Mission to the Moon EP.481: “ความสุข” และ “ความหมาย” ของชีวิตการทำงาน

9956
รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock.com
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • คนเราไม่สามารถมีความสุขกับการทำงานได้ตลอดเวลา ดังนั้นเราจึงควรโฟกัสกับความหมายในการทำงานมากกว่า
  • งานที่ทำให้คุณมีความสุขอาจจะไม่ใช่งานที่มีความหมาย ถ้าหากว่างานนั้นไม่ได้สะท้อนถึงตัวตน ไม่ได้สะท้อนถึงภาพระยะยาวของชีวิต
  • 5 ปัจจัยที่ทำให้ “ความหมาย” กับ “ความสุข” แตกต่างกันได้แก่ 1. ได้ในสิ่งที่ต้องการ 2. ระยะเวลา 3. ปฏิสัมพันธ์กับสังคม 4.ความท้าทายในชีวิต 5. ความเป็นตัวตน

เรื่องที่จะเล่าวันนี้แม้ว่ามันจะดูเป็นเรื่องที่นามธรรมไปสักหน่อย แต่ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจและมีความลึกซึ้งมาก เพราะเมื่อผมอายุมากขึ้น ผมยิ่งค้นหาความแตกต่างระหว่าง “ความสุข” และ “ความหมาย” มากขึ้น และเมื่อเวลาผ่านไปผมก็รู้สึกว่า เริ่มค้นพบความหมายที่น่าสนใจของสองคำนี้มากขึ้น

ผมเอาเค้าโครงเรื่องนี้มาจากบทความชื่อ Why you should stop trying to be happy at work ชื่ออาจจะฟังดูเหมือนว่าเราไม่อยากมีความสุขในที่ทำงานเหรอ แต่ผมว่าสิ่งที่เขาพูดในนี้มันสะท้อนกับความเชื่อของผมมาก คือต้องบอกว่า คำว่า “ความสุข” มันเป็นของที่ประเดี๋ยวประด๋าวมากๆ แต่การทำงานให้มีความสุข รู้สึกมีความหมาย มีคุณค่า มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่จะบอกให้เรามีความสุขกับการทำงานตลอดเวลายิ้มตลอดเวลา มันก็คงจะเป็นไปไม่ได้ใช่ไหมครับ

บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกอย่าง Gallup ได้ไปเก็บข้อมูลมาและพบว่ากว่า 85% ของคนที่ทำงาน ไม่ได้รู้สึก engage กับงาน คือไม่ได้รู้สึกว่างานนี้เป็นงานของฉัน ฉันไม่ได้ภูมิใจในการทำงานนี้ แล้วมันก็ทำให้คนรู้สึกว่างานไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่เป็นส่วนเกินที่จำเป็นจะต้องทำไปอย่างนั้นล่ะ

แต่มีความจริงเรื่องหนึ่งที่เราต้องรู้ก็คือ เราใช้เวลากว่า 90,000 ชั่วโมง ในชีวิตเพื่อทำงาน แล้วถ้าเกิดว่าเรามั่วแต่เอาเวลา 90,000 ชั่วโมงนี้ ไปวิ่งไล่ตามหาความสุขประมาณว่า ฉันต้องสุขตลอด ต้องยิ้มตลอด ผมคิดว่าเราคงไม่เจอสิ่งนั้น

มีนักเขียนท่านหนึ่งชื่อ เอมิลี่ สมิธ (Emily Smith) เธอเขียนหนังสือเล่มหนึ่งที่เล่าว่า เราควรที่จะโฟกัสกับ “ความหมาย” ในการทำงานมากกว่า เพราะความหมายมันอยู่ทนกว่า และเป็นตัวที่ขับเคลื่อนชีวิตของเราไปในทิศทางที่ทำให้เรารู้สึกว่า เรามีชีวิต มีที่ยืนอยู่บนโลกใบนี้ คำว่า “ที่ยืนอยู่บนโลกใบนี้” ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกว่า เราไม่มีที่ยืนอยู่บนโลกนี้ เราจะรู้สึกเคว้งคว้าง

ในบทความเขาได้พูดถึงผลสำรวจชิ้นหนึ่งที่ไปสำรวจคนทำงานกว่า 12,000 คน ที่อยู่ในตลาดแรงงานหลายระดับหลากหลายสาขาอาชีพเขาก็พบว่า คนกว่า 50% รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ค้นพบหรือรู้สึกถึงความหมายของงานที่ทำอยู่เลย

เรื่องที่น่าสนใจอยู่ตรงนี้ครับ มีคนอีกประมาณครึ่งหนึ่งที่ค้นพบความหมายของงานที่ทำ และคนกลุ่มนี้ก็รู้สึกพึงพอใจมากกว่าคนที่หาความหมายของงานที่ทำไม่เจอ มากกว่า 1.7 เท่า (ความพึงพอใจไม่ได้หมายความว่ามีความสุขนะครับ แต่มันคือความรู้สึกว่างานที่ทำอยู่โอเค เราพึงพอใจกับงานนี้) แล้วก็มีส่วนร่วมกับงานสูงกว่า 1.4 เท่า และที่สำคัญที่สุดก็คือมีโอกาสมากกว่าถึง 3 เท่า ที่จะทำงานอยู่ในบริษทนั้นๆ นานกว่า ย้ำอีกครั้งนะครับ ว่า คนเหล่านี้เขาไม่ได้บอกว่าตัวเองมีความสุขนะครับ แต่เขารู้สึกว่างานที่เขาทำอยู่นั้นมีความหมาย

งานที่มีความหมาย

แล้วงานที่มีความหมายมันหมายความว่าอย่างไรล่ะ? สมมติว่าเราได้รับการแต่งตั้งเป็น CEO เราจะรู้สึกว่าเรามีความสุขนะครับ เงินเราก็เยอะ เรามีอำนาจ เรามีของทุกอย่าง แต่สิ่งเหล่านี้มันไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกนะครับ ว่างานของคุณมีความหมาย

ต้องเข้าใจกันก่อนนะครับ ผมไม่ได้บอกว่างานของ CEO ไม่มีความหมาย แต่ผมกำลังจะยกตัวอย่างว่า แม้ว่าคุณจะได้ตำแหน่งที่ใหญ่ที่สุดในองค์กร แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะได้งานที่มีความหมาย งานของคุณอาจจะทำให้คุณรู้สึกมีความสุขในช่วงแรกๆ ที่คุณได้ทำ แต่ถ้าเกิดคุณทำงานไปสักพัก แล้วคุณค้นพบว่างานนี้ไม่ได้สะท้อนถึงตัวตนของคุณ ไม่ได้สะท้อนภาพในระยะยาวของชีวิต ไม่ได้สร้างความพึงพอใจในการทำงานเลย ในที่สุดแล้วคุณก็จะอยู่กับงานนั้นไม่ได้ ต่อให้เงินมันเยอะหรือตำแหน่งนั้นดีแค่ไหนก็ตาม เพราะความสุขที่คุณมีในตอนแรกมันเริ่มเจือจางหายไป


hourglass
รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock.com

ความสุข vs ความหมาย

แล้วอะไรคือความแตกต่างระหว่างคำว่า “ความหมาย” และ “ความสุข” ผมคิดว่า ถ้าเราแยกสองคำนี้ให้ชัดเจน เราจะเริ่มวิเคราะห์ได้ว่า สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ตอนนี้เนี่ย เรากำลังโฟกัสที่การหาความสุข หรือเรากำลังโฟกัสที่การตามหาความหมายกันแน่

มีผลสำรวจมากมายจากหลายสำนักที่บอกว่า คนส่วนใหญ่ยินดีที่จะลดเงินเดือนตัวเองถ้าเขาได้ทำงานที่มีความหมายมากกว่านี้ มีความพึงพอใจมากกว่านี้ แล้วอะไรคือความแตกต่างระหว่างสองคำนี้จริงๆ กันแน่ เพราะถ้าหากเรามองดูเผินๆ แล้ว เหมือนว่ามันจะไม่แตกต่างกันเลยใช่ไหมครับ

แต่มีนักจัตวิทยาท่านหนึ่ง ชื่อว่า Roy Baumeister เขาบอกว่ามันมี 5 ปัจจัยหลักๆ ด้วยกันครับ ที่ทำให้ “ความสุข” กับ “ความหมาย” นั้นแตกต่างกัน

1. ได้ในสิ่งที่ต้องการ

ความสุขนั้นสามารถเกิดได้จากการ การที่คุณได้ในสิ่งที่ต้องการ อย่างถ้าคุณอยากได้รถแล้วคุณได้รถสปอร์ตมาหนึ่งคัน คุณก็จะมีความสุข แต่ความหมายนั้นมันไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่คุณอยากได้ มันเป็นอะไรที่มากกว่านั้น

Roy Baumeister บอกว่า ความถี่ของความรู้สึกไม่ว่าจะดีและไม่ดี ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับความหมายเลย พูดง่ายๆ ก็คือ ความหมายสามารถที่จะดำรงอยู่ได้แม้ ว่าจะมีสิ่งที่แย่ๆ เกิดขึ้นกับคุณก็ตาม

เพราะฉะนั้นความหมายจึงไม่จำเป็นที่จะต้องมาตอนที่คุณเจอแต่สิ่งดีๆ มันขึ้นอยู่กับว่าเราวางวิธีคิดของเราไว้อย่างไร

Advertisements

2. ระยะเวลา

เขาบอกว่าความสุขมันจะเกิดขึ้น “เดี๋ยวนี้” แต่ความหมายมันจะเป็นการประกอบกันระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ผ่านเส้นเรื่องอะไรบางอย่าง แล้วกลายเป็นความหมาย

คุณอาจจะไม่มีความสุขเลย เพราะคุณทำงานหนัก เครียด ไม่ได้นอน แต่คุณอาจจะเจอความหมายอะไรบางอย่าง เช่น ในอดีตคุณตั้งใจทำอะไรมากๆ ปัจจุบันเราพัฒนาไปถึงไหน อนาคตเราหวังว่าเราจะพัฒนามันไปอย่างไร เมื่อคุณร้อยเรียงเรื่องเหล่านี้ได้ คุณจะรู้สึกว่ามันมีความหมาย ดังนั้นคนจำนวนมากจึงยอมทิ้งสิ่งที่ทำให้มีความสุขแบบทันที และไปโฟกัสกับการทำอะไรที่อาจจะไม่ได้ให้ความสุขในตอนที่ทำ แต่มันจะให้ความหมายเมื่อมาประกอบกันเป็นภาพใหญ่ ให้คุณค่าที่เราเชื่อ ที่เรายึดถือ

3. ปฏิสัมพันธ์กับสังคม

จริงๆ ต้องบอกว่าการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น มันสำคัญทั้งกับ “ความสุข” และ “ความหมาย” นั่นแหละ แต่วิธีการหรือคาแรคเตอร์ของการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ มันจะเป็นตัวบ่งบอกได้ว่าสิ่งที่คุณกำลังตามหา มันคือ “ความสุข” หรือ “ความหมาย”

Roy Baumeister บอกว่า จากมุมมองของงานวิจัย ที่เป็นสถิติของคนส่วนใหญ่ พบว่าการที่คุณได้เชื่อมต่อกับคนอื่นและได้ช่วยเหลือเขา จะนำพามาซึ่งความหมาย แต่ถ้าเขาช่วยเหลือคุณ อันนี้จะเป็นความสุข

4. ความท้าทายในชีวิต (Challenge)

ความท้าทายเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ส่วนใหญ่เวลาเราพูดถึงคำนี้ มันจะประกอบไปด้วยเรื่องที่เรารู้สึกว่ามันยาก แล้วมันก็จะนำมาซึ่งความเครียด ความอึดอัด ไม่สบายใจ ต้องดิ้นรน ซึ่งทำให้ความสุขลดหายไปแทบหมดเลย แต่มันเป็นต้นทุนสำคัญในการทำให้ชีวิตคุณมีความหมาย 

ถ้าชีวิตคุณไม่มีความท้าทายอะไรเลย คุณก็อาจจะมีความสุข ผมยกตัวอย่าง สมมติคุณรวยมากๆ แต่ความรวยของคุณเกิดจากการที่พ่อแม่ให้เงินคุณมาแล้วก็ตั้ง Trust Fund (กองทุนทรัสต์) แล้วคุณก็ใช้เงินเดือนละ 10 ล้าน แบบที่จะใช้ยังไงก็ไม่หมด แน่นอนคุณมีความสุข แต่คนบางคนที่ผมรู้จักที่มีชีวิตแบบนี้จริงๆ ในที่สุดวันหนึ่งเขาจะอยากได้ความหมายของชีวิตมากๆ และเขาไม่สามารถหาความหมายของชีวิตได้จากการใช้ชีวิตแบบนี้ เพราะความหมายมันคือการประกอบกันของเรื่องราวการต่อสู้ ดิ้นรน ฟันฝ่าอุปสรรค อะไรที่เราสามารถเสกมันขึ้นมาได้แบบทันที มันมักจะไม่ได้ให้ “ความหมาย” กับเราเท่าไหร่นัก

5. ความเป็นตัวตน

งานหรือกิจกรรมต่างๆ ที่เราทำอยู่นั้น ต้องบ่งบอกความเป็นตัวตนของเราได้ เพราะถ้าไม่ล่ะก็ มันจะไม่มีทางทำให้เราค้นพบความหมายได้เลย


