ช่วงที่งานหลายอย่างสะดุดไปบ้างเพราะสถานการณ์โควิด-19 เป็นเวลาที่ผมได้ทบทวนว่าจริงๆ แล้วงานแต่ละอย่างสอนอะไรเราบ้าง มีอะไรบ้างที่ดีอยู่แล้วและควรทำต่อไป มีอะไรบ้างที่ควรหยุดทำ และที่สำคัญคือมีสิ่งใดที่ต้อง ‘ทำเพิ่ม’ เพื่อให้เหมาะกับโลกที่เปลี่ยนไปมาก
ต้องขอออกตัวก่อนนะครับว่าตอนเขียนบทความนี้ ผมไม่ได้อ้างอิงหลักวิชาการอะไร เขียนเอาจากที่นึกออกล้วนๆ ดังนั้นถ้าขาดอะไรไปต้องขออภัยด้วยนะครับ
ผมรู้สึกขอบคุณทุกงานที่เข้ามาในชีวิต เพราะงานทุกอย่างประกอบเป็นตัวตนของผมในวันนี้ ตั้งแต่งานในอดีตทุกงาน เพื่อนร่วมงานและหัวหน้าทุกคนด้วยครับ
ช่วงชีวิตของผมตอนนี้มีงานใหญ่ๆ อยู่ 4 อย่างด้วยกัน
1) งานที่อยู่กับตัวเราเป็นส่วนใหญ่
งานประเภทนี้สำหรับผมคือ ‘งานเขียน’ ครับ หนังสือเล่มที่ 10 ของผมกำลังจะวางขาย ส่วนต้นฉบับเล่มที่ 11 ก็ค่อยๆ เขียนไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับจริงๆ ว่ายังไม่ค่อยคืบหน้าเท่าไรนัก เพราะตั้งแต่มีการระบาดรอบ 3 และรอบ 4 สมองด้านงานเขียนของผมเหมือนจะตันไปหมด
ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราออกไปไหนไม่ได้ ผมเลยไม่ค่อยมีวัตถุดิบสำหรับเนื้อหาใหม่ๆ หรือมันอาจจะเป็นแค่ข้ออ้างของผมก็ได้ครับ ยังตอบตัวเองไม่ได้เหมือนกัน แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ คือต้นฉบับของหนังสือเล่มหลังๆ ของผมเกือบทุกเล่ม ถูกเขียนขึ้นที่ร้านกาแฟทั้งสิ้นเลย ราวกับว่าร้านกาแฟมีพลังงานอะไรบางอย่างที่ทำให้การเขียนลื่นไหล
งานเขียนเป็นงานที่ในช่วงต้นๆ ของการทำงานนั้น ผมทำเองเป็นส่วนมาก จะมีคนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องก็ช่วงหลังๆ อย่างเช่น บรรณาธิการ นักออกแบบภาพ และสำนักพิมพ์
สำหรับงานที่ต้องทำคนเดียวเป็นส่วนใหญ่และใช้เวลานานเช่นนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือจะสร้างระบบ (System) การบังคับตัวเองให้ทำงานสำเร็จได้อย่างไร หรือจะเรียกอีกอย่างว่า จะมีวินัยในตัวเองได้อย่างไรโดยไม่มีใครบังคับ
โดยเฉพาะงานที่เกือบจะเรียกได้ว่า ‘ไม่มีเดดไลน์’ อย่างการเขียนหนังสือเป็นเล่มที่ไม่ได้เซ็นสัญญาอะไรกับใครไว้ก่อน
ในการทำงานที่ไม่มีเดดไลน์จริงจัง ปกติมนุษย์เราก็มักจะผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยอยู่แล้วเป็นธรรมชาติ แต่นี่ยิ่งเป็นงานที่ไม่มีเดดไลน์และต้องอาศัยแรงบันดาลใจในการทำด้วย ยิ่งไปกันใหญ่
ดังนั้นสำหรับการจะทำหนังสือให้เสร็จสักเล่ม ต้องมีอะไรที่สามารถจับต้องได้มากระตุ้นและช่วยสร้างวินัย อย่างการเขียนหนังสือเล่มที่ 11 นี้ ผมตั้งใจว่าจะนำเงินที่ได้มาปรับปรุงสตูดิโอของ Mission To The Moon คุณภาพรายการจะได้ดีขึ้น
พอตั้งแบบนี้แล้ว เลยมีกำลังใจขึ้นมาหน่อย ช่วงนี้ต้นฉบับเลยขยับได้บ้าง
2) งานของบริษัทที่กำลังโตเร็ว
