การกลับมาของกลุ่มตาลีบัน ที่นำฝันร้ายมาสู่ ‘20 ปีแห่งการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี’ ในอัฟกานิสถาน

465
สิทธิสตรี

หลังจากที่กรุงคาบูลถูกบุกยึดครองโดยกลุ่มตาลีบัน นับว่าเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการล่มสลายของรัฐบาลอัฟกานิสถาน ส่งผลให้ทั้งประชาชนภายในประเทศและชาวต่างชาติ ต้องลี้ภัยออกมาอย่างโกลาหล มีข่าวว่าผู้ลี้ภัยบางส่วน ต้องพยายามดิ้นรนเอาตัวรอด เกาะล้อเครื่องบินเพื่อหนีออกมา จนพลาดตกลงมาเสียชีวิตหลายราย

เหตุการณ์นี้เป็นเหมือนกับฝันร้ายของชาวอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะกับ ‘ผู้หญิง’ เพราะ 80% ของผู้ลี้ภัยนับแสน เป็นผู้หญิงและเด็ก ซึ่งได้ทยอยลี้ภัยออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม

ข้อมูลดังกล่าวเป็นการบ่งชี้ว่า การกลับมาของกลุ่มตาลีบัน มีนัยสำคัญที่ทำให้หญิงสาวชาวอัฟกัน ต้องทิ้งบ้านเกิดและหนีเอาตัวรอดออกมาจากฝันร้ายนี้

Advertisements

ประวัติศาสตร์การกดขี่

กลุ่มตาลีบันเคยปกครองประเทศอัฟกานิสถาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 โดยได้นำกฎหมายอิสลาม อันเคร่งครัดมาบังคับใช้ด้วย ซึ่งมีข้อบังคับมากมายที่กดขี่สิทธิเสรีภาพของผู้หญิง เช่น ต้องแต่งตัวมิดชิด ให้อยู่แต่ในบ้านเท่านั้น หากจะออกไปไหนต้องไปกับครอบครัว และห้ามเด็กผู้หญิงเรียนหนังสือ รวมถึงไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง เรียกได้ว่าขาดสิทธิเสรีภาพในฐานะมนุษย์คนหนึ่งไปโดยปริยาย

ที่โหดร้ายไปกว่านั้น หากผู้หญิงถูกจับได้ว่าทำผิดกฎดังกล่าว จะถูกลงโทษทั้งเฆี่ยนตี ขว้างปาด้วยก้อนหินจนเสียชีวิต จนอัฟกานิสถานมีสถิติการเสียชีวิตของผู้หญิงสูงที่สุดในโลก

20 ปีของการต่อสู้

หลังการล่มสลายของกลุ่มตาลีบัน ในปี พ.ศ. 2544 จากนั้น 2 ปีถัดมาก็ได้เกิดอนุสัญญา ที่ประกาศให้กฎหมายของประเทศ ต้องมี ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ ไว้เป็นหลัก ทำให้ภาพรวมของสิทธิสตรีในด้านต่างๆ ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้หญิงสามารถประกอบอาชีพได้ รวมถึงมีกฎหมายต่อต้านการคลุมถุงชน

แต่ถึงแม้จะมีกฎหมายมารองรับ แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ มีรายงานจาก UNICEF ว่ามีเด็ก 3.7 ล้านคนที่ไม่รู้หนังสือ โดย 60% เป็นเด็กผู้หญิง

การกลับมาของยุคมืด

หลังชัยชนะของกลุ่มตาลีบันที่กรุงคาบูล มีส่วนหนึ่งของข้อความจากผู้นำ ที่ระบุว่า พวกเขาต้องการให้ “สิทธิสตรีในอัฟกานิสถาน เป็นไปตามหลักการของศาสนา”

Advertisements

รายงานจากองค์การสหประชาชาติ (เดือน ก.ค.) เผยว่าในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา จำนวนผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตของเด็กผู้หญิง และหญิงชาวอัฟกัน เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ในพื้นที่ที่ถูกยึดครองโดยกลุ่มตาลีบัน ก็มีการห้ามเด็กผู้หญิงไปโรงเรียน รวมถึงหญิงสาวก็ต้องพยายามปฏิบัติตนให้อยู่ในกรอบของหลักศาสนา จะได้ไม่โดนทำร้าย

บรรดาชาวอัฟกันผู้ต่อต้าน รวมถึงผู้หญิงที่ไม่ยอมกลับไปอยู่ในยุคมืดของกฎหมายลิดรอนสิทธิสตรี ของกลุ่มตาลีบัน ก็ได้พากันออกมาประท้วง แสดงพลังต่อต้าน รวมถึงถือปืนต่อสู้ ซึ่งตอนนี้พวกเขาต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจากคนทั่วโลก

แปลและเรียบเรียงจาก :
https://bit.ly/3k5iAG3
https://bit.ly/3y0Hsnj

#missiontopluto
#missiontoplutopodcast
#brief

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements