Financialทำความรู้จัก “Investment Token” เทรนด์การเงินที่กำลังถูกผลักดันในประเทศไทย

ทำความรู้จัก “Investment Token” เทรนด์การเงินที่กำลังถูกผลักดันในประเทศไทย

เชื่อว่าหลายๆ คนคงรู้จักภาพยนตร์เรื่องบุพเพสันนิวาส ๒ หรือภาพยนตร์ที่มีคำติดปากว่า “ออเจ้า” กันเป็นอย่างดี

แต่รู้ไหมว่าเบื้องหลังการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการระดมทุนมาจากการเสนอขาย “โทเคนดิจิทัล” ให้ผู้ชมได้เข้ามามีส่วนร่วม กลายมาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมลงทุนในภาพยนตร์เรื่องนี้

หากใครยังจำกันได้ในปีที่แล้ว ภาพยนตร์บุพเพสันนิวาส ๒ ได้เปิดตัวโปรเจกต์ “DESTINY TOKEN ” ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่มีการนำโครงการสร้างภาพยนตร์มาทำ Asset Tokenization เพื่อเปิดระดมทุนในรูปแบบโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) ที่ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากทั้งคอภาพยนตร์ รวมถึงกลุ่มคนที่สนใจในเรื่องการลงทุน และนับว่าเป็นโครงการแบบ Project-based ICO ตัวแรกของประเทศไทยในขณะที่ในต่างประเทศเราก็เริ่มเห็นเทรนด์ของการทำ Asset Tokenization ในรูปแบบของ Investment Token มาสักพักหนึ่งแล้วและมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอีกในอนาคต

แต่เชื่อว่าพอพูดมาถึงตรงนี้แล้ว หลายๆ คนอาจจะมีคำถามว่า “แล้วตกลงโทเคนดิจิทัลคืออะไร?” ปกติที่ผ่านมาเรามักจะได้ยินแต่คริปโทฯ อยู่บ่อยๆ “แล้วสิ่งนี้คือสิ่งเดียวกันกับคริปโทเคอร์เรนซีหรือเปล่า?” เดี๋ยวเราจะพาทุกคนไปไขคำตอบ และทำความรู้จักกับ “โทเคนดิจิทัล (Digital Token)” ไปพร้อมๆ กันในบทความนี้

โทเคนดิจิทัล ≠ คริปโทเคอร์เรนซี

ไม่แปลกที่ถ้าหลายคนจะมีความเข้าใจว่า โทเคนดิจิทัล (Digital Token) กับคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) เป็นสิ่งเดียวกัน เนื่องจากในปัจจุบันมีการใช้คำว่า “โทเคน (Token)” กับ “เหรียญ (Coin) ปะปนกันไปค่อนข้างมาก แต่แท้จริงแล้วตามนิยามของ พรบ.สินทรัพย์ดิจิทัลไทย 2 สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

ในขณะที่คริปโทเคอร์เรนซีจะทำหน้าที่เหมือน “สื่อกลาง” ในการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ หรือสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ คล้ายๆ กับเวลาเราซื้อของด้วย “เงิน” ทางฝั่งของโทเคนดิจิทัลนั้นจะทำหน้าที่เป็น “ตัวกำหนดสิทธิ” ของผู้ลงทุนในโครงการใดโครงการหนึ่ง หรือโปรเจกต์ใดโปรเจกต์หนึ่ง

