อัตตากับความเป็นผู้นำ

2751
รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock.com
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • จากการสำรวจพบว่า องค์กรที่ยอดเยี่ยมนั้น ผู้นำมักมีจุดร่วมของนิสัยที่เหมือนกัน คือ ความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะทำเพื่อองค์กร และความอ่อนน้อมถ่อมตน ส่วนอัตตา(Ego) ของผู้นำนั้นเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้องค์กรแย่ลง
  • เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากอัตตา มี 3 สิ่งที่ผู้นำควรฝึกและตระหนักไว้ ได้แก่ 1) ถ่อมตัวและถ่อมใจ 2) เปิดใจฟังการตอบรับที่ตรงไปตรงมา และ 3) เรียนรู้จากคนอื่น

มีบทความหนึ่งที่ผมเคยอ่านจาก ฟาสต์คอมพานี (Fast Company) ชื่อว่า Don’t Let Your Ego Hijack Your Leadership Effectiveness (อย่าปล่อยให้อัตตาของคุณขโมยประสิทธิภาพความเป็นผู้นำของคุณไป) เป็นบทความที่ดีมาก อ่านแล้วเลยรู้สึกอยากเขียนเรื่องเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้เตือนสติตัวเอง เลยถือโอกาสเอามาให้ทุกท่านอ่านกันด้วยครับ

ในโลกที่ธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบในปัจจุบันนั้น หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้ อาจไม่ใช่แค่เรื่องการเข้าใจปัจจัยภายนอกหรือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปเพียงอย่างเดียว แต่การเข้าใจปัจจัยภายใน โดยเฉพาะบุคลิกและอุปนิสัยของผู้นำ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญต่อการอยู่รอดและการประสบความสำเร็จของธุรกิจไม่แพ้กัน

เหมือนที่ จิม คอลลินส์ (Jim Collins) เขียนไว้ในหนังสือ จากบริษัทที่ดี สู่ความเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ (Good To Great) ว่า ในการหาจุดร่วมขององค์กรที่ยอดเยี่ยมเหล่านี้มีร่วมกัน เขาและทีมวิจัยพบว่าองค์กรเหล่านี้มีลักษณะนิสัยของผู้นำที่คล้ายคลึงกัน โดยสิ่งที่ผู้นำองค์กรเหล่านี้มักมีคล้ายกันนั่นคือ Will (ความตั้งใจ) และ Humility (ความถ่อมตน) ในทางกลับกัน เขายังพบอีกว่า Ego (อัตตา) ของผู้นำนั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้องค์กรที่เคยยิ่งใหญ่ให้สามารถกลับมาตกต่ำ แย่ลง หรือกลายเป็นแค่องค์กรธรรมดาๆ ได้เลย

Advertisements

ยกตัวอย่าง เช่น เฮนรี่ ฟอร์ด (Henry Ford) ที่หลายคนรู้จักและยกย่องเขาในฐานะผู้บุกเบิกและปฏิวัติอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่เปลี่ยนรถยนต์จากที่เคยเป็นสินค้าของคนมีเงินให้กลายเป็นสินค้าที่คนทั่วไปสามารถครอบครองได้

ฟอร์ดเป็นคนมองการณ์ไกล เขาพยายามหาทางลดต้นทุนในการผลิตรถให้ถูกลง และหั่นกำไรตัวเองลงเพื่อขายราคาถูก แถมยังมองเห็นลูกค้าชั้นดีที่อยู่ใกล้ตัวซึ่งก็คือพนักงานในโรงงานของเขา ด้วยการปรับค่าแรงของพนักงานขึ้นกว่าค่าจ้างเฉลี่ยในตลาดถึงเท่าตัว ที่นอกจากจะช่วยลดอัตราการลาออกแล้ว พนักงานของฟอร์ดยังมีเงินเหลือพอที่จะซื้อรถฟอร์ดและมาเป็นลูกค้าของเขาได้ และนั่นก็ทำให้ฟอร์ดประสบความสำเร็จมหาศาลจากรถโมเดลที รถตัวแรกที่ผลิตออกมาในรูปแบบของอุตสาหกรรม

