INSPIRATION“เสียงจากภายนอก” และ “เสียงจากภายใน” บทเรียนจากมาราธอน 42.2 กิโลฯ

“เสียงจากภายนอก” และ “เสียงจากภายใน” บทเรียนจากมาราธอน 42.2 กิโลฯ

หนึ่งในวันที่เปลี่ยนชีวิตและความคิดผมไปมากที่สุดคือวันที่ 11 เมษายน 2561

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ ก็เป็นเรื่องธรรมดาๆ ที่ผมเคยเล่าให้หลายท่านฟังในหลายๆ ครั้ง ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป มันยิ่งตกผลึกและสอนอะไรผมมากขึ้นไปอีก

วันที่ 11 เมษายน 2561 เป็นวันที่ 41 ที่ผมได้วิ่งอย่างจริงจัง โดยผมเริ่มวิ่งวันที่ 1 มีนาคม 2561 เพราะได้แรงบันดาลใจจากหนังสือ ‘Homo Finisher สายพันธุ์เข้าเส้นชัย’ ของนิ้วกลม

วันนั้นผมอยู่ที่เกียวโต ซึ่งใกล้ๆ ที่พักมีสวนสาธารณะเล็กๆ อยู่ ผมออกจากที่พักราวตี 5 ซึ่งสายกว่าปรกตินิดหน่อย โดยกะว่าจะวิ่งสัก 10 ถึง 15 กิโลเมตร เพราะยังล้าจากการวิ่งวันที่ 9 อยู่ จำได้ว่าหยิบ Energy Gel ไปแค่ซองเดียวเอง เพราะไม่ได้กะจะวิ่งเยอะ

พอวิ่งไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่าวันนี้อากาศดี ครึ้มฟ้าครึ้มฝนเลยวิ่งสบาย วิ่งไปได้ครบ 15 กิโลฯ ก็เกิดนึกถึงความรู้สึกหนึ่งขึ้นมาครับ คือความรู้สึกตอนอ่านหนังสือของนิ้วกลม

มีข้อความหนึ่งในหนังสือเล่มนี้มาจากคุณมานิต อุดมคุณธรรม ผู้ก่อตั้งห้างโรบินสัน เขาได้กล่าวไว้ว่า

“ผมบอกกับคนหนุ่มคนสาวเสมอว่า ถ้าแนะนำได้ ผมอยากแนะนำให้คุณลองวิ่งมาราธอนสักครั้งในชีวิต เพราะถ้าคุณจบมาราธอน คุณจะมีพลังขึ้นมา คุณจะรู้ว่าทุกอย่างเป็นไปได้ มันไม่ง่ายแต่ทุกคนทำได้ถ้าตั้งใจ”

“เพราะเมื่อคุณวิ่งไปถึง 30 กิโลเมตรคุณจะพบว่าร่างกายคุณไปไม่ไหวแล้ว สิ่งที่พาร่างกายคุณไปต่อจนถึงเส้นชัยคือหัวใจเท่านั้น คุณต้องต่อสู้กับความอยากยอมแพ้ แต่ถ้าคุณพาตัวเองไปถึงเส้นชัยได้ แปลว่าคุณมีหัวใจอีกแบบหนึ่ง หัวใจแบบนั้นทำอะไรก็สำเร็จ”

นี่คือคำกล่าวที่เรียบง่ายแต่เฉียบคมอย่างยิ่ง

ผมเลยคิดว่า ‘เอาว่ะ ลองดู มันจะตายเชียว’ แล้วก็วิ่งครับ แรกๆ ก็โอเคนะครับแต่สักพักเริ่มเหนื่อย ความรู้สึกต่างๆ ถาโถมเข้ามามากมาย ผมเริ่มพูดกับตัวเองว่า

“เห้ย ร่างกายเรามันจะไหวไหมนะ”
“หิวแล้วไปกินข้าวเถอะ จะวิ่งไปหาอะไร”

หรือ

“เดี๋ยวนะเรากิน Energy Gel ซองเดียวของเราไปแล้ว ถ้าวิ่งแล้วเกิดเดี้ยงขึ้นมาทำไง”
“เห้ย ตอนนี้น้ำหนักตัวยังไม่เข้าเกณฑ์ วิ่งเยอะๆ แบบนี้เข่าพังขึ้นมาจะทำยังไง”
ฯลฯ

ผมยอมรับเลยครับว่าอยากจะเลิกหลายรอบมาก เพราะไม่รู้จะวิ่งให้ทรมานสังขารทำไม ผมรู้สึกเจ็บบางส่วนของเท้าที่ไม่เคยเจ็บมาก่อน ความรู้สึกตอนนั้นมันบอกไม่ถูกจริงๆ ครับ ทั้งเจ็บ ทั้งตึง ทั้งแสบ รวมๆ กัน

จนกระทั่งถึงกิโลเมตรที่ 34 มันรู้สึกเหมือนอยากก้าวขาแต่ก้าวไม่ออก ผมคิดในใจตอนนั้นว่านี่คงเป็นอาการที่เรียกว่า ‘Hitting the wall’ รึเปล่า ซึ่งผมเคยได้ยินมาจากภาพยนตร์หรือสารคดีเรื่องหนึ่งที่จำไม่ได้แล้ว จำได้ว่าตอนนั้นเปลี่ยนมาวิ่งแบบช้ามากๆ

หลังจากนั้นผมก็วิ่งไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้สนใจอะไรนอกจากตอนนาฬิกา Garmin สั่นเมื่อครบกิโลเมตรต่อไปเท่านั้นเอง

จนในที่สุดเลข 42 ก็ขึ้นมาบนนาฬิกา ตอนนี้ผมต้องวิ่งอีกแค่ 200 เมตรเท่านั้นก็จะครบ 42.2 กิโลเมตรแล้ว ความรู้สึกตอนนั้นเหมือนวิ่งเข้าเส้นชัยจริงๆ ครับ ถึงแม้ว่ามันจะไม่มีเส้นชัย ไม่มีคนจัดการแข่ง ไม่มีเหรียญ แต่นี่คือมาราธอนแรกของผมแล้ว

ผมวิ่งจบระยะ 42.2 กิโลเมตรในที่สุด ในสภาพสะบักสะบอม

เป็นวันแห่งความทรงจำอีกวันที่ผมไม่มีวันลืม

วิ่งเสร็จผมนั่งลงนิ่งๆ อีก 15 นาทีเพราะหมดแรงสุดๆ มันเป็นความเหนื่อยที่สุดในชีวิต แต่เป็นสุดยอดประสบการณ์จริงๆ หลังจากนั้นผมก็โพสต์รูปที่วิ่งจบลงเฟซบุ๊ก

ตอนแรกๆ ก็มีคนมายินดีมากมาย แต่ว่าคอมเมนต์หลังๆ ชักเปลี่ยนไป ประมาณว่า “เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีของคนดันทุรัง ทำแบบนี้จะเจ็บตลอดชีวิตและอาจจะวิ่งไม่ได้อีกเลย” อีกคอมเมนต์ก็เป็นแนวว่า “อย่าเอาเป็นตัวอย่างเพราะมาราธอนต้องซ้อมนานกว่านี้เยอะ อันนี้ถือเป็นพวกประมาทไม่เข้าใจการวิ่งที่แท้จริง” ฯลฯ

มีความเห็นแนวนี้เยอะมาก อ่านแล้วเหวอเหมือนกันครับเอาจริงๆ

และผมเมื่อไป Google ดู ก็พบว่าจริงอย่างที่คอมเมนต์ต่างๆ ว่ากัน การที่ผมหัดวิ่งมาแค่ 41 วันแล้วมาวิ่ง Full Marathon เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง มันต้องมีการเตรียมตัว ต้องมีตารางซ้อม ต้องมีการเติมสารอาหาร และอีกมากมาย

แต่สิ่งที่ยิ่งใหญ่มากที่ผมได้เรียนรู้วันนั้นก็คือ ถ้าหากผมได้อ่านคอมเมนต์เหล่านั้นก่อน ตัวผมเองไม่มีทางวิ่งจบอย่างแน่นอน เพราะเอาจริงๆ ตอนกิโลเมตรที่ 30 กว่าๆ ใจมันก็ท้อจะแย่อยู่แล้ว

