ถึงเวลาหรือยังที่เราต้องพบจิตแพทย์? ทำความเข้าใจมนุษย์ผ่านข้อคิดจากหนังสือ Maybe You Should Talk to Someone

8119
Maybe You Should Talk to Someone

‘เราควรไปพบจิตแพทย์ดีไหมนะ’

คำถามนี้เคยผุดขึ้นมาในหัวของเราบ่อยครั้งเมื่อต้องเผชิญกับช่วงเวลายากลำบากในชีวิต เมื่อต้องต่อสู้กับอาการนอนไม่หลับ อยากร้องไห้ไม่รู้สาเหตุ หรือเมื่อรู้สึกว่างเปล่า ไร้จุดหมาย ไม่ยินดียินร้าย แต่ก็ไม่ได้มีความสุข

อาการเหล่านี้แหละทำให้เราต้องถาม ‘คำถามนั้น’ กับตัวเองบ่อยๆ แต่เราก็ให้คำตอบไม่ได้ว่า เมื่อไหร่ต้องไปหาหมอ อาการแบบนี้ไปหาหมอได้ไหม และการพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเป็นอย่างไรนะ ความสงสัยร้อยแปดทำให้เราลังเล จนท้ายที่สุดเราก็ละเลยสุขภาพจิตของเราไปโดยปริยาย

ผู้เขียนบทความเองก็เคยมีความรู้สึกเช่นนั้น จนกระทั่งวันหนึ่งได้เดินเข้าร้านหนังสือ และพบกับหนังสือปกสีเหลืองสะดุดตา มีรูปกล่องทิชชู่สีฟ้าอยู่ตรงกลาง พร้อมชื่อหนังสือชวนคิด ชื่อ “Maybe You Should Talk to Someone” เมื่อได้อ่านประโยคดังกล่าว จึงได้กลับมาสำรวจสภาพจิตใจตัวเองกันอีกครั้ง พร้อมกับถามตัวเองว่า..

นั่นสินะ.. ถึงเวลาหรือยังที่เราต้อง ‘คุย’ กับใครสักคน

รู้จักกับหนังสือ Maybe You Should Talk to Someone และชีวิตของผู้เขียนโดยสังเขป

หนังสือ Maybe You Should Talk to Someone มีชื่อไทยว่า “เพราะนี่คือสิ่งที่ (นักจิตวิทยา) ไม่เคยบอก” เขียนโดยนักจิตบำบัดที่ชื่อ ‘ลอรี ก็อธลีบ’ แม้หนังสือเล่มนี้จะคล้ายกับหนังสือที่เขียนโดยนักจิตวิทยาคนอื่นๆ ตรงที่เนื้อเรื่องเล่าถึงประสบการณ์และเรื่องราวต่างๆ ของ ‘คนไข้’ ที่มาบำบัด แต่ที่พิเศษกว่าเล่มอื่นๆ ก็คงเป็นประสบการณ์ของ ‘ตัวผู้เขียน’ ที่ต้องเข้ารับคำปรึกษาเสียเอง!

นักจิตบำบัดมานั่งคุยกับนักจิตบำบัดด้วยกันเอง ฟังดูเป็นเรื่องตลกร้าย แต่ความจริงนั้นนักจิตบำบัดก็ต้องมีใครสักคนคอยให้คำปรึกษาในวันที่ทุกข์ใจเหมือนกัน แต่เมื่อลอรีรับคำปรึกษาไปสักพัก  เธอไม่เพียงแม้แต่รู้สึกดีขึ้น แต่ยัง ‘เข้าใจ’ ความเป็นมนุษย์ ตัวเธอเอง และคนไข้มากขึ้นกว่าเดิม

ลอรีได้ถ่ายทอดบทเรียนที่เธอเรียนรู้และตอบความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องการบำบัดในหนังสือเล่มนี้ มาดูกันดีกว่าว่าเรื่องราวของเธอให้ข้อคิดอะไรบ้าง

