ทีมที่ยอดเยี่ยม สำคัญกว่าคนเก่งที่สุดเพียงคนเดียว

6178
รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock.com
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • ทีมไม่ได้ต้องการคนคนเดียวที่เก่งที่สุด แต่ต้องการคนที่มี “สปิริตของการทำงานเป็นทีม” ฉะนั้นหน้าที่อย่างหนึ่งของผู้บริหารก็คือ ต้องสร้างทีมที่ดีและเก่งให้ได้
  • ถ้ามีคนนิสัยแย่มาก ๆ อยู่ในทีม ถึงแม้คนนั้นจะเก่งมากก็ควรจะให้ Feedback เพื่อปรับปรุง แต่หากไม่มีการปรับปรุง และยังคงมีนิสัยที่แย่เหมือนเดิมก็ไม่ควรเก็บไว้
  • เงินไม่ใช่แรงผลักดันที่ดีในการทำงานเสมอไป โดยเฉพาะงานที่ไม่ได้ใช้แรงงาน
  • ผู้คนอยากทำงานกับองค์กรที่มีความหมายของการดำรงอยู่ & วิสัยทัศน์ที่ดีไม่ใช่ทำเพื่อให้ใครคนใดคนหนึ่งรวยขึ้นเท่านั้น หนึ่งวิธีง่าย ๆ เพื่อที่จะดูว่าองค์กรเรามีวิสัยทัศน์ที่แข็งแรงไหม ให้ลองนึกภาพว่าถ้าไม่มีองค์กรของเราอยู่แล้วจะมีใครคิดถึงองค์กรเราบ้าง

ผมได้มีโอกาสอ่านบทความเรื่องการบริหารคนที่เขียนโดย เกร็ก ซเทลล์ (Greg Satell) ในฟาสต์คอมพะนี (fast company) แล้วรู้สึกว่าว่าอยากแชร์เลยขอเอาสิ่งที่เกร็กเขียน มาบวกกับประสบการณ์ตรงของผมออกมาเป็นบทความอันนี้ครับ ผมชอบที่ เกร็ก ซเทลล์ เขียนเอาไว้ในบทความมากครับว่า

การบริหารคนหรือการก้าวออกมาอยู่แถวหน้าเพื่อนำคนอื่น มักจะไม่ออกมาในแบบที่คุณคิดไว้ คน เหตุการณ์ และปัจจัยต่าง ๆ มักจะสร้างความประหลาดใจให้คุณเสมอ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดในฐานะผู้บริหารคือการไม่หยุดการเรียนรู้

และนี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการบริหารหรือการเป็นผู้นำคนครับ 

1. คุณไม่ต้องการคนเก่งที่สุด แต่คุณต้องสร้างทีมที่เก่งที่สุดให้ได้

เกร็ก ได้เขียนไว้ว่าจริง ๆ แล้ว มันมีการศึกษาของ CIA ในช่วงหลังเหตุการณ์ 9/11 เลยว่า คุณลักษณะอะไรที่สร้างกลุ่มของนักวิเคราะห์ที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด และก็พบว่ามันไม่ใช่การเอาความสามารถเดี่ยว ๆ ของแต่ละบุคคลในทีมมารวมกัน และก็ไม่ใช่ความสามารถในการโค้ชจากผู้นำของทีมด้วย แต่สิ่งที่สร้างทีมที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดคือ ปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างคนในทีม

Advertisements
ทีมที่ดีที่สุดไม่ได้มาจากการรวมตัวกันของคนที่เก่งที่สุด แต่เป็นการรวมตัวกันของคนที่อยากจะเรียนรู้ คนที่สามารถเข้ากันได้ทั้งนิสัย และบริหารอารมณ์ได้ดีเมื่อต้องทำงานร่วมกัน

หรือเรียกง่าย ๆ ว่ามี “สปิริตของการทำงานเป็นทีม” นั่นเอง คนที่อยากจะเรียนรู้และมีสปิริตของการทำงานเป็นทีม ในระยะยาวแล้วมีประโยชน์กับองค์กรมากกว่าคนที่เก่งมากๆ แต่นิสัยห่วยแตกแน่นอน 

เรื่องนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้มาตลอดชีวิตการทำงานของผมเลยครับ

2. ถ้าคุณมีคนที่นิสัยแย่มาก ๆ ในทีม แม้คนนั้นจะเก่งมาก ๆ ก็เก็บไว้ไม่ได้

เพราะในที่สุดแล้วจะนำไปสู่การทำลายโครงสร้างของทีมที่ดี ซึ่งคนคนเดียวยังไงก็ไม่คุ้มกับการที่ทำให้ทีมทั้งทีมเสียแน่นอนครับ 

การรักษาคนเก่งที่นิสัยเลวไว้นั้นมีต้นทุนซุกซ่อนอยู่มหาศาลมาก (เกร็กบอกว่าให้ลองไปอ่านหนังสือเรื่อง No Asshole Rule ของ Bob Sutton ว่าจะสามารถหาต้นทุนที่ถูกซ่อนอยู่นั้นได้ยังไง) เพราะฉะนั้นมันเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก ที่จะต้องทำให้ทุกคนรู้ว่าไม่ว่าจะเก่งมาจากไหนก็ไม่มีใครสำคัญมากกว่าทีม 

แน่นอน ข้อยกเว้นของเรื่องนี้คือ ถ้าองค์กรของคุณขึ้นอยู่กับคนแค่คนเดียว ก็อาจจะต้องยอมครับ แต่ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่ควรจะออกแบบองค์กรให้มีการพึ่งพาอาศัยคนเพียงแค่คนเดียวเพราะมันอันตรายมาก ๆ และองค์กรที่ขึ้นอยู่กับคนแค่คนเดียวมันยากมากที่จะยั่งยืนได้ครับ 

3. เงินไม่ใช่แรงผลักดันที่ดีเสมอไป โดยเฉพาะงานที่ไม่ได้ใช้แรงงาน

ใครที่ได้อ่านหนังสือเรื่อง Drive ของ Daniel H. Pink คงจะจำได้ว่า ยิ่งงานเกี่ยวข้องกับ การใช้ความคิดสร้างสรรค์มากเท่าไร การใช้เงินเป็นแรงผลักดัน บางทีผลงานที่ได้ออกมาจะแปรผันสวนทางกับเงินที่ใส่เข้าไปด้วยซ้ำ คือยิ่งใส่เงินเข้าไปเยอะ งานยิ่งออกมาแย่ เรื่องนี้มีผลการศึกษารองรับแบบจริงจัง ไม่ได้นั่งเทียนขึ้นมาเองนะครับ ถ้าใครสนใจลองไปอ่านหนังสือเรื่องนี้ได้ครับ

สิ่งที่สำคัญมากกว่าเรื่องเงินในการสร้างแรงผลักดัน โดยเฉพาะกับคนยุคใหม่เห็นจะเป็นเรื่องของ ความอิสระและความเป็นตัวของตัวเองในการทำงาน อำนาจในการตัดสินใจงานที่มีพอสมควร และสุดท้ายคือความหมายของการดำรงอยู่ของตัวเอง

ความหมายของการดำรงอยู่ & วิสัยทัศน์

ผมคิดว่า วิสัยทัศน์ หรือ ภาษาอังกฤษเรียกว่า vision นี่สำคัญมากๆ แรงผลักดันที่ดีที่สุด ของคนที่จะมีแรงผลักดันในการทำงานที่ดีต้องมี วิสัยทัศน์ ตรงกับขององค์กร เหมือนที่ ศาสตราจารย์ จอห์น คอตเตอร์ (Professor John Kotter) ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวไว้ครับว่า “Vision inspires people”

Advertisements
วิสัยทัศน์สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คน<span class="su-quote-cite">ศาสตราจารย์ จอห์น คอตเตอร์</span>

ผมยืนยันว่าวิสัยทัศน์ ที่ตรงกับขององค์กรเป็นแรงผลักดันที่ดีที่สุด และตามความคิดเห็นส่วนตัวผมคิดว่าดีกว่าเงินอีกครับ ไม่ได้หมายความว่าเราเราจะจ่ายเงินทีมงานของเราน้อย ๆ นะครับ ผมคิดว่าเราควรจะจ่ายเงินทีมงานของเราอย่างเหมาะสมตามที่ทุกคนควรจะได้รับ 