4 ขั้นตอน ที่จะช่วยคุณหา “ความหมาย” ในการทำงาน

ทีนี้ถ้าเราเชื่อว่าการตามหาความหมายคือสิ่งที่เราอยากจะทำในการทำงาน เราจะทำอย่างไรได้บ้าง จากที่ผมอ่านมาเขาบอกว่า เราต้องจัดลำดับความสำคัญใหม่ คือ ให้ “ความหมาย” เป็นความสำคัญอันดับแรกของชีวิตคุณ โดยทำผ่าน 4 ขั้นตอนนี้ครับ

1. บันทึกกิจกรรมต่างๆ ที่ทำไว้

เวลาคุณทำอะไรสักอย่างแล้วคุณรู้สึกว่ามันตอบสนองในระยะยาว เช่น เมื่อคุณพรีเซนท์งานให้กับลูกค้า คุณรู้สึกว่าคุณกำลังช่วยลูกค้าอยู่ หรือคุณโค้ชลูกน้องแล้วคุณรู้สึกว่าคุณช่วยทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น อันนี้เป็นของที่มีความหมายที่คุณต้องบันทึกไว้

พอคุณบันทึก คุณก็จะเริ่มเห็นแล้วว่าอะไรที่มันเป็นตัวกระตุ้น อะไรทำให้ฉันอยากทำสิ่งเหล่านั้น ซึ่งไม่ใช่ทำเพราะมีความสุข แต่ทำเพราะรู้สึกว่ามันได้ให้ความหมายกับคุณ

2. ทำสิ่งที่สะท้อนคุณค่าหลักของคุณ

เวลาคุณเลือกที่จะให้ความสำคัญกับอะไรสักอย่าง คุณต้องดูว่าคุณค่าของคุณคืออะไร คุณเชื่ออะไร สิ่งที่คุณอยากทำคืออะไร เช่น ถ้าคุณบอกว่าการเป็นคนชี้แนะให้กับรุ่นน้อง มันสะท้อนถึงตัวตนของคุณ เพราะคุณชอบถ่ายทอดเรื่องราว ถ่ายทอดแรงบันดาลใจ ชอบช่วยเหลือคน และชอบเมื่อได้เห็นคนอื่นมีชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้นนี่อาจจะเป็น “ความหมายของการดำรงอยู่ของชีวิต” คุณก็ได้ คุณอาจจะทำงานหรือทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น เพราะมันสะท้อนถึงคุณค่าหลักของคุณ

3. โฟกัสที่ความสัมพันธ์

หลายครั้ง สิ่งที่มีความหมายมันอาจจะไม่ได้มีผลชัดเจน หรือวัดผลได้ในทันที แต่ถ้าคุณรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์อีกคนได้ ความหมายจะมาแน่นอน คุณช่วยเหลือเขา คุณทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น มันอาจจะวัดผลอะไรไม่ได้ชัดเจนในตอนแรก แต่ในระยะยาวแล้วคุณจะรู้สึกได้เอง

4. ส่งต่อเรื่องราวดีๆ ในที่ทำงาน

เวลาที่เราช่วยเหลือคนอื่น ถ้าเราทำโดยที่รู้สึกว่ามันเป็นตัวตนของเราจริงๆ นี่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ แล้วใช่ไหมครับ แต่มันจะดีมากขึ้นไปอีกถ้าเราได้แชร์เรื่องราวเหล่านี้ให้กับคนอื่นๆ ฟัง (แชร์ในด้านดีๆ นะครับ เช่น ได้ไปช่วยทำโปรเจกต์นี้ ในส่วนนี้มันดีมากเลย) แล้วคนอื่นๆ ก็จะเล่าเรื่องราวดีๆ ให้เราฟังด้วยเช่นกัน มันจะทำให้เกิดแรงเสริมซึ่งกันและกัน และเมื่อเรื่องราวดีๆ ถูกส่งต่อมากขึ้น ทุกคนในที่ทำงานก็จะเริ่มรู้สึกถึง “ความหมาย” ที่กำลังเกิดขึ้นในที่ทำงาน


ทั้ง 4 อย่างนี้จะทำให้การทำงานของคุณมีความหมายมากขึ้น และความหมายในระยะยาวนี่แหละครับ จะเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์เราสามารถอยู่ได้ พึงพอใจกับชีวิต และใช้ชีวิตอย่างมีความหมายในทุกวัน ทุกเวลา ตลอดชีวิตการทำงาน 90,000 ชั่วโมง

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่