ข้อคิดจากหนังสือ Maybe You Should Talk to Someone

1) ‘ปัญหาแรก’ ที่คนไข้ปรึกษามักไม่ใช่ ‘ปัญหาที่แท้จริง’

ลอรีเล่าว่า บางทีปัญหาที่แท้จริงก็ฝังรากลึกจนเราไม่รู้ตัว

เมื่อคนไข้เข้ามาปรึกษา เธอมักจะถามว่า ‘เป็นอะไรมา’ หรือไม่ก็ ‘ทำไมถึงมาหาหมอ’ แน่นอนว่า ส่วนใหญ่คำตอบที่ได้ยินมักจะเป็นปัญหาผิวๆ ที่คนไข้เผชิญ อย่างอาการนอนไม่หลับ ร้องไห้บ่อย ปวดหัว หรือทานอะไรไม่ค่อยได้

อย่าง จอห์น คนไข้ชายคนหนึ่งของเธอที่มาด้วยอาการนอนไม่หลับ เพราะมีปากมีเสียงกับภรรยาบ่อยๆ และเครียดเรื่องงาน ลอรีได้พูดคุยและชวนจอห์นแก้ปัญหาไปเรื่อยๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาทั้งคู่พบว่าปัญหาที่แท้จริงของจอห์นไม่ใช่ความเครียด แต่เป็นความเศร้าเรื่องการสูญเสียลูกชายที่เขาเก็บกดมันไว้ จนกลายเป็นคนแสดงออกทางอารมณ์ไม่เก่ง ซึ่งสิ่งนี้เองได้ส่งผลต่อไปยังปัญหาอื่นๆ ในชีวิต อย่างการทะเลาะกับภรรยาหรือสื่อสารกับคนในที่ทำงานไม่เข้าใจ

หากเรากำลังประสบปัญหาอยู่ การลองพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย บางทีปัญหาที่เราเผชิญนั้นอาจมีสาเหตุลึกลงไปกว่าที่เรารู้ก็ได้ 

2) การตามหา ‘สาเหตุ’ ของปัญหาและการ ‘เยียวยา’ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา

ในการบำบัด กว่าคนไข้รายนี้จะยอมเล่าเรื่องฝังใจให้ฟังก็ต้องใช้เวลาอยู่นาน เขาและลอรีต้องพบปะกันอยู่หลายครั้งกว่าจะขุดหาสาเหตุที่แท้จริงได้ และแน่นอนว่าการค้นพบสาเหตุ ไม่ได้เท่ากับแก้ปัญหาได้แล้ว แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเยียวยาจิตใจเท่านั้น

3) ความรู้สึกที่เราเก็บกดไว้ไม่เคยหายไปไหน ต้องระบายมันออกมาเท่านั้นถึงจะช่วยได้

ในขั้นตอนการรักษา ไม่ใช่ยานอนหลับและไม่ใช่ยาแก้เครียดที่ช่วยแก้ปัญหาให้จอห์น แต่เป็นการรับรู้ถึงความเศร้าของตัวเองและกล้าแสดงออกทางอารมณ์ (พูดง่ายๆ ก็คือกล้าที่จะเป็นคนอ่อนไหว) ต่อหน้าผู้อื่นต่างหาก ที่ช่วยให้เขาแก้ปัญหาได้และกลับมามีความสุขกับชีวิตมากขึ้น

4) เพราะไม่มีใครอยากรู้สึกเจ็บปวด เราจึงสร้างเกราะป้องกันตัวเองไว้

หนึ่งความยากในการบำบัดเกิดขึ้นเพราะธรรมชาติของมนุษย์ ธรรมชาติที่ว่าก็คือ ‘กลไกในการป้องกันตัว’ หรือ Defense Mechanism นั่นเอง เพราะเราไม่ชอบความเจ็บปวด เราเลยหลีกเลี่ยงที่จะรู้สึกถึงมันหากทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิเสธ การซ่อนความรู้สึก หรือการโยนความผิดให้ผู้อื่น

แต่ในการบำบัดนั้น เราต้องวางเกราะป้องกันเหล่านี้ลงและทำความเข้าใจกับสาเหตุที่แท้จริง แม้จะเจ็บปวดแค่ไหนก็ตาม

ลอรียกตัวอย่างด้วยเรื่องของเธอเอง ตอนที่เธอเลิกกับแฟนหนุ่มคนล่าสุด เธอเสียสูญมากจนต้องเข้าพบนักจิตบำบัด ระหว่างการบำบัด เธอได้แต่พร่ำบอกว่าสาเหตุของความเสียใจคือการที่เขาเลิกกับเธอด้วยเหตุผลที่เห็นแก่ตัว เธอจึงเจ็บปวดอย่างมาก

แต่ระหว่างการพูดคุย นักจิตบำบัดของเธอได้สังเกตว่าเธอพูดว่าชีวิต “ใกล้จบ” เต็มทีแล้ว เขาจึงถามว่าเธอหมายความว่าอย่างไร ลอรีพึ่งอายุ 40 เอง ชีวิตจะใกล้จบได้อย่างไร ฟังดูไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย บทสนทนานี้นำไปสู่ความจริงที่ว่า จริงๆ แล้วลอรีกังวลเรื่องสุขภาพไม่น้อยเลย เธอเจ็บอิดๆ ออดๆ แบบไม่มีสาเหตุมาสักพัก และจริงๆ แล้วที่เธอเสียใจกว่าการเลิกกับแฟนครั้งไหนๆ เป็นเพราะเธอกลัวว่าจะต้องตายอย่างโดดเดี่ยวเสียมากกว่า

เพราะไม่อยากยอมรับความจริงอันเจ็บปวดว่านักจิตบำบัดที่เข้าใจมนุษย์อย่างเธอ ดันมากลัวเรื่องธรรมชาติอย่าง ‘ความตาย’ เธอจึงยกเกาะป้องกันขึ้นมาและกล่าวอ้างว่าเป็นเหตุผลอื่นต่างหากที่ทำให้เธอเสียใจ

5) ยิ้มทักทาย พูดคุย และยื่นมือเข้าหาคนรอบตัว (และคนแปลกหน้าบ้าง) เพราะมนุษยสัมพันธ์สำคัญต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์มากๆ!

ความโดดเดี่ยวเป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับทุกคน นักจิตวิทยาและนักบำบัดต่างเห็นตรงกันว่าความโดดเดี่ยวนี่แหละ ทำให้คนต้องสุขภาพจิตย่ำแย่จนต้องเข้ารับการปรึกษา

ริต้า คนไข้หญิงวัย 69 ที่ลอรีให้คำปรึกษาอยู่บอกกับเธอว่า เพราะต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวและไม่มีใครมานาน บางครั้งเธอถึงกับต้องเข้าร้านทำเล็บทั้งๆ ที่ไม่ได้อยากทำ แต่เพียงแค่อยากมีมนุษยสัมพันธ์กับผู้อื่นบ้างเท่านั้น

6) ใจดีกับตัวเอง อย่าพูดจาใจร้าย เพราะเรื่องเล่าที่เราบอกกับตัวเองสำคัญที่สุด

บางครั้งเรื่องเล่า (Narrative) ในความคิดเราที่คอยอธิบายเหตุผลต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น ก็ดันเป็นเรื่องเล่าในแง่ลบและไม่เป็นจริง ยกตัวอย่างเช่น ริต้าที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว หากเธอเอาแต่พร่ำบอกตัวเองว่าที่เธอโดดเดี่ยวนั้น เป็นเพราะเธอ ‘น่าเบื่อ’ และไม่มีใครอยากฟังเธอพูด เธอคงไม่มีความมั่นใจและต้องหลีกเลี่ยงการเข้าสังคมอยู่เช่นนั้น

