushin No Shin” ในจิตใจเรา
เราอาจมองว่า เราไม่สามารถกำจัดอารมณ์หรือการใช้ตรรกะได้ เพราะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่จริงๆ แล้วเราไม่ถึงกับต้องกำจัด! แค่ต้องควบคุมไม่ให้อารมณ์เหล่านั้นมาควบคุมจิตใจเราให้ได้เท่านั้นเอง
แล้วเราจะฝึกควบคุมไม่ให้จดจ่อกับอารมณ์ได้อย่างไร? วันนี้เรามี 4 วิธีทำให้ใจเราเข้าสู่ Mushin No Shin มาแนะนำ ซึ่งวิธีเหล่านี้นั้นไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์เพิ่มเติมมากมาย และอาจเป็นกิจกรรมที่เราทำอยู่ทุกวันโดยไม่รู้ตัว
1. ทำกิจกรรมที่เราต้องจดจ่อ
หลายคนมักมองข้ามงานอดิเรกที่ตนชอบ เพราะรู้สึกว่ากิจกรรมเหล่านี้ไม่มีประโยชน์แถมทำให้เราจดจ่อมากเกินจนกินเวลา แต่รู้หรือไม่ว่าในขณะที่เราทำกิจกรรมเหล่านั้น จิตใจเรากำลังเข้าสู่สภาวะ Mushin No Shin อยู่
ลองหาเวลาพักสั้นๆ มาทำงานอดิเรกหรือกิจกรรมที่ทำให้เราหลงลืมเวลารอบข้างดู หากกังวลว่าจะรบกวนการทำงาน เราอาจจะเคลียร์งานและภาระต่างๆ ก่อนจะใช้เวลาที่เหลือนี้ไปกับการใช้สมาธิให้เต็มที่
2. ฝึกเพิ่มความเร็วให้การตัดสินใจ
กิจกรรมที่ต้องใช้ความรวดเร็วจะช่วยลบความคิดที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปจากสมองเราได้ ดังนั้นลองมองหากิจกรรมที่เราต้องขยับร่างกายหรือตัดสินใจอย่างรวดเร็วดู เช่น กีฬาคาราเต้ ปิงปอง หรือแม้แต่การเล่นเกม Tetris ซึ่งให้เวลาตัดสินใจแค่ไม่กี่วินาทีในการเลือกช่องให้บล็อกที่ลงมาพอดีกับบล็อกที่อยู่ข้างล่าง
3. อยู่กับธรรมชาติ
เคยไหม เวลาเราไปเที่ยวในสถานที่ธรรมชาติที่สวยงาม เรารู้สึกสงบจนนั่งอยู่ที่นั่นได้ทั้งวัน การอยู่กับธรรมชาติก็ช่วยให้จิตใจเราไม่ต้องคิดอะไรฟุ้งซ่าน ให้ไหลไปตามบรรยากาศ ในภาษาญี่ปุ่นมีแนวคิดที่เรียกว่า “Shinrin-yoku” ซึ่งหมายถึง การอาบป่า เป็นการชื่นชมธรรมชาติรอบตัวและโลกภายนอกมากกว่าจะสนใจตัวเราเอง
เพราะฉะนั้น ลองหาเวลาเดินเล่นชมธรรมชาติรอบข้างบ้าง นอกจากเราจะได้พักจากการทำงานแล้ว ยังได้พักจากการใช้ความคิด และได้รีเซ็ตสมองให้พร้อมรับสิ่งใหม่ๆ อีกด้วย
4. นั่งสมาธิ
กิจกรรมที่เรียบง่ายแต่ทำได้ยากคงหนีไม่พ้นการนั่งสมาธิ สิ่งที่ทำให้เราไม่สามารถนั่งสมาธิได้สำเร็จสักที เกิดจากการโดนรบกวนทั้งภายนอกร่างกายและภายในใจ แม้จะหลับตา แต่เรายังสนใจเสียงที่ได้ยิน หรือหากอยู่ในห้องเงียบ เราก็ได้ยินเสียงความคิดในใจที่ดังและไม่สามารถควบคุมให้หยุดคิดได้เลย
การทำสมาธิให้มีประสิทธิภาพอาจผ่านการนึกถึงภาพใดสักภาพหนึ่งหรือนับลมหายใจ วิธีนี้ต้องอาศัยการฝึกฝนและเวลาในการพัฒนาสมาธิให้กับจิตใจมากกว่ากิจกรรมอื่นๆ แต่หากเราทำได้ ก็จะเป็นการพาจิตเข้าสู่ Mushin No Shin ได้ดีขึ้น
สภาวะจิตใจที่ไร้การปรุงแต่งจะช่วยให้เราสามารถโฟกัสกับงานตรงหน้าได้ดียิ่งขึ้น แถมเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจมากขึ้น เราจะรู้สึกเสียดายผลลัพธ์ที่เลือกน้อยลง เพราะเราได้ฟังเสียงที่เป็นตัวเราอย่างแท้จริงมากขึ้น
แม้การสร้าง Mushin No Shin จะไม่ใช่เรื่องง่าย แถมต้องฝึกฝนเป็นประจำ แต่อย่าพึ่งถอดใจ เราสามารถฝึกสร้างสภาวะนี้ไปพร้อมๆ กับทำกิจกรรมที่เราชอบได้นะ! นอกจากจะได้ความสงบแล้วยังได้ความสุขอีกด้วย
เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
เพิ่มความสุขด้วยวิธี ‘Vuja Dé’ มองสิ่งธรรมดาด้วยมุมมองใหม่ๆ
อ้างอิงจาก:
https://bit.ly/3Inc5t7
https://bit.ly/35l2CE0
https://bit.ly/3IhvQCt
https://bit.ly/3sdMayf
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#inspiration
#softskills