4 ขั้นบันไดสู่การทำ ‘ปณิธานปีใหม่’ ให้สำเร็จ

418
4 Ways to Achieve New Year's Resolutions 1920

เริ่มต้นสัปดาห์ที่ 2 ของปีใหม่แล้ว หลายคนคงได้เริ่มเปลี่ยนตัวเองและทำตาม ‘New Year’s Resolutions’ หรือ ‘ปณิธานปีใหม่’ ที่ตั้งไว้ หลายคนอาจเพิ่งมีเวลามานั่งคิดว่าเป้าหมายในปีนี้มีอะไรบ้าง ส่วนหลายๆ คนยังไม่ได้ทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้สักนิดเลย และมีแนวโน้มว่าจะ ‘ล้มเลิก’ แล้วเสียด้วย จากแต่แรกที่คิดแค่ว่า ‘ไว้ทำพรุ่งนี้’ อยู่ๆ เราก็เลิกคิดถึงมันไปแล้ว เพราะเหมือนจะตระหนักได้ว่าพรุ่งนี้ก็ไม่ทำอยู่ดี

ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด…
ผลสำรวจพบว่าปณิธานปีใหม่กว่า 80% ล้มเหลวไม่เป็นท่า

แม้เป้าหมายของหลายๆ คนจะฟังดูเป็นรูปธรรมพอตัว เช่น การออกกำลังกายให้บ่อยขึ้น ดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อยลง ทำกิจกรรมใหม่ และลดน้ำหนัก ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อมอย่างการอ่านหนังสือ 100 เล่มต่อปีหรือเที่ยวรอบโลกให้สำเร็จ

แล้วทำไมเราถึงยังทำไม่สำเร็จนะ

เพราะเรามองเป้าหมายราวกับ ‘คำอวยพร’ ที่อยากให้เกิดขึ้นจริงยังไงล่ะ!

ฝึกยอมรับความลำบากที่มากับความปรารถนา

‘อยากหุ่นดี’ ‘อยากมีสุขภาพดี’ ‘ฉลาดรอบรู้’ และ ‘พูดภาษาที่ 3 ได้’ เราเขียนเป้าหมายราวกับกำลังอวยพรต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขอให้สิ่งนี้เป็นจริงอยู่ เราวาดภาพฝันอย่างงดงามว่าหากสิ่งนี้เกิดขึ้นจริงเราจะมีความสุขแค่ไหน โดยลืมไปว่าเส้นทางในการเดินทางไปถึงเป้าหมายนั้นไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด

จริงอยู่ การจินตนาการถึงภาพความสำเร็จ (Visualization) ช่วยให้เรามีกำลังใจในการไปถึงฝั่งฝัน แต่ถ้าเราอยากจะทำตามเป้าหมายให้ได้จริงๆ ต้องนึกถึง ‘ขั้นตอน’ และ ‘ความลำบาก’ ที่มาพร้อมกันด้วย

เจน คอสตัน ผู้เขียนบทความเรื่อง Don’t Tell Me You Already Gave Up on Your Resolutions! บนเว็บไซต์ New York Times บอกว่า วิธีที่จะช่วยได้คือลองจินตนาการถึง “การย้ายเมือง” ดู


การย้ายที่อยู่ใหม่เป็นไอเดียที่น่าตื่นเต้นเสมอ แต่ขั้นตอนการย้ายนั้นลำบากและน่ารำคาญเสียเหลือเกิน เราต้องเก็บของทุกอย่างใส่กล่อง ต้องแยกประเภทให้ดีถ้าไม่อยากลำบากตอนแกะ และขนของพวกนี้ไปยังบ้านหลังใหม่ แต่ความวุ่นวายยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น เราต้องคอยแจ้งย้ายที่อยู่ เรียนรู้ย่านใหม่ว่าอะไรอยู่ตรงไหน ร้านสะดวกซื้ออยู่ตรงไหน และร้านอาหารร้านไหนบ้างที่อร่อย ต้องยอมรับว่าในช่วงแรกของการย้ายที่อยู่ไม่ง่ายเลย แต่ไม่นานเราก็จะชินกับมัน

