โลกทุกวันนี้มีนวัตกรรมทางการแพทย์เกิดขึ้นใหม่อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน เมื่อมีปัจจัยสำคัญอย่างสังคมสูงวัย (Aging Society) และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มนุษย์ยิ่งมีการคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของมนุษย์ และการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ไปจนถึงรักษาสุขภาพให้สามารถมีชีวิตได้ยาวนานกว่าที่เคยเป็น และนั่นทำให้อุตสาหกรรมด้านเฮลท์แคร์ เป็นหนึ่งในธุรกิจที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดตลอดมา
Mission To The Moon มีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพ โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้คนผ่านการนำเสนอนวัตกรรมที่มีคุณค่าต่อความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้ในโรงพยาบาล
ในบทความนี้เราจะชวนทุกคนมารู้จักกับ “Philips” ในฐานะบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพที่จะมาปฏิวัติอุตสาหกรรมการแพทย์ทั่วโลก พร้อมอัปเดตข่าวสารธุรกิจด้านเฮลท์แคร์ ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศว่าก้าวหน้าไปถึงไหนกันแล้วบ้าง
เส้นทางบริษัท Philips ผู้นำนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน
ฟิลิปส์เป็นแบรนด์เก่าแก่ เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ปัจจุบันมีอายุร่วม 130 ปี ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1891 โดยเริ่มจากครอบครัวฟิลิปส์ Frederik (เฟรเดอริก) Gerard (เจอราร์ด) และ Anton (ออนตอง)
ที่เริ่มพัฒนาจากธุรกิจโรงงานเป่าแก้ว ในเมืองไอนด์โฮเวน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ก่อนมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความสำคัญในการพัฒนาชีวิตผู้คนอย่างหลอดไฟฟิลิปส์ ทำให้เมืองไอนด์โฮเวนเจริญเติบโตกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรม ไปจนถึงผู้คนในไอนด์โฮเวน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
หลังจากที่ฟิลิปส์เริ่มธุรกิจผลิตหลอดไฟได้ไม่นาน ในช่วงเดียวกัน Dr. Wilhelm Roentgen (วิลเฮล์ม เรินต์เกน) นักฟิสิกส์ชาวเยอรมันก็ได้ค้นพบรังสีชนิดหนึ่ง ชื่อว่า รังสี X หรือ X-rays ที่สามารถส่องผ่านทะลุร่างกายคนเราได้ ประกอบกับทางฟิลิปส์สนใจอยากริเริ่มธุรกิจนวัตกรรมด้านนี้อยู่ด้วย จึงได้ประยุกต์เอาความรู้ ความเชี่ยวชาญในการผลิตหลอดไฟ มาผลิตหลอดเอกซเรย์สำหรับการฉายภาพรังสีวินิจฉัย นับแต่นั้นมาฟิลิปส์ได้คิดค้นนวัตกรรมด้านรังสีวินิจฉัยอย่างต่อเนื่อง ทั้งเครื่องอัลตราซาวด์ เครื่องเอ็มอาร์ไอ (MRI) และเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) พร้อมกับธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน อาทิ ที่โกนหนวดไฟฟ้า โทรทัศน์สี เครื่องเสียง เป็นต้น
กว่า 130 ปีรอบโลก 70 ปีในไทยที่ลุยนวัตกรรมการแพทย์อย่างไม่หยุดนิ่ง
ตลอดระยะเวลา ฟิลิปส์ขับเคลื่อนไปตามเทรนด์ของโลกที่มุ่งเน้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ให้ความสำคัญชีวิตผู้คน ขณะเดียวกันได้มองเห็นทิศทางในโลกว่า ช่วงชีวิตของคนเริ่มยืนยาวขึ้น และจะต้องมีปัญหาบางอย่างตามมาควบคู่กันไปด้วย คือ ปัญหาสุขภาพ จึงได้เริ่มโฟกัสธุรกิจด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ การดูแลสุขภาพ และความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลก
จนกระทั่งนำมาสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ที่ฟิลิปส์ได้ตัดสินใจขายธุรกิจหลอดไฟออกไป เพื่อขยายธุรกิจทางด้านการแพทย์ให้มากขึ้น โดยมีการร่วมมือกับนักวิจัยและสถาบันทางการแพทย์ชั้นนำของโลกหลายแห่ง เพื่อการพัฒนาที่ครอบคลุมความต้องการด้านสุขภาพ
