ชวนคิดตามกับ 5 ประเด็นสำคัญ ในสารคดี “เอหิปัสสิโก”

804
Come and See

“เอหิปัสสิโก จงมาดู” สารคดีเชิงข่าวที่บอกเล่าเนื้อหาเกี่ยวกับ “วัดพระธรรมกาย” ซึ่งเป็นวัดที่มีประเด็นให้ถกเถียงกันอย่างหนัก ตั้งแต่หลายปีก่อน เรียกได้ว่าช่วงนั้นเป็นปรากฏการณ์แห่งศรัทธา ที่มีตัวแปรเป็นหลักศาสนา ความเชื่อต่อวัดพระธรรมกาย และอำนาจรัฐ ซึ่งได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในเกมนี้ด้วย

จากประเด็นร้อนเรื่องวัดพระธรรมกาย ทำให้สังคมไทยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือฝ่ายลูกวัดที่พร้อมปกป้องด้วยชีวิต กลุ่มที่สองคือฝ่ายโค่นล้มธรรมกาย และกลุ่มสุดท้ายคือผู้ชม ในสงครามศรัทธาอันน่าสนุก

Advertisements

การวิพากษ์วิจารณ์ดำเนินไปเรื่อยมา มีข้อกล่าวหามากมายที่โจมตีวัดพระธรรมกาย จนในปี พ.ศ.2560 มีการใช้อำนาจ ม.44 โดยรัฐบาล คสช. ในขณะนั้น ซึ่งทำการบุกจับกุมพระธัมมชโย  แต่หลังจากการบุกค้นวัด กลับไม่พบแม้แต่เงาของเจ้าอาวาส และยังคงเป็นปริศนาจนถึงทุกวันนี้

ความเด็ดของสารคดีเรื่องนี้คือ เขาจะพาเราไปสัมผัสกับมุมมองของแต่ละฝ่าย โดยไม่ชี้ว่า “ใครถูกหรือผิด” แต่จะชวนให้คิดและส่งอำนาจการตัดสินใจให้เราไปสรุปกันเอาเอง ซึ่งวันนี้ผมได้นำ 5 ประเด็นที่น่าสนใจ ดูแล้วน่าคิดตามสุดๆ เลยอยากมาคุยกับเพื่อนๆ กันว่า คิดเห็นกันอย่างไร?

1. หลักปฏิบัติ และมุมมองระหว่างคนนอก – คนใน

สารคดีเปิดเรื่องด้วยมุมมองที่แตกต่างกันของคนนอก ที่ต่อต้าน และคนในที่เป็นลูกศิษย์วัด ด้วยคำบอกเล่าถึงประเด็นต่างๆ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม ไม่ว่าจะเรื่องการหลอกคนทำบุญจนหมดตัว ความเชื่องมงาย

เริ่มด้วยประโยคที่นำเสนอประเด็นความงมงาย
ฝ่ายต่อต้าน : “ไปทำบุญแล้วพอกลับบ้านมาก็ได้กลิ่นเหม็นเน่า คิดว่าวัดนี้ใช้ไสยศาสตร์มนต์ดำ”
ฝ่ายลูกวัด : “วัดนี้ไม่มีเลย เป็นพุทธแท้ ที่ปราศจากเรื่องงมงาย”

ต่อด้วยประเด็นของการทำบุญจนคลั่ง
ฝ่ายต่อต้าน : “เนี่ย บังคับให้ทำบุญจนหมดตัว ขายบ้านมาสร้างวัด”
ฝ่ายลูกวัด : “ไม่เคยบังคับ ทำก็ด้วยศรัทธาล้วนๆ”

ประเด็นดังกล่าวก็เป็นประเด็นที่เถียงกันไม่จบ เพราะถูกมองโดยมุมมองที่แตกต่างกัน เป็นความรู้สึกนิดคิดที่ผ่านการตีความโดยความเชื่อคนละชุด ซึ่งเป็นเรื่องของความศรัทธา ไม่สามารถตัดสินได้ว่าสิ่งไหนถูกหรือผิดกันแน่

และอีกหนึ่งเรื่องที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ สารคดีได้สัมภาษณ์ผู้ที่เคยศรัทธา รวมถึงผู้เป็นอดีตพระรูปสนิทของเจ้าอาวาสด้วย
โดยแต่ละคนมีเหตุผลที่ตัดสินใจหันหลังให้วัดพระธรรมกายว่า “แนวทางปฏิบัติที่หากินกับเงิน คือสิ่งผิดจากพระพุทธศาสนา”

ซึ่งเรื่อง “เงิน” นี่แหละคือจุดสำคัญ ที่ทำให้วัดพระธรรมกาย และพระธัมมชโย ถูกสอบสวนในข้อหาฉ้อโกง ฟอกเงิน และอีกมากมาย จนนำไปสู่เหตุการณ์ในปี 2560