Advertisements

หากเราเขียนเรื่องราวของเราใหม่ ลองพูดจาให้ใจดีกับตัวเองมากขึ้น เรื่องราวเหล่านี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีในชีวิตได้ ลองจินตนาการดูว่า หากริต้าในวัย 69 บอกตัวเองว่าแม้เธอจะพูดไม่เก่งนัก แต่เธอก็ผ่านชีวิตมาเยอะและมีเรื่องราวน่าสนใจมากมาย ความมั่นใจนี้อาจพาเธอไปพบเจอผู้คนใหม่ๆ หรือสานสัมพันธ์กับผู้คนเดิมๆ ในชีวิต ทำให้เธอเหงาน้อยลงและมีความสุขอีกครั้ง

7) ‘ความหมายในสิ่งที่ทำ’ ช่วยเติมไฟและเป้าหมายในการมีชีวิตอยู่ได้

ลอรีบอกว่า ‘ความว่างเปล่า’ เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้คนไข้หลายคนเข้าพบนักจิตบำบัด

เธอเองก็เคยเผชิญกับสถานการณ์นี้เช่นกันในตอนที่เธอเซ็นสัญญาเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง ทั้งๆ ที่เซ็นสัญญาจริงจังและรับเงินล่วงหน้ามาแล้ว แต่เธอกลับเขียนไม่ออกเลย เธอได้แต่บ่ายเบี่ยงไม่ยอมเริ่มเขียนสักที

พอจะเริ่มเขียนก็รู้สึกเขียนไม่ออก แต่พอไม่เขียนก็รู้สึกกังวลเพราะเดดไลน์ที่ใกล้เข้ามาทุกที ลอรีถูกกัดกินไปด้วยความกังวลและความรู้สึกผิดที่ใช้เงินที่ได้รับมาแล้ว เมื่อพิจารณาดูดีๆ เธอพบว่า ทั้งหมดนี้เป็นเพราะหัวข้อของหนังสือเล่มนั้นไม่ได้มี ‘ความหมาย’ หรือ ‘คุณค่า’ ต่อเธอเลย 

คุณค่าในตัวงานที่เราทำเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง มีงานวิจัยนักต่อนักที่พิสูจน์แล้วว่า มนุษย์เราทำงานได้มีประสิทธิภาพและมีความสุขมากขึ้น เมื่อเชื่อมโยง ‘สิ่งที่เรามองว่ามีค่า’ เข้ากับ ‘งานที่ทำอยู่’

8) จำไว้ว่าเรามี ‘ตัวเลือก’ อยู่เสมอ

เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ดังกล่าว ลอรีรู้สึกว่าตัวเองไม่มี ‘ทางเลือก’ เพราะรับเงินมาแล้ว และการบอกเลิกสัญญานั้นส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของเธอในฐานะนักเขียน

อย่างไรก็ตาม จริงๆ การบอกเลิกสัญญาก็เป็นหนึ่งในทางเลือกของลอรี เพียงแค่เธอต้องเผชิญกับผลกระทบที่ตามมาจากการตัดสินใจของเธอให้ได้เท่านั้น ซึ่งก็คือการหาเงินมาคืนสำนักพิมพ์และยอมเสียความน่าเชื่อถือ แต่สิ่งที่เธอจะได้คืนมานั้นคือ โอกาสในการได้ทำสิ่งที่ให้ความหมายต่อชีวิตเธออีกครั้ง (ซึ่งก็คือการเขียนหนังสือเรื่อง Maybe You Should Talk to Someone นี่เอง)

ความรู้สึกไร้อิสระ ติดกับสถานการณ์เดิมๆ กลืนไม่เข้าคลายไม่ออก ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้คนมาพบนักจิตบำบัด สิ่งที่จะคืนอำนาจในการตัดสินใจหรืออิสระให้เราได้อีกครั้งคือ การตระหนักให้ได้ว่าจริงๆ เราทุกคนมีทางเลือกเสมอ แต่ต้องรับความจริงว่า บางทางเลือกมีราคาที่ต้องจ่ายสูงกว่าอีกทางในบางครั้ง

9) อะไรที่ ‘คุ้นเคย’ ไม่ได้แปลว่า ‘ดี’ เสมอไป

ชาร์ล็อตต์ คนไข้หญิงวัย 25 ของลอรี มีพฤติกรรมทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจตัวเองอยู่ซ้ำๆ แต่ก็เลิกทำไม่ได้สักที โดยพฤติกรรมที่ว่าก็คือ ชอบผู้ชายนิสัยไม่ดี (หรือแบดบอย) นั่นเอง!

เมื่อพูดคุยกันไปหลายครั้งจึงพบว่า พฤติกรรมของชาร์ล็อตต์เกิดจากการที่เธอเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่พ่อแม่ทะเลาะเบาะแว้งกันเป็นประจำ เธอเห็นสภาพเช่นนั้นตั้งแต่เด็กจนโต และถูกหล่อหลอมว่า ‘ความรัก’ ต้องเป็นเช่นนั้น ดังนั้นเมื่อเจอผู้ชายดีๆ และความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นพิษ เธอจึงไม่เคยชินและวิ่งกลับไปสู่อ้อมกอดผู้ชายใจร้ายอยู่เป็นประจำ

จริงอยู่ คอมฟอร์ทโซนนั้นให้ความสบายใจ แต่อะไรที่คุ้นเคยไม่ได้หมายความว่าดีเสมอไป หลายครั้งเราต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจกันใหม่ในตอนโตว่า สิ่งไหนที่ ‘ดีต่อเรา’ อย่างแท้จริง

10) เมื่อกำแพงอารมณ์ ‘พังทลาย’ ไม่ได้หมายความว่าเรา ‘เสียสูญ’

เมื่อโตมาเราพบว่าการระบายอารมณ์ออกมาอย่างเต็มที่ (หรือที่เราเรียกว่าการ Break Down) เป็นเรื่องไม่เป็นมืออาชีพและผู้ใหญ่ไม่ควรทำ

หลายคนมองว่าการระบายอารมณ์ (ไม่ว่าจะเป็นการร้องไห้เป็นเขื่อนแตก พูดความรู้สึกให้คนอื่นฟัง หรือแสดงความอ่อนแอให้ผู้อื่นเห็น) หมายความว่าเราเละไม่เป็นท่า แตกสลายเป็นเสี่ยงๆ ราวกับคำว่า Break Down อย่างแท้จริง 

ทั้งๆ ที่จริงแล้วไม่ใช่เลย เราแค่กำลังเปิดเผยให้ผู้อื่นรับรู้ถึงสภาพจิตใจของเรา ณ ขณะนั้นต่างหาก ถ้าเราซ่อนแผลไว้ไม่ให้แม้แต่ตัวเองเห็น เราคงเยียวยามันไม่ได้ จริงไหม

ร้องไห้ราวกับกำลังแตกสลายไปเลยก็ได้ แต่ทุกครั้งที่ระบายอารมณ์และพักจนพอใจแล้ว อย่าลืมว่าเราสามารถหยิบชิ้นส่วนที่กระจัดกระจายอยู่ มาประกอบร่างสร้างเป็นตัวเรา และใช้ชีวิตต่อไปได้อีกครั้ง

หนังสือ “Maybe You Should Talk to Someone” พาเราไปสำรวจจิตใจอันซับซ้อนของมนุษย์ ว่าเพราะเหตุใดบาดแผลในชีวิตที่เรานึกไม่ถึงกลับส่งผลต่อเราในหลายด้านๆ ทำไมเราถึงหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด และทำไมเราถึงทำพฤติกรรมทำร้ายตัวเองซ้ำๆ ผู้เขียนแสดงให้เห็นว่ามีเหตุผลมากมายที่ทำให้มนุษย์รู้สึกย่ำแย่ และการได้ระบายอารมณ์ คือการเยียววิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เราตามหาความสุขและใช้ชีวิตต่อไปได้อีกครั้ง

จะร้องไห้ออกมาหรือพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญสักคน ลองหาวิธีเยียวยาตัวเองกันสักทางนะ

 


อ้างอิง
หนังสือ Maybe You Should Talk to Someone  โดย Lori Gottleib

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#inspiration
#book

ติดตามข่าวสารอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/category/news/

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่