ทุกวันนี้ทุกคนพึ่งพา “ดวงชะตา” แค่ไหนกัน?
ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะหันไปทางไหน เราจะเห็นธุรกิจที่ผูกเข้ากับเรื่องดวงชะตาผุดออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจทำนายดวงชะตา การดูฮวงจุ้ยบ้าน สินค้านำโชค ไม่ว่าจะเป็นกำไล Ravipa การซื้อขายเบอร์โทรศัพท์เลขมงคล หรือแม้แต่รูป Wallpaper มงคลจากสำนักต่างๆ ก็ตาม
ซึ่งจากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าในปี 2020 ธุรกิจความเชื่อเป็น 1 ใน 15 ธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ถึงแม้ว่าธุรกิจอื่นจะถูกท้าทายโดยเทคโนโลยีหรือสถานการณ์โลกต่างๆ แต่ธุรกิจความเชื่อยังคงมีการเติบโตอยู่เรื่อยๆ ทำให้ใน 2-3 ปีมานี้ เราเห็นการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้อย่างมาก โดยเฉพาะจำนวนของ “นักพยากรณ์ดวงชะตา” หรือที่เรารู้จักกันว่า “หมอดู” ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การแข่งขันระหว่างหมอดูด้วยกันเองเข้มข้นมากยิ่งขึ้น
ทำให้เกิดคำถามว่า แล้วหมอดูทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ จะสร้างตัวตนให้เป็นที่จดจำได้อย่างไร ในยุคที่การแข่งขันสูงเช่นนี้?
ซึ่งนี่ก็เป็นคำถามเดียวกันกับฟากธุรกิจ ที่แต่ละแบรนด์ก็กำลังเผชิญปัญหาเดียวกัน และพยายามที่จะหากลยุทธ์มาพัฒนาให้ตัวเองเป็นที่จดจำจากลูกค้ามากยิ่งขึ้น
ทำให้ในบทความนี้เราจะมาถอดบทเรียนการทำ Personal Branding ของนักพยากรณ์ดวงชะตาไทย ที่ได้ข้อมูลมาจากการศึกษาของคุณปรารถนา พรมพิทักษ์ ในเรื่อง “แนวทางการสร้างแบรนด์บุคคลของนักพยากรณ์ดวงชะตาไทยในยุคดิจิทัล” ที่ได้ไปทำการสัมภาษณ์ 4 นักพยากรณ์ดวงชะตาแนวหน้าของประเทศไทย อย่างซินแสเป็นหนึ่ง, หมอดูต๊อกแต๊ก, หมอไอซ์และหมอแมนการิน ถึงบทเรียนที่ได้จากการทำธุรกิจ ซึ่งไม่แค่ให้ประโยชน์กับนักพยากรณ์ที่กำลังตามหาตัวเอง แต่ยังเป็นประโยชน์กับธุรกิจอื่นๆ ที่สามารถนำบทเรียนหรือทริกเหล่านี้ไปพัฒนาการสร้าง Branding ให้กับธุรกิจของตัวเองเช่นกัน
5 สิ่งที่ต้องรู้ในการทำ Personal Branding ของนักพยากรณ์ดวงชะตา
1. หาช่องทางที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่น
ในปัจจุบัน อย่างที่เราได้พูดคุยกันไปว่า ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ แบรนด์ หรือนักพยากรณ์ก็กำลังเผชิญกับการแข่งขันที่ดุเดือด ลูกค้าสามารถเข้าถึงแบรนด์หรือตัวบุคคลได้มากกว่าแต่ก่อนผ่าน “เทคโนโลยี” ในมืออย่างโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากกว่าที่เคยและปรับเปลี่ยนใจไปใช้บริการของผู้เล่นอื่นได้ง่ายกว่าแต่ก่อน
นี่จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่นักพยากรณ์ดวงชะตา จะต้องผลักตัวเองขึ้นมาให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่จดจำของผู้คนให้ได้ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า เคล็ดลับที่จะทำให้เป็นที่จดจำและสร้างความเชื่อมั่น คือการอาศัยช่องทางที่เข้าถึงคนจำนวนมาก อย่างการออกทีวี การให้สัมภาษณ์กับผู้มีชื่อเสียง หรือเป็นแค่การหยิบเรื่องราวของนักพยากรณ์เอาไปอ่านข่าว ก็เป็นแรงช่วยสำคัญที่ทำให้นักพยากรณ์คนนั้นนั้นได้เป็นที่รู้จักของคนจำนวนมากมากยิ่งขึ้น
นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมในปัจจุบัน เราจึงเห็นการคอลแลปส์กันจากทางฝั่งของแบรนด์ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ที่ต้องการลูกค้าสายมูมากขึ้น ในอีกทางหนึ่ง นักพยากรณ์ก็ได้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นผ่านการทำงานร่วมกับแบรนด์นั้นๆ และถ้ายิ่งเป็นแบรนด์ที่มีเครดิตสูงก็จะยิ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับตัวบุคคลอีกด้วย
2. หาตัวตนให้เจอ ไม่ใช่ลอกเลียนแบบ
จากการที่ผู้เล่นในอุตสาหกรรมความเชื่อเพิ่มขึ้นอย่างมาก เป็นธรรมดาที่นักพยากรณ์บางคนอาจจะเผลอไผลไปกับเทรนด์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น อะไรมาก็ทำตามไปหมด จนหลงลืมสิ่งที่สำคัญที่สุดของการสร้าง Branding ให้กับตัวเองอย่าง “ตัวตน” ไป
อย่างไรก็ตาม “ตัวตน” และ “เอกลักษณ์” คือสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับนักพยากรณ์ที่จะต้องทำความเข้าใจและหาให้เจอว่าอะไรคือจุดแข็งและอะไรคือจุดอ่อนของเรา เพื่อที่เมื่อมาวางกลยุทธ์ เราจะได้มีแนวทางเป้าหมายที่ชัดเจน และมีความต่อเนื่องกันของเอกลักษณ์ที่เราต้องการจะสื่อออกไปให้ผู้ชมหรือให้ลูกค้าจดจำเราได้
3. ต้องรู้เขารู้เรา
“รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” คงเป็นสำนวนไทยที่หลายคนคงได้ยินกันอยู่เป็นประจำในบริบทของการรู้ทันและเข้าใจศัตรูหรือคู่แข่ง ก็จะช่วยให้เราเป็นต่อมากขึ้นในการแข่งขัน
ซึ่งในเชิงของการสร้าง Branding สำนวนนี้ก็ได้สะท้อนให้เห็นว่านักพยากรณ์ไม่ใช่แค่ต้องรู้ “ตัวเอง” แต่ต้องรู้ “คู่แข่ง” ในอุตสาหกรรมเช่นเดียวกัน อย่างที่เราได้พูดคุยกันไปในข้อที่สองว่าเราจะต้องรู้จุดแข็งและสร้างเอกลักษณ์ของตัวเองให้ได้ แต่ในขณะเดียวกัน จะดีกว่าถ้าสามารถทำควบคู่ไปกับการสำรวจตลาดและผู้เล่นในตลาด ว่าตอนนี้ตลาดเป็นอย่างไร คนอื่นทำอะไรอยู่ อุตสาหกรรมขาดอะไรไป แล้วเราจะตอบโจทย์สิ่งนั้นด้วยจุดแข็งที่เรามีได้อย่างไร
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าในตลาดยังมีแต่คนที่ดูสื่อสารแบบจริงจังเป็นทางการ เราก็อาจจะลองสร้างความแตกต่าง โดยการพูดคุยแบบเหมือนเพื่อนมาเล่าให้ฟังมากยิ่งขึ้น หรือถ้าใครมีความสามารถด้านการตัดต่อ ก็สามารถที่จะเอาความคิดสร้างสรรค์ด้านการตัดต่อเข้ามาช่วยทำให้วิดีโอมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น คนก็อาจจะจำได้ว่า “อ๋อ นักพยากรณ์คนนี้นี่เองที่ชอบทำคอนเทนต์ตัดต่อดีๆ” เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยให้เราสามารถหาข้อแตกต่างและสร้างเอกลักษณ์ที่โดดเด่นขึ้นมาจากสิ่งที่ผู้เล่นคนอื่นมีอยู่ในอุตสาหกรรมอยู่แล้ว
4. รู้จักกลุ่มเป้าหมายของตัวเอง
ในการทำ Personal Branding อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กับการเข้าใจตลาด การเข้าใจผู้เล่นคนอื่นๆ เลย คือการเข้าใจ “กลุ่มเป้าหมาย” ของเรา ในการทำธุรกิจ การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในจำนวนผู้รับสารจำนวนมาก ถ้าเราสื่อสารออกไปอย่างสะเปะสะปะ ไม่ชัดเจน หรือใช้แพลตฟอร์มไม่ถูกต้อง ก็จะทำให้สิ่งที่เราต้องการจะสื่อไปไม่ถึงกลุ่มลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของเรา เช่น ถ้ากลุ่มเป้าหมายของเราคือกลุ่มวัยรุ่นที่ชอบความเป็นกันเอง แต่วิธีที่เราสื่อออกไปกลับเป็นในรูปแบบที่ดูจริงจังมากเกินไป กลุ่มวัยรุ่นก็อาจจะเลื่อนผ่านไปอย่างรวดเร็ว
และที่สำคัญเลยคือ “แพลตฟอร์ม” ที่เราจะใช้ในการสื่อสาร เพราะคนแต่ละช่วงวัย หรือแม้แต่เพศก็มีพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียที่แตกต่างกันออกไป เช่น TikTok ก็จะมีตั้งแต่กลุ่มที่เป็นเด็กไปจนถึงวัยรุ่น และเป็นกลุ่มที่ชอบเนื้อหาที่เร็ว กระชับ เข้าใจง่าย หรือถ้าอยากได้แพลตฟอร์มที่เข้าถึงคนได้หลากหลายกลุ่มอายุ แต่มีความสนใจเดียวกัน Youtube ก็อาจจะตอบโจทย์
เปลี่ยนไปเท่าไร นักพยากรณ์ดวงชะตาก็ต้องเรียนรู้และปรับตัวตามไปด้วย
และที่สำคัญสำหรับการทำ Branding แล้ว “ความสม่ำเสมอ” เป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ เลยก็ว่าได้ ลองยกตัวอย่างการที่เรานำเสนอรูปแบบตัวตนของเราออกไปอาทิตย์ละครั้งกับนำเสนอทุกวันหรือวันเว้นวัน ทุกคนว่าแบบไหนจะทำให้คนจดจำตัวตนของเราได้มากกว่ากัน? แน่นอนว่าก็ต้องแบบหลังใช่ไหมล่ะ ดังนั้นความสม่ำเสมอเป็นสิ่งที่สำคัญมากถ้าเราอยากจะให้คนจดจำเราว่ามีอัตลักษณ์อย่างไร และมากไปกว่านั้นสิ่งที่จะลืมไม่ได้เลยคือการเปิดรับฟีดแบ็กและนำมาปรับปรุงพัฒนาการทำงานของตัวเองอยู่ตลอด เพื่อที่จะสร้างบริการและการสร้าง Branding ที่ตอบโจทย์และตรงใจกลุ่มเป้าหมายของเรามากยิ่งขึ้น
ทำให้เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่นักพยากรณ์ดวงชะตาแต่ละคนจะต้องมากำหนดกลุ่มเป้าหมายของตัวเองว่าเป็นใคร ช่วงอายุเท่าไหร่ เพศอะไร มีความสนใจในเรื่องอะไร และมีพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะทำการสื่อสารได้อย่างตรงจุดและไม่เปลืองทรัพยากรของเราไปเปล่าๆ
5. ปรับตัวเข้ากับยุคสมัยและเทคโนโลยี
เมื่อเราสร้าง Branding ขึ้นมาได้แล้ว สิ่งที่ท้าทายต่อมาคือ เราจะ “รักษา Branding” ของเราไว้ได้อย่างไร ความท้าทายแรกคือเรื่องของการปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีและยุคสมัย อย่างที่เราเห็นกันว่าในปัจจุบัน พฤติกรรมของคนอยู่กับโทรศัพท์และโลกโซเชียลแทบจะ ตลอดเวลา
แน่นอนว่าในฐานะ “นักพยากรณ์ดวงชะตา” จะไม่สามารถที่จะทำการตลาดแบบเดิมหรือให้บริการในรูปแบบของ Physical อย่างเดียวได้อีกต่อไป แต่ต้องเข้ามาสร้างตัวตนบนโลกดิจิทัลด้วย เพื่อสร้างทางเลือกให้แก่ลูกค้าของเรา เช่น ถ้าเมื่อก่อนเรารับทำนายดวงชะตาแบบตัวต่อตัว ในปัจจุบันก็อาจจะต้องมีบริการทำนายแบบออนไลน์แล้ว เรียกได้ว่ายุคสมัยและผู้บริโภค
ท้ายที่สุดนี้แล้ว เราจะเห็นความเชื่อมโยงระหว่างการทำ Personal Branding ของนักพยากรณ์ดวงชะตา และการทำ Branding ของธุรกิจที่ค่อนข้างมีความคล้ายคลึงกัน ทำให้หากท่านใดไม่ได้มีอาชีพนักพยากรณ์ดวงชะตา ก็สามารถที่จะนำบทเรียนจากเหล่านักพยากรณ์แนวหน้าของไทย ไปปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทของธุรกิจของตัวเองได้เช่นกัน
และสำหรับใครที่เป็นนักพยากรณ์ดวงชะตาหน้าใหม่ที่กำลังเรียนรู้เสาะหาวิธีสร้าง Branding หรือจะเป็นนักพยากรณ์ดวงชะตาหน้าเก่าที่กำลังพยายามปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย ก็สามารถที่จะนำทั้ง 5 บทเรียนนี้ไปลองใช้ได้เช่นกัน
เพราะเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป “นักพยากรณ์ดวงชะตา” ก็ไม่ควรที่จะหยุดพัฒนาและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เสมอ
บทความนี้สรุปและเรียบเรียงจาก “แนวทางการสร้างแบรนด์บุคคลของนักพยากรณ์ดวงชะตาไทยในยุคดิจิทัล”, ปรารถนา พรมพิทักษ์, คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#business