บทเรียนเบื้องหลังความสำเร็จของ ‘Wordle’

360
Wordle Is a Love Story by mission to the moon

“Wordle” จากเกมที่มีผู้เล่นเพียง 90 คนในช่วงสัปดาห์แรกๆ ที่เปิดตัว สู่เกมที่มีผู้เล่นมากกว่า 3 ล้านคนทั่วโลกภายในเวลาไม่กี่เดือน จนเมื่อวันจันทร์ที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา สำนักข่าวดังอย่าง The New York Times ได้ทำการซื้อเกมปริศนาทายคำยอดฮิตนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เท่านั้นยังไม่พอพวกเขายังคาดการณ์ว่า เกมนี้แหละจะทำให้ The New York Times มีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นถึง 10 ล้านรายภายในปี 2025

⬜⬜⬜⬜🟨
🟨⬜⬜🟩🟩
⬜⬜🟩🟩🟩
🟩🟩🟩🟩🟩

ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เราอาจได้เห็นเพื่อนแชร์สัญลักษณ์เหล่านี้บนเฟสบุ๊กและทวิตเตอร์ ตอนแรกก็งงและสงสัยว่า ‘มันคือเกมอะไร’ พอลองเล่นครั้งแรก เรารู้สึกงงๆ นิดหน่อย แต่เล่นไปเล่นมาก็พบว่ามันไม่ได้ยากเกินความสามารถเลย

และจากการลองเล่นครั้งแรกในวันนั้น หลายคนก็ติดใจจนเล่นและกดแชร์มันทุกวัน!

เกมนี้มีชื่อว่า “Wordle”

ในการเล่น ผู้เล่นต้องทายคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่มี 5 ตัวอักษร โดยเรามีสิทธิ์ทายแค่เพียง 6 ครั้ง ถ้าหากตัวอักษรไหนอยู่ถูกที่ก็จะกลายเป็นสีเขียว ตัวอักษรไหนมีในคำนั้น แต่อยู่ผิดที่จะกลายเป็นสีเหลือง และตัวอักษรไหนที่ไม่มีในคำนั้นเลยจะกลายเป็นสีเทา ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่ายแบบนี้ กระตุ้นความอยากลองของใครหลายๆ คนได้ดี

จากเกมที่มีผู้เล่นเพียง 90 คนในช่วงสัปดาห์แรกๆ ที่เปิดตัว สู่เกมที่มีผู้เล่นมากกว่า 3 ล้านคนทั่วโลกภายในเวลาไม่กี่เดือน จนเมื่อวันจันทร์ที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา สำนักข่าวดังอย่าง The New York Times ได้ทำการซื้อเกมปริศนาทายคำยอดฮิตนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เท่านั้นยังไม่พอพวกเขายังคาดการณ์ว่า เกมนี้แหละจะทำให้ The New York Times มีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นถึง 10 ล้านรายภายในปี 2025

อะไรที่ทำให้ The New York Times มั่นใจในตัว Wordle ขนาดนั้น? หรืออะไรที่ทำให้ Wordle โด่งดังจนเป็นที่สนใจขนาดนี้? ในบทความนี้เราจะมาศึกษาปัจจัยที่นำไปสู่ ‘ความสำเร็จ’ ของ Wordle เกมที่แสนเรียบง่าย แต่ครองใจผู้คนทั่วโลกได้ในเวลาอันรวดเร็ว

1. เพราะ ‘พอดี’ จึงดีพอสำหรับทุกคน (และสำหรับ The New York Times)

บนโลกนี้เต็มไปด้วยเกมมากมายที่ต้องการ ‘เงิน’ และ ‘เวลา’ จากเรา

เชื่อว่าหลายคนคงเคยเล่นเกมที่มักจะให้เราจ่ายเงินเพื่อเล่นด่านต่อไป เพื่อบล็อกโฆษณา หรือต้องจ่ายค่าสมาชิกรายเดือนเพื่อเล่น ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เราเชื่ออีกว่าหลายคนคงเคยเจอเกมที่ทำให้ติดหนึบ เสียการเสียงาน เล่นจนวางโทรศัพท์ไม่ได้ พอจะหยุดเล่น เกมก็ดันแถมเวลาฟรีๆ มาให้อีก เราเลยต้องเล่นต่อให้คุ้ม

เกมเหล่านี้สนุกก็จริง แต่บ่อยครั้งมันต้องการเงินและเวลาจากเรามากเกินไป จนเราต้องลบทิ้งเพื่อตัดใจ หรือไม่กดไปเล่นเพราะกลัวเสียเวลาไปกับมัน

แต่ Wordle ไม่ได้เป็นเช่นนั้น

เพราะเกมนี้ให้คำศัพท์ใหม่วันละ 1 คำ แถมเป็นศัพท์ที่มีเพียง 5 พยัญชนะ ซึ่งไม่ยากไม่ง่ายเกินไป และผู้เล่นก็มีสิทธิ์ทายแค่ 6 ครั้งอีก ด้วยเหตุนี้เราจึงใช้เวลาในการเล่น Wordle ไม่นานเลย และด้วยความที่ให้คำศัพท์ใหม่แค่วันละ 1 คำ ไม่ว่าผู้เล่นจะทายได้หรือไม่ได้ในตอนจบ ก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากเลิกเล่น ไปหาอย่างอื่นทำ และรอความสนุกครั้งใหม่ในวันรุ่งขึ้น

ไม่เยอะเกินไป ไม่ยากเกินไป ไม่กินเวลาและเงินทองเกินไป ความ ‘พอดี’ นี้เองที่ทำให้คนติดใจ จนกลับมาเล่นซ้ำๆ

2. เพราะความสำเร็จเล็กๆ ก็ดีต่อใจ

ขึ้นชื่อว่าเกม ความตื่นเต้นที่ได้จากการเล่นก็ทำให้ฮอร์โมนแห่งความรู้สึกดีๆ หลั่งออกมาอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ Wordle ให้เรามากกว่านั้น คือ ‘ความรู้สึกแห่งความสำเร็จ’ (Sense of Accomplishment)

ความรู้สึกแห่งความสำเร็จนี้สำคัญอย่างไร? เคยสังเกตไหมว่าเวลาเราตั้งเป้าหมายใหญ่ๆ เรามักจะมีโอกาสพลาดบ่อยกว่า ความรู้สึกล้มเหลวที่เกิดขึ้นจะทำให้เราไม่อยากทำสิ่งนั้นต่อ และพลอยทำให้เราไม่อยากทำอย่างอื่นด้วย

ในยุคหลังๆ หนังสือพัฒนาตนเองจึงหันมาชวนให้คนตั้งเป้าหมายเล็กๆ โดยพวกเขาเชื่อว่าการเริ่มที่อะไรเล็กๆ นี้เป็นสิ่งที่ทำได้บ่อยและทำได้จริง ซึ่งจะก่อให้เกิด ‘ความรู้สึกแห่งความสำเร็จ’ ตามมา ทำให้เรารู้สึกดีและอยากทำสิ่งนั้นอีก ท้ายที่สุด ก้าวเล็กๆ นี้จะพาเราไปสู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ได้สักวัน

หากวันไหนที่เรารู้สึกตื้อ ไม่มีแรงทำงาน ความรู้สึกแห่งความสำเร็จที่เราได้จากการทายคำใน Wordle ได้ แม้จะเล็กน้อย แต่อาจกระตุ้นให้เราสู้ต่อกับงานตรงหน้าของเราก็ได้นะ

3. เพราะเป็นประสบการณ์ร่วมของใครหลายๆ คน

“มีหลายเหตุผลที่ทำให้ Wordle เป็นที่นิยม…แต่หนึ่งในเหตุผลนั้นคือ เกมนี้ให้ประสบการณ์ทางด้านสังคมแก่เรา” แมต บอลด์วิน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาคจิตวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยฟลอริดากล่าว

เมื่อมนุษย์เราได้เผชิญกับประสบการณ์บางอย่างพร้อมๆ กัน ความรู้สึกจะทวีคูณมากขึ้น ดังนั้นเมื่อเรานึกได้ว่ามีคนอีกหลายล้านคนบนโลกกำลังเล่น Wordle ไปพร้อมๆ กับเรา ความสนุกจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้เล่นยังรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนโลกมากขึ้น จากการที่เราสามารถแชร์ประสบการณ์การเล่นผ่าน ‘อีโมจิ’ บนโซเชียลมีเดียได้ โดยไม่ต้องพิมพ์อะไรเพิ่มเติม แต่คนที่เล่นเกมก็สามารถเข้าใจสิ่งที่เราเจอได้เป็นอย่างดีว่าวันๆ นั้นประสบการณ์เล่นของเราเป็นอย่างไร (เพราะคำศัพท์มีเพียงวันละคำ เหมือนกันทั่วโลก) เรียกได้ว่าเป็นการแชร์ประสบการณ์แบบสากล ก้าวข้ามผ่านทั้งเชื้อชาติ ภาษา และสถานที่ โดยไม่ต้องอธิบายอะไร

4. เพราะทุกคนเข้าถึงได้

สาวก Android เคยรู้สึกน้อยใจไหมในช่วงที่แอปฯ ดังอย่าง Clubhouse ใช้งานได้แค่ใน Iphone? เราอยากรู้เหลือเกินว่าคนอื่นเขาพูดถึงเรื่องอะไรกันแต่ก็รู้เรื่องด้วยไม่ได้! กว่าจะเล่นได้กระแสก็ซาไปเสียแล้ว แต่ปัญหานี้ไม่ได้เกิดกับ Wordle เพราะเกมนี้เปิดให้เล่นในเว็บไซต์ ไม่ว่าจะใช้งานจากอุปกรณ์อะไรก็เล่นได้ ทุกคนเป็นที่ต้อนรับเหมือนกันหมด ตราบใดที่เราสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต


ในโลกที่ซับซ้อนและวุ่นวาย เราลองหันมาสร้างสรรค์อะไรที่สนุก เรียบง่าย ไม่เยอะเกินไป และทุกคนเข้าถึงได้ แบบ Wordle กันดีไหม? เผื่อไอเดียของเราจะครองใจใครหลายๆ คนและทำรายได้งามๆ ได้บ้าง


อ้างอิง
https://bit.ly/32ZiHi0
https://bit.ly/3ulTsBC

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#business
#inspiration

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่