ไม่ได้จับ ไม่ได้ Touch! สังคมไร้สัมผัส ‘Touchless Society’ กำลังเปลี่ยนแปลงอะไรไปบ้าง?

1100
Touchless Society

ในช่วงก่อนล็อกดาวน์ หากใครไปห้างสรรพสินค้า คงพบว่าร้านค้าหลายๆ ร้านได้เปลี่ยนรูปแบบการให้บริการไป อย่างเคาน์เตอร์เครื่องสำอางก็งดการทดลองสินค้า แต่เปลี่ยนเป็นการ ‘เทสต์ทิพย์’ โดยให้เราได้ลองแมตช์ลิปสติกกับปากของเรา หรือปัดแก้มกันผ่าน AR บนมือถือ ในขณะที่ระบบดิลิเวอรีส่งอาหารเองก็มีฟังก์ชัน ‘ลดสัมผัส’ รณรงค์ให้ผู้ส่งกับผู้รับไม่ต้องพบปะเจอหน้ากัน โดยการเลือกตัดเงินผ่านบัตรเครดิตหรือระบบออนไลน์ และให้ผู้ส่งวางอาหารไว้ตามจุดที่กำหนด

นอกจากนี้ ที่ประเทศจีนยังมีการคิดค้นระบบ Self-service ด้วยตู้คอนเทนเนอร์ที่สามารถทําอาหารตามสั่งได้อัตโนมัติ เเทนที่จะจ้างเชฟหรือคนปรุง ซึ่งเหล่านักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนาหุ่นยนต์ให้ทําอาหารอย่างรวดเร็ว โดยใช้เวลาเพียง 15 นาทีเท่านั้นเพื่อปรุงเเต่งอาหาร 36 จาน!

นั่นเป็นเพราะสถานการณ์โควิด-19 นั้นทําให้เราใส่ใจเรื่องความสะอาดมากขึ้น การตระหนักถึงเรื่องดังกล่าวจึงเป็นส่วนผลักดันให้สังคมก้าวสู่การเป็น “Touchless Society” หรือสังคมไร้สัมผัส ซึ่งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงตามมาอีกมาก

Advertisements

หมดยุคต่อคิวจ่ายเงิน เมื่อ Touchless Payment เฟื่องฟูที่สุดในยุคนี้

เพียงนิ้วสัมผัส ลูกค้าก็สามารถสั่งซื้อสินค้าโดยไม่ต้องลุกออกจากโซฟา เมื่อระบบ Touchless Payment ในเเอปพลิเคชันของร้านนําไปสู่การจ่ายเงินที่รวดเร็วเเละราบรื่น โดยไม่ต้องเสียเวลาต่อคิวที่เเคชเชียร์ เเถมยังไม่ต้องออกจากบ้านไปเจอผู้อื่นอีกด้วย

ซึ่งข้อมูลจากธนาคารเเห่งประเทศไทยได้เเสดงให้เห็นว่า การชําระเเละโอนเงินออนไลน์โตขึ้นถึง 19.4% ในปีที่ผ่านมา ดังนั้น หากตามเทรนด์นี้ไม่ทัน หลายธุรกิจก็อาจลำบาก ทั้งนี้ เเบบสํารวจ State of Retail Payments ของสหรัฐอเมริกายังระบุว่า 94% ของผู้บริโภคได้ใช้ระบบ Touchless Payment บ่อยขึ้นในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนว่า เทคโนโลยีนั้นตอบโจทย์การใช้ชีวิตแบบไร้สัมผัสในยุคโควิด-19 นี้อย่างยิ่ง

โอกาสในการดูแลลูกค้าอย่างรู้ใจ ด้วยการเสิร์ฟข้อมูลแบบ Personalization 

เมื่อใช้เเอปพลิเคชันของร้านค้าหรือแบรนด์ต่างๆ ลูกค้าก็มีเเนวโน้มที่จะสมัคร Loyalty Program มากขึ้นเพื่อสะสมเเต้มเอาไว้เเลกของรางวัลที่ทางร้านกําหนด การสร้างเเอปฯ นั้นเปิดโอกาสให้หลายธุรกิจสามารถเก็บข้อมูลของผู้บริโภคในโลกออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนําไปสู่การทำ Personalization ของสินค้าให้ใกล้เคียงกับความต้องการของผู้ซื้อเท่าที่จะเป็นไปได้ เทรนด์การเสิร์ฟข้อมูลแบบเฉพาะตัวจึงโตขึ้นเป็นเงาตามตัวของสังคมไร้สัมผัสไปด้วย

เปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่าย ด้วยเทคโนโลยี NFC

สำหรับแบรนด์สินค้าที่อยาก ‘ไปต่อ’ ในยุค Touchless นี้ อาจต้องพึ่งพาเทคโนโลยีหลายอย่าง ซึ่งเทคโนโลยีหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ เทคโนโลยี Near Field Communication (NFC) 

อย่างที่เราพอจะทราบกันว่า NFC สามารถส่งข้อมูลระยะสั้นๆ ได้ ที่ผ่านๆ มา ลูกค้ามักใช้ NFC สเเกนป้ายผลิตภัณฑ์เพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมหรือโปรโมชันล่าสุด แต่เทคโนโลยี NFC นี้ เมื่อใช้ร่วมกับ E-wallet ในโทรศัพท์ จะสามารถทำเป็นระบบการชำระเงินได้ด้วย

Advertisements

โดย NFC จะทํางานเหมือนบัตรเครดิตเเต่ปลอดภัยกว่า ด้วยระบบ Security ในสมาร์ทโฟน เช่น รหัสผ่านเเละไบโอเมทริกซ์ ตอนนี้ทั้ง Google Pay เเละ Apple Pay ได้รองรับ NFC เเล้ว ซึ่งการจ่ายเงินด้วยระบบ NFC นั้นรวดเร็วทันใจ จนมีคนไม่น้อยเลยที่หลงรักเทคโนโลยีนี้

อย่างไรก็ตาม ระบบ NFC ก็มีข้อบกพร่องอยู่เหมือนกัน เช่น บางบริษัทอาจใช้ข้อมูลที่ได้มาในทางที่ผิด ไม่ว่าจะเป็นการตั้งใจขายโปรไฟล์ความชอบส่วนตัวของลูกค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือเผลอปล่อยข้อมูลเหล่านั้นให้บุคคลที่สาม ผู้บริโภคจึงควรใช้ NFC อย่างระมัดระวัง ส่วนทางผู้ประกอบการก็ควรมีจิตสํานึกเเละศึกษาระบบ Cybersecurity อย่างรอบคอบด้วย

แล้วเราจะรับมือกับ Touchless Society อย่างไร?

แม้สังคมไร้สัมผัสจะเข้ามาอยู่ในชีวิตของผู้คนตั้งแต่ก่อนโควิด-19 และเติบโตอย่างมากในช่วงนี้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกธุรกิจจะสามารถปรับตัวได้ ในตอนนี้ร้านค้าปลีกควรทําความเข้าใจเป้าหมายธุรกิจของตนเอง เเล้วค่อยระดมสมองว่าจะใช้เทคโนโลยีเหล่านี้อย่างไร เพื่อที่จะได้ปรับปรุงระบบด้วยเทคโนโลยีต่างๆ เพราะการลงทุนในระบบ NFC หรือ AR จะส่งผลลบอย่างมากถ้าหากร้านค้าปลีกไม่รู้ทิศทางความต้องการของตนเอง

ส่วนในด้านของพนักงานนั้น อาจได้รับผลกระทบจากการที่ร้านค้าที่มีหน้าร้านหลายๆ แห่งเริ่มลดจำนวนพนักงานลง และเน้นไปที่การให้บริการทางออนไลน์มากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อการล็อกดาวน์มาถึง หน้าร้านก็ต้องปิดลงไปโดยปริยาย ทำให้อัตราคนตกงานยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย พนักงานจึงต้องเพิ่มทักษะในการควบคุมเทคโนโลยี หรือใช้ความรู้เฉพาะทางเพื่อทำงานด้าน Specialist เช่น พนักงานแนะนำเครื่องสำอาง อาจเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ช่วยที่แนะนำสินค้าแบบส่วนตัวให้กับลูกค้าผ่านวิดีโอคอล แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัทด้วย

ส่วนผู้บริโภคเอง แม้เทคโนโลยีต่างๆ อย่างเช่น NFC เเละ AR จะสะดวกต่อการใช้ชีวิต แต่การเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของเราก็ยังเป็นเรื่องน่ากังวล ผู้บริโภคจึงควรใช้เทคโนโลยีอย่างระมัดระวังในสังคมไร้สัมผัสนี้ด้วย


แปลและเรียบเรียงจาก:
https://bit.ly/3i4tzyx
https://bit.ly/3i2gdmm
https://bit.ly/2T9udlX
https://bit.ly/3i58bJn
https://bit.ly/3ehoBNF

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#business
#society

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements