เปลี่ยนโลกได้ แค่เริ่มเปลี่ยนตัวเอง คุยกับ Co-Founder Globish

4557

เมื่อไม่นานมานี้ ทาง Mission to the Moon มีโอกาสได้พูดคุยกับ Co-Founder ของ Globish สตาร์ทอัพชื่อดังของเมืองไทยทั้งสองท่าน คือ คุณทรอย ธกานต์ อานันโทไทย และ คุณจุ๊ย ชื่นชีวัน วงษ์เสรี เกี่ยวกับเรื่องการศึกษาในหลายๆ แง่มุมที่น่าสนใจ จึคงขอสรุปมาเป็นบทความให้ทุกท่านได้อ่านกัน

ก่อนจะมาเป็น Globish

ก่อนที่จะเริ่มทำสถาบัน Globish คุณทรอยมีโอกาสได้เข้าชมรม AIESEC ที่มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นโปรแกรม Global Volunteer (อาสาสมัครต่างชาติ) หน้าที่ของคุณทรอยคือพาอาสาสมัครจากต่างประเทศเข้ามาสอนภาษาอังกฤษที่ชนบทในประเทศไทย

และจุดนั้นเองที่ทำให้คุณทรอยพบว่ากลุ่มคนท่ีพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ จริงๆ แล้วก็คือคุณครู และความแตกต่างของทักษะการใช้ภาษาอังกฤษของคนชนบทกับคนกรุงเทพฯ นั้นก็ต่างกันค่อนข้างมาก 

Advertisements

นอกจากนี้ คนที่พูดภาษาอังกฤษได้มักจะมีความกล้ามากกว่าคนที่พูดไม่ได้ในหลายๆ เรื่อง อาจเกิดจากเพราะเขาเคยไปเรียนที่ต่างประเทศมา ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนที่เป็น Action-Based Learning (การเรียนรู้จากการปฏิบัติ) หรืออาจจะเคยเรียนหลักสูตรสองภาษาที่มักมีกิจกรรมให้ทำมากกว่า

ส่วนคนที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ จะรู้สึกว่าถูกจำกัดความรู้ เพราะก็ต้องยอมรับว่าความรู้ส่วนใหญ่บนโลกยังเป็นภาษาอังกฤษอยู่ อย่างหนังสือเองกว่าจะแปลมาเป็นภาษาไทยก็ใช้เวลาหลายปี ทำให้อะไรหลายอย่างที่เขาควรจะทำได้ก็กลับทำไม่ได้

หลังจากนั้น คุณทรอยก็ได้เจอคุณจุ๊ยจากคลาสเรียน Design Thinking และได้จุดประกายไอเดียกันว่านั่นเป็นปัญหาของประเทศที่อยากแก้ไข จึงได้เริ่มทำ Globish โดยมีเป้าหมายว่าอยากทำให้คนที่ทำงานสามารถแข่งขันกับคนอื่นและเติบโตในหน้าที่การงานได้ และมีความตั้งใจให้การเรียนภาษาอังกฤษต้องถูกที่สุดและสามารถเรียนได้ 24 ชั่วโมง

เรียนรู้จากความผิดพลาด

คุณทรอยและคุณจุ๊ยโฟกัสอยู่กับ 2 สิ่งดังกล่าว (ถูกที่สุด และ เรียนได้ 24 ชั่วโมง) อยู่เป็นเวลา 2 ปี แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งคุณทรอยบอกว่าในตอนแรกที่ทำก็เพราะอยากช่วยเหลือคนกลุ่มหนึ่งในเรื่องภาษาอังกฤษ โดยไม่ได้โฟกัสว่าจริงๆ แล้วมีใครที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือบ้าง

ซึ่งในตอนนั้น กลุ่มคนที่ Globish โฟกัสว่าจะช่วยได้แก่ 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือพนักงานที่เวลาน้อย รายได้ต่ำ, กลุ่มที่สองคือนักศึกษา และกลุ่มที่สามคือคนพิการ ซึ่งสามกลุ่มนี้คือกลุ่มที่ทาง Globish ลงทุนกำลังและเงินทั้งหมดไป ดังนั้นพอหมดสองปีแรกไป ก็เรียกได้ว่าล้มละลายกันเลยทีเดียว

สิ่งที่คุณทรอยได้เรียนรู้จากเรื่องนี้คือ Design Thinking เป็นเรื่องสำคัญ การฟังเสียงรอบข้างเองก็เช่นกัน หลังจากนั้นทุกครั้งที่ทีมได้ออกไปคุยกับผู้อื่นก็จะไปพูดคุยเพื่อให้ได้ข้อมูลใหม่ๆ เช่น คนที่สนใจเรียนมักเป็นระดับผู้จัดการ หรือเป็นระดับผู้บริหารที่เวลาน้อย ไม่อยากเรียนกับเด็ก ไม่อยากรถติด กลัวเสียหน้า แต่ก็กลัวว่ายังมีเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่เรียนจบจากเมืองนอกมาแซงหน้าในการทำงาน

นี่เองคือสิ่งที่คุณทรอยบอกว่าได้ไปเจอเมื่อผ่านกระบวนการฟังเสียงลูกค้า

และสิ่งที่น่าสนใจการฟังเสียงลูกค้าที่ Globish ทำในช่วงแรกคือ หลังจากไปติดต่อโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษแล้วขอสัมภาษณ์นักเรียนทีละคนจำนวนมาก ทำให้รู้ว่า ที่จริงแล้ว “ไม่มีใครอยากเรียนภาษาอังกฤษ”

Pain Point ของการเรียนภาษาอังกฤษของคนไทย

สิ่งที่ได้ผ่านการพูดคุยกับลูกค้าคือ ไม่มีใครอยากเรียนภาษาอังกฤษ เพราะทุกคนมีความทรงจำที่ไม่ดีกับการเรียน ไม่ว่าจะเคยถูกล้อในห้องเรียน หรือเคยถูกทักตอนขึ้นไปพูดพรีเซนท์ผิดในตอนทำงาน

จากที่ Globish ได้ไปคุยกับลูกค้ามา ไม่มีใครมีประสบการณ์การเรียนภาษาอังกฤษที่ดี และไม่มีใครที่มีประสบการณ์การทำผิดพลาดที่ดีเช่นกัน ดังนั้นเมื่อ Globish ยิ่งโปรโมทเรื่องการเรียนภาษาอังกฤษเท่าไรก็ยิ่งไม่เป็นผล เพราะมันเป็นการตอกย้ำ Pain ของนักเรียน

Globish เลยเปลี่ยนการสื่อสารใหม่ คือไม่ได้พูดถึงเรื่องการเรียนภาษาอังกฤษ แต่เน้นสื่อสารเรื่องการนำเสนอแทน โดยการบอกกับนักเรียนว่า “สิ่งที่เราจะช่วยคุณคือการทำให้ Presenation ครั้งต่อไปของคุณไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว”

และจุดนี้เองที่นำไปสู่การเปลี่ยน Product ใหม่ทั้งหมด จากที่ตอนแรก Globish มองตัวเองเป็นแค่ Market Place ที่ดึงครูและนักเรียนให้มาเจอกัน สุดท้ายก็เปลี่ยนเป็นการทำหลักสูตรเอง

หลักสูตรในแบบ Globish

แรกสุดของการเรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียนส่วนใหญ่จะเรียกว่า Grammar Translation (การเรียนภาษาอังกฤษแบบแปลตามดิคชินนารี มีการเช็คแกรมมาร์ที่ถูกต้อง)

ส่วนยุคต่อมาคือการเรียนแบบ Audio คือมีคนพูด แล้วให้อีกฝ่ายหนึ่งพูดตาม แต่ปัญหาของการเรียนรูปแบบนี้คือหนังสือที่เราใช้เรียนนั้นเป็น Textbook จากต่างประเทศ ดังนั้นจึงไม่ได้โฟกัสที่บริบทการเรียนของคนไทย

(บริบทของคนไทยในที่นี้คือ ทาง Globish ได้ถอดออกมาเป็นข้อว่าได้แก่ การกลัวเสนอความคิดเห็นในที่ประชุม การเสนอความคิดเห็นที่ขัดแย้งโดยพูดอย่างสุภาพ ฯลฯ)

ฉะนั้นหลักสูตรในแบบ Globish จึงจะโฟกัสไปที่เรื่องนี้ การเรียนภาษาอังกฤษแบบนี้ก็จะเริ่มต้นด้วยคำว่าอะไรให้ดูสุภาพ เวลาจะพูดแย้งต้องใช้คำว่าอะไร เป็นต้น

ฉะนั้นการเรียนจะเป็นการแสดงบทบาทสมมติ โดยเริ่มจากสิ่งที่นักเรียนแต่ละคนเป็น อย่างถ้าผู้เรียนเป็นวิศวกร ทาง Globish ก็จะมีบทสนทนาให้เขาพูดโดยใส่สิ่งที่เขาถนัดเกี่ยวกับเรื่องวิศวกรรมเข้าไป โดยมีคุณครูคอยเพิ่มความมั่นใจให้หากเขาไม่กล้าพูดหรือกลัวพูดผิด นี่เองคือการออกแบบหลักสูตรโดยตั้งโจทย์ของนักเรียนไว้ชัดเจนมาก

สิ่งหนึ่งที่ Globish ทำคือ ‘โฟกัสที่อำนาจของผู้เรียนจริงๆ’ ทำให้ผู้เรียนมีสิทธิ์เลือกเนื้อหาที่เขาอยากเรียน มีสิทธิ์เลือกเวลาที่อยากลง และมีสิทธิ์เลือกอาจารย์ที่อยากเรียนด้วย ซึ่งสิ่งนี้แหละที่เรียกว่า Student Centric คือการเรียนโดยมีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง

Online Education 2.0

เนื่องด้วยตอนนี้เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุค Education 2.0 เราก็ควรมนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทำให้คนตั้งใจเรียนคอร์สออนไลน์มากขึ้น ช่วยให้การเรียนออนไลน์เป็นเรื่องสนุกขึ้น ดังนั้นมันจะมีอะไรที่เราจะเปลี่ยนแปลงจากคอร์สออนไลน์ 1.0 สู่ Online Education 2.0 ในแบบที่ Globish อยากทำจะมี 3 ขั้นตอน

อย่างแรกคือการ Notification (แจ้งเตือน) ให้นักเรียนกลับมาเรียน โดยการจูงใจให้เขามาเรียนผ่านแพลทฟอร์มคือ ในตอนที่เข้ามาเรียน เขาต้องกรอกด้วยว่า What’s your 3 years vision? (วิสัยทัศน์ 3 ปีของคุณคืออะไร?) และตั้ง OKRs การเรียนภาษาอังกฤษของตัวเอง จากนั้นจะมีคนของ Globish ช่วยดูและช่วยดึงให้เขากลับมาเรียน

อย่างที่สองคือการ Motivation (สร้างแรงจูงใจ) คือโดยพอลูกค้าเข้ามาเรียนแล้ว ในคลาสแรกๆ ทาง Globish ก็จะถามว่าเจอครูที่ใช่หรือยัง เพราะเขามีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนครูได้ตลอด พอผ่านไปสักพักก็จะถามว่า เริ่มเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้หรือยัง คอยถามตลอดว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง เข้าใกล้เป้าหมายของตัวเองบ้างไหม

นั่นหมายความว่าการเรียนภาษาอังกฤษเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่ Globish มอบให้คือการเปลี่ยน mindset ของคน เป็นการเปลี่ยนความเชื่ออะไรบ้างอย่างในใจของคนนั้น และให้อำนาจแก่ผู้เรียนในการเปลี่ยนชีวิตของเขาเอง และภาษาอังกฤษก็ไม่ใช่สิ่งสุดท้ายที่เขาจะเรียน ในอนาคตเขาอาจจะอยากเรียนเรื่อง Leadership อยากเรียนภาษาจีน หรืออยากเรียนอย่างอื่นอีก

Advertisements

ส่วนอย่างสุดท้ายคือเรื่องของ Gamification ที่เป็นการให้ Reward และ Motivation ในการเรียน ซึ่งในส่วนนี้ก็จะสามารถดึง Data มาใช้ในอนาคตได้ด้วยว่านักเรียนคนไหนชอบ Reward แบบไหนที่เมื่อได้รับแล้วเขามีการพัฒนาที่ดีขึ้น 

และสิ่งที่ Globish มองเรื่องการเรียนออนไลน์คือ ข้อดีของมันช่วยทำลายข้อจำกัดได้ 4 ข้อคือ สถานที่ เวลา ต้นทุน และคุณภาพของผู้สอน 

ความหมายของการศึกษาในยุคนี้

การศึกษาในยุคนี้สามารถมองได้หลายมุมมาก จะมองเป็น soft skill หรือ hard skill ก็ได้ ถ้าเราพูดถึงในแง่ของการเรียนภาษา เดี๋ยวนี้คนก็จะเริ่มพูดเรื่องการเอาไปใช้จริงมากขึ้น 

ส่วนถ้ามอง landscape ของ Ed-Tech (เทคโนโลยีการศึกษา) ก็จะมีคนที่ทำเป็น Market Place ส่วนคนที่ทำเป็นสถาบันการศึกษาจะเป็นการเรียนแบบ Push-learning หรือ Pull-learning

การ Push Learning ก็คือเป็น Ed-Tech ที่โฟกัสให้ผู้เรียนมุ่งไปที่ผลลัพธ์ โดยมีแผนการเรียนที่ดีไซน์ไว้ให้เขาทำตาม แต่ถ้าเป็น Pull Learning ก็จะโฟกัสการที่ให้ความสะดวกสบายแล้วก็ความยืดหยุ่นกับผู้เรียน ว่าคุณอยากจะมาเรียนเมื่อไหร่ก็ได้ตอนไหนก็ได้ แล้วส่วนใหญ่ตลาดนี้ก็จะเป็นตลาดกึ่งๆ Edutainment (รูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นความสนุกสนาน) มากกว่า

ส่วนเรื่องทักษะการเรียนรู้ในยุคนี้ การมีความสามารถในการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ เป็นเรื่องที่สำคัญ คุณทรอยยกตัวอย่างประโยคที่ CEO ของไมโครซอฟท์ไทยเพิ่งพูดมา คือเขาบอกว่า ลูกของเขาเรียนไม่เก่ง เขาจึงบอกลูกว่า เรียนไม่เก่งไม่เป็นไร เขาขอวิชาเดียวคือ Coding ก็พอ

แต่หลังจากนั้น ไมโครซอฟท์ได้ไปซื้อกิจการของบริษัทหนึ่งมา ซึ่งเป็นบริษัทที่ใช้ซอฟท์แวร์ตัวหนึ่งที่สามารถ Code ได้หมดโดยไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานคนด้วยซ้ำ CEO ท่านนั้นจึงกลับไปบอกลูกว่า “ถ้าลูกไม่อยากเรียน Coding ก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้ลูกรักการเรียนรู้”

ซึ่งนี่คือสิ่งที่คุณทรอยคิดว่ามันคือนิยามของความสามารถในการเรียนรู้ คือทักษะของการทำให้คุณมีความสามารถอยากเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ

ภาพรวมการแก้ปัญหาการเรียนระดับประเทศ

เมื่อไม่นานมานี้ คุณทรอยมีโอกาสได้ประชุมกับท่านนายกรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ และมีโอกาสได้พูดว่าเขาเชื่อว่าตัวเองและคนอีก 90 ชีวิตจาก Globish สามารถเปลี่ยนประเทศได้

อย่างแรกคือเพราะพวกเขามีเวลาในชีวิตมากกว่าผู้ใหญ่ คุณทรอยกล่าวว่าเขาได้อยู่กับปัญหา เขาไปได้ไกลกว่าเพราะมันต้องใช้เวลาทำจริงๆ การทำ Ed-Tech ต่างกับการทำ Fin-Tech หรือ Logistic ตรงที่กว่าจะเห็นผลที่ได้เปลี่ยนแปลงระดับประเทศจริงๆ ก็กินเวลาถึง 20 ปี อย่างที่สองคือ กลุ่มผู้ลงทุน รวมถึงกลุ่มเครือข่ายที่ Globish มี กลุ่มครูจำนวนเป็นพันๆ คนที่พร้อมจะเข้ามาสอน 

กลับมาที่คำถามว่าถ้าสามารถพูดกับผู้ใหญ่ได้ในเรื่องการแก้ปัญหาให้กับประเทศไทย คุณทรอยตอบว่าอยากได้โอกาสในการเปลี่ยนครูสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทย คือหมายถึงเปลี่ยนให้เขาดีขึ้น

ส่วนคุณจุ๊ยตอบในมุมของเจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารว่า ในการศึกษาการวัดประสิทธิภาพที่สำคัญ อย่างถ้าเป็นเด็ก อาจจะเป็นเรื่องการสอบโอเน็ตที่เขาจะไปโฟกัส สำหรับการวัดของในองค์กรหรือว่าผู้ใหญ่ ถ้าบริษัทมีมาตรการวัดที่ไม่ปล่อยให้คนในบริษัทพัฒนาไปในทางนั้นก็ไม่ได้ผลอยู่ดี (เช่น อยากให้คนพูดภาษาอังกฤษได้ แต่ว่ายังจัดสอบแบบกระดาษอยู่) ซึ่งนี่เป็นเรื่องของนโยบายบริษัทที่คุณจุ๊ยอยากให้ผู้บริหารกับเจ้าของธุรกิจลองไปทบทวน 

ส่วนประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คุณจุ๊ยบอกว่าต้องไม่ใช่ว่าจะสามารถแก้ไขไปทีละจุดได้ อาจจะต้อง Set Zero หรือ ล้มทิ้งแล้วสร้างใหม่กันเลยทีเดียว

คุณทรอยเสริมประเด็นนี้กับเราว่า มีโครงการหนึ่งที่เป็นโครงการสานอนาคตการศึกษาไทยที่ตอนนี้ทำอยู่และมีบริษัทเข้าร่วมประมาณ 30 บริษัท ซึ่งปล่อยให้ภาคเอกชนเข้ามาดูแล และเปิดโอกาสให้ทาง Globish ได้เข้าไปดูแลโรงเรียนขาดโอกาส และได้คุยกับผู้ใหญ่โดยตรงเลย ซึ่งการดูแลเรื่องการศึกษาตรงนี้ต้องโฟกัสทั้งหมด 4 จุด คือ โฟกัสความโปร่งใสของข้อมูล โฟกัสตัวเด็กที่เป็นผู้เรียนรู้ โฟกัสเรื่องการเรียนรู้ดิจิทัล และโฟกัสเรื่องกลไกการตลาด (Market Mechanism)

ทิศทางต่อไปของ Globish 

แรกเริ่ม Globish มีภาษาอังกฤษเป็นจุดตั้งต้น แต่ก็ยังมีทักษะด้านอื่นๆ ที่น่าทำอีก อย่างตอนนี้ที่ Globish มองคือถ้าจะเพิ่มการศึกษาเข้าไปทีละอย่างโดยทำด้วยตัวเองมันจะช้า ดังนั้นสิ่งที่คุณจุ๊ยอยากทำเพิ่มคือการทำแพลทฟอร์มขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันทาง Globish ก็ทำระบบที่ดีมากอยู่แล้ว มีระบบหลังบ้าน ระบบดูแลครู และระบบการจ่ายเงินที่ดี ดังนั้นคุณจุ๊ยจึงคิดว่าจะนำระบบนี้ไปให้โรงเรียนที่อื่น

