เมืองแห่งอนาคต

5325
เมืองแห่งอนาคต | รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock.com
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • ปัญหาจราจรเป็นสิ่งที่เมืองใหญ่ๆหลายเมืองต้องเจอ การสร้างรถรางลอยฟ้าด้วยระบบแม่เหล็กหรือการพัฒนาแท็กซี่บินได้ ซึ่งเป็นระบบเดียวกับการลำเลียงเลือดในร่างกาย จึงอาจใช้แก้ปัญหาดังกล่าวได้
  • 30% ของปัญหาการจราจรในเมืองมาจากคนวนหาที่จอดรถ และยานพาหนะในเมืองถูกใช้งานเพียง 5-10% ส่วนเวลาที่เหลือถูกจอดไว้เฉยๆ
  • รถยนต์ขับเคลื่อนเองบวกกับระบบความคิดในการบริหารจัดการคมนาคมแก้ปัญหาเรื่องคนในเมืองไม่อยากใช้รถสาธารณะ
  • ระบบรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเองจะลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้มากขึ้น ช่วยให้รถยนต์ถูกใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ลดปัญหาที่จอดรถ

เมื่อคืนผมนั่งดู TED talks ไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ของ อดัม แกรนต์ ถึง เรย์ ดาลิโอ ซึ่งสนุกมากครับ แต่ว่าการพูดที่ทำให้ผมได้มาใช้เวลาคิดมากที่สุดคือของ วานิซ คับแบจ

เนื้อหาของเรื่องนี้คือปัญหาใหญ่ที่เมืองใหญ่ๆ ทุกเมืองเจอคือเรื่องของจราจรครับ ซึ่งเราทุกคนทราบดีว่ามันเป็นปัญหาที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลและเป็นปัญหาลำดับต้นๆที่กระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองใหญ่

วานิซ คับแบจ บอกว่าหลายทศวรรษที่ผ่านมานี้ การแก้ปัญหาจราจรของเรามักทำโดยการสร้างถนนใหม่หรือขยายถนนเพิ่มเป็นหลัก ซึ่งในเมืองที่มีที่ดินให้ทำก็ยังโอเค แต่กับเมืองที่หนาแน่นมากๆแล้ว เช่น นิวยอร์ก การแก้ปัญหาแบบนี้คงทำไม่ได้ มันเหมือนกับเมืองที่ป่วย ที่ต้องได้รับการักษาโดยด่วน

Advertisements

วิธีการคิดแบบเก่าของเรานั้นไม่ได้ผล ในการที่จะทำให้เราเดินทางได้ดีขึ้นเราต้องหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ

หลังจากทำงานในแวดวงคมนาคมมากว่า 16 ปี วานิซก็เกิดไอเดียครับ ไอเดียที่ว่ามาจากตอนที่คุยกับคนในสายงานเทคโนโลยีชีวภาพ แล้วเขาก็พบว่าระบบไหลเวียนโลหิตของเรามีระบบขนส่งที่อัศจรรย์มากๆ

ระบบไหลเวียนโลหิตของเรานั้นเป็นต้นแบบของการคมนาคมที่สมบูรณ์แบบมาหลายพันล้านปีแล้ว มันเป็นระบบการคมนาคมที่ซับซ้อนที่สุดในโลก

เราลองหยุดคิดดูซักนิดหนึ่งว่า ในร่างกายของเราทุกคนมีเส้นเลือดความยาวรวมกันประมาณ 60,000 ไมล์ ซึ่งสามารถวางรอบโลกได้ประมาณสองรอบครึ่ง และมันอยู่ทุกที่ในร่างกายของเราไม่ใช่แค่ใต้ผิวหนังเท่านั้น

และการที่เส้นเลือดมีอยู่ทุกหนทุกแห่งในร่างกายนั้น วิธีการลำเลียงของมันจึงเป็นแบบ 3 มิติ

แต่ถ้าเรามามองที่เมืองต่างๆ เราจะเห็นว่าการจราจรส่วนใหญ่อยู่บนพื้นผิวเป็นหลัก จริงอยู่เรามีรถไฟใต้ตินบ้าง มีรถไฟลอยฟ้าบ้าง แต่ถ้าเทียบอัตราส่วนกันแล้ว มีเฮลิคอปเตอร์บ้าง แต่ความหนาแน่นของการจราจรเกือบทั้งหมดอยู่บนพื้นผิว 

