NEWSTrendsร้านโปรดหายไป ใจแทบขาด! นักจิตวิทยาเผย การสูญเสียร้านประจำอาจสร้างความเศร้าเท่ากับการอกหัก

ร้านโปรดหายไป ใจแทบขาด! นักจิตวิทยาเผย การสูญเสียร้านประจำอาจสร้างความเศร้าเท่ากับการอกหัก

เมื่อพูดถึง ‘ร้านอาหารร้านโปรด’ คุณจะนึกถึงร้านไหนเป็นร้านแรก?

ไม่ว่าจะเด็กน้อยวัยเรียนหรือผู้ใหญ่วัยทำงาน ก็ล้วนมีร้านอาหารร้านโปรดที่ชวนให้นึกถึงยามท้องหิวกันทั้งนั้น สำหรับใครบางคน ตอนเช้าอาจเป็นร้านข้าวเหนียวหมูปิ้ง ตอนเที่ยงอาจเป็นร้านข้าวแกง และตอนมืดอาจเป็นร้านข้าวต้มเจ้าประจำแสนอร่อย

อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพเศรษฐกิจไทยที่ยังคงทรุดตัว กิจการร้านอาหารน้อยใหญ่จึงต้องวางแผนรับมือ ควบคู่ไปกับการจัดการความเสียหายเรื้อรังอันเกิดจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ให้ได้ การตัดสินใจและแก้ไขปัญหาของเจ้าของกิจการหรือธุรกิจดังกล่าว บางครั้งก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปิดตัวลง ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อสภาวะทางจิตใจของเหล่าประชาชนผู้บริโภคได้มากกว่าที่คิด เช่นเดียวกับแบรนด์ไก่ทอดสัญชาติอเมริกาชื่อดังอย่าง ‘Texas Chicken’ ที่ได้ออกประกาศอย่างเป็นทางการต่อสาธารณชนว่า จะปิดตัวลงทุกสาขาในวันที่ 30 กันยายน 2567 ก่อนที่ประเด็นนี้จะกลายเป็นที่พูดถึง มีผู้บริโภคออกมาแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกกันอย่างกว้างขวาง

‘Texas Chicken’ ถูกนำเข้ามาอยู่ภายใต้การบริหารของ PTT Oil and Retail Business (OR) นับเป็นระยะเวลา 9 ปีที่ไก่ทอดแบรนด์นี้คอยมอบความสุขควบคู่ความอร่อยให้คนไทยเสมอมา ถึงขั้นเคยถูกคาดการณ์ว่า อาจเข้ามาเป็นคู่แข่งตัวเต็งรายสำคัญของแบรนด์ไก่ทอดยอดนิยมตลอดกาลอย่าง KFC อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายที่การเดินทางของ ‘Texas Chicken’ ในประเทศไทยกำลังจะยุติลง ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันอันดุเดือดระหว่างไก่ทอดแบรนด์อื่น กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงสืบเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ หรือแม้แต่ผลกระทบเรื้อรังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้ยอดขายต่ำลง เป็นต้น

สำหรับผู้ดูแลแบรนด์หรือเจ้าของกิจการร้านอาหาร การตัดสินใจยุติการดำเนินธุรกิจอันเป็นที่รักย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสายแห่งความผูกพันที่สั่งสมและโยงใยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จะเป็นเครื่องกำหนดระดับความรู้สึกที่อาจเพิ่มเป็นทวีคูณเมื่อทุกอย่างเดินทางมาถึงบทจบ เช่นนั้นแล้ว ในฐานะเจ้าของกิจการร้านอาหาร พวกเขาจะรู้สึกอย่างไรบ้าง?

