“แกะน้ำตาลแผ่น หยุดที่ไฟแดง เดินที่ไฟเขียว” จับเทรนด์ฮิตกับพลังแห่ง ‘Soft Power’ จาก Squid Game

476
Squid Game

“Squid Game เล่นลุ้นตาย” อีกหนึ่งซีรีส์ฮิตจาก Netflix ที่มีเนื้อหาบอกเล่าถึงเกมชิงเงินรางวัล ที่ผู้เล่นต้องฝ่าด่าน “6 เกมอันตราย” ที่ตอนแรกดูจะเป็นเกมเด็กเล่นทั่วไป แต่สุดท้ายการจะเล่นให้ชนะ กลับต้องใช้ชีวิตเป็นเดิมพัน

และต่อมา Squid Game ก็กลายเป็นกระแสทั่วโลก ถูกหยิบมาพูดถึงในแง่มุมต่างๆ ทั้งในด้านบทละคร เนื้อหาสังคม การจิกกัดทุนนิยม และ “ความโหด” ที่อาจรุนแรงเกินไป จนไปสร้างความกังวลใจให้ผู้ใหญ่ ที่กลัวเยาวชนจะไปทำตาม

แต่นอกเหนือจากประเด็นของเรื่องเนื้อหา อีกหนึ่งอย่างที่ไม่พูดถึง ก็คงไม่ได้ คือการส่งออกวัฒนธรรม หรือ “Soft Power” ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศเกาหลีใต้มานาน โดยซีรีส์เรื่องนี้ ก็ทำไว้ดีมากๆ จนสามารถสร้าง “พฤติกรรมเลียนแบบ” ที่แม้จะไม่โหดเหมือนในซีรีส์ แต่ก็มีคนทั่วโลกที่อยากลองทำตาม

Advertisements

“หยุดที่ไฟแดง เดินที่ไฟเขียว”

มีเหตุการณ์ที่ TikToker คนหนึ่งในอเมริกา ได้เปิดเสียงจิงเกิล ที่เป็นสัญลักษณ์ของเกม Red Light, Green Light กลางถนนในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ทันใดนั้น ไม่ว่าจะรถยนต์ หรือคนเดิน ก็หันมาเล่นเกมนี้พร้อมกันโดยไม่ได้เตี๊ยม แม้แต่ตำรวจแถวนั้นก็เล่นกับเขาด้วย!

ชาวเกาหลีที่ได้ดูคลิป รู้สึกทึ่งกับเหตุการณ์นี้ พวกเขาไม่คิดว่าเทรนด์ของ Squid Game จะไปส่งผลต่อพฤติกรรมของคนในต่างประเทศขนาดนี้ ซึ่งนี่คือคอมเมนต์บางส่วน

“นี่คือจุดแข็งของวัฒนธรรมที่แท้จริง คึคึ อัศจรรย์” “น่าสนใจมาก kkk” “ว้าว kkk”

นอกจากนี้ อีกหนึ่งเทรนด์ที่ฮอตสุดๆ ตอนนี้ก็ต้องยกให้ “เกมแกะน้ำตาล Dalgona”

เกม Dalgona มีที่มาจากการละเล่นของเด็กๆ ที่จะใช้เข็มเลาะตามลวดลายที่อยู่บน “ขนมปบกิ” ที่เป็นขนมพื้นบ้านเกาหลี มีขายตามริมถนนทั่วไป ซึ่งความท้าทายคือ ขนมชนิดนี้ทำจากน้ำตาลทราย และเบกกิ้งโซดา จึงแตกง่าย กลายเป็นว่าพอไปอยู่ในซีรีส์ เกมนี้จึงน่าลุ้นไม่แพ้เกมอื่นเลย

Advertisements

จากความท้าทายดังกล่าว เลยเป็นที่มาของปรากฏการณ์ “Dalgona Challenge” ที่เชิญชวนให้คนดูได้ลองทำตาม ดูซิว่าจะรอดหรือร่วง ซึ่งก็มีทั้งบูธเล็กๆ ที่ใช้โปรโมตซีรีส์ Squid Game ในกรุงปารีส ซึ่งคนไปต่อคิวเล่นแบบถล่มทลาย รวมถึงเป็นเทรนด์ในหมู่ Youtuber ด้วย

จากสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นการสร้างความน่าสนใจให้ขนมพื้นบ้านของประเทศเกาหลีใต้ ให้เป็นที่รู้จักในสายตาชาวโลก ผ่านการส่งออกด้วย Soft Power ได้อย่างน่าทึ่ง

เทรนด์ที่เราได้หยิบยกมาในวันนี้ เป็นแค่ตัวอย่างของ “พฤติกรรมเลียนแบบ” ที่เกิดจาก Soft Power วัฒนธรรมเกาหลีใต้ ด้วยสื่อที่คนเข้าถึงได้ทั่วโลก ซึ่งหากทำได้น่าสนใจมากพอ ก็สามารถทำให้สินค้าวัฒนธรรมนั้นๆ เด่นขึ้นมา จนคนสนใจที่จะเรียนรู้ และทำตาม

สุดท้ายแม้ว่าซีรีส์ Squid Game อาจจะมีเนื้อหารุนแรง แต่สุดท้ายผู้รับสารก็มีวุฒิภาวะ และวิจารณญาณมากพอที่จะหยิบด้านสร้างสรรค์มาต่อยอด ซึ่งก็ไม่ได้มีใครหยิบปืนมาไล่ยิงแบบในหนัง แถมยังสามารถสะท้อนสังคม ชี้ให้เห็นความเหลื่อมล้ำในระบบทุนนิยมได้อีกด้วย

แปลและเรียบเรียงจาก :
https://bit.ly/3oWGgjM
https://bit.ly/3ltZafX
https://bit.ly/3mKadkJ

#missiontopluto
#missiontoplutopodcast
#trend #squidgame

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/category/entertainment/

Advertisements