เราตัดสินความคิดคนอื่นว่า ‘ผิด’ เพียงเพราะเขา (คิด) ไม่เหมือนเรา?

592
Midnight Mass

ก่อนหน้านี้ผมได้ดูซีรีส์เรื่อง Midnight Mass ทาง Netflix และมาสะดุดกับเนื้อเรื่องที่ตัวละครในเรื่องเล่าถึงคุณหมอท่านหนึ่งที่ชื่อว่า Dr.Ignaz Semmelweis ซึ่งเขาคนนี้เคยมีตัวตนอยู่จริงๆ ในช่วงศตรวรรษที่ 19 

โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปี 1846 ที่กรุงเวียนนา 

คุณหมอหนุ่มท่านนี้ได้รับมอบหมายให้เข้ามาหาเหตุผลของการเสียชีวิตของผู้หญิงจำนวนมากจากการติดเชื้อระหว่างคลอด (Puerperal Fever) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า Childbed Fever ในแผนกสูตินรีเวชที่ General Hospital ณ กรุงเวียนนา 

Advertisements

โดยในโรงพยาบาลแห่งนี้มีวอร์ดสูตินรีเวชอยู่สองวอร์ดด้วยกันคือ 

1) วอร์ดสูตินรีเวช ที่ดูแลโดยคุณหมอที่เป็นผู้ชายทั้งหมด มีตั้งแต่อาจารย์แพทย์ไปจนถึงนักศึกษาแพทย์ 

2) วอร์ดสูตินรีเวช ที่ดูแลโดยนางพยาบาลผดุงครรภ์ซึ่งเป็นผู้หญิงทั้งหมด

Dr.Semmelweis เริ่มทำการเก็บข้อมูล แล้วก็ได้ไปพบเรื่องที่ทำให้เขาต้องประหลาดใจเป็นอย่างมาก เพราะอัตราการเสียชีวิตของวอร์ดที่ดูแลโดยคุณ​หมอผู้ชาย มีอัตราการเสียชีวิตของคนไข้สูงกว่าวอร์ดที่ดูแลโดยนางพยาบาลผดุงครรภ์ถึง 5 เท่า 

Dr.Semmelweis ก็ได้นำปัจจัยต่างๆ ของทั้งสองวอร์ดมาเปรียบเทียบกัน โดยค่อยๆ ตัดความเป็นไปได้ลงไปทีละสมมติฐาน 

สมมติฐานที่ 1

สมมติฐานแรก ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเลยคือ ในวอร์ดของหมอผู้ชาย คุณแม่คลอดในท่านอนหงาย แต่ในวอร์ดของนางพยาบาลผดุงครรภ์ คุณแม่จะคลอดในท่านอนตะแคง 

ทาง Dr.Semmelweis เลยลองให้คุณแม่ในวอร์ดของหมอผู้ชายนอนตะแคงบ้าง ผลปรากฏว่าไม่มีอะไรแตกต่างกัน สมมติฐานข้อนี้จึงตกไป 

สมมติฐานที่ 2

สมมติฐานที่สองคือ เวลามีใครเสียชีวิตจาก Childbed Fever จะมีบาทหลวงเดินเข้ามาอย่างช้าๆ ผ่านไปที่เตียงของคนไข้ที่อยู่ในวอร์ด พร้อมผู้ช่วยที่คอยสั่นกระดิ่ง เขาเลยตั้งสมมติฐานขึ้นมาว่า หรือเป็นเพราะเสียงกระดิ่ง ทำให้ผู้หญิงที่ยังมีชีวิตอยู่เกิดกลัวขึ้นมาเลยทำให้เสียขวัญจนกระทั่งป่วยและเสียชีวิตตามไปด้วย?