จากผลการสัมภาษณ์ ‘นาธาเนียล เหงียน’ เจ้าของกิจการ ‘Jinny’s Pizzeria and Rooster Republic’ ร้านอาหารอันเป็นที่รู้จักแพร่หลายทางตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา โดย ‘Foodbeast’ องค์กรผลิตและแบ่งปันสื่อเกี่ยวกับอาหาร การตัดสินใจยุติกิจการนำมาซึ่งหลากหลายอารมณ์ความรู้สึกที่ก่อขึ้นในจิตใจเขา มีทั้งดีและไม่ดีผสมปนเปกันไป ซึ่งพอจะสามารถนำมาแยกอธิบายให้เข้าใจอย่างง่ายได้ 6 ประการ ได้แก่ ความรู้สึกผิด ความอับอาย ความเศร้า ความโล่งใจ ความภาคภูมิใจ และความสุข 

ความรู้สึกผิด คือความรู้สึกแรกที่ถาโถมเข้ามา เพราะการตัดสินใจปิดกิจการครั้งนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ตัวเหงียนเองเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงลูกทีมหรือลูกค้าที่ไม่เคยคาดคิดว่าจะต้องได้รับข่าวร้ายนี้ในอนาคตเช่นกัน เนื่องจากหากมองดูในภาพรวม ร้านอาหารร้านนี้ช่างไร้ที่ติ และไม่มีวี่แววจะปิดตัวลงเพราะยอดขายไม่ดีได้เลย การจะอธิบายสาเหตุที่แท้จริงว่า ‘ทำไมจึงปิดกิจการลง’ จึงทำให้เขารู้สึกอับอายตามมา

ความเศร้าที่เกิดขึ้นหลังจากการตัดสินใจทั้งหมดเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้จะมีเหตุผลของการตัดสินใจรองรับอยู่แล้ว เพราะความเศร้าที่ก่อขึ้นในใจมักเกิดจากความผูกพัน ทั้งบรรยากาศและผู้คนล้วนมีส่วนในการสร้างร้านอาหารร้านนี้ให้กลายเป็นธุรกิจที่ยอดเยี่ยมขึ้นมา ฉะนั้น หากต้องโบกมือลาจากความผูกพันเหล่านั้นไปตลอดกาล ก็ไม่แปลกที่เหงียน รวมถึงบรรดาเจ้าของกิจการทั้งหลายจะรู้สึกเสียใจ

อย่างไรก็ตาม เวลาจะช่วยเยียวยาทุกสิ่ง เมื่อกิจการยุติลงโดยสมบูรณ์ เหงียนยอมรับว่า เขารู้สึกโล่งใจ เพราะช่วงเวลานั้นช่วยให้เขาได้พักหายใจ ถอยกลับมามองภาพรวมของทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยสติอีกครั้งหนึ่ง จนเขาเริ่มมองเห็นและเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองลึกๆ ว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา เขาได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วจริงๆ ไม่มีอะไรให้ต้องเสียใจหรือเสียดายอีกแล้ว เมื่อตระหนักได้เช่นนี้ เขาจึงรู้สึกดีต่อตัวเองและมีความสุขขึ้นมาก ทุกประสบการณ์ที่ได้รับจากการดำเนินธุรกิจนี้จะกลายเป็นความทรงจำอันล้ำค่าในหัวใจตลอดไปอย่างแน่นอน

Advertisements
Advertisements

จากความคิดเห็นและกระแสตอบรับของผู้บริโภคในสังคมบนสื่อโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับประเด็นการปิดตัวลงของแบรนด์ กิจการ หรือร้านอาหาร เช่น Texas Chicken นั้น จะเห็นได้ว่า ความรู้สึกหลักอันเป็นพื้นฐานสำคัญหลังรับรู้ว่า แบรนด์อาหารที่คุ้นเคยมาอย่างยาวนานต้องปิดตัวลงก็คือ ‘ความผิดหวัง’ เมื่อเริ่มต้นด้วยความผิดหวังแล้ว ‘ความเศร้าโศก (Grief)’ ก็จะพ่วงตามมาอย่างห้ามไม่ได้ แม้ฟังดูไม่น่าเชื่อ ทว่าในทางจิตวิทยา ความเศร้าโศกอันเกิดจากการปิดตัวลงของร้านอาหารในดวงใจไม่ได้เป็นเพียงเรื่องเล็กพริกขี้หนูอย่างที่ใครหลายคนคิดกัน