เหตุการณ์นี้เป็นหนึ่งเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของโลกธุรกิจในศตวรรษที่ 20 เลยทีเดียว และแน่นอน มันนำมาซึ่งความสำเร็จอย่างมหาศาลให้กับฟอร์ด (เนื่องจากเหตุการณ์เกิดขึ้นนานมากแล้ว ปัจจัยต่างๆ ก็เปลี่ยนไปเยอะ แต่ถ้าจะให้เทียบความยิ่งใหญ่ ผมเชื่อว่าคงอารมณ์เหมือนแอปเปิ้ล (Apple) ที่มาพลิกเกมของสมาร์ทโฟนในยุคนี้)

ด้วยความสำเร็จนี้เอง นำมาซึ่งความเชื่อของฟอร์ดที่ว่า เขาจะไม่ยอมผลิตรถสีอื่นนอกจากสีดำ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ฟอร์ดพลาดโอกาสที่น่าเสียดาย และปล่อยให้คู่แข่งอย่างเชฟโรเลตและดอร์จที่ยอมปรับตัวตามความต้องการของลูกค้า ตีตลาดรุกขึ้นมาเรื่อยๆ 

กว่าจะมายอมรับว่าคิดผิด ฟอร์ดก็สูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขันไปแล้วอย่างน่าเสียดาย

จากตัวอย่างการขึ้นและลงของธุรกิจมากมาย จะเห็นได้ว่าทิศทางกลยุทธ์และการตัดสินใจของบริษัทส่วนใหญ่ที่ผิดพลาดไปนั้น บางครั้งไม่ใช่เรื่องอะไรอื่นไกลเลยนอกจาก ความยึดติดหรืออัตตาของผู้นำ

leadership stand on mountain
รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock.com

ประเด็นเรื่องอัตตานี้เอง จึงเป็นข้อเตือนใจที่สำคัญโดยเฉพาะกับผู้นำที่กำลังประสบความสำเร็จอยู่

และเพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดแบบนี้ ผมขอดึงข้อสรุปจากบทความฟาสต์คอมพานีเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้นำควรฝึกเอาไว้มากๆ 3 ข้อ ได้แก่

1. ฝึกถ่อมตัวและถ่อมใจ (Practice humility)

ในหนังสือเรื่องนวัตกรพลิกโลก (The Innovator’s DNA) ของอาจารย์ฮาวาร์ดอย่าง เคลย์ตัน คริสเตนเซ่น (Clayton Christensen) พบว่าผู้นำที่เก่งๆ นั้นมีลักษณะหนึ่งร่วมกัน คือมีส่วนผสมของความมั่นใจและความถ่อมตัวอยู่ด้วยกัน ผู้นำหลายคนที่ให้สัมภาษณ์ในหนังสือเล่มนี้บอกว่า พวกเขาตระหนักอยู่เสมอว่า ตัวเองไม่ได้รู้คำตอบทั้งหมดและยอมรับว่ากล้าพอที่จะพูดต่อหน้าคนอื่นว่าเขาเองก็ไม่รู้ ซึ่งการยอมรับว่าตัวเองไม่รู้นั้นช่วยทำให้ผู้นำเป็นคนที่เปิดใจ และตัดสินใจโดยไม่ได้เอาตัวเองเป็นที่ตั้งอย่างเดียว

Advertisements

เรื่องนี้พูดง่ายแต่ทำยากมาก โดยเฉพาะคนที่ประสบความสำเร็จติดๆ กันอย่างต่อเนื่อง จะไม่แปลกเลยที่จะยึดมั่นถือมั่นในความเชื่อของตัวเองมาก รวมทั้งในหลายวัฒนธรรมอย่างเช่น วัฒนธรรมไทยที่เป็นเยอะคือ เราไม่ค่อยกล้าแสดงความเห็นค้านกับคนที่ประสบความสำเร็จมากๆ ซึ่งจริงๆ แล้ว ยิ่งเป็นผลร้ายกับคนเหล่านั้นเข้าไปใหญ่

การฝึกที่จะเป็นคนถ่อมตัว ยินดีที่จะรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นอยู่เสมอ จะแสดงออกมาทางสีหน้าและการพูดจา ถ้าคนรอบข้างรู้สึกได้ เขาก็จะกล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้นครับ ซึ่งจะส่งผลไปยังข้อต่อไป

2. เปิดใจฟังการตอบรับที่ตรงไปตรงมา (Invite honest feedback)

เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เมื่อขึ้นสู่ตำแหน่งใหญ่ขึ้น ย่อมมีคนห้อมล้อม คอยพูดจาหอมหวานน่าฟัง แต่ความน่าเสียดายคือ โอกาสที่เราจะได้ฟังคำติชมดีๆ และตรงไปตรงมาจริงๆ ก็จะลดน้อยลงตาม

หนึ่งในผู้นำที่เข้าใจเรื่องนี้ดีคนหนึ่งก็คือ พอล โอนีล (Paul O’neill) ที่เข้ามาเปลี่ยนบริษัทอัลโค (Alcoa) ให้กลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง สิ่งที่โอนีลทำอย่างแรกคือ การตั้งเป้าว่าพนักงานที่ทำงานในโรงงานของอัลโคจะต้องปลอดภัยมากที่สุด เพราะโอนีลรู้ดีว่า หากปรับพฤติกรรมคนในองค์กรให้รักษาวินัยและใส่ใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยได้แล้ว พนักงานก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงนิสัยและพฤติกรรมอื่นๆ ในทางที่ดีขึ้น

ซึ่งตัวโอนีลเองก็ผลักดันเรื่องนี้อย่างชัดเจน ด้วยการให้เบอร์ติดต่อตัวเองแก่พนักงานทุกคน เผื่อหากมีอะไรก็ตามเกิดขึ้น ทุกคนจะได้สามารถรายงานบอกเขา และนั่นก็ทำให้โอนีลได้รับความคิดเห็นจากพนักงานระดับล่าง ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยเท่านั้น แต่ยังมีคนเสนอไอเดียและคำแนะนำที่นำมาปรับใช้กับบริษัทได้อีกด้วย

เช่นกันกับ ริชาร์ด แบรนสัน (Richard Branson) เขาเองก็เป็นผู้นำคนหนึ่งที่ผลักดันให้ลูกน้องระดับผู้นำลงไปเดินคุยกับพนักงาน ไม่ใช่นั่งอยู่แต่ในห้อง เพราะแบรนสันเชื่อเสมอว่า การเดินไปหาลูกน้อง นอกจากจะทำให้ความสัมพันธ์ของเจ้านายกับลูกน้องใกล้ชิดกันแล้ว มันยังเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้รับฟังความเห็นจากลูกน้องด้วย

3. เรียนรู้จากคนอื่น (Learn from others)

การเรียนรู้เป็นสิ่งที่ไม่ควรหยุด เพราะทันทีที่เราหยุดเรียนรู้ เราจะพลาดโอกาสในการพัฒนาตัวเองและองค์กร ฉะนั้น สิ่งสำคัญมากๆ ที่ผู้นำไม่ควรลืมเลยก็คือการเรียนรู้อยู่เสมอ

โดยเฉพาะการเรียนรู้จากคนรอบข้างหรือเรียนรู้จากลูกน้อง เพราะว่าเราเองก็ไม่ได้เก่งทุกอย่าง และการเป็นผู้นำก็ไม่ใช่การเก่งอยู่คนเดียว แต่เป็นการรู้จักใช้คนเก่งให้ทำงานให้เราได้

ดังนั้นสิ่งสำคัญคือผู้นำจะต้องเปิดใจ และอย่าหลงคิดว่าตัวเองเป็น “ศูนย์กลาง” ของทุกอย่าง มิเช่นนั้นก็อาจพลาดเหมือนที่ผู้นำหลายคนพลาดกันได้


โดยสรุปแล้ว จริงอยู่ที่การเป็นผู้นำนั้นเราจะต้องมีความกล้าหาญที่จะผลักดันให้คนอยากติดตามและพาองค์กรไปสู่เป้าหมาย ซึ่งความกล้าหาญนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า ก็ต้องอาศัยอัตตาของตัวเรา แต่อย่างไรก็ตาม ผู้นำที่ดีก็ต้องพยายามรักษาสมดุลอัตตานั้นให้ได้ ให้มันเป็นความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะพาองค์กรไปสู่จุดหมาย แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะถ่อมตัวและถ่อมใจที่เปิดใจเรียนรู้และพร้อมฟังคนอื่นด้วย

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่