ถ้าพูดถึงคำว่า Influencer Marketing (การตลาดที่ใช้ Influencer หรือผู้ที่มีอิทธิพลต่อผู้ติดตามโปรโมทสินค้าหรือแบรนด์) เมื่อ 3-4 ปี ก่อนหลายคนอาจจะงง และนึกไม่ออกว่ามันคืออะไร แต่ในช่วงหลังมานี้คนที่อยู่ในแวดวงของธุรกิจน่าจะได้ยินคำนี้กันบ่อยขึ้นเรื่อยๆ เพราะ Influencer Marketing เป็นหนึ่งในการตลาดที่แทบทุกแบรนด์เลือกใช้ทำแผนการโปรโมทสินค้า หรือบริการแทบทุกครั้งไป
และคนที่เราจะมาถอดบทเรียนธุรกิจกันในคอลัมน์ Mission Talk ครั้งนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน นั่นก็คือ ‘คุณเม-นิโรธ ฉวีวรรณากร’ Country Director แห่งกัชคลาวด์ (ประเทศไทย) นั่นเองครับ
เจาะตลาดและเติบโตในแบบกัชคลาวด์
หลังจากที่ขยายธุรกิจไปในหลายประเทศทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กัชคลาวด์เริ่มเห็นโอกาสและการเติบโตของ Influencer Marketing ในไทย และตัดสินใจเข้ามาเจาะตลาดในประเทศไทยในช่วงปี 2016 ด้วยพนักงานเริ่มต้น 3-4 คน คุณเมบอกว่าในตอนแรกสิ่งที่บริษัทต้องการมากที่สุด คือ “ลูกค้า” ทำให้ตอนนั้นทุกคน ไม่ว่าจะตำแหน่งอะไรจะต้องมีหนึ่งหน้าที่ที่เหมือนกันคือ การออกไปหาลูกค้าและปิดงานให้ได้ และเนื่องจากกัชคลาวด์นั้นมี Business Model ที่ชัดเจนมากๆ อยู่แล้วจากบริษัทแม่ ทำให้ในช่วงเริ่มต้นกัชคลาวด์จะโฟกัสไปที่ 2 สิ่งสำคัญ คือ การหาลูกค้าและการปรับทีมให้เข้ากับ framework ที่มี
หลังจากพูดคุยกันมาถึงเรื่องของการเติบโตในประเทศไทย คุณเมเล่าว่ามีปัจจัยสำคัญ 3 อย่างด้วยกันที่ทำให้กัชคลาวด์สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วในประเทศไทย
- มีวิธีคิดและทำงานแบบ Startup: หาโอกาสในการเติบโต มองหาปัญหาและหนทางในการแก้ไขอยู่เสมอ และที่สำคัญต้องสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว
- Flat organization: ทุกคนต้องสามารถที่จะสื่อสารกันได้อย่างเปิดเผย และตรงไปตรงมาในเรื่องงาน หากทีมมีเรื่องที่สงสัยหรือมีข้อเสนอแนะ ก็สามารถส่งข้อความไปหาผู้บริหารได้ทันที ในขณะเดียวกันฝั่งของผู้บริหารเองก็ต้องพร้อมที่จะรับฟังและตอบคำถามด้วยเช่นกัน
คุณเมยกตัวอย่าง ‘คุณอัลเทีย ลิม (Althea Lim) CEO และ Co-founder ของกัชคลาวด์’
ชอบมากที่พนักงานมีการให้ข้อเสนอแนะกับเธอ การแสดงความคิดเห็นทำให้เรารู้ว่าพนักงานของเรามีไอเดียอะไรที่เจ๋งๆ บ้าง ดังนั้นเราจึงควรสนับสนุนให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นกันเสมอ อีกสิ่งที่ถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมสำคัญของบริษัทกัชคลาวด์ในประเทศไทย คือ เราให้อำนาจในการตัดสินใจกับพนักงานเพื่อให้ทุกคนสามารถตัดสินใจทำสิ่งที่เหมาะและดีต่อบริษัท (do what is best for the company) ซึ่งเราเชื่อว่าวัฒนธรรมนี้ทำให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น - Partnership: ก่อนที่จะเริ่มเข้ามาเจาะตลาดในประเทศไทย กัชคลาวด์แทบจะไม่มีความรู้เกี่ยวกับประเทศไทยเลย อีกทั้งยังไม่เข้าใจวัฒนธรรม ไม่รู้ว่าต้องเริ่มจากคุยกับใคร หรือแม้กระทั่งลูกค้าที่ประเทศนี้เป็นใครบ้าง ทำให้อีกจุดที่สำคัญ คือ การหา Partner คนไทยที่มีความคุ้นเคยในธุรกิจสายนี้มาสร้างธุรกิจร่วมกันจึงทำให้เราเข้าใจและเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้นมาก
ปรับการทำงานจากแบบ “ครอบครัว” สู่ความเป็น “ทีมเวิร์ค”
ตั้งแต่วันแรกที่กัชคลาวด์ในประเทศไทยเริ่มต้นขึ้น คุณเมบอกว่าทีมทำงานกันในลักษณะของความเป็นครอบครัว ความเป็นพี่เป็นน้องกันมาโดยตลอด
“แต่วัฒนธรรมการทำงานร่วมกันแบบครอบครัวก็จะมีทั้งข้อดี และข้อเสียในตัวของมันเอง”
การทำงานสไตล์ครอบครัวทำให้ทุกคนช่วยเหลือกันแบบพี่ แบบน้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ปัญหาของการทำงานเป็นครอบครัวก็คือ ‘ความเกรงใจกัน’ ทำให้เกิดการทำงานในลักษณะ ‘หยวนๆ กัน’ ซึ่งตรงจุดนี้ล่ะ ที่ทำให้บริษัทไม่สามารถที่จะเข้าถึงศักยภาพจริงๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณทำงานไป แต่ผลงานยังไม่ดีจนถึงที่สุด คือสามารถดีได้มากกว่านี้ แต่เพื่อนร่วมงานไม่กล้าบอกคุณ อาจทำให้ตัวคุณและผลงานไม่ได้มีการพัฒนา
“การทำงานแบบ ‘หยวนๆ กัน’ จึงอาจเป็นการแช่แข็งบริษัท”
เราจึงต้องการปรับการทำงานจาก “ครอบครัว” สู่ “ทีมเวิร์ค” ทุกคนจะรับผิดชอบในตำแหน่งของตัวเองอย่างเต็มที่ที่สุด ถ้ามีอะไรที่คุณทำได้ไม่ดี ทุกคนต้องกล้าที่จะบอกว่า คุณทำได้ไม่ดีพอ หรือ คุณทำได้ดีกว่านี้ แต่การจะทำแบบนี้ได้ทุกคนในองค์กรต้องพร้อมที่จะรับฟีดแบคและมีความคิดที่เปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น โดยที่ต้องแยกให้ออกด้วยว่าฟีดแบคที่ได้รับมาเป็นเรื่องงาน ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว….
“ยากที่จะทำ แต่เราจะพยายามไปให้ถึงจุดนั้น”
เมื่อวิกฤตเกิดต้องแคร์ “คน” และต้องไม่ปล่อยวิกฤตให้สูญเปล่า (don’t waste a crisis)
ตลอดช่วงที่เกิดวิกฤต โควิด-19 คุณเมบอกว่าช่วงนั้น ค่อนข้างหนักหนาสาหัส แต่ต้องพยายามประคับประคองให้ได้มากที่สุด โดยที่ต้องไม่มีการ layoff (ปลดพนักงาน) หรือลดเงินเดือน แม้ว่าจะหนักแค่ไหนก็ตาม
คุณเมอธิบายต่อว่าสาเหตุที่ต้องทำแบบนี้มี 2 สิ่งด้วยกัน.. คือ
- เมื่อวิกฤตเกิดต้องแคร์ “คน”: การทำให้พนักงานรู้ว่าบริษัทแคร์เขาเป็นเรื่องสำคัญ และจังหวะที่จะทำได้ดีที่สุดก็คือตอนเกิด “วิกฤต” นี้ล่ะ ถ้าหากบริษัทพยายามที่จะตัดต้นทุนในเรื่องของคนเป็นอันดับแรก คุณเมบอกเลยว่าบริษัทอาจไปต่อได้ แต่คุณจะไม่ได้ใจ และพนักงานก็จะรู้สึกว่าคุณไม่ได้แคร์เขา ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องดี
“และยิ่งถ้าคุณเป็นซีอีโอหรือผู้บริหารระดับสูงแล้วคุณยังไม่ตัดเงินเดือนหรือลดเงินเดือนตัวเองก่อนที่จะไปตัดค่าใช้จ่ายในส่วนของพนักงานในช่วงที่มีวิกฤต คุณอาจจะกำลังล้มเหลวในเรื่องของการเป็นผู้นำ” - เมื่อทุกอย่างกลับมาเราต้องพร้อมเสมอ: คุณเมบอกว่าที่กัชคลาวด์ เราต้องการให้พนักงานเตรียมพร้อมเสมอ ฉะนั้นเมื่อเราทำให้ทุกคนรู้ว่าบริษัทแคร์และต้องการพวกเขาได้แล้ว ทีมงานที่เรารักษาไว้ทุกคนนี่ล่ะ จะเป็นคนช่วยบริษัทให้สามารถพลิกฟื้นกลับมาได้
คุณเมเล่าสรุปในพาร์ทนี้ว่า “จริงอยู่ว่ามันไม่มีใครอยากให้เกิดวิกฤตขึ้นหรอก แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วก็อย่าปล่อยให้มันสูญเปล่า เพราะมีหลายสิ่งที่เราอาจยังไม่ได้ให้ความสำคัญ หรือไม่สามารถทำได้ในช่วงเวลาปกติ ตัวอย่างเช่น เราอาจมองเห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตนี้ หรืออาจรวมไปถึงวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ๆ อย่างเช่นการ work from home ที่ทำให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”
โอกาส และความท้าทายหลังจากนี้
วิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมาถือเป็นตัวเร่งสำคัญในการกระตุ้นพฤติกรรมของผู้บริโภคให้เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ที่บอกว่าเร็วขึ้นเพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอยู่แล้ว และการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ทำให้เกิดโอกาสและความท้าทายมากมายในแวดวงของ Influencer Marketing หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนคือแพลตฟอร์มวิดีโอแบบสั้นอย่าง TikTok ที่แจ้งเกิดและมีกระแสโด่งดังเป็นพลุแตก สาเหตุส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะคนอยู่บ้านมากขึ้นและใช้เวลาบนหน้าจอนานขึ้น รวมถึงผู้ใช้สื่อหันมาเสพคอนเทนต์ที่เป็นไลฟ์สตรีมมิงมากขึ้น และแพลตฟอร์มใหญ่ๆ ต่างก็เร่งพัฒนาฟีเจอร์เพื่อรองรับการสร้างรายได้จากการสตรีมมิงเช่นกัน
ในมุมของนักการตลาด คุณเมบอกว่าเราต้องทำการบ้านมากขึ้นเพื่อที่จะนำเสนอคอนเทนต์และสื่อให้ได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของลูกค้า และสำหรับใครที่สนใจอยากที่จะอ่านเรื่องนี้เพิ่มเติม ทางคุณเมบอกว่าทางกัชคลาวด์มีทำรายงานที่ชื่อว่า “The New Normal: How COVID-19 has Changed the Fundamentals of Influencer Marketing in Southeast Asia” ที่พูดถึงผลกระทบ และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับแวดวง Influencer Marketing สามารถไปโหลดมาอ่านกันได้ที่ https://www.gushcloud.com/covid19whitepaper
ทิศทางต่อจากนี้ของกัชคลาวด์
หลังจากที่กัชคลาวด์เติบโตจนเป็นที่รู้จักในแวดวงของ Influencer Marketing ก็ถึงเวลาที่จะขยายไปยังกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยคุณเม บอกว่ากัชคลาวด์จะเริ่มโฟกัสไปที่ธุรกิจด้าน Media และ Entertainment มากขึ้น เพราะเป็นธุรกิจที่ส่งเสริมกันโดยตรง รวมทั้งต่อจากนี้จะนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้มากขึ้น เพื่อสนับสนุนการทำ Influencer Marketing ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่นการทำแพลตฟอร์มสำหรับเก็บข้อมูลและวัดผลงาน (Performance) ของ Influencers แบบเรียลไทม์
“หน้าที่หลักของเราคือการสร้าง Ecosystem
ให้กับ Influencers และ Content Creators
เพื่อทำให้อาชีพนี้เป็นอาชีพที่มั่นคง
เม-นิโรธ ฉวีวรรณากร Country Director แห่ง กัชคลาวด์ (ประเทศไทย)