วิธีเล่นของผู้ชนะในเกมธุรกิจยุค Digital

2027
รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock.com
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • จากการไปสำรวจผู้บริหารมากกว่า 1,500 คน Mckinsey ก็ได้ข้อสรุปว่า บริษัทที่มี digital leader จะสามารถขับเคลื่อนองค์กรได้เร็วกว่าคนอื่นๆ ถึง 4 เท่า!
  • 5 เรื่องควรทำขององค์กรที่ต้องการจะเป็นผู้เล่นที่ดีในยุค Digital
  • 1. วิเคราะห์และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (บ่อยๆ)
  • 2. ผู้บริหารระดับสูงต้องให้เวลาในการศึกษาเทคโนโลยีใหม่ๆ
  • 3. สร้าง – วัดผล – เรียนรู้ – “แชร์”
  • 4. ปรับกระบวนการต่างๆ ต้องถูกเร่งให้เร็วขึ้น
  • 5. ระบุเช็คลิสสิ่งที่องค์กรควรทำให้ชัดเจน

ผมได้อ่านบทความหนึ่งจาก Mckinsey quarterly ชื่อบทความว่า The drumbeat of digital: How winning teams play เป็นบทความที่น่าสนใจมากครับ ในบทความเขาพูดถึงความเป็น “digital leader” (ผู้นำในยุคดิจิทัล) กับ “digital team” (ทีมในยุคดิจิทัล) หรือพูดง่ายๆ ก็คือคนที่ทำ digital transformation แล้วเวิร์ค

จากการไปสำรวจผู้บริหารมากกว่า 1,500 คน ของ Mckinsey เขาก็ได้ข้อสรุปออกมาว่า บริษัทที่มี digital leader จะสามารถขับเคลื่อนองค์กรได้เร็วกว่าคนอื่นๆ ถึง 4 เท่า!

ในบทความนี้ผมเลยขอหยิบประเด็นที่น่าสนใจจากบทความของ Mckinsey มาย่อยให้อ่านกันครับ

Advertisements

วิเคราะห์และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (บ่อยๆ)

คำถามสำคัญที่ต้องถามในเรื่องนี้ก็คือ องค์กรของเราเอาข้อมูลของลูกค้ามาวิเคราะห์บ่อยแค่ไหน แล้วก็ไม่ใช่แค่วิเคราะห์เฉยๆ นะครับ วิเคราะห์แล้วก็ต้องหาทางพัฒนาให้ดีขึ้น สร้างความพึงพอใจของลูกค้าให้มากขึ้น (delighting your customers)

ผู้บริหารระดับสูงต้องให้เวลาในการศึกษาเทคโนโลยีใหม่ๆ

ผู้บริหารที่มีอำนาจในการตัดสินใจต่างๆ ต้องแบ่งเวลาในการศึกษาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตัวเอง ต้องกลับมาทบทวนว่าตอนนี้เทคโนโลยีใหม่ๆ มันมีอะไรบ้าง แล้วมันเกี่ยวข้องกับธุรกิจของเราอย่างไร อย่าคิดว่าถ้ามีมาใหม่เมื่อไหร่ก็จะมีคนเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาเสิร์ฟให้คุณเองถึงออฟฟิศ ผู้บริหารหลายคนอาจจะคิดแบบนั้น ต้องบอกว่ามันอาจจะจริงอยู่บางแต่ก็ไม่เสมอไปนะครับ บางทีก็มีของใหม่ๆ ดีๆ ที่เราก็เองไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันมี ปล่อยให้บริษัททนใช้ของเก่าที่ทั้งห่วยและแพงอยู่ ทั้งๆ ที่มันมีของใหม่ที่ดีกว่าเยอะ เพียงแค่ว่าเราไม่รู้จักมันเท่านั้นเอง

อย่างในแต่ก่อนเรื่องของเทคโนโลยี เราอาจจะมีการเรียนรู้หรือมารีวิวกันว่ามีเทคโนโลยีอะไรใหม่ๆ บ้าง ที่เกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบต่อธุรกิจของเรา ในทุกๆ ไตรมาส แบบนี้ก็ถือว่าบ่อยแล้วใช่ไหมครับ แต่ mckinsey บอกว่าตอนนี้ควรทำทุกเดือน

สร้าง – วัดผล – เรียนรู้ – “แชร์”

