Google VS Amazon คุณอยากทำงานในองค์กรไหนมากกว่ากัน? เรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานสองแบรนด์ใหญ่ ตั้งแต่คัดเลือกคนจนถึงไล่ออก

1073
วัฒนธรรมการทำงาน

‘Google – Amazon’ สองบริษัทยักษ์ใหญ่และทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก ที่ใครๆ ก็ต่างใฝ่ฝันที่จะได้เข้าไปทำงานสักครั้งหนึ่ง ซึ่งจากการจัดอันดับบริษัทที่ดีที่สุดสำหรับการทำงานในปี 2021 ของ Linkedin ด้าน Amazon ได้อันดับหนึ่ง ตามมาด้วยอันดับสองอย่าง Alphabet หรืออย่างที่เรารู้จักกันในชื่อ Google

ทำให้เกิดคำถามที่ว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ขนาดนี้ มีการจัดการองค์กรและมีวัฒนธรรมการทำงานอย่างไร ที่ทำให้พวกเขาอยู่ในอันดับต้นๆ ของบริษัทที่ดีที่สุดสำหรับการทำงาน?

วันนี้เราก็เลยจะพาไปเจาะลึกวัฒนธรรมการทำงานภายในองค์กรจากประสบการณ์ของ Richard Russel พนักงานที่เคยทำงานใน Google และ Amazon ว่า ตั้งแต่การคัดเลือกคนจนถึงการไล่ออกของทั้งสองบริษัท จะเป็นอย่างไรและมีความแตกต่างแค่ไหน ไปดูกัน!

Advertisements

การจ้างงาน

ปฎิเสธไม่ได้ว่าตำแหน่งงานของทั้งสองที่ เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมาก ซึ่ง Google และ Amazon ก็มีวิธีการดึงดูดให้คนเข้ามาสมัครในวิธีที่แตกต่างกันไป 

ทางฝั่ง Google จะเน้นย้ำไปที่การสร้างภาพลักษณ์ ที่ทำให้องค์กรของตัวเองนั้นเป็นสถานที่ที่ดีต่อการทำงาน อย่างที่เรามักจะเห็นตามข่าวหรือบทความว่า Google นั้นมอบสิทธิประโยชน์ให้กับพนักงานมากมาย และให้อิสระในการทำงานสูง ในขณะที่ทางฝั่งของ Amazon ดึงดูดผู้สมัครโดยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับคนที่อยากจะทำงานหลายๆ อย่าง อยากที่จะพัฒนาตัวเองและยกระดับเส้นทางอาชีพ

ซึ่งในขั้นตอนการสัมภาษณ์ คำถามพื้นฐานที่พนักงานมักจะเจอในการสัมภาษณ์กับ Google คือคำถามที่ว่า ‘คุณฉลาดแค่ไหน?’

เป็นเพราะว่า Google ต้องการที่จะจ้างงานคนที่เก่งและฉลาด โดยจะให้สิทธิประโยชน์และอิสระ (พร้อมกับโจทย์การทำงานที่ยากมาก) แก่พวกเขา ทำให้พวกเขามีความสุขกับการทำงาน เพื่อที่พวกเขาจะสามารถสร้างผลงานที่ดีกลับมาให้องค์กรได้

ในขณะที่คำถามพื้นฐานของ Amazon คือ ‘คุณเคยทำอะไรมาบ้าง?’

เพราะส่วนมากแล้ว Amazon จะจ้างงานคนที่มีประสบการณ์เยอะๆ มีความสามารถในการรับมือกับความกดดันได้ดี และมีความคาดหวังว่าพวกเขาจะสามารถแก้โจทย์การทำงานที่ยากๆ ได้

สวัสดิการและวัฒนธรรม

อย่างที่หลายๆ คนทราบกันดีว่า Google นั้นมีสวัสดิการที่ค่อนข้างดีให้กับพนักงาน และหนึ่งในสวัสดิการที่ Google มอบให้คือ อาหารฟรี ซึ่งในเชิงของการทำงาน การจัดหาอาหารให้แก่พนักงานช่วยลดเวลาที่พนักงานจะต้องออกไปหาของกินข้างนอกเอง ทำให้มีเวลาที่ใช้กับการทำงานมากขึ้น 

ในขณะที่ Amazon ไม่มีนโยบายอาหารฟรีให้แก่พนักงาน ทำให้บางทีพนักงานเสียเวลากับการออกไปหาอาหารกินข้างนอก ส่งผลให้กินเวลาทำงานไปบ้าง อย่างไรก็ตาม พนักงานบางคนก็มีมุมมองต่อเรื่องนี้ว่า บริษัทนั้นต้องการที่จะลดต้นทุนเรื่องต่างๆ ซึ่งในทางใดทางหนึ่ง การทำเช่นนี้ ได้ไปผลักดันให้พนักงานนั้นยึดมั่นตามสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าองค์กรเป็น (ซึ่งก็คือความประหยัด) และนำไปปฎิบัติตามในเชิงของวิธีคิดและการทำงาน

ในส่วนของกระบวนการจัดหาคน Russel ได้อธิบายไว้ว่า Google นั้นไม่ได้มีแบบแผนที่ตายตัวสักเท่าไหร่ ทำให้เกิดการพัฒนาที่ค่อนข้างล่าช้าในกระบวนการต่างๆ เกี่ยวกับพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน การเลื่อนตำแหน่ง หรือการสัมภาษณ์