ตามคำอธิบายของ Kubix ผู้ให้บริการระบบการเสนอขายโทเคนดิจิทัลของไทย ระบุว่า “โทเคนดิจิทัล เป็นหน่วยการลงทุนรูปแบบหนึ่ง ที่มีการนำสินทรัพย์ที่มีอยู่จริง เช่น อสังหาริมทรัพย์ หรือที่ดินมาแปลงให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล โดยผู้ถือโทเคนจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขที่ผู้ออกโทเคนดิจิทัลกำหนดไว้ ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่ผลกำไรของสินทรัพย์นั้นๆ เพียงอย่างเดียว แต่ผู้ถือโทเคนสามารถรับผลประโยชน์ประเภทอื่นตามที่ได้ระบุในเอกสารประกอบการเสนอขาย (White Paper) ด้วย เช่น ส่วนลดการใช้บริการ การใช้บริการฟรี หรือสิทธิพิเศษอื่นๆ โดยผู้ลงทุนสามารถเข้ามาถือครองโทเคนดิจิทัลได้ผ่านการเสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือที่เรียกว่า Initial Coin Offering (ICO)” โดยโทเคนดิจิทัลนั้นจะแบ่งหลักๆ ออกเป็น 2 กลุ่ม 4 ประเภทด้วยกัน

Advertisements

โทเคนดิจิทัล 2 กลุ่ม 4 ประเภท

1. กลุ่มที่ 1 – โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token)

สำหรับกลุ่มนี้ผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่ผู้ออกโทเคนได้กำหนดไว้ใน White Paper เช่น ส่วนแบ่งรายได้หรือผลกำไร เป็นต้น โดยยังสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามลักษณะโครงการ คือ (1) Debt-liked ICO โทเคนดิจิทัลที่มีการจัดการโครงสร้างและให้ผลตอบแทนลักษณะคล้ายหนี้ ถ้าเทียบฝั่งตลาดสินทรัพย์เดิมที่หลายคนคุ้นเคย ก็เรียกได้ว่ามีลักษณะคล้ายกับ หุ้นกู้ และ (2) Infra-backed ICO โทเคนดิจิทัลที่มีกิจการโครงสร้างพื้นฐานหรือกระแสรายรับจากกิจการโครงสร้างพื้นฐานเป็นทรัพย์สินอ้างอิง ที่ก็จะมีลักษณะโครงการคล้ายกับ REIT ในตลาดทุน

2. กลุ่มที่ 2 – โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token)

สำหรับกลุ่มนี้ผู้ลงทุนจะได้รับสินค้าหรือบริการ หรือสิทธิ์อื่นๆ ที่ได้ระบุไว้ตามข้อตกลง เช่น สิทธิในการเข้ารับบริการหรือส่วนลด รวมถึงผลตอบแทนจากผลการเติบโต โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทเช่นกัน คือ (1) แบบพร้อมใช้ หรือคือการที่ผู้ถือโทเคนสามารถใช้สิทธิประโยชน์ของสินค้าหรือบริการนั้นได้ทันที ณ วันที่ได้รับ ในขณะที่ (2) แบบไม่พร้อมใช้ คือการที่ผู้ถือโทเคนจะยังไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ได้ ณ วันที่ได้รับ แต่ต้องรอใช้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ทาง ก.ล.ต. เพิ่งมีการเปิด Hearing รับฟังความเห็นการปรับปรุงเกณฑ์การเสนอขายโทเคนทั้ง 2 กลุ่มไป เพื่อให้การเสนอขายระหว่างผู้เสนอขายกับผู้ลงทุนหรือผู้ถือโทเคนมีความรัดกุมและเป็นธรรมมากที่สุด

ทำไมคนถึงเริ่มหันมาสนใจการลงทุนในโทเคนดิจิทัลมากขึ้น?

จริงๆ แล้วโทเคนดิจิทัลไม่ใช่สิ่งใหม่ที่พึ่งเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ แต่มีมานานแล้วพอๆ กับการมีอยู่ของคริปโทเคอร์เรนซี เพราะทั้ง 2 นั้นมีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งก่อนหน้านี้เราอาจจะเคยได้ยินแต่คริปโทฯ หรือ NFTs (Non-fungible Tokens) ที่โด่งดังจากการเปลี่ยนงานศิลปะ งานอาร์ตต่างๆ ให้เป็นโทเคนเสียมากกว่า

