INSPIRATION6 เรื่องเกี่ยวกับชีวิตที่ “น่าจะรู้อย่างนี้ตั้งนานแล้ว”

6 เรื่องเกี่ยวกับชีวิตที่ “น่าจะรู้อย่างนี้ตั้งนานแล้ว”

เชื่อว่าในชีวิตนี้ เราทุกคนคงเคยผ่านช่วงเวลาที่ต้องพูดว่า ‘ถ้ารู้อย่างนี้…’ เช่น

‘ถ้ารู้อย่างนี้ น่าจะเลือกทำงานที่อื่น’
‘ถ้ารู้อย่างนี้ ไม่น่าเป็นเพื่อนด้วยแต่แรก’
‘ถ้ารู้อย่างนี้ น่าจะทำให้ดีกว่านี้’

แน่นอน ถ้ารู้ล่วงหน้า ทุกคนก็คงเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดและความเสียดายเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และสิ่งเหล่านี้นี่เองเป็น ‘บทเรียนสำคัญ’ ในชีวิต คอยสอนให้การตัดสินใจของเราครั้งต่อๆ ไปดีกว่าเดิม

ถึงกระนั้นเราไม่จำเป็นต้องลองทำเองเพื่อเรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเองเสมอไป บางครั้งเราเรียนรู้จาก ‘ความผิดพลาดของคนอื่น’ ได้เช่นกัน!

แอนโธนี เจ หยาง ผู้เขียนบทความ 6 Exceptional Tips For a Great Life I Wish I Knew Earlier ได้แบ่งปัน 6 แนวคิดในการใช้ชีวิตให้ดีแบบไม่ต้องเสียใจทีหลัง ด้วยความหวังว่าบทเรียนที่เขาเรียนรู้เอง เสียดายเอง และเจ็บเองนี้ จะช่วยให้คนอื่นไม่ต้องมาเป็นแบบเขา

มาดูกันดีกว่าว่า 6 ข้อที่ว่ามีอะไรบ้าง

1) โฟกัสที่ ‘ไลฟ์สไตล์ในฝัน’ ไม่ใช่ ‘งานในฝัน’

เพราะเชื่อว่าความสำเร็จในด้านการงานจะนำมาสู่ความสุขและความสำเร็จด้านอื่นๆ ในชีวิต หลายคนเลยมุ่งมั่นกับการได้ทำงานในฝันจนยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมา บ่อยครั้งพวกเขาต้องลด ‘เวลาใช้ชีวิต’ ให้เหลือเพียงนิดเดียวเพื่อที่จะได้เติบโตในหน้าที่การงาน ด้วยเหตุนี้เอง หลายต่อหลายคนจึงไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘Work-life Balance’ และลงเอยด้วยการไม่มีความสุข

จริงๆ แล้วบางคนที่มีตำแหน่งสูงๆ และเงินเดือนก้อนโตนั้นไม่ได้มีความสุขเลย นั่นเป็นเพราะพวกเขาคิดว่าชีวิตจะมีความสุข เข้าร่องเข้ารอย หากเรื่องงานประสบความสำเร็จเสียก่อน

Advertisements

แต่ชีวิตคนเราไม่ได้ง่ายขนาดนั้น

แกรี เคลเลอร์ ผู้บริหารและนักเขียนชื่อดังกล่าวไว้ว่า คนเราก็เหมือนกับนักเล่นกลที่พยายามโยนรับ-ส่ง บอล 4 ลูกขึ้นไปในอากาศโดยไม่ให้ตกลงมา แต่ชีวิตด้านการงานนั้นเหมือน “บอลพลาสติก” หากตกลงมา มันก็จะเด้งกลับขึ้นไปได้ แต่ด้านครอบครัว สุขภาพ และสังคมนั้นเป็น “บอลแก้ว” หากตกลงพื้นแล้ว อาจเป็นรอย ร้าว บิ่น หรือไม่ก็แตกไปเลย

หากการโฟกัสที่เรื่องงานไม่ได้การันตีชีวิตที่มีความสุข แล้วเราควรโฟกัสอะไรแทน? สิ่งที่ผู้เขียนแนะนำคือ “ไลฟ์สไตล์ในฝัน” 

ลองเขียนบรรยายชีวิตที่ต้องการลงในกระดาษดู พร้อมกับไตร่ตรองดูว่าชีวิตในฝันนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องการจริงๆ หรือเปล่า ไม่ใช่ชีวิตที่คนรอบข้างหรือสังคมมองว่าดีใช่ไหม หากตัดสินได้แล้ว ให้ลองมองหาวิธีการว่าเราจะมีชีวิตแบบนั้นได้อย่างไร และงานแบบไหนที่จะนำไปสู่จุดหมายนั้น

สมมุติว่า เราต้องการมีชีวิตที่ได้ทำงานเพียง 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เราก็ค่อยย้อนสเต็ปดูว่าต้องทำอย่างไรถึงจะมีชีวิตเช่นนั้นให้เร็วที่สุด บางครั้งนั่นอาจหมายถึงการเริ่มต้นด้วยการทำงาน 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เสียก่อน แม้จะต้องเหนื่อยหน่อยในช่วงแรก แต่ถ้าหากเรารู้เป้าหมายของเราแล้ว เราจะไม่หลงทำงานเยอะไปเรื่อยๆ จนมีเงินเยอะแต่ไม่มีชีวิตแน่นอน

2) หยุดพิสูจน์ตัวเองกับคนอื่น

เคยถามตัวเองไหมว่าเป้าหมายของเราคือสิ่งที่เราต้องการจริงหรือเปล่า

หลายครั้งเป้าหมายของเราก็ไม่ใช่เป้าหมายของเราจริงๆ แต่กลับเป็นสิ่งที่สังคมบอกเราว่าดี เป็นสิ่งที่คนอื่นเค้ามีกัน (เช่นบ้านหลังโต หรือ รถหรู) และเป็นสิ่งที่เราอยากมีไว้เพื่อพิสูจน์กับคนอื่นว่า ‘เราประสบความสำเร็จแล้วนะ’ อย่างไรก็ตาม ความสุขที่ได้มานั้นอาจอยู่แค่ชั่วครู่ชั่วคราวและสลายหายไปง่ายๆ เมื่อคนอื่นไม่ได้มองว่ามันมีค่า

การไล่พิสูจน์ตัวเองให้คนอื่นเห็นไปเรื่อยๆ นี้ ไม่ได้ทำให้เรามีความสุขเลย เพราะเราเอาคุณค่าของตัวเราเองไปผูกไว้กับความคิดเห็นของผู้อื่น เราเอาคำว่า ‘ความสำเร็จ’ ของผู้อื่นหรือสังคมมาตั้งเป็นเป้าหมายของเรา ทั้งๆ ที่จริงแล้ว นิยามของความสำเร็จของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจหมายถึงการมีเงินเยอะๆ แต่บางคนอาจหมายถึงการได้มีเวลาพักผ่อนตามที่ต้องการ ก็เป็นได้

หากเราอยากมีชีวิตที่มีความสุขจริงๆ เราต้องยอมทิ้งความรู้สึกอยากพิสูจน์ตัวเอง ไม่เช่นนั้นเราคงจะไม่เป็นอิสระเสียที เราจะไม่มีวันได้สร้างชีวิตที่ต้องการที่แท้จริง หากต้องวิ่งไล่ตามกฎของคนอื่น และสุดท้ายแม้จะประสบความสำเร็จแค่ไหน เราก็ไม่เคยรู้สึกเติมเต็มเสียที

เพราะท้ายที่สุดแล้วนั่นคือความต้องการของคนอื่น ไม่ใช่ของเรา

3) อย่ามองแต่ ‘ราคา’ ให้มองที่ ‘คุณค่า’

เรื่องเงินเป็นเรื่องสำคัญ หลายคนจึงเลือกเฉพาะของที่ถูกที่สุดเพื่อประหยัดเงินในกระเป๋ามากที่สุด แต่รู้หรือไม่ว่าการโฟกัสแค่เรื่องราคานั้นอาจทำให้เรามองข้ามสิ่งที่ดี มีคุณค่า และคุ้มค่าสำหรับเราไป

เพราะเรามองที่ ‘ป้ายราคา’  ไม่ได้มองที่ ‘คุณค่า’ ของสินค้า

บางครั้งการจ่ายมากกว่า 100 บาทหรือ 1,000 บาท อาจให้คุณค่ามากกว่าของที่ถูกที่สุดถึง 10 เท่า เพราะของสิ่งนั้นอาจมีค่าต่อเรามากกว่า อำนวยความสะดวกต่อเรามากกว่า ประหยัดเวลามากกว่า หรือทนทานมากกว่า