แต่ในอีกทางหนึ่ง Amazon มีแบบแผนกระบวนการเกี่ยวกับพนักงานที่เป็นระบบระเบียบและน่าเชื่อถืออย่างมาก ทั้งเรื่องของการจ้างงาน การไล่ออก การเลื่อนขั้น หรือการให้รางวัล และในการที่จะสัมภาษณ์ผู้สมัครหนึ่งคน จะต้องมีผู้สัมภาษณ์ 4-8 คน ที่จะเข้ามาถามคำถามเชิงพฤติกรรม เพื่อดูว่าผู้สมัครคนดังกล่าวมีคุณสมบัติที่เข้ากับ Leadership Principles ของ Amazon หรือไม่

ตามด้วยการซักถามเรื่องอื่นๆ เพื่อช่วยให้ผู้สัมภาษณ์ฝึกฝนและพัฒนาตนเองไปพร้อมๆ กัน ซึ่งกระบวนการเช่นนี้จะถูกทำในขั้นตอนอื่นๆ อย่างการดูเรื่องความเหมาะสมของการเลื่อนตำแหน่ง ซึ่งเป็นแกมบังคับให้หัวหน้าทุกคนเรียนรู้และเข้าใจว่าการประเมินพนักงานจะต้องทำอย่างไรบ้าง

โครงสร้างการจัดการ

Russel ได้อธิบายว่า Google เป็นองค์กรที่นำโดยเหล่าวิศวกรและผู้ที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ ตามด้วยกลุ่มของฝ่ายธุรกิจที่ช่วยหารายได้ให้กับผลิตภัณฑ์สร้างขึ้น

Advertisements

ในอีกทางหนึ่ง สิ่งที่ผลักดัน Amazon ไปข้างหน้าคือ ความต้องการทางธุรกิจ ผู้นำใน Amazon ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นวิศวกร ไม่จำเป็นที่จะต้องรู้ลึกเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ หรือเป็นคนขายของเก่ง แต่พวกเขาจะต้องมีความเข้าใจระดับหนึ่งเกี่ยวกับเทคโนโลยี

เมื่อต้องทำโพรเจกๆ หนึ่งให้สำเร็จ แน่นอนว่า Google จะทำทุกอย่างเสร็จได้เร็วกว่า เป็นเพราะว่าการทำงานกับเทคโนโลยีมันค่อนข้างที่จะแบ่งเป็นสัดเป็นส่วน แต่ละคนมีหน้าที่เป็นของตัวเอง โดยมีน้อยมากที่งานจะทับซ้อนกัน ทำให้เป็นเรื่องง่ายที่จะติดตามผลว่าตอนนี้งานไปถึงไหนแล้ว 

อย่างไรก็ตาม Google มีความ Agile ค่อนข้างน้อยเมื่อต้องตอบรับกับการเปลี่ยนแปลง เป็นเพราะว่าการตัดสินใจมักจะไปกระจุกตัวอยู่ที่ผู้บริหารหรืออยู่ที่กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น 

ในอีกทางหนึ่ง Amazon สามารถที่จะปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว เพราะกระบวนการตัดสินใจไม่ได้กระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลางเหมือนอย่าง Google แต่การที่ Amazon มีกระบวนการเช่นนี้ ก็ทำให้เกิดงานที่ซ้ำซ้อนกันบ่อย และยิ่งถ้ามีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ทั้งองค์กร จะใช้เวลาค่อนข้างนานกว่า เนื่องจากมีหลายภาคส่วนที่ต้องเปลี่ยนแปลง

หากมองง่ายๆ คือ Google เหมือนกับรัฐบาลแบบศูนย์รวม ในขณะที่ Amazon เป็นเหมือนโลกทุนนิยม ที่ไม่มีการดูแลแบบศูนย์รวมนั่นเอง

สไตล์การบริหาร

จากมุมมองของ Russel เขาได้บอกว่า องค์กรอื่นสามารถที่จะนำการบริหารงานสไตล์ Amazon เอาไปปรับใช้ได้ง่ายกว่า เพราะว่ามันค่อนข้างที่จะเป็นระบบและมีขั้นตอนที่ชัดเจน 

อย่างเช่น ในการที่จะสร้างนวัตกรรมหนึ่งขึ้นมา Amazon จะมีขั้นตอนที่เข้มงวดและละเอียดมาก ในขณะที่ Google จะพยายามลองทำทุกสิ่งทุกอย่าง และหวังว่าไอเดียนั้นจะสำเร็จ ทำให้รูปแบบการทำงานของ Google อาจจะยากสำหรับองค์กรอื่นที่จะนำไปปรับใช้

แต่ถึงแม้ว่า Amazon และ Google จะมีวิธีการบริหารงานที่แตกต่างกันสักเท่าไหร่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระบวนการเหล่านั้น มีส่วนที่ทำให้ทั้งสองบริษัทกลายมาเป็นองค์กรแนวหน้าที่ใครๆ ก็ใฝ่ฝันอยากที่จะเข้าไปทำงานสักครั้งหนึ่ง และยังทำให้ทั้งสองบริษัทเป็นองค์กรที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลกอีกด้วย


แปลและเรียบเรียง:

https://bit.ly/3x2vQ3v

#missiontothemoon 

#missiontothemoonpodcast

#teammanagement

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements