วัฒนธรรมแห่งความ ‘ยุ่ง’ เพราะความยุ่งทำให้เราดูขยัน หรือเป็นเพียงคำอ้างเพื่อปฏิเสธคนอื่น?

1064
ความยุ่ง

“ไม่ว่าง ยุ่งอยู่”

เชื่อว่าหลายๆ คนคงเจอคนที่ชอบบอกว่าตัวเอง “ยุ่ง” อยู่ตลอด ที่ไม่ว่าเราจะถามเวลาไหนเมื่อไร ก็จะได้รับคำตอบเดิมๆ กลับมาอยู่ตลอด บางทีก็ทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่าเขายุ่งอยู่จริงหรือเปล่าหรือแค่อ้างไปอย่างนั้น

พอลองหันกลับมามองวัฒนธรรมการทำงานในปัจจุบัน มันก็จะมีชุดความเชื่อหนึ่งที่ทำให้เราหลายๆ คนคิดว่า ‘เราจะต้องยุ่งตลอดเวลา’ เพราะมันเป็นสิ่งที่สื่อว่าเราขยันและโปรดักทีฟมากแค่ไหน 

Advertisements

แต่ลองหันกลับมามองตัวเองดีๆ ว่าเรานั้นยุ่งจริงหรือ? หรือเรากำลังบอกว่าตัวเองยุ่ง แต่อีกทางหนึ่งเราก็นั่งกดโทรศัพท์ขณะกำลังประชุมหรือทำงานหลายอย่างพร้อมกันโดยไม่ให้ความสนใจกับสิ่งใดเลย 

หรือจริงๆ แล้วเราไม่ได้ยุ่งอย่างที่คิด แต่เราแค่พูดไปอย่างนั้น แล้วอะไรล่ะคือเหตุผลที่ทำให้เราพูดเช่นนั้น? มาลองทำความเข้าใจคำว่า ‘ยุ่ง’ ของตัวเองกันอีกที

ความเข้าใจผิดๆ ที่ว่า ยุ่ง = มีคุณค่า

J Christine Kim ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการตลาดที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกงในเกาลูน กล่าวว่า “เมื่อมีคนพูดว่าตัวเองกำลังยุ่ง มันทำให้พวกเขารู้สึกว่าชีวิตของพวกเขาสำคัญ และการปรากฏตัวของพวกเขามีความสำคัญต่อคนรอบข้าง” เราคิดว่าการทำตัวยุ่งทำให้ตัวเองมีค่า ไม่ว่าจะเป็นกับเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน ครอบครัวหรือเพื่อนก็ตาม เราจะเห็นว่าเวลาของตนเองสำคัญที่สุดเสมอ ความคิดเช่นนี้จะเป็นข้ออ้างที่ทำให้เราไม่ให้ความสำคัญกับผู้อื่นและผิดสัญญาในที่สุด

นอกจากนี้ Ed Baldwin นักยุทธศาสตร์และที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลในเดนเวอร์ โคโลราโด อธิบายว่า “การที่คุณมองว่าตัวเองยุ่งแค่ไหน ไม่ได้แปลว่าคุณมีประสิทธิภาพในการทำงาน แต่มันสื่อว่าคุณไม่ได้จัดลำดับความสำคัญเวลาของตัวเองเลย” 

ยุ่ง ไม่มีเวลาว่าง นี่แหละดี

Silvia Bellezza ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการตลาดที่ Columbia Business School ในนิวยอร์ก ผู้เขียนร่วมของรายงานการวิจัย Conspicuous Consumption of Time กล่าวว่า ความยุ่งวุ่นวายและขาดเวลาว่างได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการทำงานแล้ว เธอยังกล่าวอีกว่า ในอดีตจนถึงช่วงทศวรรษ 1960 การใช้ชีวิตแบบสบายๆ ถูกมองว่าเป็นเครื่องบ่งชี้ความมั่งคั่งและความสำเร็จ แต่วันนี้กลับตรงกันข้าม นายจ้างมองหาผู้สมัครที่ดีที่สุด และคนที่ดูยุ่งตลอดเวลาจะถูกมองว่าเป็นคุณลักษณะที่ดี

ทว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยากล่าวว่า การแสดงออกว่าเราไม่ว่างอย่างการพูดว่า “ยุ่ง” ไม่สามารถสร้างความประทับใจให้กับผู้ฟังได้ และไม่ได้แสดงให้เห็นว่าเราเก่งหรือมีความสามารถแต่อย่างใด แต่กลับเป็นตัวทำลายการงานและความสัมพันธ์ระหว่างเรากับผู้ฟัง 

คำว่า “ยุ่ง” เป็นการบอกอ้อมๆ ว่าเราไม่สามารถทำสิ่งที่เขาอยากให้ทำ หรือไม่สามารถมีเวลากับสิ่งสิ่งนั้นได้ แต่เมื่อมันถูกใช้บ่อยจนเกินความจำเป็นโดยที่บางครั้งเราไม่รู้ตัว ความหมายที่สื่อให้คนฟังเข้าใจกลับไม่ใช่แบบนั้น เขาจะเข้าใจว่า “งานที่เราทำ สำคัญกว่างานของเขา” 

มันจะทำให้คนฟังเข้าใจและเห็นใจเราก็ต่อเมื่อใช้มันอย่างถูกเวลาและสถานการณ์ และจะดียิ่งกว่าถ้าเราจะเปลี่ยนคำพูดที่ใช้บ่อยจนแทบไม่มีความหมายไปเป็นคำพูดที่น่าฟังและสร้างสรรค์ในเวลาที่เรายุ่งจริงๆ 

โดยสิ่งที่ควรทำอย่างแรกคือ การลำดับความสำคัญให้ชัดเจนว่าอะไรเร่งด่วน หลังจากนั้น เลือกใช้คำพูดอย่างชัดเจนและนุ่มนวลว่าเราไม่สามารถทำทุกอย่างให้กับทุกคนหรือทำทุกอย่างในเวลาเดียวกันได้

Advertisements

เราสามารถพูดว่า “คุณอยากให้ฉันทำสิ่งนี้ให้เสร็จก่อนหรือจะให้ช่วยคุณในเรื่องนี้ตอนนี้เลย” การให้ตัวเลือกในคำถามที่มีลำดับความสำคัญกับบุคคลที่ให้งานเรา ส่วนใหญ่พวกเขาจะบอกให้เราทำงานเก่าให้เสร็จก่อน แล้วค่อยมาคุยเรื่องงานใหม่ และครั้งต่อไปเมื่อมีคนถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง ให้ใช้คำถามเช่นนี้ เพื่อถามความต้องการให้แน่ชัดว่าอะไรคือสิ่งที่เร่งด่วนที่สุดในเวลานี้

mm2021

กลุ่มนักวิจัย จาก Harvard Business School ได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับวิธีที่เราปฏิเสธคำเชิญทางสังคมนั้นส่งผลต่อการรับรู้และพฤติกรรมระหว่างบุคคลของเราอย่างไร ในการทดลองหนึ่ง พวกเขาคัดเลือกผู้ใหญ่วัยทำงาน 300 คน และให้พวกเขาพิจารณาสถานการณ์ พวกเขาเพิ่งชวนเพื่อนมาทานอาหารเย็น และเพื่อนคนนั้นปฏิเสธ บางคนบอกว่าเพื่อนของพวกเขาใช้เงินเป็นข้ออ้าง เช่น “ฉันมีเงินไม่พอ” บางคนบอกว่างานยุ่งเป็นข้อแก้ตัวอย่าง “ฉันไม่มีเวลา” และคนอื่นๆ ที่ไม่มีข้อแก้ตัวเลย

จากการทดลองนี้ Grant Donnelly หนึ่งในหัวหน้านักวิจัยของการศึกษานี้สรุปว่า “ผู้เข้าร่วมที่ใช้ข้ออ้างเรื่องเงินนั้นน่าเชื่อถือมากกว่าข้ออ้างเรื่องเวลาหรือไม่มีข้อแก้ตัว”

อย่างที่ Donnelly กล่าวว่าสถานะการเงินที่ถูกใช้เป็นข้อแก้ตัวที่มีประสิทธิภาพมากกว่าที่จะปฏิเสธไปว่า “ไม่มีแรง” หรือ “ไม่มีเวลา” เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ถูกมองว่ามีเหตุผลมากกว่าและเป็นสิ่งที่เหนือการควบคุมมากกว่า เราไม่สามารถที่จะจัดการให้เงินงอกเงยขึ้นมาได้ภายใน 2-3 ชั่วโมงหรือ 1-2 วัน แต่เรื่องของแรงและเวลา เราสามารถที่จะควบคุมและจัดการกับตารางงานของเราเองได้ 

3 วิธีปฏิเสธอย่างไรให้ไม่กระทบต่อความสัมพันธ์ 

1. บอกพวกเขาว่าเรากำลังทำอะไรอยู่

เมื่อเราบอกให้คนอื่นรู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ โดยเน้นไปที่ภาระหน้าที่ที่เราจะต้องทำ การบอกคนอื่นว่าเราทำอะไรมาบ้าง แม้ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับงานก็ตาม จะทำให้คนอื่นรู้จักเราดีขึ้น ในขณะเดียวกันคนเหล่านั้นจะมีโอกาสให้แบ่งปันข้อมูลนั้นกับเราด้วย ซึ่งจุดนี้สามารถช่วยสร้างจุดร่วมในการสื่อสารและไม่ทำให้การปฏิเสธของเรากลายเป็นบทสนทนาอันน่าอึดอัด

2. เสนอเลื่อนนัดออกไปก่อน

วิธีนี้สามารถใช้ได้ผลกับทุกๆ คน ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนงานที่ได้รับเข้ามาใหม่จากหัวหน้า หรือจากการนัดเจอเพื่อนสนิทในขณะที่งานยังไม่เสร็จ โดยสามารถทำได้ง่ายๆ เช่น “อาทิตย์นี้มีโปรเจกต์หลายอย่างที่ฉันยังจัดการไม่เสร็จ เราสามารถเลื่อนไปสัปดาห์หน้าได้หรือไม่” เป็นต้น

3. บอกตามความเป็นจริง

แม้แต่ในสังคมการทำงาน การแสดงความซื่อสัตย์และความจริงใจสามารถทำให้เราเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนได้ เราสามารถปฏิเสธและใช้คำอธิบายที่มีเหตุผลว่า “ฉันไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมได้เพราะฉันมีกำหนดส่งงานชิ้นนี้ ฉันยังทำงานไม่เสร็จและบอกตามตรงว่างานมันค่อนข้างเยอะ จะเป็นไปได้ไหมถ้าฉันจะส่งข้อคิดเห็นของฉันในเช้าวันพรุ่งนี้” สิ่งสำคัญคือเราต้องแสดงให้เห็นว่าเราให้ความสำคัญกับอีกฝ่ายและจริงใจที่จะบอกความจริงกับเขา

อ้างอิง
https://cnb.cx/3m8vEf0
https://bbc.in/3kKPiOx
https://bit.ly/2ZpmmTV

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#psychology
#softskill

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements