พลิกมุมคิด.. นิดเดียว

575
รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock.com
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • หนังสือเรื่อง “Where is the Hippo hiding?” (ฮิปโปซ่อนตัวอยู่ที่ไหน?) เป็นหนังสือสำหรับเด็กที่พลิกวิธีการสอนเด็กเล็กๆได้สนุกสนาน หนังสือล่าถึงเจ้าฮิปโปสีฟ้าซึ่งเดินเล่นชมงานศิลปะต่างๆอยู่ในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ แล้วให้เด็กๆช่วยหาว่าเจ้าฮิปโปไปซ่อนตัวอยู่ที่ไหน โดยงานศิลปะที่ว่านั้นถูกทำออกมาได้เหมือนจริงมากๆ
  • วิธีคิดของหนังสือเล่มนี้ถ่ายทอดความรู้ให้เด็กได้ฉลาดมาก เพราะช่วยให้เด็กได้สนุกสนานกับงานศิลปะ การใช้ฮิปโปดึงดูดความสนใจเป็นวิธีที่เจ๋งในการสอนศิลปะให้กับเด็กๆ นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสดีที่พ่อแม่จะได้ศึกษาเกี่ยวกับงานศิลปะ และทำให้เด็กรู้สึกว่าศิลปะเป็นของสนุกและเข้าถึงได้ง่าย

วันนี้อากาศที่ปารีสดีมากครับ ผมเดินเล่นรอบเมืองเลยแล้วไปจบที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ที่ที่มาปารีสทุกครั้งก็ต้องมา

วันนี้ก็คงเหมือนทุกวันครับ คนแน่น นักท่องเที่ยวเพียบ ยิ่งอากาศเย็นสบายและแดดออกแบบนี้ด้วยแล้วคนยิ่งเยอะตามไปด้วย พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ นั้นปีหนึ่งมีคนมาเยี่ยมชมประมาณ 7 ล้านกว่าคน เรียกได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์อันดับหนึ่งของโลกก็ได้ครับ ที่นี่เก็บงานศิลปะระดับโลกไว้นับชิ้นไม่ถ้วน

แต่สิ่งที่น่าสนใจของวันนี้ผมไม่ได้เจอข้างในพิพิธภัณฑ์ครับ ผมมาเจอที่ร้านขายของของลูฟวร์ ที่อยู่ตรงใต้ปิรามิดแก้วครับ มันเป็นหนังสือเล่มนึงที่มีชื่อว่า “Where is the Hippo hiding?” (ฮิปโปซ่อนตัวอยู่ที่ไหน?) หน้าปกมีหน้าโมนาลิซาอยู่ แต่ด้วยฟอนต์ ด้วยรูปแบบการวางก็พอจะบอกได้ว่านี่คือหนังสือเด็ก

Advertisements

ผมอดไม่ได้ต้องหยิบมาดู ภายในหนังสือเล่าถึงเจ้าฮิปโปสีฟ้าซึ่งจริงๆเป็นรูปปั้นที่อยู่ในหลุมศพของเหล่าผู้ปกครองอียิปต์และมีอายุยาวนานกว่า 3,500 ปี

หนังสือหน้าแรกก็เล่าว่าฮิปโปสีฟ้าเนี่ยอยู่ในพิพิธภัณฑ์นานๆก็เบื่อ เลยอยากเดินเล่นไปชมงานศิลปะต่างๆในลูฟวร์ เด็กๆลองช่วยหาหน่อยสิว่าเจ้าฮิปโปนี่อยู่ที่ไหน แล้วหนังสือทั้งเล่มก็เป็นรูปงานศิลปะของจริงที่มีเจ้าฮิปโปซ่อนอยู่ให้เด็กๆหา

ต้องบอกว่าภาพที่ทำนั้นออกมาเหมือนจริงมากครับ ดังนั้นภาพของงานศิลปะชิ้นเอกทั้งหลายจึงไม่ได้ดูผิดเพี้ยนจากของจริงเลย แค่มีเจ้าฮิปโปเพิ่มไปแค่นั้น 

ตั้งแต่รูปปั้นอย่าง อนุสรณ์ชัยชนะที่ซาโมเทรซ (The Winged Victory of Samothrace) ไปจนถึงหอคอยบาเบล (The Tower of Babel) หรือนักดาราศาสตร์ (The Astronomer) ก็มา

ผมหยิบหนังสือเล่มนี้พร้อมกับรูปปั้นฮิปโปสีฟ้าตัวเล็กๆใส่ตระกร้ามาทันทีครับ ผมคิดว่านี่คือการคิดวิธีการถ่ายถอดความรู้ให้เด็กได้ชาญฉลาดมาก และขณะเดียวกันพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่เล่าให้เด็กฟังก็ได้ประโยชน์ไปด้วย เหตุผลที่ผมคิดออกมี 4 ข้อด้วยกันครับ

