Coaching | การโค้ชชิ่งในองค์กร

6021
รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock.com
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้น ๆ
  • การโค้ชชิ่งควรทำจากภายในองค์กร
  • เราไม่สามารถสอนผู้คนได้ แต่ต้องให้ผู้คนได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง
  • โค้ชฟุตบอลไม่จำเป็นต้องเล่นบอลเก่งเสมอไป
  • การโค้ชชิ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้
  • หัวหน้าที่ดีควรมีพื้นฐานความคิดแบบโค้ช
  • การโค้ชชิ่งถือเป็นผลตอบแทนอย่างหนึ่งที่คนในองค์กรควรจะได้รับ

เรื่องของ การให้คำปรึกษา/ชี้แนะ (Mentoring) และ การโค้ชชิ่ง (Coaching) เป็นส่วนสำคัญที่ถูกพูดถึงอย่างมากในการบริหารองค์กรยุคนี้ เพราะเราเริ่มที่จะรู้แล้วว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่สำคัญจริงๆ ในการสร้างองค์กรที่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างดี ทำให้คนในองค์กรมีความอดทน และกล้าลองทำสิ่งใหม่ๆ

ในหนังสือ Coaching for Performance ของ John Whitmore (จอห์น วิทมอร์) พูดถึงการโค้ชชิ่งในองค์กรไว้ได้อย่างน่าสนใจ ผมเลยขอหยิบประเด็นที่น่าสนใจมาเขียนเป็นบทความให้อ่านกันครับ

การโค้ชชิ่งควรทำจากภายในองค์กร

การโค้ชชิ่งแม้จะต้องมีการใช้คนนอกองค์กรมาทำบ้างในบางครั้ง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วควรทำโดยภายใน คือ มาจากผู้จัดการและผู้บริหารภายในองค์กรเองนี่แหละ เพราะหลายๆ อย่างต้องทำอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นการยากที่จะใช้คนภายนอกได้ตลอด และงานหลายอย่างก็มีเรื่องของบริบทในตัวงานเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

Advertisements

เราไม่สามารถสอนผู้คนได้ แต่ต้องให้ผู้คนได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง

การโค้ชชิ่งเป็นวิธีคิดดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่ยุคสมัยของ โซเครติส (470-399 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ซึ่งบอกไว้ว่า จริงๆ แล้วคุณไม่สามารถสอนอะไรใครได้ คนคนนั้นจะต้องได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง

เพราะการโค้ชมันไม่ใช่แค่การเอาคนคนหนึ่งมานั่งในห้องแล้วจบ แต่มันเป็นการสร้าง environment (สภาพแวดล้อม) คือมันต้องสร้างบรรยากาศให้การโค้ชเกิดขึ้นได้ ต้องมีกระบวนการอะไรบางอย่างกระตุ้นให้ทุกคนเห็นความสำคัญของเรื่องนี้

คุณต้องสร้างสภาวะแวดล้อมที่เขาสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองขึ้นมาให้ได้

โค้ชฟุตบอลไม่จำเป็นต้องเล่นบอลเก่งเสมอไป

การโค้ชชิ่งมีมุมที่หลากหลายและกว้างมาก แต่ผมชอบคำนิยามของพี่หนุ่ม Money Coach มาก คือพี่เขาบอกว่าให้นึกถึงโค้ชของทีมฟุตบอล ผู้จัดการทีมฟุตบอลระดับโลกอย่าง เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ก็เคยเป็นนักฟุตบอลมาก่อน

แต่ช่วงที่เป็นผู้เล่น เซอร์ อเล็กซ์ เองก็ไม่ได้เป็นนักเตะระดับตำนานแต่อย่างใด แต่เมื่อมาทำหน้าที่ผู้จัดการทีมก็สามารถทำได้อย่างยอดเยี่ยม ดังนั้นการโค้ชชิ่งเราควรจะต้องมีจุดมุ่งหมายที่จะให้คนคนนี้ไปได้ไกลยิ่งกว่าที่เราเคยไปถึง

Advertisements

การโค้ชชิ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้

หัวหน้าหลายคนมักจะบอกว่าไม่มีเวลาเพราะทุกวันนี้ก็ยุ่งจะแย่อยู่แล้ว เช้าก็ต้องพบลูกค้า เที่ยงเข้าประชุม ไหนบ่ายตรวจงาน และเย็นก็ต้องมาเคลียร์งานต่ออีก แปปๆ ก็หมดวันแล้ว

แต่ในความเป็นจริงก็คือ ถ้าเราต้องการให้งานของเราดีขึ้นไปอีกเรื่อยๆ งานโค้ชชิ่งนี่แหละที่เป็นพื้นฐานสำคัญ เพราะเมื่อทีมงานของเราสามารถทำงานได้อย่างอิสระ สามารถที่จะเดินงานต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง คนที่เป็นหัวหน้าก็จะไม่เหนื่อยมาก

หัวหน้าที่ดีควรมีพื้นฐานความคิดแบบโค้ช

หัวหน้าที่มี Coach Based Mindset (พื้นฐานความคิดแบบโค้ช) เวลาลูกน้องมีปัญหา แทนที่จะบอกเป็นข้อๆ 1 2 3 4 หัวหน้าที่มีชุดความคิดแบบโค้ชจะเน้นไปที่การชี้แนะ หรือช่วยตั้งคำถามที่ทำให้ลูกน้องสามารถไปคิดต่อด้วยตัวเองได้ ว่าควรที่จะจัดการหรือแก้ปัญหานี้อย่างไร

การโค้ชชิ่งถือเป็นผลตอบแทนอย่างหนึ่งที่คนในองค์กรควรจะได้รับ

จอห์น วิทมอร์ บอกว่าต่อจากนี้สิ่งที่จะทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปได้คือ “คน” (เพราะถ้ามีแต่ตึก ก็คงไม่ใช่องค์กร) ในอดีตที่ผ่านมาเรามักให้ผลตอบแทนเป็นเงินบ้าง เป็นงานที่มั่นคงบ้าง หรือความเป็น Community (ชุมชน) แต่วันนี้เราต้องให้การเทรนนิ่ง การโค้ชชิ่ง การพัฒนากับคนของเราด้วย

โดยเฉพาะเรื่องของการโค้ชชิ่งถ้าหากทำอย่างถูกต้อง จะสามารถช่วยให้คนที่ทำงานร่วมกับเราหาความหมายที่สูงขึ้นไปอีก ความหมายของการใช้ชีวิต เขาทำงานนี้อยู่เพื่ออะไร อะไรที่เป็นจุดยืนของเขา หรือแม้แต่คำถามที่ลึกซึ้งอย่าง เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร การโค้ชชิ่งที่แท้จริงต้องทำไปให้ถึงจุดนั้น

ต้องทำให้คนที่ร่วมงานกับเราสามารถบอกกับตัวเองได้เลยว่า “อ่อ ฉันทำงานนี้เพราะเป็นที่ยืนของฉัน” หรือถ้ามันใช่ไม่ใช่ เป็นเพราะว่าอะไร


ใครที่เริ่มการโค้ชชิ่งแล้วถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ใครยังไม่เริ่มแนะนำให้ลองนำศาสตร์เรื่องนี้เข้ามาใช้ เพื่อที่จะพัฒนาศักยภาพ ไม่ใช่เฉพาะกับคนที่เราไปโค้ช แต่เรื่องนี้จะพัฒนาตัวผู้เป็นโค้ชเองด้วย

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่