ทุกวันนี้เราโฟกัสถูกจุดแล้วหรือยัง? เพราะการก้าวสู่เป้าหมายในชีวิต ต้องมาพร้อมกับพลังแห่งการ ‘โฟกัส’

4377
โฟกัส

ความสามารถในการ ‘โฟกัส’ กับเรื่องหนึ่งเรื่องเป็นเวลานานๆ ของคนหลายคนเริ่มลดน้อยถอยลงอย่างมากในสมัยนี้ แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มีเรื่องกระตุ้นความสนใจของเราตลอดเวลา ลองนึกภาพหน้าจอที่อยู่รอบๆ ตัวเราทุกวันนี้นะครับ เรามีตั้งแต่จอทีวี คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต โทรศัพท์​ รวมไปถึงแม้แต่หน้าจอนาฬิกาของเรา ที่เดี๋ยวนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นจออิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กจอนึงเลยก็ว่าได้

นี่ยังไม่นับรวมพวกหน้าจอภายในรถสมัยใหม่ที่ไม่ได้ต่างอะไรจากหน้าจอคอมพิวเตอร์จอหนึ่งเลย ในรถยนต์สมัยใหม่โดยเฉพาะรถยนต์ที่เป็นระบบไฟฟ้า คุณสามารถจอดรถติดเครื่อง เปิดแอร์ และเล่นเกมส์ที่ต้องการความสามารถกราฟิกสูงๆ อย่าง The Witcher 3 หรือ Cyberpunk 2077 ได้แบบสบายๆ 

ลองคิดๆ ดูแล้วมันก็ถือว่าน่าทึ่งมากนะครับ เพราะหากย้อนไปเมื่อสิบปีที่แล้ว จอรถก็คงยังเปิดได้แค่แผนที่และเล่นเพลงให้เราฟังได้แค่นั้นเอง นี่ยังไม่รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ที่เดี๋ยวนี้ก็มีจอกันหมดแล้ว 

Advertisements

มุมอื่นของชีวิตเราก็เช่นกัน โลกสมัยใหม่คือโลกที่ทุกอย่างอยู่แค่ปลายนิ้ว อยากรู้อะไร อยากได้อะไร ก็สามารถหาเจอทันที หรือไม่ก็กดสั่งให้มาส่งถึงหน้าบ้านได้หมด

หลายๆ คนที่ผมรู้จักก็บอกว่า พวกเขาจำครั้งสุดท้ายที่อ่านหนังสือจบเล่มแบบจริงจังไม่ได้แล้ว 

ความสามารถในการตั้งใจเพื่อ ‘โฟกัส’ และ ‘ค้นหาเชิงลึก’ ค่อยๆ หายไป 

แม้ว่าโลกจะหมุนไปเร็วสักเพียงใด ความจริงก็คือสิ่งที่มีค่ามากๆ ที่มักจะต้องใช้เวลาในการสร้างหรือค้นหา 

นี่จึงเป็นที่มาว่า ในโลกอนาคต ความสามารถในการโฟกัสกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งนานพอ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง 

Gary Keller เคยกล่าวไว้ว่า

“Things don’t matter equally” 

Gary Keller

“ไม่ใช่ทุกอย่างจะสำคัญเท่ากัน”

ฟังดูกำปั้นทุบดินใช่ไหมครับ แต่เชื่อไหมว่า เวลาเรามีอะไรต้องทำเยอะๆ เราแยกไม่ออกจริงๆ ว่าอะไรสำคัญกว่าอะไร ทุกอย่างดูจะ ‘ด่วน’ และ ‘ต้องทำ’ ตอนนี้ไปหมด

หลายวันของเราผ่านไปโดยการนั่งจ้องหน้าจอทั้งวัน เปลี่ยนจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่ง และหมดวันด้วยความรู้สึกว่าไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ก็เหนื่อยเหลือเกิน ก่อนจะผลอยหลับไปคาโทรศัพท์​

‘Your’ One Thing

หากว่าเราวางแผนชีวิตใหม่ล่ะ หากว่าเราตั้งคำถามกับชีวิตว่าอะไรที่สำคัญจริงๆ แล้วลองโฟกัสแค่สิ่งเหล่านั้นพอ ชีวิตของเราจะเปลี่ยนไปไหม? 