Advertisements

เรื่องแรก: ศิลปะอาจไม่ใช่เรื่องน่าสนุกสำหรับเด็กๆ

 ศิลปะอาจจะเป็นเรื่องน่าหลงใหลมีเสน่ห์สำหรับผู้ใหญ่ แต่กับเด็กๆมันคงไม่ค่อยสนุกเท่าไร ดังนั้นการมานั่งบรรยายถึงผลงานชิ้นเอกของ เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) ไม่น่าจะดึงความสนใจของเจ้าตัวเล็กได้ แต่การเอาฮิปโปซึ่งเด็กๆคุ้นเคย (และเป็นงานศิลปะจริงด้วย) มาเป็นด้วยดำเนินเรื่องทำให้การเข้าถึงง่ายขึ้นเยอะ

เรื่องที่สอง: ใช้วิธีที่เจ๋งมากในการสอนความรู้เรื่องศิลปะให้แก่เด็ก

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ตั้งใจให้เด็กแค่หาฮิปโปอย่างเดียวแน่ๆ แต่หนังสือเล่มนี้ตั้งใจให้พ่อแม่เล่าเรื่องของงานศิลปะแต่ละชิ้น ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีอะไรให้ดึงความสนใจเด็กอยู่ในการดูภาพของงานศิลปะนั้นได้ด้วยการหาฮิปโป ซึ่งผมว่ามันเป็นวิธีที่เจ๋งมากในการสอนความรู้เรื่องศิลปะให้แก่เด็ก ให้ซึมซับเรื่องนี้ตั้งแต่อายุไม่กี่ขวบ ก่อนหน้านี้ผมยังนึกไม่ออกเลยว่าจะสอนเรื่องพวกนี้ให้ลูกได้ยังไง

เรื่องที่สาม: เป็นโอกาสที่ดีที่พ่อแม่จะได้กลับมาศึกษาเกี่ยวกับงานศิลปะอย่างจริงจัง

เนื่องจากหนังสือไม่ได้บอกรายละเอียดของแต่ละชิ้นงานไว้มากนัก พ่อแม่ก็ต้องกลับไปทำการบ้านหน่อยว่าแต่ละงานนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร เพราะถ้าไม่ใช่คนในวงการจริงๆเชื่อว่าไม่มีใครจำได้หมดแน่นอนครับว่า ประวัติแต่ละชิ้นมายังไง ดังนั้นนี่เป็นโอกาสที่ดีที่พ่อแม่จะได้กลับมาศึกษาเกี่ยวกับงานศิลปะอย่างจริงจังอีกด้วย

เรื่องสุดท้าย: ทำให้เด็กรู้สึกว่าศิลปะเป็นของสนุกและเข้าถึงได้ง่าย

เรื่องนี้น่าจะมันส์สุด คือแม้จะมีฮิปโปให้หา แต่ถ้าเล่าเรื่องงานศิลปะแบบน่าเบื่อเด็กก็ไม่ฟังอยู่ดี พ่อแม่จึงจำเป็นต้องเค้นพลังความคิดสร้างสรรค์ออกมาเพื่อเล่าภาพแต่ละภาพให้สนุกและไม่น่าเบื่อที่สุดโดยมีเจ้าฮิปโปเป็นตัวช่วย ยกตัวอย่างเช่น เราจะเล่าให้ลูกฟังยังไงดีว่าทำไมรูปปั้นวีนัสไม่มีแขน โดยอาจจะเอาเรื่องฮิปโปเข้าไปผูกด้วย เป็นต้น ถ้าทำได้ดีเด็กๆจะรู้สึกว่าเรื่องงานศิลปะเป็นของสนุกและเข้าถึงง่ายทันทีผมเชื่อว่าเขาจะโตขึ้นมาด้วย กล้ามเนื้อสมองของความคิดสร้างสรรค์ที่แข็งแรงกว่าปกติ ซึ่งความสามารถด้านนี้ผมเชื่อว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อโลกอนาคตครับ 

อันนี้เป็นภาพสะท้อนเล็กๆของระบบวิธีคิดเรื่องการศึกษาซึ่งจะเห็นว่าแค่พลิกมุมคิดนิดเดียวเรื่องที่แทบจะสอนเด็กตัวเล็กๆไม่ได้เลย สามารถทำให้กลายเป็นเรื่องสนุกได้ โดยที่คนสอนก็สนุกไปด้วย

เห็นหนังสือเรื่องนี้แล้วผมนึกถึงคำพูดของ จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ (George Bernard Shaw) นักเขียนบทละครผู้เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ที่เคยกล่าวไว้ว่า
“What we want is to see the child in pursuit of knowledge, and not knowledge in pursuit of the child.”

สิ่งที่เราต้องการคือเห็นเด็กแสวงหาความรู้ และไม่ใช่ความรู้ต้องแสวงหาเด็กจอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์
Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่