- การหาเหตุผลจากการเปรียบเทียบ (analogy) เป็นการเปรียบกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่การหาเหตุผลจากหลักการแรก (first principles) จะเป็นการสกัดทุกอย่างเพื่อหารากฐานของความจริง แล้วสร้างเหตุผลขึ้นมาจากความจริงนั้น
- ถ้าคุณใช้การคิดแบบหลักการแรก คุณจะมองปัญหาจากมุมที่แตกต่างมาก และมีโอกาสที่จะตัดสินใจได้ดีกว่าคนที่เคยทำๆแบบเดิมๆมาอยู่แล้ว ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับสตาร์ทอัพหลายๆบริษัทใช้เปลี่ยนโลกมาแล้ว
วันนี้ได้อ่านบทความนึงที่น่าสนใจในดิอินดีเพ็นเดนต์ (The Independent) เกี่ยวกับอีลอน มักส์ อีกแล้วครับ และสำหรับผม มันมาในตอนที่ผมกำลังต้องใช้พอดีครับ
ก่อนที่ อีลอนจะมาเป็นยอดนักธุรกิจเปลี่ยนโลกแบบที่เราเห็นอย่างทุกวันนี้ เขาอยู่บนเส้นทางที่จะไปเป็นนักฟิสิกส์มาก่อน อันที่จริงเขาเริ่มการศึกษาปริญญาเอกด้านฟิสิกส์ประยุกต์ (Applied Physics) ในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดไปแล้วด้วย
แต่แม้เขาออกจากการเรียนเมื่อผ่านไปเพียงไม่กี่วันอย่างที่เราเคยอ่านๆเรื่องราวนี้กัน แต่ศาสตร์ด้านฟิสิกส์ประยุกต์นั้นทิ้งอะไรบ้างอย่างไว้ให้กับอีลอน
ไม่แน่ว่าบางที สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ฟิสิกส์ประยุกต์ได้บอกกับอีลอนคือแนวคิดของ “first principles thinking” ซึ่งมุ่งหาสาเหตุของรากฐานที่เป็นแก่นแท้ของปัญหาอย่างไม่ลดละ
“ผมคิดว่ามันสำคัญที่จะหาเหตุผลจากหลักการแรก (first principles) มากกว่าการหาเหตุผลจากการเปรียบเทียบ (analogy)” อีลอนเคยกล่าวไว้ครั้งนึงในการให้สัมภาษณ์กับเควิน โรส
แท้จริงแล้ววิธีคิดแบบ first principles นั้นมีมายาวนานมากแล้ว
กว่า 2300 ปีที่ อริสโตเติล บอกว่า first principles นั้นเป็นรากฐานของความเข้าใจในสรรพสิ่ง และ first principles ยังเป็นกุญแจสำคัญในการค้นหาความจริงอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปรัชญาอย่างที่อริสโตเติลทำ หรือเรื่องของธุรกิจแบบที่อีลอนทำ
ถึงแม้อีลอนจะบอกว่าการถกเถียงหรือการตามหาเกี่ยวกับ first principles นั้น “เหน็ดเหนื่อยและใช้พลังงานทางสมองอย่างมหาศาล” แต่ผลลัพธ์ของมันมีโอกาสที่จะเกิดทางออกแบบมหัศจรรย์ขึ้นได้
วีธีการคิดแบบ first principles นี่แหละที่เป็นกุญแจสำคัญในการเริ่มต้น สเปซเอ็กซ์ (SpaceX)
ตอนที่ อีลอน มักส์ และทีมของเขาพยายามจะคำนวณว่าจรวดลำแรกของ สเปซเอ็กซ์ จะมีต้นทุนประมาณเท่าไร ที่จริงพวกเขาสามารถดูราคาจรวดที่มีคนเคยทำมาแล้ว และเริ่มเปรียบเทียบจากตรงนั้นก็ได้ (ซึ่งเป็นสิ่งที่คนปกติอย่างเราๆพึงจะทำ) แต่ทีมของอีลอนไม่ทำแบบนั้น เพราะการทำแบบนั้นเป็น analogy-based thinking (การคิดเชิงเปรียบเทียบ) ไม่ใช่ first principles thinking (การคิดเพื่อหารากฐานของข้อเท็จจริง)
สิ่งที่พวกเขาทำคือกลับมาสู่จุดเริ่มต้นที่ว่า แท้จริงแล้วการสร้างจรวดต้องมีอะไรบ้าง และหาต้นทุนของแต่ละส่วนที่จำเป็นในการสร้างชิ้นส่วนต่างๆ ที่พวกเขาคิดว่าจำเป็นต่อการสร้างจรวดโดยไม่ได้คำนึงถึงว่าก่อนหน้านี้จรวดเคยมีแบบไหนมาก่อน
ผลที่ออกมาจากวิธีการคิดแบบนี้น่าตกใจมากครับ สเปซเอ็กซ์สามารถสร้างจรวดด้วยต้นทุนประมาณ 2% ของราคาจรวดปกติเท่านั้นเองครับ
อีลอนยังยกตัวอย่างไว้อีกเรื่อง
เขาบอกว่าเราจะได้ยินคนพูดเสมอว่าราคาของแบตเตอรี่นั้นแพงมาก มันเป็นแบบนี้มานานแล้ว และมันก็คงจะเป็นแบบนี้ไปอีกนานเพราะว่ามันเป็นแบบนี้มานานแล้วแหละ
พวกเขาอาจจะพูดว่า “ราคาของมันก็คงจะอยู่แถว 600 เหรียญ/กิโลวัตต์/ชั่วโมง และในอนาคตมันก็คงจะไม่ถูกลงไปสักเท่าไหร่หรอก”
แต่ถ้าคุณใช้ first principles thinking คุณจะไม่คิดแบบนี้ แต่คุณจะตั้งคำถามด้วยคำถามที่พื้นฐานที่สุดคือ
อะไรคือสิ่งที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นแบตเตอรี่ และราคา ณ วันนี้ของวัตถุดิบแต่ละอย่างที่กล่าวมานั้นเป็นเท่าไร
แบตเตอรี่นั้นประกอบด้วย คาร์บอน นิเกล อลูมิเนียม โพลิเมอร์ต่างๆ และเหล็กที่หุ้มมัน
ถ้าเราดูราคาตามวัตถุดิบ แล้วไปดูราคาที่ตลาดกลางในที่นี้คือตลาดโลหะแห่งลอนดอน (London Metal Exchange) มันควรจะมีราคาเท่าไร
สรุปราคามันอยู่ที่ 80 เหรียญ/กิโลวัตต์-ชั่วโมง
นั่นหมายความว่าเราต้องหาวิธีที่ฉลาดกว่านี้ในการรวมวัตถุดิบเหล่านี้เข้ามาเป็นฟังก์ชั่นที่ใช้งานเป็นแบตเตอรี่ เซลล์ (battery cell) ได้ และเราก็จะได้แบตเตอรี่ที่ถูกมากกว่าที่ใครจะนึกถึง
ข้อคิดจากเรื่องนี้: ถ้าคุณใช้ first principles thinking คุณจะมองปัญหาจากมุมที่แตกต่างมาก และมีโอกาสที่จะตัดสินใจได้ดีกว่าคนที่เคยทำๆแบบเดิมๆมาอยู่แล้ว
อันนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผมเอง ผมคิดว่าสตาร์ทอัพที่มาเปลี่ยนโลกหลายๆบริษัทก็มีแนวคิดทำนองนี้เช่นกัน คือมองปัญหาจากอีกมุมหนึ่ง มุมที่ไม่เคยมีใครมอง
เรื่องนี้ฟังดูง่ายๆแต่ถ้าคิดดีๆเอาไปต่อยอดได้มหาศาลครับ
ลิงก์ต้นฉบับ: http://ind.pn/2y98w8t
Photo credit: pinimg.com