พฤติกรรมใหม่ๆ ก็เช่นกัน

เจนเองก็เป็นหนึ่งคนที่มีเป้าหมาย ซึ่งก็คือการลดน้ำหนัก แต่การจะเปลี่ยนพฤติกรรมการกินทันทีหรือออกกำลังกายบ่อยขึ้นมาทันใดนั้นไม่ง่าย เธอพยายาม ล้มเลิก พยายามอีกครั้ง และล้มเลิกอีกครั้ง วนไปวนมาเช่นนี้อยู่หลายปี อีกทั้งยังต้องถูกกดดันจากความไม่มั่นใจในรูปร่างและความรู้สึกผิดเวลากินอีก

แต่ทุกอย่างได้เปลี่ยนไปเมื่อเจนได้ตั้งใจย้ายตัวเองทีละเล็กละน้อยจากเมือง ‘เจนคนเดิม’ ไปยัง เมือง ‘เจนคนใหม่’ เรามาดูกันดีกว่าว่าเธอทำอย่างไรถึงก้าวผ่านความลำบาก และเป็นตัวเองในแบบที่เธอต้องการจนได้

1) เคลียร์พื้นที่รอบตัวและความคิดในหัวก่อนเริ่ม

ลองแบ่งขั้นตอนในการไปสู่เป้าหมายของเราออกมา จากนั้นก็มาดูกันว่ามีขั้นตอนใดบ้างที่ยากที่สุด (หรือขั้นตอนที่เราพลาดง่ายที่สุด) เราจะทำอย่างไรในการกำจัดอุปสรรคและช่วยให้เราข้ามขั้นตอนนั้นไปได้อย่างราบรื่น

ยกตัวอย่างเช่น หากเราเป็นคนชอบดื่มและเรามักจะดื่มในช่วงเย็นๆ หลักเลิกงาน พร้อมๆ กับการทานอาหารเย็นและดูทีวี เราอาจดัดนิสัยตัวเองโดยการปรับสภาพแวดล้อม กำจัดเครื่องดื่มมึนเมาออกจากบ้านให้หมด

หากเราอยากเลิกดื่มจริงๆ แทนที่เราจะพูดว่า ‘ปีนี้จะดื่มให้น้อยลง’ ลองหลอกสมอง ปรับความคิดใหม่ว่าตัวเองได้ย้ายมายังเมืองที่ชื่อ ‘ฉันไม่ดื่ม’ แล้ว เมืองใหม่ที่เราอยู่นี้เองจะคอยกำกับการกระทำของเรา แล้วเราจะรู้เองว่าการกระทำไหนนั้นไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เราเป็นตอนนี้ (เช่น การไปบาร์ทุกวัน หรือการตุนไวน์ไว้เต็มบ้าน)

Advertisements

2) ปรับเป้าหมายให้ ‘พอดีคำ’

ในการวางขั้นตอนไปสู่เป้าหมาย ให้เริ่มจากสิ่งเล็กๆ ที่สุดที่เราทำได้ก่อน หากเริ่มใหญ่เกินไปเราคงเหนื่อยและถอดใจเร็ว แบบนั้นคงไม่ดีนักใช่ไหม

เริ่มจากเล็กที่สุด ทำจนเป็นนิสัยแล้วค่อยเพิ่มไปทีละเล็กทีละน้อย แต่จะเพิ่มครั้งละเท่าไหร่นั้น ให้ลองพิจารณาตัวเราเองให้ดีเสียก่อนว่าขีดจำกัดของเราคือเท่าไหน ทำเท่าไหร่ถึง ‘พอดี’ สำหรับเรา และเท่าไหร่คือมากเกินไปจนเราอาจขี้เกียจลุกขึ้นมาทำ

คำนึงไว้เสมอว่าแผนที่เราวางไว้นั้นเพื่อให้เราทำ ไม่ใช่ให้ใครที่ไหน ดังนั้นเราต้องทำได้จริงด้วย