และล่าสุดนี้เมื่อปีที่แล้ว ฟิลิปส์ ได้ตัดสินใจครั้งใหญ่อีกครั้ง คือ การแยกธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนบางประเภทออกไป อาทิ หม้อทอดไม่ใช้น้ำมัน เตารีด เครื่องดูดฝุ่น เครื่องฟอกอากาศ เป็นต้น โดยยังเก็บธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เกี่ยวกับสุขภาพการดูแลสุขภาพส่วนบุคคลเอาไว้ อย่างเช่น แปรงสีฟันไฟฟ้า ที่โกนหนวดไฟฟ้า ไดร์เป่าผม รวมถึงผลิตภัณฑ์แม่และเด็ก เพื่อมุ่งเป้าหมายในการเป็นบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยี เพื่อการดูแลสุขภาพอย่างแท้จริง
สำหรับแบรนด์ฟิลิปส์ในประเทศไทย มีอายุถึง 70 ปี แล้ว ฟิลิปส์เข้ามาก่อตั้งในประเทศไทยเมื่อเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2495 ซึ่งนับว่าเติบโตขึ้นมาได้ครึ่งทางของบริษัทแม่ “รอยัลฟิลิปส์” ที่เนเธอร์แลนด์ โดยเริ่มจากธุรกิจหลอดไฟเช่นเดียวกัน โดย 20ปีที่ผ่านมา ฟิลิปส์ ในประเทศไทยหันมาโฟกัสที่ธุรกิจเครื่องมือแพทย์มากขึ้น และนำเสนอนวัตกรรมที่ครอบคลุมการดูแลสุขภาพอย่างครบวงจร ตั้งแต่ การป้องกัน การตรวจวินิจฉัย การรักษา และการดูแลสุขภาพที่บ้าน
ที่สำคัญฟิลิปส์ได้มีการบูรณาการอุปกรณ์ ระบบ ซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะ (AI) เข้ามาไว้ด้วยกัน เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคทั่วโลกมีสุขภาพดี และสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ป่วย เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ช่วยให้คุณภาพชีวิตการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ดีขึ้น และลดต้นทุนในการรักษา
เดินหน้าพร้อมนวัตกรรมสุดล้ำเพื่อชีวิตที่สบายขึ้น
ปัจจุบัน ธุรกิจของฟิลิปส์ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อการดูแลสุขภาพส่วนบุคคล (Personal Health) ได้แก่ แปรงสีฟันไฟฟ้า, ผลิตภัณฑ์แม่และเด็ก AVENT, เครื่องโกนหนวดไฟฟ้า และไดร์เป่าผม ซึ่งทุกผลิตภัณฑ์มีการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์กับสินค้า เช่น เครื่องโกนหนวดไฟฟ้าที่มีเทคโนโลยีและเซ็นเซอร์อัจฉริยะ คอยบอกผู้ใช้ว่าน้ำหนักการโกนหนักหรือเบาเกินไป เพื่อป้องกันการระคายเคืองผิว หรือสามารถเชื่อมต่อแอพลิเคชั่นเพื่อบอกว่าโกนบริเวณไหนเกลี้ยงหรือยัง นี่คือตัวอย่างเทคโนโลยีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ฟิลิปส์นำมาเพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค
และ 2. กลุ่มธุรกิจหลักอย่าง ธุรกิจเครื่องมือแพทย์ (Health Systems) ที่เน้นนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ที่ล้ำสมัย อาทิ เครื่อง MRI ที่เป็นแบรนด์แรกและแบรนด์เดียวในโลกที่ลดการใช้ก๊าซฮีเลียมเหลือเพียง 7 ลิตร, เครื่องสวนหลอดเลือดหัวใจ Azurion กับเทคโนโลยีล้ำๆ เปลี่ยนการผ่าตัดใหญ่เป็นการผ่าตัดเล็กที่มีแผลน้อย ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว และช่วยลดค่าใช้จ่ายสำหรับตัวผู้ป่วยและโรงพยาบาล ไปจนถึงเครื่องมอนิเตอร์ติดตามสัญญาณชีพ, เครื่อง X-rays, เครื่องอัลตราซาวด์, เครื่องช่วยหายใจ, เครื่องกระตุกหัวใจ และเครื่อง AED เป็นต้น
ด้วยความที่ปัจจุบันอุตสาหกรรมด้านเฮลท์แคร์ในไทยมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ ทำให้จำนวนผู้ป่วยมีมากขึ้น ในขณะที่จำนวนบุคลากรทางการแพทย์มีอย่างจำกัด บริษัทฟิลิปส์จึงได้นำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์มากยิ่งขึ้น ที่สำคัญยังช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยให้เพิ่มขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น เครื่องตรวจอวัยวะด้วยภาพ มีการใช้ AI มาช่วยประเมินผลวินิจฉัย ระบุร่องรอยของโรคอย่างแม่นยำ ทำให้เวลาในการอ่านฟิล์มของแพทย์น้อยลง
มากไปกว่านั้นยังมีการนำนวัตกรรมเครื่องตรวจวัดสัญญาณชีพ Philips IntelliVue (ฟิลิปส์ อินเทลิวิว) สามารถใช้งานเก็บข้อมูลผู้ป่วยในขณะที่กำลังขนย้ายผู้ป่วยจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ทำให้แพทย์เข้าถึงข้อมูลและนำข้อมูลไปวิเคราะห์ เพื่อทำการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการนำโซลูชั่น Intellispace Critical Care & Anesthesia (ICCA) ช่วยรวบรวมข้อมูลจำนวนมหาศาลเข้าไว้ด้วยกัน ง่ายต่อการเข้าถึง ลดอัตราการผิดพลาด และลดเวลาการเก็บข้อมูลด้วยวิธีจดบันทึกแบบเดิมของเจ้าหน้าที่
นอกจากนี้บริษัทยังมีนวัตกรรม Smart Alarm หรือสัญญาณเตือนแบบสมาร์ตจากเครื่องตรวจวัดสัญญาณชีพ ที่ลดอัตราการเตือนที่ไม่จำเป็นออก เพื่อลดเสียงรบกวนผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ และกำลังจะมีนวัตกรรมใหม่ในเร็วๆ นี้ คือประยุกต์เสียงเตือนทั่วไปให้เป็นเสียงดนตรีที่ได้ยินเสียงและรู้สึกผ่อนคลาย ซึ่งสร้างสรรค์โดยนักดนตรีอาชีพ ไปจนถึงเครื่องมือทางการแพทย์ในห้องผ่าตัด ฟิลิปส์เตรียมนำนวัตกรรมเครื่องมือวัดสัญญาณชีพ จากที่แสดงเป็นเส้นกราฟมากมาย เปลี่ยนเป็นภาพอวาตาร์ผู้ป่วยบนจอ เพื่อร่นระยะเวลาการทำงานของแพทย์ โดยแพทย์จะสามารถมองภาพอวาตาร์ (Avatar) คนไข้บนจอแล้ววินิจฉัยจากภาพที่จะบอกสภาพโดยรวมของผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วขึ้นซึ่งเป้าหมายของฟิลิปส์คือช่วยสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพเครื่องมือแพทย์ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้มีขีดความสามารถเหนือขึ้นจากเดิม เพราะเครื่องมือแพทย์เป็นเครื่องมือสำคัญต่อการช่วยชีวิตผู้คน
สำหรับทิศทางของฟิลิปส์ในอนาคต คือการนำโซลูชันที่ช่วยจัดการข้อมูลได้อย่างครบวงจร พร้อมกับตั้งเป้าหมายชัดเจนว่าจะก้าวสู่ความเป็นผู้นำในเรื่อง Informatics ทางด้านการแพทย์ ชูอุปกรณ์ทางการแพทย์อันทันสมัย โรงพยาบาลลูกข่ายสามารถส่งข้อมูลเชื่อมโยงกันหลายๆ โรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถวิเคราะห์จากจุดตรงกลางได้ ช่วยแก้ปัญหาจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ ร่นระยะเวลาการทำงานของแพทย์ไม่ต้องวิ่งไปวิ่งมา ให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ง่ายขึ้นและระบบนี้จะเป็นตัวช่วยสำคัญอย่างมากในช่วงโควิด-19 พยาบาลไม่ต้องถือฟอร์มกระดาษมาจดทุกครึ่งชั่วโมง ว่าวันนี้หายใจเป็นอย่างไร ออกซิเจนในเลือดเท่าไหร่ เพราะข้อมูลทุกอย่างจะลิ้งก์เข้าสู่ระบบ ทำการบันทึกเป็นรูปแบบรายงานออกมา ทำให้พยาบาลสะดวกและมีเวลาโฟกัสที่ตัวผู้ป่วยมากขึ้น
สุดท้ายคือการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สุขภาพให้เข้มข้นมากขึ้น ดึงเทคโนโลยีเข้ามาเป็นกลไกในการสร้างเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งการที่จะบรรลุเป้าหมายตรงนี้นั้น ฟิลิปส์ยืนยันว่าจะไม่หยุดที่จะเรียนรู้ และพร้อมวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภค เพื่อเข้าถึง Consumer Insight ให้มากขึ้นต่อไปในอนาคต
สำหรับใครที่สนใจเข้าไปดูสินค้าและธุรกิจทางการแพทย์ของฟิลิปส์ แบรนด์ที่เราคุ้นหูคุ้นตากันดี สามารถเข้าไปชมได้ที่ https://www.philips.co.th/healthcare/medical-products
Mission To The Moon x PHILIPS