คุณหมอเลยให้บาทหลวงลองเปลี่ยนเส้นทางการเดินและไม่ให้ใช้กระดิ่ง ผลปรากฏว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร ดังนั้นสมมติฐานนี้จึงตกไปเช่นเดียวกัน

จนมาถึงตอนนี้ เขาก็เริ่มที่จะหัวเสียมากๆ แล้ว เพราะหาสาเหตุของการเสียชีวิตไม่ได้สักที ในระหว่างนั้นเองเพื่อนของเขาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพยาธิวิทยาก็ได้ป่วยและเสียชีวิตลง 

ทำให้ Dr.Semmelweis ตัดสินใจเข้าไปศึกษาการเสียชีวิตของเพื่อนคนนี้ แล้วก็พบว่าอาการต่างๆ นั้นเหมือนกับการเสียชีวิตจากการติดเชื้อระหว่างคลอดเลย ดังนั้น Childbed Fever จึงไม่ได้เกิดขึ้นได้แต่กับคุณแม่ที่กำลังจะคลอดเท่านั้น แต่เกิดได้กับคนอื่นๆ ในโรงพยาบาลเช่นกัน 

แต่ก็ยังมีคำถามที่ใหญ่มากๆ อยู่นั่นคือ “ทำไมมีคนเสียชีวิตจากวอร์ดที่ดูแลโดยหมอผู้ชาย มากกว่าวอร์ดที่ดูแลโดยพยาบาลผดุงครรภ์?”

Dr.Semmelweis ก็ได้ตั้งข้อสังเกตอีกข้อว่า คุณหมอผู้ชายจะต้องทำอีกหน้าที่หนึ่งคือการชันสูตรศพด้วย ในขณะที่นางพยาบาลผดุงครรภ์ไม่ต้องทำ 

สมมติฐานที่ 3

เขาเลยตั้งสมมติฐานว่าตอนที่หมอชันสูตรพลิกศพ ชิ้นส่วนเล็กๆ จากศพอาจจะติดมือของหมอมา แล้วเมื่อมาทำคลอดผู้หญิงต่อ ชิ้นส่วนเล็กๆ เหล่านั้นอาจจะหลุดเข้าไปในช่องคลอด แล้วทำให้ผู้หญิงเหล่านั้นป่วยและเสียชีวิตในที่สุด

ด้วยความสงสัยเขาเลยสั่งให้เปลี่ยนกระบวนการล้างมือและเครื่องมือของทุกคนใหม่ โดยจะไม่ล้างแค่สบู่อย่างเดียว แต่จะล้างด้วยสารละลายคลอรีน 

ในช่วงศตวรรษที่ 19 นั้นยังไม่มีการองค์ความรู้เกี่ยวกับเชื้อโรค (Germs) มากนัก และ Dr.Semmelweis ก็ไม่รู้จักเชื้อโรคเช่นกัน ที่เขาเลือกใช้คลอรีนก็เพราะว่าเขาคิดว่ามันสามารถกำจัดชิ้นส่วนเล็กๆ ที่อาจจะติดมากับศพที่ถูกชันสูตรได้

ทันทีที่มาตรการนี้เริ่มใช้ อัตราการเสียชีวิตลดลงอย่างมาก สิ่งที่เขาค้นพบยังคงเป็นสิ่งที่จริงมาจนถึงทุกวันนี้นั่นก็คือ ‘การล้างมือคือเครื่องมือที่สำคัญที่สุดของระบบสาธารณสุข’

Advertisements

การค้นพบครั้งนี้น่าจะทำให้วงการแพทย์ตื่นเต้นมากๆ เพราะปัญหาใหญ่ได้ถูกแก้ไขแล้ว และการล้างมือกับอุปกรณ์ด้วยคลอรีนน่าจะกลายเป็นมาตรฐานที่ทุกโรงพยาบาลต้องนำไปปฏิบัติด่วนเลยใช่ไหมครับ? 