นี่คือสิ่งแรกที่ผมได้เรียนรู้ครับ ซึ่งก็คือ “เสียงภายนอก” นั้นมีอิทธิพลกับเรามาก

เราลองนึกย้อนกลับไปในชีวิตของเรานะครับ ว่าเสียงภายนอกส่งอิทธิพลต่อเราแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นเสียงของพ่อแม่ ญาติๆ เพื่อนๆ คนรัก หรือป้าข้างบ้าน เสียงเหล่านี้พาเราเดินไปทางไหนมาบ้าง ผมไม่ได้บอกว่าเสียงเหล่านี้ผิดนะครับ ขึ้นอยู่กับว่าคุณอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่เสียงเหล่านี้ค่อนข้างถูกด้วยซ้ำ และมาจากความหวังดีมากๆ เช่นกัน

แต่หลายครั้งมันอาจจะผิดก็ได้

สิ่งสำคัญที่เราต้องรู้เกี่ยวกับเสียงภายนอก คือ ในวันที่เราได้ยินนั้นมันยากมากเลยที่จะบอกว่ามันผิดหรือถูก แต่ถ้าคุณรู้สึกว่าเสียงภายนอกนั้นขัดกับสิ่งที่คุณอยากทำมากๆ ผมอยากแนะนำให้คุณทำในสิ่งที่คุณอยากทำเถอะครับ เพราะว่าท้ายที่สุดแล้ว คนที่ต้องอยู่กับผลของการกระทำนั้นคือตัวคุณเอง ไม่ใช่เจ้าของเสียงจากภายนอกใดๆ

อีกเรื่องที่ผมได้ตกผลึกจากการวิ่งครั้งนี้คือ “เสียงภายใน”

ตอนวิ่งมาราธอนผมได้ยินเสียงภายในหัวเยอะมาก แบบที่เล่าไปเมื่อกี้แหละครับ จะว่าไปผมว่าการวิ่งมาราธอนเป็นการฝึกทำความเข้าใจเสียงในหัวที่ดีที่สุดเลย ใครที่เคยได้วิ่งผมคิดว่าน่าจะเข้าใจประเด็นนี้ดี

และสิ่งที่ผมได้รู้อย่างชัดๆ เลยก็คือ เสียงในหัวเราหรือความคิดเรา มัน “ไม่ใช่ตัวเรา”

ดังนั้นเวลาเราได้ยินความคิดเราในหัว สิ่งสำคัญมากๆ คือ “อย่าพึ่งเชื่อ”

ขอให้ตั้งคำถามกับความคิดในหัวเราเสมอ

ถ้าเรามีความคิดในหัวว่า “แม่ไม่รักเรา” เพราะเมื่อกี้พึ่งทะเลาะกัน ให้ลองตั้งคำถามกับความคิดในหัวนั้นว่า “แม่ไม่รักเราจริงๆ เหรอ” และเมื่อเราพิจารณาถึงสิ่งที่แม่ทำให้เรามาตลอดชีวิต เราก็จะพบว่าสิ่งที่เราคิดเมื่อกี้มันไม่จริงเลย

นี่คือความน่ากลัวของเสียงในหัวครับ ตอนแรกมันเหมือนจะจริงและเราอาจทำตาม แต่เมื่อพิจารณาอย่างดีแล้วก็จะพบว่าเสียงในหัวที่พูดกับเรานั้นมันไม่จริง

ดังนั้นตั้งคำถามกับเสียงในหัวของเราตลอดนะครับ

วิธีการ Narrate หรือการเล่าเรื่องของเสียงในหัวเราก็น่ากลัวเหมือนกันในบางที การเอาของสามสี่อย่างมาต่อกันแล้ว Narrate หรือ พยายามเชื่อมโยงกันทั้งๆ ที่มันเชื่อมโยงกันไม่ได้ สร้างหายนะให้กับหลายคนมาเยอะแล้ว

ผมไม่ได้บอกให้ไม่เชื่อเสียงในหัวนะครับ แค่เสนอว่าให้ตั้งคำถามกับมันเฉยๆ

ทั้งเสียงภายนอกและเสียงภายในมีอิทธิพลกับเราอย่างมาก ดังนั้นจงใช้มันด้วยความระมัดระวังและให้เกิดประโยชน์สูงสุดนะครับ

#missiontothemoon
#missionothemoonpodcast
#inspiration

Advertisements
Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า