ในหนังสือเรื่อง The One Thing ได้เขียนเกี่ยวกับคำถามในการโฟกัสของชีวิตไว้ได้อย่างน่าสนใจครับว่า 

“อะไรคือสิ่งเดียว ที่เราต้องการในชีวิตนี้” 

แน่นอนว่าคนเราไม่สามารถทำเรื่องเดียวได้ แต่ลองถามตัวเองดูจริงๆ ว่าอะไรคือสิ่งที่เป็นเป้าหมายของเราจริงๆ มันอาจจะเป็นการสร้างบ้านของตัวเอง การได้เที่ยว 60 ประเทศก่อนอายุ 60 หรือแม้แต่การเป็นเจ้าของฟาร์มสุนัข 

เมื่อรู้แล้วว่า The One Thing ของคุณคืออะไร ทุกวันหลังจากนี้ลองถามตัวเองดูว่าสิ่งที่เราทำในแต่ละวัน มันทำให้เราใกล้สิ่งที่เราอยากได้มากขึ้นไหม 

เช่น เราอยากซื้อบ้านแต่เราไม่เคยเก็บเงินได้เลย เพราะเอาแต่ช็อปปิงซื้อของไปเรื่อยๆ แบบนี้แปลว่าเราไม่ได้โฟกัสกับเป้าหมายใหญ่ของเรา แต่ในทางกลับกันถ้าเรายอมไม่ซื้อของเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างทาง เพื่อให้แน่ใจว่าทุกเดือนเราจะมีเงินเหลือพอที่จะเก็บไว้ นั่นก็แปลว่าเรา ‘โฟกัส’ กับเป้าหมายจริงๆ 

จะว่าอนาคตของคุณไม่ได้อยู่ที่การสร้างเป้าหมายใหญ่โตอลังการซะทีเดียว แต่มันอยู่ที่การวางแผนสร้างนิสัยเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวัน ที่เมื่อลองทำแยกกันแล้วดูเหมือนจะไม่สำคัญ แต่ถ้าทำสม่ำเสมอพอและนานพอ มันจะสามารถพาคุณไปที่ที่คุณอยากไปให้ถึงได้

การโฟกัสไม่ได้หมายถึงการทำซ้ำๆ ย้ำแต่เพียงอย่างเดียว แต่มันยังหมายถึงการทำสิ่งที่มีความหมายกับตัวคุณด้วย

ในหนังสือเรื่อง The Talent Code กล่าวถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ทำเพื่อหาทักษะทางดนตรีของเด็ก 157 คน ซึ่งเป็นการศึกษาระยะยาวตั้งแต่ช่วงที่เด็กเหล่านี้อายุ 7-8 ขวบ จนกระทั่งไปถึงมัธยมปลาย โดยดูตั้งแต่ที่ก่อนเด็กเหล่านั้นจะเลือกเครื่องดนตรี ติดตามการซ้อม ผลงาน และมุมมองอื่นๆ ไปอีกหลายปี 

หลังจากเก็บข้อมูลไปสักระยะก็พบว่า เด็กบางคนไม่ค่อยมีพัฒนาการนัก ในขณะที่บางคนก็เล่นได้แบบอัจฉริยะ แต่ส่วนใหญ่ก็จะอยู่กลางๆ 

คำถามคืออะไรเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กแต่ละคนมีความสามาถรทางดนตรีที่ต่างกัน?

เนื่องจากการเก็บข้อมูลนั้นทำนานมาก จึงมีข้อมูลจำนวนมหาศาลให้วิเคราะห์ ทีมนักวิเคาระห์จึงได้ลงลึกในหลายแง่มุม

ใช่ไอคิวหรือเปล่านะที่ทำให้เด็กต่างกัน? คำตอบคือ ‘ไม่ใช่’

ใช่ประสาทหูที่ไวเป็นพิเศษไหม? คำตอบคือ ‘ไม่ใช่’

ใช่ความสามารถในการสัมผัสจังหวะไหม? คำตอบคือ ‘ไม่ใช่’

ถ้างั้นประสาทสัมผัสที่เฉียบคมใช่ไหม? คำตอบก็ยัง ‘ไม่ใช่’ 

งั้นฐานะของครอบครัวละ? คำตอบก็ยัง ‘ไม่ใช่’ อีกครับ 

แล้วระยะเวลาการซ้อมในแต่ละสัปดาห์ล่ะ? ต้องบอกว่า ‘เกี่ยว’ แต่อาจจะไม่ได้เป็นแบบที่คุณคิดซะทีเดียว 

Advertisements

นักวิจัยจึงได้พิจารณาไปจนถึงข้อมูลชุดหนึ่งที่มีความน่าสนใจอย่างมาก

นั่นคือ คำตอบของเด็กๆ ในการสัมภาษณ์ ‘ก่อน’ ที่จะเริ่มทำงานวิจัย ตอนที่พวกเขายังเด็กมากๆ 

คำถามก็คือ “หนูจะตั้งใจเล่นเครื่องดนตรีนี้ไปนานแค่ไหน?” 

โดยคำตอบที่ให้เลือกมี (1) ตลอดปีนี้ (2) ตลอดชั้นประถม (3) ตลอดชั้นมัธยม และ (4) ตลอดชีวิต อาจเรียกว่าเป็น ความตั้งใจระยะสั้น ความตั้งใจระยะกลาง และความตั้งใจระยะยาวก็ว่าได้ 

จากนั้นทีมวิจัยก็เอาคำตอบนี้มาดูคู่กับระยะเวลาการซ้อมของเด็ก โดยแบ่งเป็นระดับน้อยคือประมาณ 20 นาทีต่อสัปดาห์ ระดับปานกลางคือ 40 นาทีต่อสัปดาห์ และระดับมากคือ 90 นาทีต่อสัปดาห์​

นักวิจัยค้นพบว่าคนที่มีความตั้งใจยาวคืออยากเล่นไปนานๆ สามารถพัฒนาทักษะได้ดีกว่ากลุ่มที่มีความตั้งใจสั้นถึง 4 เท่า ทั้งๆ ที่ซ้อมพอๆ กัน 

ส่วนกลุ่มที่ตั้งใจจะเล่นยาว แม้จะซ้อมเพียง 20 นาทีต่อสัปดาห์ แต่ความก้าวหน้าเยอะกว่ากลุ่มที่มีความตั้งใจระยะสั้นที่ซ้อม 90 นาทีต่อสัปดาห์เสียอีก

หรืออาจกล่าวได้ว่า ‘ความตั้งใจก่อนเริ่มเรียน’ คือปัจจัยที่บ่งชี้ระยะยาวถึงฝีมือในการเล่น 

Gary Macpharson หัวหน้าคณะวิจัยสรุปว่า สิ่งที่เด็กเหล่านั้นมองว่าตัวเองเป็น ‘อะไร’ คือสิ่งที่สำคัญมาก หากพวกเขามองตัวเองว่าเป็น ‘นักดนตรี’ ความคิดดังกล่าวจะส่งผลต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง ความสนใจที่เปลี่ยนแปลงไป หรือพูดอีกอย่างคือมันเปลี่ยน ‘โฟกัส’ ในชีวิตของพวกเขาไปนั้นเอง 

เด็กที่มีความตั้งใจที่จะเล่นเครื่องดนตรีไปนานๆ นิยามตัวเองว่าเป็นนักดนตรี และเมื่อเวลาผ่านไปหลายปีพวกเขาก็กลายเป็นนักดนตรีขึ้นมาจริงๆ 

โฟกัส + ความหมาย + เวลา จึงเป็นสมการของความสำเร็จในระยะยาว

การโฟกัสที่ต้องการผลที่ดีนั้นต้องดูเรื่องของ Willpower หรือว่าพลังใจด้วย 

ในหนึ่งวันนั้นพลังใจของเรามีจำกัด และการเลือกใช้มันอย่างเหมาะสมจึงสำคัญยิ่ง

เมื่อพูดถึงพลังใจ สิ่งที่ยากมากคือการใช้มันในเวลาที่ถูกต้อง 

ด้วยความที่มันมีจำกัดมาก ยิ่งเราใช้มากเท่าไร มันก็จะหมดไปมากเท่านั้น 

ในวันวันหนึ่ง มีกิจกรรมจำนวนมากที่เราใช้พลังไปโดยไม่ได้ผลลัพธ์อะไรกลับมาสักเท่าไร เช่น การเถียงเรื่องไม่เป็นเรื่องกับเพื่อนร่วมงาน การเช็กอีเมลทุกสิบนาที การแช็ตที่ยืดยาวแต่ไม่ได้ประโยชน์อะไรมากมาย การนั่งอ่านไลน์กลุ่มทั้ง 55 กลุ่ม การดูคลิป Youtube แบบไร้จุดหมาย และอีกมากมาย  ซึ่งเป็นอะไรที่น่าเสียดายมาก 

เมื่อเรารู้ถึงความจำกัดของพลังใจแล้ว เราต้องบริหารมันให้ดีมากๆ 

คนที่เหมือนจะทำอะไรได้เยอะๆ ถ้าลองไปผ่าแยกส่วนเวลาที่เขาใช้ในแต่ละวันอย่างละเอียด จะพบว่าเขาเหล่านั้นใช้เวลาช่วงที่มี Willpower เยอะๆ ไปอย่างชาญฉลาดมาก หรือพูดง่ายๆ คือโฟกัสการใช้พลังมากนั่นเอง 

ในบรรดาเรื่องหลายสิบเรื่องในหนึ่งวัน คนที่จัดการงานได้ดีจะโฟกัสพลังไปกับเรื่องไม่กี่เรื่องเท่านั้น 

People, Culture and Numbers

มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมยังใช้เป็นแนวทางการทำงานมาจนถึงทุกวันนี้ ในหนังสือเขาบอกว่า หน้าที่ของ CEO มีสามอย่างเท่านั้น คือ People, Culture และ Numbers 

‘People’ คือการคัดเลือกคนที่ถูกต้องเข้ามาในทีม รักษาและพัฒนาคนเหล่านั้นให้เติบโต และยังหมายรวมถึงการนำคนที่ไม่ใช่ออกด้วย 

‘Culture’ คือการสร้างวัฒนธรรมที่เอื้อต่อเป้าหมายบริษัท เช่น ถ้าเราต้องการเป็นบริษัทที่เปลี่ยนแปลงตามโลกได้ หนึ่งในวัฒนธรรมคือเรื่องของความเร็ว ซึ่งมันอยู่ในทุกเรื่องตั้งแต่การอนุมัติ กระบวนการทำงาน และอีกมากมาย​ หน้าที่ของ CEO คือการทำยังไงก็ได้ให้ทุกอย่างในองค์กรเร็วขึ้น อะไรที่เป็นอุปสรรคก็เอาออกไป แบบนี้เป็นต้น 

‘Numbers’ คือสารพัดตัวเลขที่วัดได้ทั้งหลาย ตั้งแต่ตัวเลขทางการเงิน ไปจนถึงตัวเลขเชิงประสิทธิภาพต่างๆ ด้วย แน่นอนว่าไม่ต้องดูทุกเรื่อง ดูเฉพาะเรื่องสำคัญพอ ว่ากันว่า Dashboard ของ CEO ที่ดูเรื่องพวกนี้ไม่ควรเกินสองหน้า 

ดังนั้นนอกจาก People, Culture และ Numbers แล้ว CEO ที่ดีจะไม่ทำเลย เพราะควรเอาเวลามาโฟกัสสามเรื่องนี้ให้ดีเพราะ Willpower ของ CEO เองก็มีจำกัด

พลังแห่งการโฟกัส เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อคุณภาพของงานที่เราจะสามารถทำออกมาได้ และเราสามารถฝึกตัวเองให้เป็นคนที่สามารถโฟกัสกับเรื่องต่างๆ ได้ดีขึ้นครับ 

ลองค่อยๆ หาจุดที่เหมาะสมของตัวเองดูนะครับ แต่รับรองว่าเรื่องนี้คุ้มค่าการฝึกฝนมากๆ ครับ 



#missiontothemoon 

#missiontothemoonpodcast

#selfimprovement

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/online-content/

Advertisements