Deepfake เทคโนโลยีเสมือนจริงที่จะเปลี่ยนโลกการสร้างคอนเทนต์ไปอีกขั้น

306
หากพูดถึงเทคโนโลยี Deepfake แล้ว ภาพจำที่คนส่วนใหญ่นึกถึงคือ เหล่าคนดังหรือดาราที่ถูกนำใบหน้าไป ‘สวมทับ’ บุคคลอื่นในวิดีโอบนโลกออนไลน์ อย่างเมื่อไม่นานนี้ มีบัญชีผู้ใช้งาน TikTok รายหนึ่งชื่อ “deeptomcruise” ได้นำใบหน้าของ Tom Cruise นักแสดงชื่อดังจากแฟรนไชส์ภาพยนตร์ Mission Impossible มาสวมทับใบหน้าของบุคคลอื่นบนวิดีโอต่างๆ ซึ่งกลายเป็นกระแสให้ผู้คนถกเถียงว่า Tom Cruise ที่เห็นในวิดีโอนั้นคือตัวจริงหรือไม่
 
โดยเมื่อปลายปี 2020 ก็เกิดประเด็นถกเถียงบนโลกออนไลน์ เมื่อ ‘Kim Joo-Ha’ นักข่าวจากสถานีโทรทัศน์ ‘MBN’ (Maeil Broadcasting Network) ในเกาหลีใต้ ที่รายงานข่าวบนช่องนั้นไม่ใช่บุคคลจริงๆ แต่เป็น AI ที่พัฒนาโดย ‘Moneybrain’ บริษัทปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intellience Company) จากเกาหลีใต้ แม้ว่าทางช่อง MBN ได้ประกาศให้ผู้ชมรับทราบล่วงหน้าว่าจะมีการใช้ AI จำลองจากบุคคลจริง แต่เสียง ลักษณะท่าทาง และการแสดงสีหน้านั้นใกล้เคียงกับบุคคลจริงมากๆ จนสร้างกระแสถกเถียงกันบนโลกออนไลน์ว่า “แบบนี้คนจริงๆ จะตกงานหรือเปล่า?”
 
MBN ประกาศว่าทางสถานีจะยังคงใช้ Deepfake สำหรับการรายงานข่าวด่วน (Breaking News) บางช่วงต่อไป ขณะที่ Moneybrain กล่าวว่า จากความสำเร็จนี้ พวกเขากำลังวางแผนขยายตลาดเทคโนโลยีต่อไปในประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา
 
แม้กระแสจะมีทั้งบวกและลบ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความนิยมในการใช้งาน Deepfake หรือเทคโนโลยีการสร้างวิดีโอด้วย AI (AI-Generated Videos) นั้นพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง Victor Riparbelli หัวหน้าฝ่ายบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Synthesia บริษัทให้บริการการสร้างวิดีโอด้วย AI ได้กล่าวว่า “เทคโนโลยีนี้คืออนาคตแห่งการสร้างคอนเทนต์”
 
Raparbelli อธิบายเพิ่มเติมว่า การใช้เทคโนโลยีนี้จะช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการทำสื่อวิดีโอรูปแบบต่างๆ เช่น การสร้างตัวละครหรือบุคคลเสมือนขึ้นมา โดยไม่ต้องใช้หน้าตาจากคนจริงๆ และสามารถให้พูดภาษาใดก็ได้ เพียงแค่เขียนบทพูดให้เท่านั้น และปล่อยโปรแกรมจัดการงานที่เหลือ
 
ทว่า เทคโนโลยี Deepfake นั้นยังคงมีข้อกังขาเรื่องความคุ้มค่าในการลงทุน และจริยธรรมในการใช้งาน เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายควบคุมเรื่องนี้อย่างชัดเจน Lilian Edwards ศาสตราจารย์ด้านกฎหมาย นวัตกรรม และสังคมจากโรงเรียนกฎหมาย ‘Newcastle’ และผู้เชี่ยวชาญในเรื่อง Deepfake อธิบายว่า ณ ตอนนี้ยังคงมีการถกเถียงในหลายประเด็น เช่น หากนำใบหน้าของคนดังที่เสียชีวิตไปแล้วมาใช้ประกอบโฆษณา ครอบครัวของบุคคลนั้นควรที่จะได้สิทธิ์ในการครอบครองและส่วนแบ่งจากงานชิ้นนั้นๆ ด้วยหรือไม่
 
ในขณะที่ศาสตราจารย์ Sandra Wachter นักวิจัยอาวุโสจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University) ให้สัมภาษณ์ว่า Deepfake นั้นไม่ใช่เทคโนโลยีที่น่ากลัว แต่จะต้องจัดการให้เหมาะสม และควรมีกฎหมายควบคุมการใช้ให้ชัดเจน
 
ไม่ว่าคุณจะมอง Deepfake ด้วยทัศนคติแบบใด แต่เทคโนโลยีการสร้างวิดีโอด้วย AI นั้นได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวงการโฆษณาและธุรกิจในปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เสียแล้ว
 
 
แปลและเรียบเรียงจาก:
 
Advertisements