“Squid Game” กับหลักจิตวิทยาของ “Yerkes-Donson” ที่ทำให้เกมง่ายๆ กลายเป็นเรื่องยาก

671
Yerkes-Donson

**Spoiler Alert! บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วน**

.

.

Advertisements

.

Squid Game คือซีรีส์ที่เรียกได้ว่า “เสียงแตก” เพราะมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ ซึ่งความไม่ชอบก็เกิดขึ้นจากหลายเหตุผล ไม่ว่าจะวิธีการนำเสนอเนื้อหา รูปแบบของเกม โดยเฉพาะเรื่องของ “ความไม่สมเหตุสมผล” จากตัวละคร ที่หลายคนมองว่า เรื่องง่ายๆ ดันทำให้ยากกันไปเอง ถ้าทำแบบนั้นแบบนี้ ก็ผ่านด่านได้สบายๆ แล้ว

หากเคยรู้สึกแบบนี้ อาจแปลว่าคุณได้ติดกับดักความคิดในมุมมองของบุคคลที่ 3 ที่เฝ้ามองเหตุการณ์ จนลืมมองปัจจัยสำคัญอย่าง “ความกดดัน” ที่ผู้เข้าแข่งขันต้องเผชิญ

เมื่อคนจำนวน 456 ชีวิต ได้เข้าร่วมแข่งขัน “Squid Game” เพื่อชิงเงินรางวัล ซึ่งต้องเดิมพันด้วยชีวิต และหวังว่าสุดท้ายเงินรางวัลก้อนนี้จะช่วยพลิกชีวิตอันมืดมิดของพวกเขาให้พบกับแสงสว่างได้สักที

ด้วยเป้าหมายและกฎของเกมนี้ ที่ได้บีบให้ผู้เข้าแข่งขันทุกคน ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด ตรงกับกฎของ “Yerkes-Dodson” ที่ว่าด้วยเรื่องของอิทธิพลของความกดดัน ที่มีต่อศักยภาพของมนุษย์ ถูกค้นพบเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว

กฎของ “Yerkes-Dodson” ได้บอกว่า ถ้ามนุษย์มี “ความกดดันเบาๆ” เข้ามากระตุกต่อมในใจ เมื่อนั้นเราจะกระหายความท้าทาย ตื่นเต้น และอยากมีส่วนร่วม

ให้ลองสังเกตในชีวิตการทำงานของพวกเรา ทุกครั้งที่มีโปรเจกต์ใหม่เข้ามา ก็มักจะตื่นเต้น สนใจ อยากลงมือทำ เหมือนกับได้ยาดีมาเพิ่มพลังใจ ซึ่งหลายคนต้องเคยผ่านจุดนี้กันมาแล้วทั้งนั้น เมื่อไรก็ตามที่มีความท้าทายเข้ามาปลุกเร้า เราจะสามารถแสดงศักยภาพออกมาได้ดี และรู้สึกสะใจหากทำสำเร็จตามเป้า จริงไหม?

Advertisements

แต่นั่นเป็นในกรณีที่เรา “รับมือได้” และถ้าหากความกดดันนั้นมากเกินที่จะรับมือไหว ถึงตอนนั้นเราจะเริ่มลนลาน ทำอะไรผิดๆ ถูกๆ ต่างจากปกติที่เคยเป็น

ดังนั้นความสัมพันธ์ของ “ความกดดันและความสามารถ” จึงมีลักษณะเป็นรูป “ตัว U กลับหัว” หมายความว่าเมื่อกดดันมากขึ้น ศักยภาพก็จะเพิ่มขึ้น จนถึงจุดที่กดดันมากเกิน แล้วทุกอย่างพังลง

ดังนั้นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ตัวละครในเกมที่เล่นเพื่อลุ้นตายอย่าง Squid Game ก็คือจุดที่ “แรงกดดันมีมากเกินไป” จนมนุษย์รับมือไม่ได้ จนขาดสติ ทำอะไรไม่ถูก จากเรื่องง่าย กลายเป็นยาก

ยกตัวอย่างจากเกม Red Light, Green Light ที่หลายคนอาจมองว่าไม่ยาก แค่จับจังหวะเดินตามเสียงเพลงก็ผ่านแล้ว แต่ในตอนนั้นไม่มีใครคิดว่าการตกรอบ จะเท่ากับความตาย ก็เลยเกิดความกดดันจนสติแตกกันไป ผลสุดท้ายคือตายไปค่อนกลุ่ม

และอีกหนึ่งตัวอย่าง คือเกมน้ำตาล Dalgona แม้ในชีวิตจริงเกมนี้จะไม่ได้ยากอะไรนัก แต่เมื่อมนุษย์ถูกกดดัน ด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลา และกฎที่ระบุไว้ว่าผู้แพ้จะต้องตาย จึงยากมาก ที่ผู้เข้าแข่งขันจะผ่านด่านเกมนี้ไปแบบสบายๆ

Squid Game จึงไม่ใช่ซีรีส์ที่มีรูปแบบของ “เกมที่ดีที่สุด” แต่แทนที่ด้วยการนำเสนอ “ความเป็นมนุษย์” ได้อย่างชัดเจน เริ่มตั้งแต่การเข้าร่วมเล่นเกม ที่แม้จะรู้ว่าต้องตาย แต่เพื่อเงินก็ยอมได้ และเมื่อถึงจุดที่ต้องทำทุกอย่างเพื่ออยู่รอด ด้านมืดในจิตใจจะผลักดันให้มนุษย์ทำอะไรลงไปได้บ้าง?

แปลและเรียบเรียงจาก:
https://bit.ly/3FWGSw2
https://bit.ly/3AUSHiw

#missiontopluto
#missiontoplutopodcast
#squidgame #society

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/category/entertainment/

Advertisements