‘จุนจิ อิโต้’ เจ้าพ่อความหลอน คลังสยองของวงการนักวาด

2729
จุนจิอิโต้

ว่ากันว่า

“ไม่มีใครถ่ายทอดความกลัว ได้ดีเท่ากับคนที่กลัวสิ่งนั้นจริงๆ”

ดูเหมือนว่าคำกล่าวนี้จะเป็นจริงยิ่งขึ้นไปอีกกับชายที่ชื่อ จุนจิ อิโต้(Junji Ito) เจ้าพ่อการ์ตูนแนวสยองขวัญสั่นประสาทเบอร์ต้นๆ ของญี่ปุ่น เรามาทำความรู้จักชายที่เปลี่ยนความกลัวของตัวเอง ให้กลายเป็นความสยองที่หลอนคนมาแล้วทั่วโลก จนกลายเป็นนักเขียนที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในวงการการ์ตูนญี่ปุ่น

สำหรับใครที่อ่านผลงานการ์ตูนแนวสยองของ จุนจิ อิโต้ คงจะทราบดีว่าคอนเซ็ปต์ของเขามักเป็นมังงะสยองที่เข้าถึงง่าย แหวกแนว จนทำให้เราต้องหันกลับมามองสิ่งที่อยู่รอบตัวทุกครั้งที่อ่านจบ จากภาพของมนุษย์ที่บิดเบี้ยว มีสัดส่วนที่ผิดเพี้ยนไปจากสามัญสำนึก การใช้สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน แล้วขยายวงกว้างให้กลายเป็นเรื่องสยอง

Advertisements

แค่ลายนิ้วมือที่ขดเป็นวง ไปจนถึงอาการคันยิบๆ ตามร่างกาย ด้วยลายเส้นที่ชวนสยอง จนหลายๆ ครั้งเราแทบจะได้กลิ่นที่น่าสะอิดสะเอียนออกมาจากรูป หรือบางครั้งก็เป็นที่ที่สวยงาม จนชวนหลงใหล โดยหารู้ไม่ว่าใต้เปลือกนั้นกลับมีความโสมมที่ซ่อนอยู่

ย้อนไปในปี 1963 ปีที่จุนจิอิโต้ ถือกำเนิดขึ้น คุณจุนจิ เป็นชาวกิฟุ ที่ๆ เขาใช้ชีวิตวัยเด็กเหมือนเด็กชายชาวญี่ปุ่นทั่วๆ ไป ใช้ชีวิตในชนบทเที่ยวเล่นตามประสาเด็ก และด้วยความที่อาศัยอยู่ในชนบท ก็มีแมลงต่างๆ มากมาย รวมถึงห้องน้ำที่บ้าน ก็อยู่ชั้นใต้ดิน ที่มีแมงและแมลงต่างๆ หลุดเข้าไปอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งก็เป็นแรงบันดาลใจในงานวาดของจุนจิอิโต้ในภายหลังด้วยเช่นกัน

ก้าวเข้าสู่โลกแห่งความสยอง

#แต่การก้าวเข้าสู่โลกแห่งความสยองนั้น มันเริ่มต้นจากตรงนี้ ด้วยความที่ จุนจิ อิโต้ เป็นน้องชายคนเล็กของพี่สาวสองคน พี่สาวมักจะใช้เวลาว่างในการอ่านการ์ตูนสยองจากคาสุโอะ อุเมสุ ซึ่งเป็นนักวาดการ์ตูนสยองชั้นครู ที่มีผลงานสร้างชื่ออย่างเรื่อง Drifting Class Room ฝ่ามิติสยอง แต่สื่อที่ดูจะมีอิทธิพลกับจุนจิอิโต้ไม่ได้มีเพียงแค่การ์ตูนเท่านั้น แต่มาจากหนังสยองขวัญที่ดูผ่านทีวีตอนเด็กๆ ในยุค 70s ด้วย

คุณจุนจิ เริ่มวาดเส้นเล่นๆ เป็นงานอดิเรกตั้งแต่เด็กจนถึงอายุ 24 ปี ที่เขาทำงานเป็นผู้ช่วยทันตแพทย์ และได้วาดรูปส่งประกวดการ์ตูนสั้นในงาน Gekkan Halloween และได้รางวัลชมเชยมา และที่แห่งนั้นเขาได้พบกับ คาสุโอะ อุเมสุ ที่เป็นเหมือนไอดอลเขาตั้งแต่ยังเด็ก เป็นผู้มามอบรางวัลให้

ภายหลัง เรื่องสั้นนั้นกลายเป็นผลงานสร้างชื่อให้กับจุนจิ อิโต้ นั่นก็คือ โทมิเอะ นั่นเอง เรื่องราวของสาวสวยปริศนา ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกของเธอ ทำให้หนุ่มๆ หลงใหล แต่ด้วยการกระทำของเธอ ที่เอาแต่ใจ หยิ่งยโส และเย้ายวน ทำให้จุดจบของโทมิเอะไม่สวยงามนัก ต้องอยู่ในความสัมพันธ์ที่ปลายทางคือคดีฆาตกรรม ทุกครั้งที่เธอถูกฆ่า เธอจะกลับมาเสมอ และคอยปั่นหัวคนอื่นอยู่ร่ำไป 

แรงบันดาลใจมาจากช่วงวัยเรียนของจุนจิ อิโต้ ที่เพื่อนร่วมชั้นเกิดเสียชีวิต แล้วเขาก็เหม่อมองไปที่ประตูห้อง พร้อมความคิดว่า จะเป็นยังไงนะถ้าเพื่อนกลับมา และเริ่มทำให้เขาเริ่มมีชื่อในฐานะนักเขียนการ์ตูน