Advertisements

3) ให้รางวัลตัวเองหากทำสิ่งที่ตั้งใน New Year’s Resolutions สำเร็จ

หากวันนี้ทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ ลองให้รางวัลตัวเองดูเพื่อสร้างความรู้สึกดีและทำให้เราอยากทำสิ่งนั้นอีกในวันต่อๆ ไป ถ้าการให้รางวัลตัวเองทุกวันเป็นเรื่องยาก เราอาจจะให้รางวัลตัวเองก้อนใหญ่รายสัปดาห์หรือรายเดือนก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่เราพยายามงดดื่ม หากเราทำได้ครบ 1 เดือน นำเงินที่ปกติเราเอาไว้จ่ายค่าดื่มไปซื้อของดีๆ สักอย่างเป็นของตอบแทนให้ตัวเองดู

นักกีฬายังมีเหรียญรางวัลเมื่อทำสำเร็จ เราก็ต้องให้รางวัลตัวเองบ้าง จริงไหม

4) บอกตัวเองว่าเราเริ่มใหม่ได้เสมอ

เราทุกคนมีวันที่เหนื่อยบ้าง หากจะพักสักวันก็ไม่เป็นไร บอกตัวเองว่าเราเริ่มใหม่ได้เสมอในวันพรุ่งนี้ อย่างไรก็ตาม! หากกลัวว่าเราอาจเผลอผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ วิธีที่จะช่วยให้เราลุกขึ้นมาทำต่อได้อย่างรวดเร็วคือ ‘การทำเล็กๆ’

เวลาตั้งเป้าใหญ่ๆ แล้วทำพลาดแค่วันเดียว เรามักจะรู้สึกแย่กับตัวเองมากๆ และกว่าจะลุกขึ้นมาสู้ต่อก็ใช้เวลาฮึบอยู่นาน (ลองจินตนาการว่าเราต้องอ่านหนังสือ 50 หน้าทุกวันดูสิ หากเมื่อวานพลาดและต้องทำใหม่วันนี้เป็นเรื่องน่าคิดหนักไม่น้อยเลย) แต่ถ้าหากเราทำเล็กๆ ทีละนิดคือ หากเราล้มหรือเหนื่อยจนทำไม่ไหว เราจะไม่รู้สึกผิดมาก ฟื้นตัวและทำต่อได้อย่างรวดเร็ว (เช่น การอ่านหนังสือวันละ 5 หน้า)

กลับมาที่ผู้เขียนบ้าง หลังจากล้มเหลวอยู่หลายครั้ง เธอก็เริ่มใหม่ แต่ครั้งนี้เธอเริ่มจากการทำสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุด แต่ส่งผลกระทบพอควร นั่นก็คือ การจดบันทึกทุกสิ่งที่กิน

เพียงแค่สละเวลาไม่กี่นาทีต่อวันมานั่งบันทึกว่าทานอะไรไปบ้าง แรกๆ อาจจะรำคาญใจอยู่บ้าง แต่เธอก็บอกตัวเองซ้ำๆ ว่าเธอย้ายมาอยู่เมือง ‘ฉันจดบันทึกการกินทุกวัน’ และเธอต้องทำมัน จนเวลาผ่านไป การจดบันทึกกลายเป็นเรื่องน่ารำคาญน้อยลง มันกลายสิ่งที่เธอทำโดยอัตโนมัติหลังจากทานอาหาร และที่สำคัญ เธอมีสติในการเลือกสิ่งที่จะกินมากขึ้น

รู้ตัวอีกทีเธอก็จดบันทึกการกินมา 3 ปี 8 เดือน 1 สัปดาห์กับอีก 4 วันแล้ว แถมยังได้หุ่นที่พึงพอใจมาเป็นของแถมด้วย

แม้จังหวะที่เราเขียนปณิธานปีใหม่จะน่าตื่นเต้นและเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจแค่ไหน แต่การเลิกพฤติกรรมเดิมๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย อย่างไรก็ตาม ถ้าหากปีนี้ใครได้ตั้งเป้าหมายไว้แล้ว ลองลงมือทำดู อาจเริ่มด้วยการเคลียร์สภาพแวดล้อม ปรับกรอบความคิด และวางแผนให้เหมาะสมกับตัวเอง เหมือนที่บทความได้เสนอไว้

อย่าเพิ่งถอดใจ ให้โอกาสตัวเองได้เริ่ม ได้ล้ม และได้เริ่มใหม่
มาทำเป้าหมายของเราให้สำเร็จไปพร้อมๆ กันนะ


อ้างอิง:
https://nyti.ms/3JUyCPi

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#selfimprovement

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่