5ประเด็นเอหิปัสสิโก 2

2. การปรับตัวเข้ากับยุคสมัย ที่ทำให้ “ศาสนา” เข้าถึงง่าย

ในอดีตเรามีศาสนาไว้ “ยึดเหนี่ยวจิตใจ” รวมถึงทำหน้าที่ในหลายบทบาท ทั้งสอนหนังสือ เป็นแหล่งรวมวิทยาการต่างๆ ไว้มากมาย เรียกได้ว่าครอบคลุมชีวิตในแต่ละด้าน

แต่บนโลกสมัยใหม่ ที่เรามีรัฐบาล มีสังคม มีหน่วยงานอื่นๆ ที่คอยดูแลการใช้ชีวิตอยู่แล้ว ศาสนาจะยังมีความจำเป็นอยู่เหรอ?

ยิ่งกับยุคนี้ที่คนเริ่มหันมาไม่นับถือศาสนากันมากขึ้น ไม่ว่าจะพุทธ คริสต์ หรืออื่นๆ เพราะบทบาทของศาสนาค่อยๆ เลือนหายไปกับกาลเวลา ทำให้หลายคนมองว่าไม่จำเป็นต้องมีศาสนา ชีวิตเขาก็อยู่ดีมีสุข แถมเรื่องของศาสนายังดูงมงาย น่าเบื่อ และเสียเวลา

วัดพระธรรมกาย จึงเป็นการหาคำตอบให้กับคำถามที่ว่า “บนโลกยุคปัจจุบัน เราจะมีศาสนาไว้ทำไม?”
ด้วยการทำให้ศาสนา เข้าถึงง่าย จับต้องได้ มีความเป็นปัจจุบันที่ผสมผสานกับความเป็นทุนนิยม ทำแล้วเห็นผล นำเสนอพิธีกรรมด้วยความยิ่งใหญ่ น่าประทับใจ

จุดนี้เป็นสิ่งที่ทำให้วัดพระธรรมกาย โดดเด่นยิ่งกว่าวัดไหนๆ เพราะทั่วไปวัดส่วนใหญ่ก็จะสอนในสิ่งที่ฟังดู “นามธรรม” จับต้องไม่ได้ ซึ่งวัดพระธรรมกาย แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง

Advertisements
5ประเด็นเอหิปัสสิโก 3

3. ภาพสะท้อนความเป็น “พุทธไทย” ที่เน้นทุนนิยม

มุมมองหนึ่งที่สำคัญในสารคดีชุดนี้คือการชี้ให้เห็นถึง ความเป็นพุทธ แบบไทยๆ ที่ไม่ได้สวยงาม ซึ่งวัดพระธรรมกาย หยิบมาใช้เพื่อดึงดูดศรัทธาจากคนไทย จนกลายเป็นวัดที่มีอิทธิพลอันดับต้นๆ ในพุทธศาสนาไทย โดยมีศิษย์จำนวนกว่า 4 ล้านคน

จากสารคดี เราพบว่าคำสอนหลายข้อของวัดพระธรรมกาย ดูจะขัดกับหลักของศาสนาพุทธไปมาก เพราะค่อนข้างยึดกับ “ทุนนิยม” ไม่ว่าจะสอนให้ทำทานบริจาคสะสมบารมีเอาไว้ จะได้รวย และสบายในชาติหน้า รวมถึงยึดติดกับ “รูปลักษณ์ภายนอก” ตามคำบอกเล่าของลูกวัดท่านหนึ่งว่า “เพราะทำบุญมาดี จึงผิวขาว ผ่องใส หน้าตาดี” ซึ่งพุทธศาสนาสอนให้ละทิ้ง เพราะทุกสิ่งเป็นอนัตตา หรือก็คือไม่มีอยู่จริง เป็นจิตปรุงแต่งทั้งนั้น จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมพระถึงต้องปลงผม ปลงคิ้ว

คำสอนของวัดพระธรรมกายจึงตรงใจคนไทยหลายคน ที่ชอบคิดว่าการจะทำบุญ ต้องบริจาคให้มาก ยิ่งบริจาคเยอะ ยิ่งได้บุญมาก รวมถึงชอบบูชาวัตถุต่างๆ เพื่อให้ “บุญกลับเข้าหาตัว” หรือก็คือ ทำบุญ เพื่อหวังบุญ ไม่ได้ทำบุญเพราะอยากช่วยเหลือจากใจ หรือที่ยุคสมัยนี้เรียกว่าสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรม

ดังนั้นการมีอยู่ของวัดธรรมกาย จึงเป็นภาพสะท้อนความจริงของ พุทธศาสนาแบบไทยๆ ที่ไม่ได้สวยงาม แต่มีอยู่จริง แค่ทำบุญเพื่อให้ตัวเองดูเป็นคนดี และหวังว่าการทำบุญนั้นจะช่วยเสริมบารมีให้ตัวเองได้สบายเท่านั้นเอง

ซึ่งพอมันถูกหยิบมานำเสนอ นำมาใช้งานเพื่อกิจการของวัดแบบโจ่งแจ้ง คนไทยหลายคนจึงรับไม่ได้ เพราะความจริงมันไม่สวยงามตามที่คิด

5ประเด็นเอหิปัสสิโก 4

4. สงครามระหว่างสถาบันเพื่อแย่งชิง “ความศรัทธา”

ข้อนี้ต้องขอไฮไลต์ไว้เลย เพราะน่าคิดมากๆ โดย “คุณไพบูลย์ นิติตะวัน” ได้ให้ความเห็นว่า เหตุผลที่รัฐบาล คสช. ต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดการวัดพระธรรมกาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอิทธิพลจากศรัทธาของประชาชน ซึ่งให้การสนับสนุนวัดพระธรรมกายอย่างล้นหลาม จึงถูกมองว่าเป็น “ภัยความมั่นคงของชาติ”

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมถึงขั้นเป็นภัยความมั่นคง? เพราะสถาบันหลักจะดำรงอยู่ได้ ก็ด้วยความศรัทธาจากผู้คน แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้าศรัทธาที่เคยมี ถูกเอนเอียงไปหาสิ่งอื่น ในที่นี้คือสถาบันหน้าใหม่ไฟแรง แต่กลับได้รับความศรัทธาอย่างล้นหลาม อย่างวัดพระธรรมกาย

คำตอบคือ สถาบันดั้งเดิม ก็เกิดความสั่นคลอน กลัวที่ถูกท้าทาย กลัวจะสูญเสียศรัทธา ก็เลยต้องมีการลงดาบจัดการ เพื่อกำจัดคู่แข่ง

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ชวนคิดหรือเพราะเรื่องดังกล่าว ทำให้รัฐบาล คสช. ต้องเร่งรัดเข้ามาจัดการปิดบัญชีวัดพระธรรมกายให้เร็วที่สุด

5ประเด็นเอหิปัสสิโก 5

5. การโค่นล้มธรรมกาย และชัยชนะของพระพุทธศาสนา

วัดธรรมกายและเจ้าอาวาส (พระธัมมชโย) ถูกโจมตีด้วยข้อกล่าวหาหลักๆ คือทุจริตเชิงพาณิชย์ ไม่ว่าจะโกง ฟอกเงิน และอื่นๆ เลยกลายเป็นเป้าที่ถูกเพ่งเล็งจากคนหลายฝ่าย ทั้งพุทธศาสนาแบบอนุรักษ์นิยม (Conservative) หรือก็คือ “นิกายเถรวาท” และฝ่ายประชาชนทั่วไปที่ต่อต้าน ซึ่งล้วนมองว่าธรรมกาย จะต้องถูกหยุดยั้ง เพราะเป็นต้นตอใหญ่แห่งความผิดเพี้ยนของพุทธศาสนา

ความเสื่อมโทรมของพระพุทธศาสนา เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยที่ส่วนหนึ่งคือการประพฤติผิดในหลักพระวินัย (แนวทางปฏิบัติของพระสงฆ์) ซึ่งเห็นได้มากในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะมั่วสีกา ดื่มสุรา มีเรื่องชกต่อย รวมถึงการโกงเงินทำบุญบริจาค ของญาติโยม นำไปใช้เป็นการส่วนตัว

แต่การจะไปจัดการความผิดรายบุคคล ก็ดูจะเปล่าประโยชน์ แต่กลับกัน การจัดการกับวัดพระธรรมกายต่างหากที่สำคัญ ในสารคดี เราจะพบว่า “คุณไพบูลย์ นิติตะวัน” ได้ให้ความเห็นถึงการโค่นล้มธรรมกาย ว่าเปรียบเหมือนชัยชนะของพุทธศาสนา

5ประเด็นเอหิปัสสิโก 6

เขาอธิบายว่าด้วยความที่วัดธรรมกายมีอิทธิพลสูงมากๆ ต่อพุทธศาสนิกชนในไทย แต่กลับสอนในหลักการที่ผิด ดังนั้นการโค่นธรรมกาย จึงถือเป็นเป้าหมายหลักที่จะช่วยฟื้นฟูพุทธศาสนาที่แท้จริง

เอหิปัสสิโก ปฏิบัติการผ่าธรรมกาย ! | Show Time EP.51

#missiontopluto
#missiontoplutopodcast
#showtimepodcast

ดูเนื้อหาอื่นๆ ของ Show Time ได้ที่ https://missiontothemoon.co/category/podcast/show-time/

Advertisements