กระบวนการในทำงานยุคนี้สิ่งที่เราทำกันเยอะๆ เลยก็คือ “Rapid Prototype” (การสร้างสินค้าต้นแบบอย่างรวดเร็ว) หรือ “Build – Measure – Learn” (สร้าง-วัดผล-เรียนรู้) แต่เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับว่าเราทดลองกันบ่อยแค่ไหน หรือทำสินค้าใหม่ๆ ด้วยการสร้างต้นแบบอย่างรวดเร็วถี่แค่ไหน แต่คำถามของเรื่องนี้คือ หลังจากทำกระบวนการเหล่านี้เสร็จแล้ว เราได้เอาสิ่งที่เราเรียนรู้ มาแชร์หรือแบ่งปันให้กับคนอื่นๆ ในองค์กรหรือเปล่า เพราะถ้าเกิดทำกันอยู่แต่ในทีมเล็กๆ มันก็เป็นประโยชน์แค่ในทีมเล็กๆ แต่การทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึง “ชุดความรู้ที่เกิดจากกระบวนการ” ต่างหากที่เป็นสิ่งสำคัญ เพราะทุกคนในองค์กรจะได้เรียนรู้ไปด้วยกัน

กระบวนการเรียนรู้ หรือ Learning ถือว่าเป็นแก่นที่สำคัญมากๆ สำหรับบริษัทที่ประสบความสำเร็จ

10 กระบวนการที่ถูกเร่งให้เร็วขึ้น

  1. ใช้ข้อมูลจากหลากหลายแหล่งเพื่อวิเคราะห์หาความต้องการที่หลบซ่อนอยู่ของลูกค้า : จาก รายเดือน เป็น รายสัปดาห์
  2. ผู้บริหารระดับสูงต้องจัดสรรเวลามาเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตัวเอง : จาก รายไตรมาส เป็น รายเดือน
  3. แชร์ข้อมูลต่างๆ ในระดับองค์กร : จาก รายไตรมาส เป็น รายเดือน
  4. ปรับโมเดลธุรกิจให้สอดคล้องกับโอกาสในโลกยุค Digital : จาก รายปี เป็น รายไตรมาส
  5. ปรับผัง – หมุนเวียน บุคลากรด้าน Digital ในแต่ละแผนก : จาก รายปี เป็น รายไตรมาส
  6. ใช้เวลาคิดทบทวนถึงเหตุการณ์ต่างๆ ว่ามีอะไรบ้างที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ : จาก รายปี เป็น รายไตรมาส
  7. ประเมินพอร์ตโฟลิโอของธุรกิจว่าจะ เพิ่ม – ลด – รวม อะไรได้บ้างเพื่อเพิ่มโอกาสในยุค Digital : จาก รายปี เป็น รายไตรมาส
  8. ประเมินโครงสร้างกำไรโดยพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลง ทั้งจากลูกค้าและคู่แข่ง : จาก รายปี เป็น รายไตรมาส
  9. การจัดสรรเงินลงทุน/ทรัพยากร ในธุรกิจ : จาก รายปี เป็น รายไตรมาส
  10. พิจารณาการตัดงบ/โยกย้ายทรัพยากร ของโปรเจกต์ที่ไม่เวิร์ค : จาก รายปี เป็น รายไตรมาส
businessman in small car fast
รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock.com

เราจะเห็นได้ว่าทุกอย่างถูกเร่งให้เร็วขึ้นทั้งหมด เรื่องนี้มีความสำคัญมาก เพราะถ้าหากเราไม่ทำแต่คู่แข่งเราทำ สิ่งที่เขาได้ไปจะไม่ใช่แค่ลูกค้าและเงินเท่านั้น แต่เขาจะมี “Data” (ข้อมูล) มากกว่าเราด้วย ซึ่งตัวข้อมูลนี่ล่ะ ที่อาจจะเป็นตัวตัดสินในเกมนี้เลยก็ว่าได้ ว่าใครจะเป็นผู้แพ้หรือผู้ชนะ

ดังนั้นถ้าพูดกันถึงเรื่องของ “Data” แต่ก่อนเราอาจจะเอามาวิเคราะห์กันเป็นรายเดือน แต่ทุกวันนี้ควรจะต้องทำกัน “รายสัปดาห์หรือบางทีต้องทำเป็นรายวันเลย” ด้วยซ้ำ

ถ้ามองดูอย่างผิวเผินกระบวนการเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นการเพิ่มงาน แต่จริงๆ แล้วไม่เลย แถมยังช่วยลดงานได้อีกตั้งหาก เพราะคนทำงานได้ทบทวนตัวเองตลอดเวลา ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ทำให้สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ฉะนั้นในระยะยาวแล้วกระบวนการเหล่านี้มันจะช่วย “ลดงาน”

