หากมองไปรอบๆ ตัวเรา จะเห็นได้ว่าตอนนี้ชีวิตของพวกเราทุกคนเต็มไปด้วยระบบการสมัครสมาชิก หรือ Subscription เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็น Netflix, Youtube Premium, Spotify Premium และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งระบบ Subscription นี้ ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นอนาคตของวงการบันเทิง ที่ช่วยให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกและความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นในการเสพคอนเทนต์รูปแบบต่างๆ
แต่ลองนึกดูว่าถ้าเกิดโมเดล Subscription ถูกนำมาใช้กับธุรกิจรถยนต์ขึ้นมาล่ะ จะออกมาเป็นอย่างไร? ลองคิดดูว่า สมมติว่าเราต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 180 บาทต่อเดือนถ้าเกิดว่าเราอยากจะสตาร์ตรถผ่านทางแอปพลิเคชัน หรือต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 900 บาทต่อเดือนเพื่อจะได้ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติขั้นสูง (Cruise Control)
มันคงเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจพอสมควร และคิดไม่ถึงใช่ไหมว่า เราจ่ายเงินซื้อรถยนต์ราคาคันละเป็นแสนเป็นล้านทั้งที แต่ทำไมเรายังต้องมาเสียค่าใช้จ่ายรายเดือนเพิ่มเติมเพื่อปลดล็อกฟีเจอร์ต่างๆ เพิ่มเติมของรถ ทั้งๆ ที่เราควรจะได้มันมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
คนหลายกลุ่มก็เริ่มตั้งคำถามนี้เหมือนกัน หลังจากพวกเขาเห็นว่า BMW เริ่มทำการ “เก็บค่าบริการรายเดือน” จำนวน 18 ดอลลาร์ (ประมาณ 650 บาท) ต่อเดือน สำหรับฟีเจอร์ “เบาะที่นั่งทำความร้อน (Heated Seat)” ในหลายๆ ประเทศเช่น เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร และเยอรมนี
โดยความพยายามในการประยุกต์ใช้โมเดลแบบ Subcription ของ BMW ในครั้งนี้ ก็ไม่ใช่ครั้งแรกเสียด้วย เพราะว่าก่อนหน้านี้ในปี 2019 พวกเขาเคยพยายามที่จะบังคับให้ลูกค้าต้องจ่ายค่าบริการรายเดือนเป็นจำนวน 80 ดอลลาร์ (ประมาณ 2,900 บาท) ต่อเดือน สำหรับการเข้าถึงฟีเจอร์เชื่อมต่อสมาร์ตโฟนอย่าง Apple Car Play และ Android Auto ทั้งๆ ฟีเจอร์นี้เป็นของฟรีภายในรถยี่ห้ออื่นๆ ซึ่งแผนการนี้ก็ถูกยกเลิกไปหลังจากที่โดนเสียงวิจารณ์อย่างหนัก
หลายคนอาจจะคิดว่ามันคงเป็นเรื่องตลกๆ ที่ BMW ทำอยู่คนเดียวใช่ไหม? เสียใจด้วย เพราะ BMW ก็ไม่ใช่แบรนด์รถยนต์เพียงแบรนด์เดียวที่เริ่มใช้ระบบ Subscription ในการทำธุรกิจ โดยที่ยังมีแบรนด์รถยนต์ชื่อดังอื่นๆ มากมายเช่น Tesla, Volkswagen, หรือ Audi ที่เริ่มนำแนวคิดของการสมัครสมาชิกนี้มาใช้เหมือนกัน
ทำไมแบรนด์รถยนต์ถึงหันหน้าเข้าสู่โมเดล Subscription
Kristin Kolodge รองประธาน ของ J.D. Power บริษัทที่ให้บริการด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในได้เปิดเผยถึงข้อได้เปรียบของการใช้โมเดล Subscription ของบริษัทรถยนต์ต่างๆ เอาไว้ว่า บริษัทรถยนต์ที่ทำแบบนี้พวกเขาไม่เพียงแต่ได้รับรายได้ต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีแบบ Passive Income ที่เพิ่มมากจากราคารถยนต์เบื้องต้น แต่มันทำให้บริษัทรถยนต์สามารถลดขั้นตอนในกระบวนการผลิตได้มากขึ้น โดยที่พวกเขาสามารถผลิตรถยนต์ออกมาในสเปกที่เหมือนกันได้หมดในทีเดียว ไม่จำเป็นต้องผลิตแยกเป็นรุ่นตัวท็อป หรือรองท็อป แต่ให้ผู้บริโภคเป็นคนเลือกแทนว่า พวกเขาอยากจะจ่ายเงินเพื่อเพิ่มสมรรถนะของรถมากแค่ไหน
แนวคิดการทำธุรกิจแบบ Subscription ในรถยนต์นี้จะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าขาดเทคโนโลยี Over-the-Air (OTA) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการอัปเดตซอฟต์แวร์รถยนต์ผ่านช่องทางออนไลน์ ที่ถูกคิดค้นโดย Tesla เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ทำให้พวกเขาสามารถอัปเดตฟีเจอร์ต่างๆ ของรถ Tesla ให้กับผู้ใช้ทั่วโลก
ประจวบเหมาะกับรถยนต์ต่างๆ ในปัจจุบัน ไม่ใช่เพียงแค่ Tesla ที่ได้มีการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต และพึ่งพาซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์เป็นอย่างมาก บริษัทรถยนต์จึงยังสามารถเข้าถึงส่วนต่างๆ ของรถ เพื่อตรวจเช็กสภาพ เพิ่มความสามารถใหม่ๆ หรือปรับแต่งสิ่งต่างๆ จากระยะไกลได้ ทำให้แบรนด์ต่างๆ ยังมีอำนาจการควบคุมรถยนต์ของพวกเขาได้อยู่บางส่วน ถึงแม้จะขายรถออกไปให้ลูกค้าแล้วก็ตาม
และด้วยเทคโนโลยีนี้ มันจึงเปลี่ยนแนวคิดของธุรกิจรถยนต์ไปอย่างสิ้นเชิง โดยตอนนี้รถยนต์สามารถถูกมองว่าเป็นสินค้าดิจิทัลได้มากขึ้น ซึ่งบริษัทรถยนต์ส่วนใหญ่ก็เริ่มที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการซื้อขายรถปกติ เป็นโมเดลแบบ Subscription มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น Lexus, Toyota และ Subaru ที่เริ่มมีบริการให้ลูกค้าจ่ายเงินเพิ่มสำหรับฟีเจอร์การล็อกรถ และสตาร์ตรถผ่านแอปพลิเคชัน
นอกจากนี้ Tesla, Porsche, หรือ Cadillac เองก็มีบริการให้ลูกค้าจ่ายเงินเพิ่ม สำหรับซอฟต์แวร์ช่วยเหลือการขับขี่ (Driver-Assist Features) อีกด้วย ซึ่ง ณ เวลานี้ เทรนด์นี้ยังคงวนเวียนอยู่แค่แบรนด์รถระดับ High-End ที่มีราคาสูงเพียงเท่านั้น
แล้ว Subscription จะกลายเป็นอนาคตของธุรกิจรถยนต์หรือไม่
เสียงตอบรับจากผู้บริโภคนั้นอาจจะไม่แย่อย่างที่คิด เพราะต้นปีที่ผ่านมา Cox Automotive ได้ทำการสำรวจผู้คนจำนวน 217 คนที่ตั้งใจจะซื้อรถใหม่ในอีกสองปีข้างหน้าว่าพวกเขายินดีจ่ายค่าบริการรายเดือนเพิ่มเติมเพื่อที่จะได้เข้าถึงฟีเจอร์ทั้งหมดของรถหรือไม่ ซึ่งมีถึง 25% ที่บอกว่าพวกเขายินดีที่จะจ่าย ส่วนที่เหลืออีก 75% บอกว่าพวกเขาไม่ยินดีอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ในกลุ่ม 25% ที่บอกว่าพวกเขายินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มนั้น ก็ไม่ได้ยอมจ่ายเงินแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง โดยพวกเขาบอกว่าจะยอมจ่ายเงินเพิ่มก็ต่อเมื่อฟีเจอร์ที่เพิ่มขึ้นมา เป็นฟีเจอร์ที่ช่วยเรื่องความปลอดภัย หรือเพิ่มสมรรถนะของรถ อย่างเช่น ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน (Lane-Keep Assist) หรือระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นแล้ว ถ้าบริษัทรถยนต์ต่างๆ อยากจะใช้โมเดล Subscription ขึ้นมาอย่างจริงจัง แค่ฟีเจอร์เพื่อความสะดวกสบาย หรือฟีเจอร์เพื่อความหรูหราเพียงอย่างเดียว ก็คงไม่พอที่จะทำให้ผู้บริโภคยอมควักกระเป๋าจ่ายเพิ่มอย่างแน่นอน
ซึ่งโมเดล Subscription นี้เป็นสิ่งที่ทาง General Motors แบรนด์รถยนต์สัญชาติอเมริกันพิสูจน์ให้เห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ธุรกิจรถยนต์สามารถทำได้ เพราะเมื่อปีที่แล้วพวกเขาได้มีการรายงานออกมาว่าพวกเขาได้รับรายได้จากบริการ Subscription ในรถยนต์ของพวกเขา ที่มอบบริการเสริม ด้านระบบรักษาความปลอดภัย และ GPS มากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวเลขที่บริษัทคาดว่าจะเติบโตเป็น 25 พันล้านดอลลาร์ภายในสิ้นปี 2030 นี้ ซึ่งจะทำให้ GM มีรายได้จากระบบ Subscription ในระดับเดียวกับ Netflix และ Spotify เลยทีเดียว
ทั้งหมดนี้แปลว่าธุรกิจรถยนต์นั้นจะถูกเปลี่ยนโฉมไปเป็นเหมือนบัญชี Netflix ของเราหรือไม่?
มันก็คงยังเป็นเรื่องยาก และห่างไกลอยู่พอสมควร ที่น่าจะวางใจได้เลยก็คือ ในอนาคตข้างหน้าเราคงไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายรายเดือนเพิ่มสำหรับคุณสมบัติพื้นฐานที่รถควรจะมี เช่น เบรก คันเร่ง หรือกระจกมองข้าง แต่ว่าด้วยเทคโนโลยีต่างๆ และรถยนต์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปเป็นระบบเครื่องยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นทุกวัน อาจจะทำให้บริษัทต่างๆ ต้องเปลี่ยนมุมมองที่พวกเขามองสินค้าของตัวเองใหม่ เพื่อหาช่องทางทำกำไรรูปแบบใหม่ๆ และให้มีความสอดคล้องกับโลกยุคดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง
ไม่แน่ว่าในอนาคต เราอาจจะต้องมีการหารพาสเวิร์ดสำหรับรถยนต์กับเพื่อนๆ หรือต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อที่จะได้ไม่ต้องฟังโฆษณาในรถทุกๆ 15 นาทีก็ได้นะ ใครจะไปรู้!
อ้างอิง
https://bit.ly/3IBHnx8
https://bit.ly/3uLUdn2
https://tcrn.ch/3IJJm2M
https://on.wsj.com/3IDhkFR
https://bit.ly/3Pcmds3
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#business