จากหนังสือ ‘How To Go On Living When Someone You Love Dies’ โดยนักจิตวิทยาคลินิก ‘Therese A. Rando’ ระบุไว้ว่า ความเศร้าโศกจากการปิดตัวลงของร้านอาหารที่ชื่นชอบนั้นไม่ใช่แค่เรื่องเล็กๆ แลดูไร้สาระ แต่มีระดับความรุนแรงที่สามารถกระทบกระเทือนจิตใจเทียบเท่ากับการสูญเสียบุคคลสำคัญหรือคนที่รักเลยทีเดียว เพราะความเศร้าโศก (Grief) เกิดขึ้นหลังจากการรับรู้การสูญเสียของสิ่งที่ผูกพัน ไม่ว่าสิ่งนั้นจะอยู่ในรูปของคน สัตว์ หรือสิ่งของก็ตาม

บางคนอาจโศกเศร้าเพราะจะไม่มีโอกาสได้สานสัมพันธ์ที่ดีกับใครสักคนเมื่อแวะมายังร้านอาหารร้านนี้อีก บางคนอาจโศกเศร้าเพราะจะไม่มีโอกาสได้กินอาหารร้านนี้ ซึ่งเปรียบดั่ง ‘อาหารเยียวยาจิตใจ (Comfort Food)’ อีก แต่ละคนล้วนมีเหตุผลของความเศร้าโศกต่างกันไป ทว่าในเมื่อชีวิตต้องเดินหน้าต่อแม้พบเจอการสูญเสีย เราก็อาจต้องยอมปล่อยให้ตัวเองได้ใช้เวลาเยียวยาหัวใจผ่านระยะการก้าวผ่านความสูญเสีย 5 ระดับ (The 5 Stages of Grief) บ้าง

5 ระยะของการก้าวผ่านความสูญเสีย ถูกสร้างและอธิบายขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1969 โดย ‘อลิซาเบธ คุบเลอร์-รอส (Elisabeth Kübler-Ross)’ จิตแพทย์ชาวสวิส-อเมริกัน โดย ระยะที่ 1 เรียกว่า ‘ภาวะปฏิเสธความจริง (Denial)’ เราอาจจะมองว่าเป็นความผิดพลาดบางประการของร้านอาหาร หรือเป็นเรื่องตลกขำขันที่ลูกค้าลือกันไปเองต่างๆ นานาด้วยซ้ำไป เพราะลึกๆ ในใจยังไม่สามารถยอมรับความจริงได้ว่า ร้านอาหารที่ชื่นชอบกำลังจะจากไปอย่างไม่หวนคืน จนกระทั่งนานวันเข้า เมื่อพบว่านี่คือความจริงที่จะไม่เปลี่ยนแปลง ความรู้สึกเชิงลบที่ถาโถมเข้ามาจึงจะเริ่มแปรเปลี่ยนเป็นความโกรธ

‘ระยะที่ 2 : ภาวะความโกรธ (Anger)’ เราอาจรู้สึกโกรธ หงุดหงิด และไม่พอใจจนถึงขั้นแสดงออกมาผ่านคำพูดหรือการโพสต์บนโซเชียลมีเดีย เพื่อระบายอารมณ์หรือต่อว่าเจ้าของกิจการ ซึ่งภายใต้ความโกรธนั้น มักจะผสมปนเปด้วยความรู้สึกอื่นๆ เช่น ความสับสน ความกลัว เป็นต้น จนกระทั่งหากรู้สึกยอมรับขึ้นมาได้บ้างเมื่อไร นั่นหมายความว่าอาจถึงเวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับ ‘ระยะที่ 3 : การเจรจาต่อรอง (Bargaining)’