ยกตัวอย่างมี Slingshot เป็น leadership coaching ที่โค้ชผู้บริหารระดับสูงมากๆ ก็จับมือกันแล้วใช้แพลตฟอร์มของ Globish เพื่อให้คนอื่นที่อยากได้รับการโค้ชบ้าง สามารถทำการโค้ชออนไลน์ได้

คุณจุ๊ยคิดว่าถ้าสามารถขยายตัวแพลทฟอร์มนี้ได้ นอกจาก Globish จะได้ค่อยๆ ขยับไปทีละวิชาแล้ว คนที่กำลังเรื่องการศึกษาใน area อื่นอยู่แล้วก็แค่มาใช้แพลตฟอร์มของทาง Globish เขาก็สามารถขยายขนาดธุรกิจได้

ทิ้งท้ายจากสตาร์ทอัพอายุ 5 ปี

อายุของ Globish ตั้งแต่ทำมาจนถึงวันนี้ก็ 5 ปีแล้ว ผ่านเรื่องอะไรมาหลากหลาย สิ่งที่อยากเล่าให้สตาร์ทอัพรุ่นน้อง รุ่นพี่ หรือเพื่อนร่วมวงการคือ คุณทรอยบอกว่ามันเป็นการต่อสู้มาอย่างยาวนาน ส่วนคุณจุ๊ยกล่าวว่าถ้าไม่มองในแง่ของเรื่องเงิน คุณจุ๊ยคิดว่าคุ้มมาก เพราะการมาทำ Globish ทำให้ได้เรียนรู้อะไรมากมายมหาศาล

ส่วนถ้าพูดเรื่องหนึ่งว่าอะไรคือความสำคัญที่สุดในการทำสตาร์ทอัพที่ต้องมี ไม่งั้นไปต่อไม่ได้ คุณทรอยตอบว่าสิ่งนั้นคือ คนที่ทำด้วยกัน เพราะทีมงานทุกคนมีความฝัน มีความเชื่อในสิ่งที่เชื่อ มีพลัง และที่สำคัญคือทุกคนไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อนักเรียนทุกคน

สุดท้าย คุณทรอยและคุณจุ๊ยฝากถึงสตาร์ทอัพรุ่นพี่ รุ่นน้อง คนในรายการ รวมถึงผู้ฟังและผู้อ่านทุกคนว่า ปกติเวลาเรามองสตาร์อัพ เราจะมองว่าเป็นการใช้เทคโนโลยีนำ แล้วค่อยเอาปัญหาที่อยากแก้มาตาม แต่ในมุมมองของคุณจุ๊ยคือ เราต้องตั้งปัญหาที่เราอยากแก้ไว้เป็นธง แล้วค่อยเอาเทคโนโลยีที่เราอยากช่วยมาสนับสนุน แล้วแก้ปัญหานั้นจริงๆ มากกว่าไปโฟกัสอย่างอื่น

ส่วนคุณทรอยให้กำลังใจว่า ใครก็ตามที่อยากเปลี่ยนโลก ให้เริ่มต้นจากการเปลี่ยนตัวเอง อย่าง Globish เองก็เริ่มจากกลุ่มเด็กที่เริ่มจากการเปลี่ยนตัวเอง และความคิดที่ว่าเราสามารถทำได้ ถ้าทำไม่ได้ก็จะออกไปหาความรู้แล้วก็กลับมาทำ และต่อให้พลาดไปก็จะแก้ไขและทำมันให้ดีได้อีกครั้งหนึ่ง

และสุดท้าย คุณทรอยปิดท้ายไว้อย่างน่าประทับใจว่า

อยากให้ทุกคนเชื่อในการเปลี่ยนตัวเอง เพราะว่าวันหนึ่งมันอาจจะเปลี่ยนโลกได้จริงๆ

globish co founder

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Globish ได้ที่ https://www.globish.co.th

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่