มันหมายความว่าเราใช้การจราจรแบบ 2 มิติเป็นหลัก

เราต้องเริ่มคิดการคมนาคมให้เหมือนกับร่างกายเราและเริ่มคิดอะไรแบบ 3 มิติได้แล้ว 

ตอนนี้ที่เทลอาวีฟและอาบูดาบีกำลังเริ่มทดลองสิ่งที่เราเรียกว่า magnetic pods (รังแม่เหล็ก) ซึ่งเหมือนรถราง แต่ลอยอยู่บนฟ้าด้วยระบบแม่เหล็ก ในขณะเดียวกันบริษัทการบินยักษ์ใหญ่อย่างแอร์บัสก็เริ่มพัฒนาแท็กซี่บินได้อย่างจริงจังแล้ว ดังนั้นรถยนต์บินได้แบบในหนังไซไฟจึงอาจจะไม่ไกลตัวอย่างที่คิด

การสร้างการคมนาคมแบบ 3 มิติก็เป็นวิธีการแก้ไขเรื่องการจราจรูปแบบนึง แต่มันมีวิธีอื่นอีก 

ก่อนเราจะเข้าสู่วิธีการแก้ปัญหา อยากให้ทุกคนลองนึกภาพสถานการณ์นี้ตามดูหน่อยนะครับ

คุณขับรถอยู่ในเมืองที่รถติดๆ ลูกสองคนที่เบาะหลังของคุณเริ่มร้องไห้กระจองอแง และแน่นอนคุณกำลังไปสายสุดๆ สำหรับนัดของคุณแล้ว และรถคันข้างหน้าก็ชะลอ

เฮ้ย มันชะลอทำไมวะ?

อ่อ มันหาที่จอดนั่นเอง แต่แถวนั้นไม่มีที่จอดรถหรอกครับ แต่รถคันข้างหน้าคุณไม่รู้ และเขาก็จะมุ่งมั่นหาที่จอดต่อไป

มีตัวเลขประมาณการณ์กันว่าประมาณ 30% ของปัญหาการจารจรในเมืองมาจากเรื่องคนหาที่จอดรถ

เอาอีกสักเรื่องแล้วกัน คุณลองมองรอบๆ ตัวคุณเวลาขับรถนะครับ ในรถ 100 คันรอบๆ ตัวคุณ 85 คันมีผู้โดยสารแค่คนเดียว

หมายความว่าเราสามารถเอาคน 85 คนนั้นใส่ในรถลอนดอนบัสสักคันได้ และมีพื้นที่บนถนนเหลือเพียบ

นี่แหละครับปัญหา

แต่ร่างกายเราไม่เคยทำแบบนี้นะครับ พื้นที่ภายใต้หลอดเลือดของเรานั้นถูกใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพสุดๆ ทุกครั้งที่หัวใจเต้น เม็ดเลือดแดงเป็นล้านๆเซลล์จะถูกสูบฉีดเข้าสู่ร่างกายของเรา และพื้นที่เล็กในเซลล์เม็ดเลือดแดงของเราก็ถูกใช้งานอย่างคุ้มค่าเช่นกัน ในสภาพที่แข็งแรง กว่า 95% ของความจุออกซิเจนจะถูกใช้งาน 

ใช้งานยานพาหนะ 95%

คุณนึกภาพออกไหมครับว่า ถ้ายานพาหนะในเมืองของเราถูกใช้งาน 95% ตลอดเวลา ระบบคมนาคมของเราจะมีประสิทธิภาพขนาดไหน เราจะมีพื้นที่เหลือขนาดไหน 

อีลอน มักส์ กับ ทราวิส คาลานิค ก็มีวิสัยทัศน์ประมาณนี้เลยครับ เขาคิดว่ารถยนต์ควรจะเป็นการแชร์กันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานให้กับรถยนต์ เพราะรถยนต์เป็นของราคาแพงเป็นอันดับสองที่คนซื้อรองจากบ้าน แต่เรามาลองคิดดูจริงๆ เราใช้งานมันไปแค่ไหนกันเชียว

ตอบให้ครับ เราใช้งานมันประมาณ 5-10 % ส่วนเวลาที่เหลือเราจอดมันไว้เฉยๆ

แปลกไหมครับที่ของที่เราซื้อมาแพงมากๆ แต่อัตราการใช้ประโยชน์ต่ำสุดๆขนาดนี้ แล้วจะเป็นอย่างไรถ้าเราสามารถใช้ประโยชน์รถของเราได้ถึง 95%

ต่อมาเราก็ตั้งคำถามต่อว่า ทำไมร่างกายคนถึงสามารถใช้ประโยชน์ของระบบขนส่งได้สูงมาก คำตอบคือเม็ดเลือดแดงนั้นไม่ได้ถูกจัดสรรให้อวัยวะใดเป็นพิเศษครับ

เม็ดเลือดแดงนั้นถูก “แชร์กัน” ครับ เพราะระบบของร่างกายเรานั้นซับซ้อนมาก เซลล์ในร่างกายของเรากว่า 37 ล้านล้านเซลล์นั้น จะต้องได้ออกซิเจนในเวลาที่พวกมันต้องการอย่างพอดิบพอดีครับครับ

แต่ในเมืองเราไม่ได้เป็นแบบนั้นครับ เรามีปัญหาระหว่างรถส่วนตัว รถสาธารณะ คนมีรถส่วนตัวก็ไม่อยากขึ้นรถสาธารณะเพราะไม่อยากรอ ไม่อยากหยุดบ่อย หรืออาจจะต้องการความเป็นส่วนตัว

แต่ถ้ารถขับเองบวกกับระบบความคิดในการบริหารจัดการคมนาคมมแบบผสมผสานระหว่างรถยนต์ ระบบขนส่งมวลชนแบบใหม่เข้ามาโดยได้แรงบันดาลใจจากร่างกายของเราล่ะ

ลองหลับตานึกภาพตามนะครับ เรานั่งอยู่ในรถไฟกับคนอื่น 1,200 คน แต่เราไม่ต้องหยุดที่ไหนทั้งนั้นจนกว่าจะถึงจุดหมาย เพราะเรานั่งอยู่ในโมดูลของตัวเอง เมื่อถึงที่เราจะหยุด โมดูลนี้จะแยกตัวออกจากรถไฟ และไปจอดที่จุดหมายของเราเอง

Advertisements

อันนั้นก็ทางหนึ่ง

เมืองที่ไร้คนขับรถ

กับอีกทางหนึ่งคือ เมืองที่ไร้คนขับรถ

หลับตานึกภาพเมืองที่รถยนต์ทุกคนไม่มีมนุษย์ขับ ถ้าให้คิดภาพง่ายๆมันคือ อูเบอร์ + เทสล่า + ระบบขับขี่อัตโนมัติเต็มรูปแบบ

เพื่อให้เห็นภาพว่าเรื่องนี้น่าจะมาถึงเร็วกว่าที่เร็วคิด

ยกตัวอย่างราคาอุปกรณ์ชิ้นนึงชื่อ ไลดาร์ เซ็นเซอร์ (LIDAR sensor) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญที่ทำให้รถขับเองได้ ในปี 2012 มันราคา $150,000 ในปี 2013 ราคาเหลือ $10,000 ปี 2014 เหลือ $1,000 และปี 2016 เหลือ $90

นี่แหละครับการแทรกแซงด้วยเทคโนโลยี (technology disruption)

กลับมาที่ เมืองที่ไร้คนขับรถ

ทุกคนสามารถเรียกรถได้เกือบจะทันทีที่ต้องการ รถยนต์ทุกคันจะคุยกันเอง เพื่อหาเส้นทางและการขับที่เร็วที่สุด

เมืองจะไม่ต้องมีไฟแดง อุบัติเหตุจะแทบไม่เกิดขึ้น เพราะอุบัติเหตุทางรถยนต์ส่วนใหญ่ได้พิสูจน์มาแล้วว่าเกิดจากความผิดพลาดโดยมนุษย์ (human error) เกือบทั้งนั้น (เรื่องนี้ยังมีการดีเบตแต่ส่วนตัวผมเชื่อว่าหุ่นยนต์มีความแม่นยำกว่าเรามากในเรื่องนี้)

รถยนต์จะถูกใช้งานเกือบตลอดเวลาได้ใช้ประโยชน์เต็มที่ ดังนั้นที่จอดรถจึงไม่ต้องมีเยอะ ที่จอดรถในเมืองจึงสามารถนำไปทำพื้นที่สาธารณะที่จำเป็นกว่า เช่นส่วนสาธารณะหรือแหล่งเรียนรู้ได้

เหล่ารถยนต์ไร้คนขับจะคิดหาทางโดยรถทั้งเมืองจะคุยกันเพื่อหาวิธีการในการเดินทางของทุกคนในเมืองให้ทรงประสิทธิภาพที่สุด 

ในที่สุดมันจะทำงานราวกับมีชีวิต เหมือนกับระบบลำเลียงเซลล์เม็ดเลือดแดงในร่างกายเราที่ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพทุกวัน

หลับตานึกภาพว่าถ้าถึงวันนั้น เราจะเอาเวลาที่เหลือไปทำอะไรได้บ้าง

น่าสนุกดีนะครับ 

ผมชอบฟังและคิดเรื่องพวกนี้ตาม เพราะแม้ว่าผมคงไม่มีโอกาสได้ไปสร้างรถยนต์ขับขี่อัตโนมัติ แต่โปรเจคใหม่ๆที่ผมกำลังทำอยู่ก็เกี่ยวข้องกับ “พฤติกรรม” ที่เปลี่ยนไปของคนในโลก ซึ่งการได้อ่านและคิดเรื่องพวกนี้บ่อยๆ ทำให้ผมอยู่ในสภาวะตื่นตัวมากๆ และพยายามทุกวิถีทางที่จะเปลี่ยนแปลงบริษัทและตัวเองตลอดเวลา ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีครับ


ปิรามิดแห่งการเรียนรู้

อีกเรื่องหนึ่งก่อนจบ

เมื่อวานมีเพื่อนมาถามผมว่าเวลาไปฟังหรืออ่านอะไรมาแล้วมาเขียนต่อแบบนี้ไม่เสียเวลาเหรอ จริงๆแค่ฟังหรืออ่านก็ได้ความรู้พอแล้วไหม ผมเลยอธิบายให้เพื่อนผมฟังแบบนี้ครับ

ผมเชื่อว่าการเรียนรู้นั้นมีหลายระดับเหมือนตอนที่เราเรียนหนังสือน่ะครับ ฟังครู จดเล็กเชอร์ กับเอาที่จะมาติวเพื่อน ความเข้าใจแตกต่างกันใช่ไหมครับ มันมีหลักการอธิบายเรื่องนี้อยู่เหมือนกันครับ

เราเรียกมันว่า ปิรามิดแห่งการเรียนรู้ (Learning Pyramid)

สถาบันห้องปฏิบัติการเรียนรู้แห่งชาติ (National Learning Laboratories) ซึ่งได้วิจัยและสร้างปิรามิดแห่งการเรียนรู้ ซึ่งเป็นผลของการศึกษาว่าเมื่อมนุษย์เราเข้าถึงการเรียนรู้ในแบบต่างๆนั้น เราสามารถจำได้แค่ไหน 

โดย 4 ระดับแรก เราเรียกว่าเป็นการเรียน แบบ passive (ไม่โต้ตอบ) ในขณะที่ 3 ระดับ ล่างเป็นการเรียน แบบ active (มีการโต้ตอบ)

อันประกอบไปด้วย

  1. ฟังบรรยาย (lecture): เราจะจำได้ 5 %
  2. อ่าน (Reading): ฟังบรรยายแล้วมาอ่าน จะทำให้จำเพิ่มเป็น 10%
  3. ภาพ และ เสียง (Audio – Visual): การเรียนรู้ด้วยภาพและเสียงประกอบ จะช่วยเพิ่มการจำเป็น 20%
  4. สาธิตให้ดู (Demonstration): ได้เห็นตัวอย่างจริง จะให้การจำเพิ่มขึ้นเป็น 30%
  5. พูดคุยเป็นกลุ่ม (Group Discussion): พอเริ่มได้พูดคุย ถกเถียง คราวนี้จะเริ่มจำได้เยอะขึ้นเยอะเลยครับ เป็น 50%
  6. การปฏิบัติ (Practice): ได้ลงมือทำเอง อันนี้แน่นอนต้องจะได้เยอะมากเพราะมันมาจากประสบการณ์โดยตรงของเรา ซึ่งจะทำให้เราจำได้เพิ่มขึ้นเป็น 75%
  7. สอนผู้อื่น (Teaching Others): อันนี้ดีที่สุด เพราะจะทำให้เราจำได้มากที่สุดถึง 90% จึงไม่แปลกใจใช่ไหมครับว่าทำไมคนที่ชอบติวเราสมัยเรียนมักสอบได้คะแนนเยอะด้วยเสมอ

ระบบการทำงานของสมองนี่มันน่าทึ่งจริงๆ ครับ

ดังนั้นจึงอยากบอกว่าเวลาเรียนรู้อะไรมาแล้วมาแบ่งบันผู้อื่น ไม่ว่าจะเขียนบล็อก อัดคลิป หรือทำอะไรก็ได้ เป็นสิ่งที่ดีมากนะครับ เพราะนอกจากจะได้ให้คนอื่นแล้ว ท้ายสุดแล้วเราเองนี่แหละครับที่จะได้ประโยชน์ที่สุด

แล้วก็มีคนเคยถามผมว่าความรู้ที่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องงานตรงๆนีมันมีประโยชน์บ้างไหม 

ผมต้องบอกเลยครับว่ามี มีเยอะด้วย อันนี้เอาแบบที่เคยเจอส่วนตัวเลยนะครับ บางทีการสามารถตอบคำถามบุคคลที่สำคัญมากๆต่ออนาคตของเราเช่น นักลงทุน ด้วยความรู้ที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะได้ใช้ตอบ แค่ประโยคนั้นประโยคเดียวมันเปลี่ยนอนาคตกันได้เลยนะครับ

อย่าลืมว่าการเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุดนะครับ ยิ่งในยุคนี้ด้วยแล้ว ต้องอัพเดทความรู้กันรายวันเลยทีเดียว

“เพราะถ้าคุณไม่เปลี่ยน โลกจะเปลี่ยนคุณครับ”

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่