ก้นหอยมรณะ

#ผลงานชิ้นต่อมาของจุนจิ อิโต้ คือ Uzumaki หรือก้นหอยมรณะ เรื่องราวของหมู่บ้านประหลาดที่มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับก้นหอยปริศนา ไม่ว่าจะเป็นทรงผม ลายนิ้วมือ ไปจนถึงคนที่ร่างกายบิดเบี้ยวขดกลายเป็นวงเป็นเรื่องราวที่จะเปลี่ยนมุมมองของขดหอยไปตลอดกาลในช่วงยุค 90s

เข้ายุคปี 2000 จุนจิก็ผลิตผลงานอีกชิ้น ที่สร้างความสะอิดสะเอียนไปทั่วในชื่อ The Gyo หรือชื่อไทย  ปลามรณะ เหตุการณ์ที่อยู่ๆ ในเมืองก็โดนบุกโดยปลามีขา แต่แท้ที่จริงแล้ว มันไม่ใช่ปลา แต่เป็นเครื่องจักรที่ถูกสร้างไว้จับปลา แล้วปล่อยให้เน่าเพื่อเอาก๊าซที่เกิดขึ้นมาใช้ในการขับเคลื่อนเครื่องจักร และมันไม่ได้จับแค่ปลา แต่ลามมาถึงมนุษย์ด้วยเช่นกัน เป็นงานแรกของอาจารย์ที่ได้ถูกตีพิมพ์ในประเทศไทย

ทั้งสามเรื่องหลักนี้ถือเป็นผลงานสร้างชื่อให้กับอาจารย์จุนจิ อิโต้ และถูกนำไปดัดแปลงทำเป็นหนังคนแสดงหรือแอนิเมชันอยู่มาก แรงบันดาลใจต่างๆ ในการวาดการ์ตูนของอาจารย์จุนจิ อิโต้ นั้น มาจากเรื่องในชีวิตประจำวัน หรือแม้กระทั่งความฝัน ในทางกลับกัน ก็ยังได้รับอิทธิพลจากนักเขียนการ์ตูนท่านอื่นๆ อย่าง คาสุโอะ อุเมสุ  เอโดคาว่า รันโปะ นักแต่งนวนิยายแนวสืบสวนสอบสวน 

ไปจนถึง H.P. Lovecraft อย่างที่เราได้เห็นใน เรมิน่า ดาวมรณะ เรื่องราวของดาวเคราะห์ประหลาดที่โผล่ออกมาจากรูหนอน ดร.ผู้ค้นพบจึงตั้งชื่อตามลูกสาว เรมิน่า ปรากฏว่าดาวเคราะห์ประหลาดนั้นกลับกลายเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดยักษ์ที่กลืนกินหมู่ดาว เรมิน่า เด็กสาวจึงกลายเป็นตัวแทนความเกลียดชัง และถูกคนไล่ล่าเพื่อนำไปเป็นเครื่องบูชา

Advertisements

การนำเสนอที่สะท้อนสังคม

#เป็นการนำเสนอที่กระแทกไปยังสังคม ในยุคที่การดังข้ามคืนสามารถเกิดขึ้นได้ง่าย และความเกลียดชังที่ไร้เหตุผลก็เช่นกัน ซึ่งการเล่าเรื่องในแนวเชิงวิพากษ์สังคมก็เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของงานจุนจิเช่นเดียวกัน ไม่แพ้การหยิบยกเรื่องราวที่พบเห็นในชีวิตประจำวันมาขยายสเกลให้กลายเป็นเครื่องสยอง

งานของอาจารย์จุนจิ มักจะเล่าเรื่องราวของคนธรรมดา ที่ต้องเข้าไปพัวพันกับเหตุการณ์ที่บิดเบี้ยวผิดธรรมชาติ หลีกเลี่ยงก็ไม่ได้ และไม่สามารถต่อสู้กับมันได้เลย ไม่ว่าจะพยายามขนาดไหนก็ตาม
หรือเป็นการตั้งแง่กับสิ่งที่เกิดขึ้นภายในใจ ความอิจฉาริษยา และผลลัพย์ที่ออกมาวิปริต ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้กลายเป็นเอกลักษณ์ของอาจารย์จุนจิจนถึงทุกวันนี้

นอกจากงานวาดก็มีงานเขียนวรรณกรรมด้วยที่เขาทำได้ดีไม่แพ้กัน อย่างเรื่อง Frankenstein วรรณกรรมอมตะที่ถูกดัดแปลงในแบบของอาจารย์จุนจิ ได้รับรางวัล ไอเนอร์ อวอร์ด ในปี 2019

อาจารย์จุนจิ อิโต้ เคยกล่าวไว้ว่า ถึงแม้ตัวเขาจะผลิตงานสยองออกมา แต่ในอีกมุมหนึ่งเขาก็เป็นคนกลัวผีอยู่เหมือนกัน โดยเปรียบเทียบตัวเองกับตัวละคร โซอิจิ เด็กชายคาบตะปู หนึ่งในตัวละครที่อยู่ในคลังสยองของจุนจิ เด็กคนนี้เป็นเด็กคลั่งไสยศาสตร์ ต่อต้านสังคม แต่ถ้าวันหนึ่ง เขาเลิกคาบตะปูแล้วเติบโตขึ้น เด็กคนนี้จะกลายเป็นตัวเขาเองในอนาคต



Time to Play EP.30 | เปิดคลังสยอง จุนจิ อิโต้ บิดาแห่งความสยองขวัญวงการนักวาด 

Spotify: https://spoti.fi/3eju4CI

SoundCloud: https://bit.ly/34M6B9S

Podbean: https://bit.ly/34VsrZd

Apple Podcast: https://apple.co/2TMh3Im

#missiontopluto
#missiontoplutopodcast
#timetoplay

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/online-content/

Advertisements