ยกตัวอย่างผู้เขียนเอง เมื่อ 7 ปีที่แล้วเขายอมซื้อคอมพิวเตอร์แพงๆ เพราะเขารู้ว่าเขาจำเป็นต้องใช้สิ่งนี้ทุกวัน เพื่องาน เพื่อการศึกษา เพื่อความบันเทิงอื่นๆ แม้ราคาจะแพง แต่เมื่อมองที่คุณค่า เรียกได้ว่ามันคุ้มสุดๆ

เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเพราะ 7 ปีต่อมาเค้าก็ยังใช้คอมพ์เครื่องเดิมทำงานอยู่ หากเขามัวแต่มองที่ราคา เขาคงเลือกอะไรที่ถูกที่สุดและสิ่งนั้นอาจพังภายในปี 1-2 ปี

Advertisements

นี่เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น แนวคิดนี้ไม่ได้ใช้กับสิ่งของอย่างเดียว แต่อาจหมายถึงการลงทุนเรียนคอร์สต่างๆ การไปเที่ยวทริปในฝัน จริงอยู่ที่ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของแต่ละคนไม่เท่ากันและไม่ใช่ทุกคนจะมีตัวเลือก แต่ถ้าหากเราทำได้ ให้ลองมองของจาก ‘คุณค่า’ ไม่ใช่ ‘ราคา’ และวิธีการคิดนี้เองจะช่วยให้เราตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเรา ณ ขณะนั้น

4) ตัดสินใจให้เฉียบขาด อย่ามัวแต่ลังเล

‘เลือกไม่ได้’ ในชีวิตนี้ หลายคนเคยรู้สึกแบบนี้เมื่อต้องยืนอยู่บนทางแยกและต้องเลือกระหว่างซ้ายกับขวา แม้จะปรึกษาคนอื่นไปบ้างแล้วหรือถึงขั้นไปดูดวงก็ยังเลือกไม่ได้อยู่ดี นั่นเป็นเพราะจริงๆ แล้วต้นเหตุของความลังเลนี้ไม่ได้เกิดจากการที่เราเลือกไม่ได้จริงๆ แต่เป็นเพราะเรากำลัง ‘โกหกตัวเอง’ อยู่ต่างหาก

ลึกๆ เรารู้ดีอยู่แล้วว่าสิ่งที่เราต้องการมากกว่าคืออะไร แต่ความกลัว ‘ผลที่ตามมา’ จากการตัดสินใจทำให้เราไม่กล้าเลือกเสียที (เช่น การเลือก A หมายถึงเราต้องปฏิเสธ B ไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งทำให้เรารู้สึกเสียดาย หรือแม้ทางเลือก A จะเป็นสิ่งที่เราต้องการจริงๆ แต่ภาระที่ตามมาจะเยอะกว่าทางเลือก B อยู่มาก เป็นต้น) ด้วยความกลัวนี้เอง หลายคนจึงถ่วงเวลาด้วยการไม่เลือก ลังเล และคิดวนไปวนมาอยู่ซ้ำๆ

การได้มีเวลาหาข้อมูลและไตร่ตรองข้อดี-ข้อเสียนั้นถือเป็นเรื่องดี แต่ถ้าเราใช้เวลานานเกินไปในการตัดสินใจจะเป็นการเสียเวลามากกว่า แทนที่เราจะได้ใช้เวลาเหล่านั้นไปกับการลงมือทำจริงๆ เสียที

ด้วยเหตุนี้เอง การรู้จักตัดสินใจให้เฉียบขาดคือหนึ่งทักษะที่เราควรฝึกฝน ความเด็ดขาดนี้จะพาเราก้าวเดินต่อไปและช่วยให้เราไม่ต้องเปลืองสมองไปกับการนั่งคิดว่าเลือกทางไหนดี แม้ตัวเลือกของเราจะไม่ได้ดีไปเสียทุกครั้ง แต่เราก็ไม่มีทางรู้เลยว่ามันดีหรือไม่ดี จนกว่าเราจะเลือกและลงมือทำจริงๆ