Mission To The Moon Media เป็นบริษัทที่กำลังโตครับ ช่วงเวลาแรกเริ่มของบริษัทที่กำลังโตนั้น รายได้อาจเพิ่มปีละหลายเท่าตัวได้เลย เพราะว่าฐานยังเล็กมาก
งานของบริษัทลักษณะนี้ จะคาดหวังระบบเยอะๆ คงยาก เพราะมีงานที่ต้อง Improvise อยู่มาก แน่นอนว่าหลายครั้งก็ให้อารมณ์คล้ายกับการดับเพลิงหน่อยๆ ยิ่งลักษณะงานของ Mission To The Moon ที่วันๆ เต็มไปด้วยเดดไลน์ ยิ่งทำให้การทำงานต้องใช้พลังเยอะ โดยเฉพาะช่วงนี้ที่แต่ละคนต้องทำงานแยกกัน เพราะต้อง Work From Home ยิ่งทำให้การทำงานยากไปใหญ่ เพราะงานบางอย่าง หากคนทำอยู่ด้วยกัน คุยกันนิดเดียวก็รู้เรื่องแล้ว แต่พอ Work From Home การคุยกันบางเรื่องใช้เวลานานขึ้น ยกตัวอย่าง การดูงานตัดต่อ ถ้าอยู่ด้วยกันเร็วกว่าเยอะครับ
ด้วยลักษณะงาน สิ่งสำคัญอย่างแรกคือเราต้องมี ‘มาตรฐาน’ บางอย่างที่ตกลงกันไว้ เพื่อให้การทำงานสามารถดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วและไม่ต้องคุยกันบ่อย เช่น เรื่องคุณภาพของภาพและเสียง ตัวคอนเทนต์ ไปจนถึงรูปประกอบกราฟิกต่างๆ สิ่งเหล่านี้ต้องให้ทุกคนเข้าใจมาตรฐานเดียวกัน เพราะไม่งั้นแก้งานกันไม่จบแน่นอนครับ
แต่ระหว่างทำงานไป เราก็ต้องคิดถึงระบบบางอย่างด้วย ยกตัวอย่างเช่นการดูแลลูกค้า เรานำระบบ CRM Salesforce มาใช้เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีอะไรตกหล่น ช่วยวิเคราะห์ ติดตาม เก็บฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาบริการให้ดีขึ้น ระบบเหล่านี้จะช่วยให้การถ่ายทอดงานต่างๆ ง่ายขึ้นเยอะอีกด้วย
สำหรับผมงานของบริษัทที่กำลังอยู่ในช่วงที่โตเร็วมากๆ นอกจากการมีมาตรฐานไว้ช่วยตัดสินใจแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการ ‘รักษาพลังงาน’ ของทีมงาน
ด้วยลักษณะงานที่จะต้องคิดเรื่องใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ทำให้การรักษา Momentum พลังงานของคนในทีมเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง รวมไปถึงการเติมวัตถุดิบความคิดสร้างสรรค์อย่างสม่ำเสมอด้วย
สิ่งที่ผมชอบมากของ Mission To The Moon คือพลังของทีมงานนี่แหละครับ ทุกครั้งที่ได้เห็นไอเดียเจ๋งๆ ของทีมงาน (ซึ่งมีบ่อยมาก) มันทำให้ผมทึ่งมาก ต้องบอกว่าผมโชคดีจริงๆ ที่ได้ทำงานกับทีมนี้ครับ
งานของ Mission To The Moon นั้นสนุกมากครับ ผมมีโอกาสได้เจอคนและได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เยอะมาก ซึ่งหลายๆ ครั้งผมสามารถนำไปต่อยอดในการทำงานอื่นๆ ได้อีกด้วย
3) งานของบริษัทที่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ
ศรีจันทร์ได้เข้าสู่ช่วงสำคัญที่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออีกครั้ง หลังจากที่เรารีแบรนด์ไปเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ศรีจันทร์ในวันนี้กับเมื่อ 6 ปีที่แล้วนั้นต่างกันเยอะมากจริงๆ ถ้าไม่เจอโควิดภาพคงจะชัดเจนกว่านี้ เราคิดเสียว่าโควิดเป็นเครื่องเตือนใจให้เราในหลายๆ เรื่องเหมือนกัน
สำหรับองค์กรแบบศรีจันทร์ เรื่องที่สำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องวัฒนธรรมองค์กรกับระบบต่างๆ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับสองเรื่องที่สำคัญมากคือ Innovation และ Efficiency
การวางรากฐานของทั้งสองเรื่องอย่างถูกต้องคือรากฐานที่สำคัญขององค์กร
แต่ถ้าหากเราจะมองเฉพาะเจาะจงในหน้าที่ CEO ผมขอนิยามตามกรอบของหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมชอบแล้วกันครับ ว่าหน้าที่หลักของตำแหน่งนี้มีอยู่สามเรื่องเท่านั้น
คือ “People, Culture, Numbers”
People
People : ทำอย่างไรเราถึงจะมีระบบในการหา ‘คนที่ใช่’ เข้ามาในองค์กร จะทำอย่างไรให้คนเหล่านั้น ‘เก่ง’ ขึ้นไปเรื่อยๆ และจะทำอย่างไรให้พวกเขาได้ทำงานที่อยากทำ เป็นต้น
การมีทีมงานที่ดีและเก่งถือเป็นเรื่องประเสริฐที่องค์กรหนึ่งจะมีได้
ต้องบอกว่าที่ศรีจันทร์เป็นองค์กรอย่างที่เห็นทุกวันนี้ เป็นเพราะฝีมือทีมงานทั้งสิ้นเลยนะครับ เอาจริงๆ ผมทำอะไรไม่เยอะครับ ต้องยกความดีความชอบให้กับทีมงานเลย
Culture
Culture : ในสามอย่างนี้ ส่วนตัวคิดว่า Culture สำคัญที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างยากที่สุด เพราะ Culture ไม่สามารถสร้างจากการประกาศหรือการอบรมอะไรทำนองนั้น แต่เกิดจากการลงมือทำอย่างต่อเนื่องและทำไปพร้อมๆ กัน ตัวคนเดียวไม่สามารถทำได้
ที่ผมบอกว่าสำคัญสุดก็เพราะว่า ถ้าสร้าง Culture ที่ดีได้แล้ว เรื่องอื่นๆ จะดีตามไปด้วย เพราะ Culture คือสิ่งที่สอดแทรกอยู่ในการทำงานทุกๆ วันนี่แหละครับ
ผมคิดว่าความน่าสนใจของ Culture คือมันไม่มีถูกไม่มีผิด และไม่มี Culture ไหนที่เรียกได้ว่า ‘ดีที่สุด’ ด้วย มีแต่ Culture ไหนที่จะ ‘เหมาะ’ กับองค์กรของเราที่สุดต่างหาก
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เป็น Wartime อย่างสถานการณ์ที่เรากำลังเจออยู่นี้ CEO อาจจะต้องทำงานโหดนิดหนึ่ง แต่จำเป็นมากๆ สำหรับการพาทุกคนผ่านวิกฤตไปให้ได้ โดยไม่มีใครเจ็บตัวหรือเจ็บให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
Numbers
Numbers : เรื่องตัวเลขก็สำคัญมากเช่นกันครับ เพราะว่าตัวเลขเป็นหลักฐานที่จับต้องได้มากที่สุด หากเราพูดถึงในแง่สุขภาพของบริษัท คล้ายกับการที่เราไปหาหมอเพื่อตรวจร่างกาย แม้เราจะเล่าให้หมอฟังว่า เราเปลี่ยนนิสัยแย่ๆ นอนเร็ว ตื่นเช้าขึ้น ทานอาหารที่ดีและออกกำลังกายเป็นประจำ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ตัวเลขจะเป็นตัวบ่งบอกเองว่าพัฒนาการของเราเป็นอย่างไร เพราะว่าตัวเลข (ถ้าดูให้ดี) ไม่เคยโกหก
การบริหารองค์กรก็เช่นกันครับ ตัวเลขของเรา ตัวเลขของคู่แข่ง เป็นสิ่งที่คอยบอกว่าสถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง
ยิ่งในเวลาวิกฤตแบบนี้ยิ่งต้องดูให้บ่อยและดูให้ละเอียดขึ้นไปอีกครับ ช่วงนี้ผมนั่งไล่งบใน Excel เป็นชั่วโมงๆ เจออะไรที่สงสัยก็ถามคนที่เกี่ยวข้อง ถือว่าเป็นการช่วยกันดูให้ละเอียดขึ้นไปอีกครับ
สำหรับ CEO และผู้บริหารระดับสูงทั้งหมด ผมคิดว่าตัวเลขพวกนี้ต้องอยู่ในหัวตลอดครับ จะทำอะไรต้องนึกถึงเรื่องพวกนี้เยอะๆ
ศรีจันทร์เป็นบริษัทที่กำลังอยู่ในช่วงเวลาท้าทาย หากผ่านขั้นตอนนี้ไปได้ จะถึงเวลาที่ได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดแน่นอนครับ
4) งานขององค์กรแบบสถาบัน
ไม่ว่าจะเป็นทิศทางของ OR เอง หรือบริษัทแม่อย่าง PTT group ก็สามารถที่จะกำหนดบางทิศทางของประเทศได้ และผลลัพธ์ที่ตามมาจะเกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก ผมจึงรู้สึกเป็นเกียรติมากครับที่ได้อยู่ในคณะกรรมการของ OR ในฐานะกรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ
องค์กรใหญ่ที่มี Stakeholders มากมายขนาดนี้ ทุกการตัดสินใจขององค์กรนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง และบทบาทสำคัญของการเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรใหญ่เช่นนี้ คือ Contribution ของเรา
ในการเตรียมตัวเพื่อทำงาน นอกจากผมต้องศึกษาหาข้อมูลเรื่องที่เกี่ยวข้องแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงเสมอคือ เราสามารถให้อะไร (Contribute) กับองค์กรได้บ้าง รวมไปถึงบทบาทหน้าที่ของเราในฐานะกรรมการคืออะไรบ้าง เรามีหน้าที่รับผิดชอบต่อใครบ้าง
สิ่งที่ยากคือทำให้เรื่องทั้งหมดของย่อหน้าที่แล้วไม่ซับซ้อน (Simplify) แล้วทำให้มันออกมาเป็นการกระทำเป็นขั้นเป็นตอน (Action) นี่ถือว่าเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง
ด้วยบริบทขององค์กรที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อน จะทำอะไรต้องคิดเยอะๆ หลายตลบนิดหนึ่ง แต่งานของ OR สนุกมากนะครับ ขนาดการประชุมออนไลน์ ผมยังตั้งหน้าตั้งตารอการประชุมทุกครั้งเลย เป็นงานที่ได้ใช้พลังสมองสุดๆ และเป็นพลังสมองแบบองค์รวมเสียด้วย ซึ่งยากที่งานแบบอื่นจะได้ใช้ครับ
จริงๆ แล้วงานทั้งหมดของผมมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไม่น่าเชื่อ ความรู้จากงานหนึ่งสามารถทำให้เราไปทำอีกงานได้ดีขึ้น เหมือนเราได้ใช้ความถนัดในแต่ละส่วนมารวมกันเพื่อให้งานตรงหน้าออกมาดีที่สุด
ทุกงานมีความท้าทายและสนุกแตกต่างกันครับ แต่สิ่งที่เหมือนกันคือเราต้องทำมันออกมาให้ดีที่สุดเสมอ เหมือนที่ Jonas Walk เคยกล่าวไว้ว่า
“The reward for work well done is the opportunity to do more.”
– Jonas Walk –
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/