แต่สิ่งที่ทำให้โทเคนดิจิทัลได้รับความน่าสนใจมากขึ้นในปัจจุบัน ก็อาจจะมาจากความพร้อมของผู้ลงทุนที่มีความคุ้นชินและมีความไว้วางใจกับสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets) มากยิ่งขึ้น และข้อดีในเรื่องสภาพคล่องของสินทรัพย์ ที่ในสถานการณ์ตลาดทุนมีความไม่แน่นอนเช่นนี้ สินทรัพย์ทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงจึงเป็นหนึ่งในสิ่งที่นักลงทุนมองหา ถ้าหากเป็นเมื่อก่อนเชื่อว่าใครหลายคนก็คงจะไม่ค่อยไว้วางใจกับสินทรัพย์ที่ดูเหมือนจะจับต้องไม่ได้สักเท่าไหร่ แต่ในปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยสูง รวมถึงในแต่ละประเทศก็มีกฎเกณฑ์ในการควบคุมผู้ขายและคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้ผู้ลงทุนกล้าที่จะลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้กันมากขึ้นนั่นเอง ซึ่งจากรายงานของ Boston Consulting Group (BCG) ก็คาดการณ์ไว้ว่า ตลาดดิจิทัลโทเคนจะเติบโตสูงถึง 10% ของ GDP โลกในปี 2030

แต่อีกส่วนสำคัญทำให้โทเคนดิจิทัลมีความน่าสนใจในมุมผู้ลงทุน อาจมาจากตัวข้อดีของโทเคนดิจิทัลเอง โดยทาง S&P Global ได้ระบุข้อดีของโทเคนดิจิทัลไว้อยู่หลักๆ 3 อย่างด้วยกัน

Advertisements
1. เข้าถึงง่าย (Accessible)

ถ้าเปรียบเทียบกับการซื้อสินทรัพย์เพื่อการลงทุนแบบชิ้นใหญ่ๆ เช่น อสังหาฯ ที่ค่อนข้างมีราคาสูง การซื้อโทเคนดิจิทัลนั้นเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนนั้นลงทุนในสินทรัพย์ขนาดใหญ่หรือราคาสูงได้ โดยมีการแบ่งสันปันส่วนออกมาให้ซื้อในลักษณะคล้ายๆ กับหุ้น ทำให้ผู้ลงทุนสามารถมีส่วนในสินทรัพย์นั้นหรือโปรเจกต์นั้นๆ ในราคาที่ต่ำลงมา

2. สภาพคล่องของสินทรัพย์ (Liquidity)

เนื่องจาก Digital Token เป็นการทำงานบนเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งจะสามารถโอนหรือขายในตลาดรองได้ตามรายละเอียดของแต่ละโครงการ เลยทำให้มีการเปลี่ยนมือได้ง่าย มีสภาพคล่องที่ดีกว่าเนื่องจากไม่ต้องผ่านตัวกลาง เหมือนอย่างในตลาดสินทรัพย์เดิม

3. มีประสิทธิภาพและโปร่งใส (Efficiency & Transparency)

เนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีอย่าง Blockchain เข้ามาใช้ บันทึกข้อตกลงระหว่างผู้ลงทุนและผู้เสนอขาย พร้อมด้วยกับปัจจุบันมีการรับรองและตรวจสอบกับทาง ก.ล.ต. ทำให้โทเคนดิจิทัลนั้นโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ว่าผู้เสนอขายเป็นใคร และมีความน่าเชื่อถือหรือไม่

โทเคนดิจิทัลในต่างประเทศและไทย

เมื่อต้นปีที่ผ่านมามีหลากหลายบริษัทและหน่วยงานรัฐบาลเปิดตัวโครงการโทเคนดิจิทัลออกมา ไม่ว่าจะเป็น Siemens บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกที่ได้มีการระดมทุนผ่านการเสนอขาย Digital Bond มูลค่ารวมทั้งหมดราว 60 ล้านยูโร หรือประมาณ 2.2 พันล้านบาทไทย ในขณะที่ฝั่งรัฐบาลก็มี ฮ่องกงที่มีการแสดงจุดยืนก่อนหน้านี้ว่าจะต้องการจะเป็นจุดศูนย์กลางของเหล่าสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหลาย โดยมีการนำร่องเปิดตัวโครงการ Tokenized Green Bonds หรือโทเคนดิจิทัลตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม ระดมทุนมูลค่าราว 800 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือประมาณ 3.5 พันล้านบาทไทย

ในส่วนของทางประเทศไทยเอง อย่างที่เราได้เกริ่นไปตอนต้นกับ “DESTINY TOKEN” จากภาพยนตร์บุพเพสันนิวาส ๒ ซึ่งเป็นโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนในรูปแบบ Project-based โครงการแรกของไทยจากความร่วมมือของ Kubix บริษัทผู้ทำหน้าที่ ICO Portal ในกลุ่มบริษัท กสิกร บิสิเนส เทคโนโลยี กรุ้ป (KBTG) กับทางบริษัท สเปเชียล เดสทินี ซึ่งเชื่อว่าหลายๆ คนคงยังนึกไม่ถึงกับการนำภาพยนตร์มาทำเป็นโทเคนดิจิทัล แต่โปรเจกต์นี้ก็เรียกได้ว่าได้รับการตอบรับอย่างดีทั้งตอนเปิดขายและหลังปิดโครงการ

ซึ่งโปรเจกต์นี้มีการออกเสนอขายทั้งหมดจำนวน 16,087 โทเคน มูลค่ารวมทั้งหมด 265 ล้านบาท โดยมีให้ผู้ลงทุนเลือกซื้อ 3 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ โทเคน “G” I am Glad ราคาเสนอขาย 5,559 บาทต่อโทเคน, โทเคน “D” I am Delighted ราคาเสนอขาย 155,559 บาทต่อโทเคน และโทเคน “H” I am Happy ราคาเสนอขาย 1,555,559 บาทต่อโทเคน จะเห็นได้ว่าราคาของโทเคนก็จะมีหลายระดับตามความต้องการของผู้ลงทุนว่าจะเลือกซื้อในราคาใด

โดยภายในข้อกำหนดก็ได้มีการระบุว่าผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทน 2.99% ต่อปี (ระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี) นอกจากนี้ผู้ถือโทเคนแต่ละประเภทก็จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเช่นกัน ตั้งแต่สิทธิได้ดูหนังก่อนใคร ไปจนถึงการได้มีชื่อขึ้นในฐานะ Special Destiny Executive Producer ในเครดิตท้ายหนังบุพเพสันนิวาส 2

ซึ่งเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา ทางบริษัท สเปเชียล เดสทินี จำกัด ได้ใช้สิทธิ์ไถ่ถอนโทเคนดิจิทัลก่อนกำหนด ทางผู้ลงทุนทั้งหมดก็ได้รับเงินต้นคืนครบถ้วนพร้อมผลตอบแทน 2.99% ต่อปีของมูลค่าเงินลงทุน นับว่าเป็นโปรเจกต์นำร่องของไทยที่สำเร็จลุล่วงเป็นอย่างดี

เราก็เริ่มเห็นแล้วว่าไทยในไทยและในต่างประเทศตลาดของโทเคนดิจิทัล (Digital Token) ก็เริ่มเติบโตกันมากยิ่งขึ้น ทั้งจากฝั่งบริษัทเอกชนเอง ที่มีการเปิดตัวโครงการใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ และฝั่งของหน่วยงานรัฐบาลเองก็เริ่มที่จะวางรากฐานข้อกำหนด กฎหมายต่างให้การซื้อขายโทเคนดิจิทัลนั้นเป็นไปตามระเบียบและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งก็น่าจับตามองอย่างมากว่าตลาดโทเคนดิจิทัลในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร เชื่อว่าต่อจากนี้เราน่าจะได้เห็นโครงการใหม่ๆ โปรเจกต์ใหม่ๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้นแน่นอน

หากใครอยากติดตามข่าวสารหรืออ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโทเคนดิจิทัลของ Kubix สามารถอ่านได้ที่ https://www.kubix.com หรือ Facebook : Kubix (@Kubix.DigitalAsset)

*การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน

Mission To The Moon x Kubix

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า