5) อย่าหยุดเรียนรู้

เรามีเป้าหมายหลายอย่างในชีวิต ตั้งแต่ด้านการงาน การเงิน ความสัมพันธ์ ไปจนถึงสุขภาพ แต่เมื่อเราทำสำเร็จและได้สิ่งที่ต้องการมาแล้วล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น

หลายๆ คน ‘หยุด’ โดยไม่รู้ตัว จากการต่อสู้ไขว่คว้าราวกับอยู่ในโหมดบุกทำประตูของนักฟุตบอล เราหันมาเล่นเกมรับเพื่อรักษาสิ่งที่มีไว้ให้ได้ก็พอ แน่นอนว่าการ ‘รักษา’ สิ่งที่มีแล้วนั้นเป็นเรื่องสำคัญ แต่ปัญหาของก็คือเราหยุดเรียนรู้

แม็กซ์เวล มอลท์ กล่าวไว้ว่า “ตามหลักแล้ว คนเราก็ทำงานคล้ายกับจักรยาน” จักรยานที่มุ่งหน้าไปสักทางจะนั่งไม่โคลงเคลง เพราะมีแรงปั่นส่งมันไปด้านหน้าอยู่ตลอด อย่างไรก็ตาม เมื่อหยุดปั่นและจักรยานนิ่งเมื่อไหร่ ท้ายที่สุดมันจะสั่นและล้มไปในที่สุด

ตามหาเรื่องใหม่ๆ ให้เรียนรู้ หมั่นเติมเต็มความรู้และทักษะเพื่อให้เราเติบโตต่อไปเรื่อยๆ ทักษะแห่งการเรียนรู้ที่เราได้มานี้เองจะช่วยให้เราใช้ชีวิตได้ดีขึ้น ไม่หวั่นแม้จะเจอปัญหาบ้าง

6) จำไว้ว่า ‘ความสุข’ ของเรามาจากไหน

หากเราเป็นคนที่มีความสุขทุกครั้งที่ได้เปิดประตูและออกไปผจญภัยในโลกกว้าง อย่าลืมทำสิ่งนั้นบ่อยๆ แม้ระหว่างทางสู่ความสำเร็จเราจะต้องนั่งอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมเพื่อทำงานหาเงิน

หากความสุขของเราคือการอ่านหนังสือ หาเวลาอ่านหนังสือที่ตัวเองชอบและอยากอ่านจริงๆ ไม่ใช่แค่อ่านหนังสือที่คนอื่นอ่านแล้วว่าดี หรือถูกบอกให้อ่าน

มุ่งมั่นในการตัดการเชื่อมต่อจากโลกออนไลน์บ้าง จริงอยู่ เรามีความสุขกับการคุยกับเพื่อนและไถหน้าจอสำรวจโซเชียลมีเดีย แต่นานๆ ครั้ง ลองวางโทรศัพท์ลงและทำกิจกรรมที่เรารู้สึกมีความสุขจริงๆ ดู ใช้เวลากับ ‘โลกจริง’ ให้มากกว่าเดิม เรียนรู้การมีความสุขแบบที่ไม่ต้องหยิบโทรศัพท์

แล้ววันหนึ่งเราจะขอบคุณตัวเองที่ไม่ใช่เวลาทั้งหมดไปกับหน้าจอ

และนี่ก็คือ  6 แนวคิดในการใช้ชีวิตให้ดีแบบไม่ต้องเสียใจทีหลังจากแอนโธนี หยาง  แต่แน่นอน เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าชีวิตเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน จะใช้วิธีเดียวกันในการดำเนินชีวิตเลยคงเป็นไปไม่ได้ แต่เรียนรู้ข้อคิดจากคนอื่นก็ไม่เสียหาย เราไม่จำเป็นต้องทำตามที่ผู้เขียนกล่าวมาเลย แค่รู้ไว้ เผื่อว่าวันหนึ่งเราอาจมีโอกาสนำไปปรับใช้กับชีวิตของเราเอง

อ้างอิง
https://bit.ly/3yI2glC

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#inspiration

ติดตามข่าวสารอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/category/news/

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Tanyaporn Thasak
Tanyaporn Thasak
ผู้โดยสารคนหนึ่งบนยาน Mission To The Moon ที่หลงใหลในวรรณกรรม ภาพยนตร์ บทกวี การอ่าน การเขียน และการนอน

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า