Advertisements

นอกจากกระบวนการต่างๆ ที่ถูกปรับให้เร็วขึ้นแล้ว เรื่องของการ “แชร์” ไม่ว่าจะทั้ง ทรัพยากร, ข้อมูล, การทดสอบ-ทดลองสมมติฐาน ก็เป็นเรื่องที่ควรจะทำกันเป็นรายสัปดาห์ ทุกๆ สิ้นสัปดาห์ ทุกทีมควรจะเขียนสรุปว่าตัวเองได้ทำอะไร และเรียนรู้อะไรบ้างจากการทำงานในสัปดาห์ที่ผ่านมา

หากเราสามารถปรับการทำงานให้เป็นแบบนี้ได้ มันจะทำให้เกิดสองสิ่งนี้ขึ้นครับ

  1. ลดเรื่องของ Silo (ไซโล – คือการทำงานแบบ แผนกใคร แผนกมัน)
  2. ทุกคนในองค์กรจะได้ “โฟกัสไปที่ลูกค้า ไม่ใช่ในไซโลของตัวเอง”

เช็คลิสที่องค์กรควรมี เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

1. เรียนรู้เรื่อง Digital ตลอดเวลา

ผู้บริหารควรจะต้องรู้ความเป็นไปของเทคโนโลยีต่างๆ และควรที่จะต้องเข้าใจในเชิงลึกด้วย ไม่ใช่รู้แค่ผ่านๆ แต่ต้องเข้าใจให้ได้ว่าเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้ จะสามารถนำมาปรับใช้ใน องค์กร – ในการทำงาน ได้อย่างไร

2. แชร์ข้อมูลเชิงลึกด้วยความเร็วเดียวกับ Digital

แน่นอนว่าไม่ใช่แค่การทำรายงาน 20 หน้า แล้วส่งไปให้กับคนทั้งบริษัท (ซึ่งก็ไม่มีคนอ่านอยู่ดี) แต่มันควรจะเป็น “ข้อมูลที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้ง่าย ไม่ซับซ้อน”

3. จัดสรร – หมุนเวียน คนที่มีความสามารถด้าน Digital

ทำให้กลุ่มคนนี้มีความคล่องตัวสูง และสามารถที่จะปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว เพื่อทำให้เขาได้เห็นปัญหา จากหลายๆ แผนก สามารถเอาเรื่องที่เรียนรู้มาจากแผนกอื่นๆ มาปรับใช้ในการแก้ปัญหาให้กับแผนกอื่นๆ ได้

4. การจัดสรรทรัพยากรต้องยืดหยุ่น

แต่ก่อนเราอาจจะแบ่งงบกันเรียบร้อยตั้งแต่ต้นปี ทำให้คนส่วนใหญ่ลังเลมากที่จะต้องย้ายเงินจากแผนกหนึ่งไปยังอีกแผนกหนึ่ง เพราะกลัวแผนกที่ถูกตัดงบหรือดึงทรัพยากรออกไปรู้สึกแย่ เรื่องนี้สามารถทำให้ทุกคนสบายใจได้ด้วยการ “ทำทุกอย่างให้โปร่งใส” ต้องอธิบายกับทุกคนได้ว่าทำไมถึงต้องมีการโยกย้ายทรัพยากร “จัดสรรใหม่ได้ แต่ทุกอย่างต้องโปร่งใส”

5. ต้องเปลี่ยนวัฒธรรมองค์กร

ต้องให้ทุกคนในองค์กรเข้าใจถึงสถานการณ์ว่า ทำไมเราถึงต้องปรับความเร็วให้สูงขึ้นแบบนี้ ทำไมเราถึงต้องเปลี่ยนแปลง ทุกคนในองค์กรต้องเข้าใจให้ได้ว่า “เราจะเร็วไปทำไม”


สิ่งที่ผมอยากจะบอกทิ้งท้ายกับทุกคนก็คือ บนโลกใบนี้มีความจริงอยู่ข้อหนึ่งคือ… “ไม่ว่าคุณกับธุรกิจของคุณจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ก็ตาม แต่โลกจะต้องถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน” เพราะฉะนั้นถ้าคุณเปลี่ยนก่อน คุณก็มีโอกาสเป็นคนที่เปลี่ยนโลก แต่ถ้าคุณไม่เปลี่ยนโลกจะเปลี่ยนคุณ

Source: https://www.mckinsey.com/business-functions/digital-mckinsey/our-insights/the-drumbeat-of-digital-how-winning-teams-play

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่