จะเป็นหัวหน้าในยุคนี้ได้ยังไง

8769
รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock.com
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • เข้าใจบทบาทของหัวหน้าจาก สั่งการและควบคุม เป็น อำนวยความสะดวก
  • สำคัญที่สุดคือ “ทำไม” สำคัญรองลงมาคือ “อะไร” สำคัญน้อยสุด “ทำยังไง”
  • เข้าใจหน้าที่ของหัวหน้าว่ามีหน้าที่ในการกำจัดอุปสรรคให้กับลูกน้อง
  • ต้องหาจุดสมดุลของ กรอบ และ อิสรภาพ
  • ให้ทุกคนเข้าใจ ความคาดหวัง, เส้นทางการเติบโต และ เป้าหมาย ของตัวเอง
  • ให้ทุกคนเห็นว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่นั้นจะสนับสนุนเป้าหมายใหญ่ขององค์กรได้อย่างไร
  • ไม่มีใครเก่งเกินจะขอความช่วยเหลือจากคนอื่น

ทีม : อิสระ, กรอบ และ การอำนวยความสะดวก

ผมเขียนเรื่องนี้จากชีวิตจริงเลยครับ ในชีวิตการทำงานหลายปีของผม ผมได้เรียนรู้เรื่องการเป็นหัวหน้าที่ ”ไม่ดี” เยอะมากครับ ตั้งแต่เหวี่ยง วีน ลำเอียง ชอบโทษคนอื่น ชอบแทรกแซงงานของลูกน้อง ฯลฯ

แต่ผมคิดว่าหลังจากเริ่มรู้จักกับคำว่า Feedback หรือถ้าจะให้พูดเป็นภาษาไทยก็ คือ “ข้อเสนอแนะ” เรื่องเหล่านี้ก็เริ่มดีขึ้นครับ เพราะสิ่งนี้เองที่ทำให้ผมเริ่มเห็นข้อเสียของตัวเองจริงๆจังๆ แม้จะยังแก้ไขไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ยังเริ่มมีแผนที่จะแก้ครับ

ทุกวันนี้ผมมีลูกน้องแค่สองร้อยกว่าคน ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับซีอีโอคนอื่น แต่แค่นี้วันๆนึงผมก็หมดไปกับความพยายามในการทำให้ทุกคนมีความสุขในการทำงานมากที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว และต้องบอกว่างานนี้ยากจริงๆ และส่วนตัวยังมีอะไรต้องแก้ไขอีกเยอะ

Advertisements

ถึงวันนี้จะยังแก้ได้ไม่หมด แต่ผมเริ่มเห็นแนวทางแล้วว่าเราจะสามารถบริหารทีมให้ดีได้อย่างไร เลยอยากเขียนบันทึกไว้ให้ตัวเองหน่อย สรุปไว้ได้ 6 ข้อตามนี้ครับ

1. เข้าใจบทบาทของหัวหน้าจาก สั่งการและควบคุม (Command and Control) เป็น อำนวยความสะดวก (Facilitator) :

ในอดีตเมื่อนานมาแล้วหัวหน้ามีหน้าที่สั่งการและควบคุมให้งานเป็นไปได้ตามมาตรฐาน แต่การบริหารยุคใหม่ที่เอาจริงๆแล้วคนที่รับผิดชอบงานนั้นส่วนใหญ่ทำงานได้ดีกว่าตัวหัวหน้าอีก หัวหน้าจึงเปลี่ยนหน้าที่จากสั่งการและควบคุม (Command and Control) เป็นการอำนวยความสะดวก (Facilitate) ให้ทีมสามารถทำงานได้ดีที่สุด ซึ่งนั่นหมายถึงการพยายามผลักดันอำนาจทั้งหลายลงไปที่ทีมงานมากกว่าจะเก็บไว้ที่ตัว

2. สำคัญที่สุดคือ “ทำไม” สำคัญรองลงมาคือ “อะไร” สำคัญน้อยสุด “ทำยังไง” :

อันนี้จริงๆก็ต่อมาจากข้อแรกเลยครับ เวลาจะคุยกับทีมถ้าอยากได้งานที่ดีต้องบอกเสมอเลยว่าทำไปทำไม (Why) แล้วค่อยบอกว่าผลที่ต้องการหรือทรัพยากรที่มีคืออะไร ข้อจำกัดมีอะไร (What) ส่วนเรื่องว่าทำยังไง (How)​ ให้ทีมไปคิดกันเอาเองเลยครับ

3. เข้าใจหน้าที่ของหัวหน้าว่ามีหน้าที่ในการกำจัดอุปสรรคให้กับลูกน้อง ​:

