BUSINESS‘ซัมโปะ โยชิ’แนวคิดทำธุรกิจแบบคนญี่ปุ่น ที่ดีกับผู้ขาย ผู้ซื้อ และสังคม

‘ซัมโปะ โยชิ’แนวคิดทำธุรกิจแบบคนญี่ปุ่น ที่ดีกับผู้ขาย ผู้ซื้อ และสังคม

ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีแนวคิดและวิธีปฏิบัติในการทำธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนเป็นที่ยอมรับจากทั่วทุกมุมโลกว่า ไม่ว่าสินค้าหรือบริการใดก็ตาม ถ้ามาจากประเทศญี่ปุ่นแล้วล่ะก็ จะต้องเป็น “ของดี”

ใครก็ตามที่ได้มีโอกาสใช้บริการธุรกิจจากประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใดๆ ก็ตาม ความประทับใจอันดับต้นๆ ที่เราจะได้รับก็คือ ความใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในทุกแง่มุมของการทำธุรกิจ

ตั้งแต่ความเอาใจใส่ในการบริการ ความซื่อสัตย์สุจริตของพนักงาน ความมีระเบียบเรียบร้อยเป็นขั้นเป็นตอนของการขาย การบริการหลังการขายที่คอยดูแลลูกค้าจนถึงนาทีสุดท้าย รวมถึงความรับผิดชอบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ที่แสดงออกมาให้เห็นผ่านตัวสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ก็ตาม

ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวทั้งหมดนี้ เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในธุรกิจทุกขนาดของประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ธุรกิจขนาดเล็ก-กลางอย่าง SMEs ไปจนถึงบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ราวกับว่าค่านิยมนี้ ได้ซึมลงไปในความคิดจนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมชาติของธุรกิจเกือบทุกประเภท

แนวคิดการทำธุรกิจด้วยความเอาใจใส่แบบนี้ของชาวญี่ปุ่น ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ แต่ต้องย้อนกลับไปถึงช่วงเวลาของยุคสมัยเอโดะ ที่เป็นจุดกำเนิดของแนวคิดที่มีชื่อว่า Sanpo Yoshi (ซัมโปะ-โยชิ) ซึ่งเป็นรากฐานทางความคิด ที่ชาวญี่ปุ่นนั้นยึดถือในการทำธุรกิจ มาจนยุคปัจจุบัน

ต้นกำเนิดของ CSR ซัมโปะ โยชิ

คำว่า Sanpo Yoshi อ่านว่า “ซัมโปะ-โยชิ” มาจากรากศัพท์ญี่ปุ่น 2 คำ “ซัมโปะ” และ “โยชิ” โดย ซัมโปะ มีความหมายว่า “องค์ประกอบทั้ง 3” ส่วน โยชิ มีความหมายว่า “ดี” ประกอบเป็นคำว่า “ซัมโปะโยชิ” ที่แปลออกมาตรงตัวได้ว่า “ความพึงพอใจสามฝ่าย (Three-way Satisfaction)” เป็นหลักการในการดำเนินธุรกิจที่ต้องทำให้เกิดความพึงพอใจทั้ง 3 องค์ประกอบด้วยกัน ก็คือ ผู้ขาย ผู้ซื้อ และสังคมชุมชน นั่นเอง

มีการบันทึกเอาไว้ว่า Sanpo Yoshi เป็นคอนเซปต์ที่ถูกทำให้แพร่หลายในยุคสมัยเอโดะ (ค.ศ.1603–1868) จากกลุ่มพ่อค้าระดับหัวแถวที่ถูกเรียกว่า “โอมิ (Ohmi Shonin)” โดยเหล่าโอมิ นั้นจะเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อทำการขายสินค้าต่างๆ เช่น มุ้ง ยารักษาโรค สิ่งทอ และสินค้าอื่นๆ จากภูมิภาค Omi ของพวกเขา (ปัจจุบันคือจังหวัดชิงะ) และเมื่อสิ้นสุดยุคเอโดะ พวกเขาก็กลายเป็นกลุ่มพ่อค้าที่ประสบความสำเร็จและมีอิทธิพลมากที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น นั่นก็เพราะว่า พวกเขามีบางอย่างที่พ่อค้าทั่วไปคนอื่นๆ ไม่มี

ซึ่งความแตกต่างของเหล่าโอมิและพ่อค้าทั่วๆ ไปก็คือความ “สัมพันธ์” ของพวกเขาและชุมชนที่พวกเขาเดินทางไปทำการค้าขายด้วย นอกเหนือเกินไปกว่าสร้างความสัมพันธ์กับแค่ “ลูกค้า” เพียงอย่างเดียว ซึ่งหมายความว่าโอมิ จะพยายามหาวิธีการที่พวกเขาจะได้รับการยอมรับจากชุมชนที่พวกเขาเข้าไปทำการค้าขายด้วย พวกเขาจะสร้างโรงเรียนและสะพาน สนับสนุนศาลเจ้าในท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งจ่ายภาษีให้กับครอบครัวที่ยากจน พวกเขาต้องสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับผู้คนในพื้นที่ถึงแม้ว่าหลายคนจะไม่ใช่ลูกค้าของพวกเขา และทำให้แน่ใจว่าพวกเขาเป็นที่ชื่นชอบและเคารพ เพื่อที่ว่าชื่อของเขาจะเป็นที่จดจำจากชาวบ้านที่อาจกลายมาเป็นลูกค้าของพวกเขาในอนาคต

เรียกได้ว่าแนวคิด ซัมโปะ โยชิ นี้จึงกลายมาเป็น ต้นแบบขององค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม หรือการทำ CSR ของบริษัทต่างๆ ในปัจจุบันเลยทีเดียว ซึ่งมันทำให้ชาวญี่ปุ่นยึดเชื่อถือมั่นจนมาถึงปัจจุบัน ว่าการทำธุรกิจที่ดี ต้องสร้างประโยชน์แก่ตนเองเพียงเท่านั้น ไม่ว่าเราจะเป็นคนหาบเร่ หรือ CEO บริษัทพันล้าน ธุรกิจต้องสร้างประโยชน์ให้กับลูกค้าและสังคมรอบข้างด้วย

ผู้ขายดี ผู้ซื้อดี สังคมดี

Anita Roddick ผู้ก่อตั้งแบรนด์สินค้าเครื่องสำอางชื่อดัง The Body Shop ก็เป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้คอนเซปต์ ซัมโปะ โยชิ ในการบริธุรกิจของเธอ โดยในปี 1984 เธอตัดสินใจนำสินค้าออกจากตู้กระจกหน้าร้านค้า แล้วแทนที่ด้วยการติดโปสเตอร์ Save-The-Whales ซึ่งเป็นแคมเปญในการรณรงค์หยุดการล่าปลาวาฬ

ซึ่งถามว่ามันช่วยเพิ่มยอดขายให้กับ The Body Shop มากไหม? คำตอบคือไม่ แต่ Anita บอกว่าการตัดสินใจนั้นทำให้แบรนด์ของเธอมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า และชุมชนรอบๆ เป็นอย่างมาก จนสุดท้าย ด้วยแนวคิดในการบริหารธุรกิจแบบนี้ของเธอ The Body Shop เติบโตจนกลายเป็นบริษัทที่มียอดขาย 538.8 ล้านดอลลาร์ในปี 2002 โดยมีร้านค้า 2,000 แห่งในมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ซึ่งในปัจจุบันเอง The Body Shop ก็เป็นแบรนด์ที่พยายามช่วยเหลือสังคมในหลากหลายแง่มุม ตั้งแต่การลดการทดลองเครื่องสำอางกับสัตว์ รณรงค์หยุดเผาป่าไม้ ไปจนถึงเรื่องของการรณรงค์ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย

ทั้งนี้ คอนเซปต์ ซัมโปะ โยชิ ก็เป็นแนวคิดทางธุรกิจที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา ยืนอยู่บนพื้นฐานของการทำดีและมีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งถ้าใครก็ตามที่อยากจะทำธุรกิจด้วยหลักการซัมโปะ โยชิ เพียงแค่เข้าใจหลักการ 3 หลักการต่อไปนี้

Advertisements

1. Urite Yoshi (売り手よし) ทำธุรกิจที่ดีต่อตัวเอง

อันดับแรกแน่นอนว่าคือเรื่องของเงิน ถึงแม้จะไม่ใช่ทั้งหมด แต่ความสำเร็จของธุรกิจนั้นขึ้นอยู่กับผลประกอบการทางการเงินหรือผลกำไรที่ที่เราทำได้สร้างได้ ดังนั้น เราควรริเริ่มการวางแผนเชิงกลยุทธ์ที่จะทำให้เราสามารถดำเนินธุรกิจไปได้ในระยะยาวก่อน ไม่ว่าจะด้วยราคา การลงทุน และการลดความเสี่ยง

Advertisements

2. Kaite Yoshi (買い手よし) ทำธุรกิจที่ดีต่อลูกค้า

ถัดมาในลำดับที่สอง และก็คือลูกค้า ที่เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กับธุรกิจของตัวเราเองเลย เนื่องจากว่าลูกค้าคือคนที่จะนำรายได้เข้ามาให้กับธุรกิจของเรา เพราะฉะนั้นแล้ว เราควรเคารพลูกค้าทุกคนที่เข้ามาในธุรกิจของเราด้วยการให้บริการที่ดี ด้วยสินค้าที่ดี และมีความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม

3. Seken Yoshi (世間よし) ทำธุรกิจที่ดีต่อสังคม

มาถึงในลำดับสุดท้าย แต่เผลอๆ อาจจะสำคัญมากที่สุดในระยะยาว ก็คือการทำธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและมีประโยชน์ต่อสังคม โดยการทำธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมในยุคปัจจุบันนั้นถือว่ามีทางเลือกที่หลากหลายเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการทำ CSR ปกติ ช่วยเหลือผู้ยากไร้ในชุมชน การบริจาคเงินหรือสิ่งของให้การกุศล ไปจนถึงการดีไซน์สินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เพราะฉะนั้นแล้ว ในปัจจุบัน เราอาจจะเห็นผู้คนมากมายออกมาแชร์วิธีการทำธุรกิจที่มีความสร้างสรรค์ พลิกแพลง หรือแหกกฎของการทำธุรกิจแบบเดิมๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีในการขับเคลื่อนธุรกิจต่างๆ ให้ทันโลก แต่ว่าสุดท้ายแล้ว ก็อย่าลืมที่จะกลับมามองที่พื้นฐานของการทำธุรกิจที่ดี ด้วยคอนเซปต์เบสิกทั่วไปอย่าง “ซัมโปะ โยชิ” ที่ไม่ว่าผ่านมากี่ร้อยปี ก็ยังคงพิสูจน์ว่าเป็นวิธีการที่ได้ผลอยู่เสมอ

ที่มา
https://bit.ly/3Jm2ns7
https://bit.ly/3vwvHXc
https://bit.ly/3BxNzFc
https://bit.ly/3zibZj8

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#business

 

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า