แต่อย่าคิดว่าเงินจะสร้างแรงบันดาลใจคนไปได้ซะทุกอย่าง เพราะแท้จริงแล้ววิสัยทัศน์ขององค์กรต่างหากที่จะเป็นตัวสร้างแรงผลักดันและแรงจูงใจ ให้คนอยากอยู่กับองค์กรและอยากทำงานให้องค์กรมากที่สุด เพราะคนเราต้องการทำงานอะไรที่ให้ความหมายกับตัวเขาเองมากกว่าแค่หาเงินครับ 

ลองเช็คดูครับว่า องค์กรของเรามีวิสัยทัศน์ที่แข็งแรงไหม 

ลองหลับตาแล้วนึกว่าถ้าพรุ่งนี้ไม่มีองค์กรของเราอยู่แล้ว จะมีใครคิดถึงเราไหม (เจ้าหนี้ไม่นับนะครับ) ถ้าไม่มีใครคิดถึงเราเลย นั่นพอจะอนุมานได้ว่าวิสัยทัศน์ขององค์กรเรานั้นคงแย่มาก 

ผมขอยกตัวอย่างองค์กรที่คนอยากทำงานด้วยที่สุดในโลกอย่างกูเกิลซึ่งเป็นองค์กรที่มี วิสัยทัศน์ ที่แข็งแกร่งมากเช่นเดียวกัน เราลองหลับตานึกดูนะครับ ว่าถ้าพรุ่งนี้ไม่มีกูเกิลอยู่แล้วจะเกิดอะไรขึ้น เชื่อว่าคนหลายร้อยล้านคนต้องคิดถึงกูเกิลใจจะขาด หลายคนอาจจะถึงขั้นทำงานทำการกันต่อไม่ได้เพราะเสพติดกูเกิลเป็นหนึ่งในเครื่องมือในการใชัชีวิตไปแล้ว นี่แหละครับคือองค์กรที่มีวิสัยทัศน์ที่ยอดเยี่ยมและแข็งแกร่งจริงๆ 

เรื่องของความผิดพลาด

ครับ แน่นอนการทำงานย่อมมีเรื่องผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ “นโยบาย” ในการปฏิบัติต่อความผิดพลาดนั้นส่งผลอย่างรุนแรงต่อความเร็วหรือช้าในการเดินไปข้างหน้าขององค์กร หรืออาจจะส่งผลต่อความอยู่รอดขององค์กรเลยก็ได้

ถ้าหากคุณทำให้การผิดพลาดเป็นสิ่ง “น่ารังเกียจ” คุณจะได้องค์กรที่เต็มไปด้วยคนขี้กลัว ไม่กล้าตัดสินใจ และในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขนาดนี้ การไม่ยอมผิดพลาดเลยอาจจะเป็นเรื่องที่ผิดพลาดที่สุดก็ได้

ในขณะที่ ถ้านโยบายของคุณคือยอมรับความผิดพลาดได้ และคุณทำให้มันเป็น “บทเรียน” คือผิดได้ แต่ต้องโตและเรียนรู้จากมัน ทีมงานของคุณก็จะกล้าลอง กล้าเสี่ยง กล้าทำสิ่งใหม่ คุณก็จะได้องค์กรแบบที่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) นิยาม เดินหน้าอย่างรวดเร็ว และทำสิ่งใหม่ (move fast and break things) ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่ผมเชื่อว่าเป็นองค์กรแบบที่จะอยู่รอดได้ในโลกที่ธุรกิจโดน disrupt อยู่รายวันแบบนี้ 

เพราะทรัพยากรที่มีค่าสุดขององค์กรคือคน ดังนั้นดูแลพวกเขาให้ดีๆ นะครับ

เหมือนกับที่ สตีฟ จอบส์ (steve jobs) เคยกล่าวไว้ว่า

การบริหารเป็นเรื่องของการจูงใจคน ให้ทำในสิ่งที่เขาไม่อยากทำ ในขณะที่ผู้นำนั้นสร้างแรงบันดาลใจ ให้คนทำในสิ่งที่เขาไม่เคยคิดว่าจะทำได้<span class="su-quote-cite">สตีฟ จอบส์</span>
Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่