อันนี้จะคล้ายๆกับ การอำนวยความสะดวก แต่จะมีความยากกว่า เพราะ “อุปสรรค” เหล่านี้มักไม่ใช่ของธรรมดา ของพวกนี้มักจะแก้ปัญหาโดยหนทางปรกติไม่ได้ แต่ต้องใช้บุญบารมีหรือความเก๋าในสนามธุรกิจของหัวหน้าที่สะสมกันมาในการเคลียร์ อย่างไรก็ดีต้องทำความเข้าใจกับทีมงานด้วยว่า ของพวกนี้ใช้บ่อยไม่ดี เพราะตัวหัวหน้าเองนี่ต้องติดบุญคุณคนอื่นในการเอาอุปสรรคออกไป ซึ่งบุญคุณนี่ราคาแพงมาก

Advertisements

4. ต้องหาจุดสมดุลของ กรอบ (Frame) และ อิสรภาพ (Freedom) :

การให้อิสระมากไปก็ไม่ดี ควบคุมเกินไปก็ไม่ดี เพราะให้อิสระมากไปจะดูไร้ทิศทาง แบบนี้เรียกว่า “การบริหารแบบภาพรวม” (Macro Management) คือไม่มีกรอบอะไรเลยจนบางทีดูเหมือนจะไร้ทิศทาง ส่วนควบคุมเกินไปก็เป็น “การบริหารแบบลงรายละเอียด” (Micro Management) ซึ่งก็ไม่ดีอีก ที่ดีคือ การบริหารจัดการที่ดี (Good Management) ซึ่งอยู่ระหว่างการบริหาร แบบภาพรวม กับ แบบลงรายละเอียด ซึ่งทั้งสามจุดนี้มีเพียงเส้นบางๆคั่นกันอยู่ แค่ขยับผิดนิดเดียว การบริหารที่ดีก็กลายเป็นการบริหารแบบลงรายละเอียดไปได้ง่ายๆ

การหาจุดสมดุลย์ของ กรอบ (Frame) และ อิสรภาพ (Freedom) เป็นศาสตร์และศิลป์ที่ต้องฝึกซ้อมกันไป

5. ให้ทุกคนเข้าใจ ความคาดหวัง, เส้นทางการเติบโต และ เป้าหมาย ของตัวเอง :

อันนี้โคตรยากเลย แต่ตอนนี้ผมกำลังทำ คู่มือองค์กร (Corporate Handbook) แบบที่เขียนละเอียดลึกๆเลยว่า แต่ละตำแหน่งต้องการคนแบบไหนต้องทำอะไรได้บ้าง แต่คู่มือที่สุดแล้วก็คือคู่มือ การอธิบายให้แต่ละคนเข้าใจทั้ง ความคาดหวัง (Expectation) และ เส้นทางการเติบโตสายงาน (Career Path) นั้นต้องทำทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการควบคู่กันไป ตลอดหลายๆช่วงของการทำงาน

6. ให้ทุกคนเห็นว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่นั้นจะสนับสนุนเป้าหมายใหญ่ขององค์กรได้อย่างไร

อันนี้ก็ยากแต่ง่ายกว่าข้อ 5 นิดนึง ก่อนจะให้เห็นภาพใหญ่ๆ จริงๆต้องให้แน่ใจก่อนว่า ภาพเล็กๆของทุกคนนั้นต่อกันแล้วเป็นภาพใหญ่จริงๆ โดยพูดง่ายๆคือ ถ้าจะต่อจิ๊กซอว์ให้สมบูรณ์ ชิ้นส่วนต้องครบ และต้องรู้ว่าใครถือตัวไหนไว้บ้าง ถ้าตัวต่อไม่ครบ พูดภาพใหญ่ไปยังไงก็ไม่มีคนเข้าใจอยู่ดี ถ้าแน่ใจเรื่องภาพเล็กแล้ว เครื่องมือพวก OKRs ก็พอจะช่วยต่อภาพเล็กๆให้เป็นภาพใหญ่ได้

7. ไม่มีใครเก่งเกินจะขอความช่วยเหลือจากคนอื่น

ไม่ว่าคุณจะมีตำแหน่งใหญ่โตแค่ไหน จะมีลูกน้องกี่ร้อย กี่พัน กี่หมื่นคน ความจริงก็คือคุณยังเป็นมนุษย์อยู่ และคุณก็ล้มได้ พลาดได้ และบางจังหวะของชีวิต การเอ่ยปากขอความช่วยเหลือก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียหน้าแต่อย่างใด

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่