เมื่อทำอะไรไม่ได้มากด้วยเพราะเป็นเพียงผู้บริโภค การยื่นมือเข้าช่วยเหลือหรือเสนอวิธีแก้ไขปัญหาต่อเจ้าของกิจการ โดยเฉพาะกิจการใหญ่ๆ จึงอาจจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ฉะนั้น คำพูดที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่พูดติดปากกันเมื่อเข้าสู่ระยะแห่งการต่อรองนี้ จึงมักเป็นคำว่า ‘รู้อย่างนี้…’ เช่น ‘รู้อย่างนี้ฉันน่าจะอุดหนุนให้มากกว่านี้’ ‘รู้อย่างนี้ฉันน่าจะช่วยโฆษณาให้มากกว่านี้’ ‘รู้อย่างนี้ฉันน่าจะชวนเพื่อนมากินให้บ่อยกว่านี้’ เป็นต้น ยิ่งเมื่อตระหนักได้ซ้ำว่า ทุกอย่างเกินขอบเขตความสามารถไปไกลแล้ว ก็ไม่แปลกถ้าเราจะต้องรู้สึกเสียใจตามมาใน ‘ระยะที่ 4 : ภาวะความโศกเศร้าเสียใจ (Depression)’

ความโศกเศร้าเป็นความรู้สึกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับ ‘ความผิดหวัง’ ทันทีที่รู้ว่า ร้านอาหารในดวงใจจะปิดกิจการลงถาวร ระยะของความโศกเศร้า คือระยะที่ความรู้สึกด้านลบสามารถทวีคูณความรุนแรงง่ายจนอาจพัฒนากลายเป็นภาวะซึมเศร้าได้ ดังนั้น เราจึงควรดูแลตัวเอง และพยายามดึงสติที่อาจล่องลอยไปเพราะความรู้สึกที่จมปลักหรือความเสียใจกลับมาให้ได้ แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่หากหมั่นควบคุมความคิด ความรู้สึกของตนเอง เราก็จะสามารถเข้าสู่ระยะสุดท้ายอย่าง ‘ระยะที่ 5 : การยอมรับ (Accaptance)’ ได้ในที่สุด

ระยะสุดท้ายนี้ คือการที่เราถอยออกมามองภาพรวมเหตุการณ์และทำใจยอมรับได้ว่า การสูญเสียแม้แต่กับร้านอาหารที่รักนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ ขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์ ไม่ว่าใครก็ต้องพบเจอความสูญเสีย แม้เวลาที่ต้องใช้เพื่อเยียวยาหัวใจตัวเองผ่านระยะทั้งห้าจะขึ้นอยู่กับปัจเจกบุคคลเป็นสำคัญ บางคนอาจใช้เวลาสั้นๆ บางคนอาจใช้เวลานาน แต่อย่างน้อย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราก็ได้มอบความรักให้กับสิ่งที่รักภายใต้ข้อจำกัดอันมากมายอย่างเต็มที่ที่สุดแล้ว

ความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นกับตัวเรา แม้เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ก็สามารถส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจวัตรประจำวันได้ เช่น การนอนหลับ เป็นต้น ฉะนั้น เพื่อป้องกันการเกิดผลเสียต่อสุขภาพทั้งทางกายและจิตใจในระยะยาว สมาชิกในครอบครัว เพื่อนฝูง แพทย์ หรือแม้แต่งานอดิเรกที่ชอบก็เป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยเยียวยาหัวใจเราจากความเศร้าโศกได้ ต่อให้ ณ ขณะนี้ ภาพการก้าวผ่านความสูญเสียจะยังดูคลุมเครือ ไม่ชัดเจน แต่เมื่อผ่านพ้นไปได้แล้ว วันหนึ่งเมื่อมองย้อนกลับมา เราจะรู้สึกภูมิใจในตัวเองที่ฝ่าฟันอุปสรรคทางใจทั้งหลายเหล่านั้นมาได้อย่างแน่นอน


อ้างอิง
6 Emotions That Come From Closing Down A Restauranthttps://bit.ly/4gztQXI 
– 5 stages of grief: Coping with the loss of a loved one – https://bit.ly/3XSXAaD 
When your favorite neighborhood restaurant closes, the grief is real – https://wapo.st/3XRvigL 
Texas Chicken to shut down all outlets in Thailand after nine years – https://bit.ly/3TG1Wzp
 

#Trend
#Psychology
#Society
#food
#Texaschicken
#Missiontothemoon
#Missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า