แต่คำตอบคือ ไม่ใช่เลยครับ สิ่งที่เกิดขึ้นมันตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง 

ปรากฏว่าหมอต่างๆ ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้อย่างมาก เพราะพวกเขารู้สึกว่าตัวเองนั้นถูกกล่าวหาว่าเป็นสาเหตุให้ผู้หญิงเป็น Childbed Fever 

ทาง Dr.Semmelweis  เองก็เป็นคนตรงไปตรงมา เขาได้วิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้อย่างเผ็ดร้อน สร้างความไม่พอใจให้กับคนในวงการแพทย์เป็นจำนวนมาก จนในที่สุดบรรดาหมอต่างๆ ก็สั่งให้หยุดล้างมือด้วยคลอรีน และ Dr.Semmelweis ก็ถูกไล่ออก

ใช่ครับ คนที่ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงอย่างมหาศาลถูกไล่ออก และโรงพยาบาลแห่งนี้ก็กลับมาใช้วิธีเดิม ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตก็พุ่งสูงขึ้นอีก แต่ก็ไม่ได้มีใครสนใจจะแก้ไขอะไร 

Dr.Semmelweis ใช้เวลาหลังจากนั้นพยายามนำหลักฐานเรื่องการล้างมือและล้างอุปกรณ์ไปแสดงให้กับโรงพยาบาลและคุณหมอทั่วยุโรป แต่ก็ไม่มีใครสนใจเขา เขาเริ่มหมกหมุ่นกับเรื่องนี้มากขึ้น เขาทั้งโกรธและผิดหวังอย่างมาก ซึ่งมันได้ส่งผลเสียต่อสมองของเขาจนเขามีอาการทางจิต 

ในปี 1865 ด้วยวัยเพียง 47 ปี เขาถูกส่งเข้าโรงพยาบาลจิตเวช และเขาก็ได้เสียชีวิตด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือดที่โรงพยาบาลจิตเวชนั้น

mm2021

ในเรื่อง Midnight Mass ตัวแสดงที่เล่าเรื่องนี้บอก “The scientific community ate him alive, germ theory was two decades away from acceptance”

“วงการแพทย์และวิทยาศาสตร์ได้ทำลายชีวิตเขา เพราะกว่าความรู้เรื่องเชื้อโรคจะเริ่มเป็นที่รู้จักก็ผ่านมาเป็นเวลา 20 ปีแล้ว” 

“Semmelweis was committed to an Asylum by another scientist and he died there” Dr.Semmelweis ถูกทำให้เข้าโรงพยาบาลจิตเวช โดยสังคมหมอและนักวิทยาศาสตร์​ และเขาก็เสียชีวิตที่นั้นอย่างน่าเศร้า 

ผมคิดว่าเรื่องนี้ทำให้เราต้องหันกลับมามองตัวเอง ตั้งคำถามกับตัวเองให้เยอะเลยว่า บางทีเราเองก็เหมือนกับเหล่าบรรดาสังคมแพทย์ที่ไม่เห็นด้วยกับ Dr.Semmelweis หรือไม่?

เราเคยตัดสินความคิดของคนอื่นว่าผิดเพียงเพราะว่า “ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน”  บ้างไหม?

เราเคยตัดสินความคิดคนอื่นว่าผิดเพียงเพราะว่าความคิดนั้นมันทำให้เราดูไม่ดีไหม? 

เราเคยตัดสินความคิดคนอื่นว่าผิดเพียงเพราะว่าเรามีอำนาจเหนือกว่าเขาไหม? 

เรื่องนี้ทำให้ผมคิดถึงคำพูดของ Audre Lorde ที่ว่า 

“It is not our differences that divide us. It is our inability to recognize, accept, and celebrate those differences.”

Audre Lorde

“มันไม่ใช่ความแตกต่างทางความคิดที่แบ่งแยกเรา มันคือการที่เราไม่สามารถที่จะมองเห็น ยอมรับ และชื่นชมความแตกต่างนั้นต่างหาก” 

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#society

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements