ปวดประจำเดือนควรลาได้?!  ‘Period Leave’ วันลาที่ดีต่อพนักงานหญิงและองค์กร

5774
Period Leave

“ฉันกำลังมีประจำเดือน บางครั้ง มันเจ็บปวดจนทำให้ฉันไปทำงานไม่ได้หรือทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของฉันลดลง” นี่เป็นบทสัมภาษณ์บางส่วนของ Requena พนักงานบริษัทแห่งหนึ่งวัย 31 ปีที่ให้ไว้กับ TIME  

ในทุกเดือน ผู้หญิงทุกคนต้องเผชิญความเจ็บปวดจากการมีประจำเดือน โดยแต่ละคนมีอาการปวดมากน้อยแตกต่างกันออกไป แต่ถึงกระนั้น ความเจ็บปวดนี้ก็สร้างความหงุดหงิดและความรำคาญใจจนส่งผลต่อการทำงาน

นักจิตวิทยา Seema Hingorrany กล่าวว่า “ถึงเวลาที่สังคมเราต้องเห็นอกเห็นใจต่อความต้องการของผู้หญิงและปัญหาสุขภาพที่ไม่เหมือนใคร ผู้หญิงต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน มีคนไข้มาหาฉันโดยบอกว่าพวกเขาไม่อยากลุกจากเตียงเมื่อมีประจำเดือน มันจะดีกว่าถ้าบริษัทอนุญาตให้พนักงานหญิงสามารถลางานได้ เพราะสภาพจิตใจและร่างกายของพวกเธอส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานและทำให้ความคิดสร้างสรรค์ในที่ทำงานลดน้อยลง”

Advertisements

จะเห็นได้ว่า ผู้เชี่ยวชาญและพนักงานหญิงส่วนใหญ่เล็งเห็นว่าทุกองค์กรควรตระหนักถึงปัญหาที่พนักงานหญิงต้องพบเจอในทุกเดือน และคิดว่าควรมีนโยบาย ‘Period Leave’ หรือการลาปวดประจำเดือน

แต่รู้หรือไม่? นโยบายการลาปวดประจำเดือนเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1920 แล้ว!โดยริเริ่มจากสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย ที่อนุญาตให้ผู้หญิงที่มีประจำเดือนได้รับการปล่อยตัวจากการใช้แรงงาน และได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน 

แม้ว่าจะมีนโบายนี้เกิดขึ้นมานาน แต่เพราะเหตุใดเรายังคงเห็นหลายประเทศเรียกร้องและพยายามผลักดันนโยบายนี้อยู่? ทำให้เกิดคำถามว่าในหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมาไม่ได้ช่วยทำให้นโยบายนี้มีบทบาทในองค์กรเลยหรือ? 

เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายให้มากขึ้น ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นภาพชัดขึ้นว่าเพราะเหตุใดนโยบายการลาปวดประจำเดือนของหลายๆ ประเทศจึง ‘ย่ำอยู่กับที่’ ความจริงแล้ว หลังจากที่มีการริเริ่มแนวคิดการลาปวดประจำเดือนของสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซียในปี 1920 แนวคิดนี้กลายเป็นแรงผลักดันที่ทำให้สหภาพแรงงานในญี่ปุ่นร่างกฎหมายการลาปวดประจำเดือนในช่วงปลายปี 1947

Izumi Nakayama นักวิชาการจาก University of Hong Kong ผู้ศึกษาภาวะเจริญพันธุ์ของญี่ปุ่นกล่าวว่า การลาปวดประจำเดือนในทุกวันนี้ มีการบังคับใช้นโยบายที่แตกต่างกันในประเทศญี่ปุ่น นโยบายนี้ถูกใช้จริงเพียงเล็กน้อยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ผลการศึกษาของรัฐบาลปี 2014 พบว่า มีผู้หญิงน้อยกว่า 0.9% ในที่ทำงานที่ใช้นโยบายการหยุดประจำเดือน โดยอ้างเหตุผล เช่น ความอับอายหรือการขาดความเข้าใจจากหัวหน้าผู้ชาย ในปี 2021 เป็นต้น และการวิจัยยังพบอีกว่า พนักงานหญิงมีโอกาสในการลาหยุดน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพนักงานหญิงที่มีการศึกษาสูง

แม้ว่านโยบายนี้ไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น ถึงกระนั้น นโยบายที่ ‘มี’ เหมือน ‘ไม่มี’ นี้ก็ได้แพร่ขยายไปทั่วเอเชียตะวันออก ตั้งแต่เกาหลีใต้ไปจนถึงไต้หวันและหลายมณฑลในประเทศจีน มาดูกันว่าแต่ละประเทศมีนโยบายการลาปวดประจำเดือนอย่างไร

  • อินโดนีเซีย สามารถลาได้ 2 วันต่อเดือน
  • เกาหลีใต้ พนักงานหญิงจะต้องได้รับค่าจ้างในวันที่ลาปวดประจำเดือน
  • ไต้หวัน การลาปวดประจำเดือนไม่นับเป็นวันลาป่วย
  • แซมเบีย สามารถลาได้ 1 วันต่อเดือน
  • ประเทศจีน ตามรายงานของ China.org พนักงานหญิงที่มีใบรับรองแพทย์สามารถลาหยุดได้ 1-2 วัน 

และที่น่าสนใจ เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา Zomato บริษัทสตาร์ตอัปส่งอาหารในอินเดีย เริ่มเสนอให้พนักงานลาปวดประจำเดือนได้โดยรับค่าจ้างสูงสุด 10 วันต่อปี โฆษกของบริษัทกล่าวว่า นับตั้งแต่มีนโยบายในเดือนสิงหาคม ปี 2020 พนักงาน 621 คน ได้ลางานไปมากกว่า 2,000 วัน

จากที่กล่าวมาข้างต้น ดูเหมือนว่าหลายประเทศจะเริ่มให้การยอมรับนโยบายการลาปวดประจำเดือน แต่นโยบายนี้กลับมีอุปสรรคมากในสหรัฐฯ จากการสำรวจชาวอเมริกัน 600 คนในปี 2017 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Health Care for Women International พบว่าบางคนอ้างว่านโยบายนี้จะไม่ยุติธรรมกับผู้ที่ไม่มีประจำเดือนหรือสิทธิ์การลางานจะถูกใช้บ่อยเกินไป และมองว่านโยบายนี้ไม่มีความจำเป็น 

โดยบอกว่าพนักงานควรใช้วันลาป่วยหากจำเป็น ในบางกรณีอาจหมายถึงการลาโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ไม่มีข้อกำหนดสำหรับการลาป่วยที่ได้รับค่าจ้าง ทั้งนี้ ผลสำรวจของสำนักสถิติแรงงานสหรัฐฯ ประจำปี 2019 ชี้ว่า 24% ของคนงานในสหรัฐฯ ไม่มีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างเมื่อลาหยุด

แม้ว่าการลาปวดประจำเดือนจะไม่มีข้อจำกัดในบางประเทศ แต่ในบางประเทศยังเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ และตั้งคำถามเกี่ยวกับนโยบายนี้ว่ามีความจำเป็นต่อองค์กรและพนักงานหญิงจริงหรือไม่?

หลายคนโต้แย้งว่า การลาปวดประจำเดือนควรจัดเป็นวัน ‘ลาป่วย’ แต่การหยุดงานเป็นช่วงๆ มักมาพร้อมกับปัญหา ประการแรก หากบริษัทต้องการหนังสือรับรองจากแพทย์เพื่อยืนยันอาการเจ็บป่วย นั่นหมายความว่าพนักงานหญิงต้องไปพบแพทย์ทุกครั้งที่มีประจำเดือนเพื่อแสดงให้เห็นว่าตนเองปวดท้องและไม่สบายตัวหรือ? 

Nathelie Brady ผู้จัดการทั่วไปจากบริษัท M&C Saatchi ประเทศออสเตรเลีย แย้งว่า การแยกการลาป่วยกับการลาปวดประจำเดือนออกจากกันเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเท่าเทียม เพราะจากการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ผู้หญิงมีระบบร่างกายและสรีรวิทยาที่แตกต่างจากผู้ชาย และความแตกต่างนี้เป็นสิ่งที่ทำให้พวกเธอใช้ชีวิตลำบากกว่าผู้ชาย เช่น การมีรอบเดือน เป็นต้น เธอคิดว่าผู้หญิงทุกคนจึงควรได้รับประโยชน์จากความลำบาก (ด้านสุขภาพ) ที่พวกเธอต้องเผชิญ และในทางกลับกัน เธอมองว่าผู้ชายมีสิทธิ์ที่จะลาเพื่อดูแลบุตรเท่าเทียมกับผู้หญิงเช่นกัน

Culture Machine บริษัทการตลาดดิจิทัลของอินเดีย ได้จัดวันลาปวดประจำเดือนแยกออกจากวันลาป่วย เพื่อแสดงถึงการเป็นประจำเดือนนั้นคือ ‘ความเจ็บป่วย’ และ ‘สกปรก’ Reema D’souza ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลของ Culture Machine กล่าวว่า “นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงโดยธรรมชาติ เราต้องการให้ผู้คนเปิดเผยเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา”

Advertisements

พนักงาน HR ที่ Culture Machine ตัดสินใจผลักดันการลาปวดประจำเดือน เนื่องจากสังเกตเห็นว่าพนักงานบางคนที่มีประจำเดือนจะลาป่วยในแต่ละเดือน โดยอ้างเหตุผลการลาที่คลุมเครือ และบริษัทตระหนักดีว่าการที่พนักงานหญิงไม่กล้าเปิดเผยความจริงนี้ เกิดจากความกลัวที่จะบอกผู้จัดการ เธอคิดว่า “แนวคิดเรื่องการลาประจำเดือนของเราคือทำให้ผู้หญิงสบายใจที่จะก้าวกระโดดโดยไม่รู้สึกละอายใจที่จะเดินไปหาผู้จัดการชายหรือหญิงของพวกเขา”

บอกได้ว่า นโยบายการลาปวดประจำเดือนในอินเดียไม่อาจมองได้ว่าเป็นเพียงการช่วยเหลือพนักงานหญิง นโยบายนี้ยังเป็นการขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศในอินเดีย ที่ทำให้ผู้หญิงอินเดียมีพื้นที่ในสังคมมากขึ้น 

อย่างที่รู้กัน มุมมองของคนอินเดียที่มีต่อผู้หญิงมีประจำเดือนคือความไม่บริสุทธิ์ ค่านิยมนี้จึงทำให้พวกเธอถูกกีดกันจากกิจกรรมทางสังคมและศาสนา ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าไปในสถานที่สักการะบางแห่ง นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์สุขอนามัยที่ยังคงเป็นปัญหาที่พวกเธอต้องพบเจออยู่เนืองๆ ดังนั้น การลาปวดประจำเดือนจะเป็นก้าวสำคัญในการขจัดอุปสรรคในการใช้ชีวิต และอาจช่วยสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมทางเพศเช่นกัน

จากที่กล่าวมา นโยบายนี้ดูจะไปได้สวยใช่หรือไม่ แต่เหรียญนั้นมีสองด้านเสมอ แม้จะมีคนส่วนหนึ่งที่เห็นด้วยว่าควรมีนโยบายการลาปวดประจำเดือน แต่ก็มีคนอีกส่วนหนึ่งที่คิดว่านโยบายนี้ควรถูกนับรวมอยู่ในการลาป่วยทั่วไป

Zomato แพลตฟอร์มจัดส่งสินค้าของอินเดีย ได้สนับสนุนการลาหยุดสำหรับพนักงานที่มีประจำเดือนทุกคน การตัดสินใจนี้ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์บนโซเชียลมีเดียในอินเดียอย่างร้อนระอุ ชาวอินเดียต่างเรียกการเคลื่อนไหวนี้ว่า ‘ความไม่เท่าเทียม’ และ ‘ความล้าหลัง’ บางคนแย้งว่าการลาหยุดประจำเดือนอาจ “ผลักผู้หญิงออกจากบทบาทการตัดสินใจในที่ทำงาน”

ในขณะเดียวกัน นักเคลื่อนไหวสตรีนิยมในอินเดียคิดว่า ผู้หญิงที่อ้างว่าประจำเดือนมานั้น “ไม่ใช่เรื่องใหญ่” มันเป็นความเจ็บปวดที่ผู้หญิงทุกคนสามารถทนได้ และยังมีคนส่วนหนึ่งที่คิดว่าการลาปวดประจำเดือนคือการ ‘เสริมอำนาจ’ ให้กับผู้หญิง และเป็น ‘เรื่องส่วนตัวที่ควรเก็บไว้คนเดียว’

Daniela Piazzalunga ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Trento กล่าวว่า “คนส่วนใหญ่รวมทั้งตัวฉันเองคิดว่านโยบายนี้อาจทำให้ผู้หญิงเสี่ยงต่อการถูกเลือกปฏิบัติมากขึ้น นายจ้างอาจลังเลที่จะจ้างพนักงานหญิงและอาจทำให้หน้าที่การงานของพวกเธอไปไม่ไกลเท่าที่ควร และที่น่าตกใจคือ Daniela Piazzalunga ค้นพบว่า การต่อต้านนโยบายลาปวดประจำเดือนไม่ใช่กลุ่มผู้ชาย แต่เป็นกลุ่มผู้หญิงด้วยกันเอง เพราะพวกเธอคิดว่า การตั้งนโยบายนี้เอื้อประโยชน์ต่อเธอมากเกินจนทำให้เธอรู้สึกอ่อนแอและรู้สึกเหมือนถูกเปิดเผยจุดอ่อน  อีกทั้งมันเป็นสิทธิพิเศษที่ทำให้เธอไม่ได้เลื่อนตำแหน่ง

mm2021

อย่างไรก็ตาม นโยบายการลาปวดประจำเดือนยังคงทำให้คนบางส่วนรู้สึกคลางแคลงใจ คิดว่ามันไม่มีความจำเป็นและไม่มีประโยชน์ จริงๆ แล้วสิ่งที่คนเหล่านี้คิดถูกต้องหรือไม่? มาหาคำตอบกันเลยดีกว่า

Emperikal บริษัทเอเจนซี่ด้านการตลาดดิจิทัลที่ตั้งอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ การลาปวดประจำเดือนทำให้ขวัญกำลังใจของพนักงานในบริษัทดีขึ้นอย่างมาก Saiful Amir Omar ที่ปรึกษาหลักและผู้ก่อตั้งหน่วยงานกล่าวว่า การอนุญาตให้พนักงานลา มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน  ทำให้พวกเขาเห็นถึง ‘ความปรารถนาดีซึ่งกันและกัน’

พนักงานคนหนึ่งในบริษัท Emperikal กล่าวว่า “นโยบายนี้ช่วยให้ผู้ที่มีอาการปวดประจำเดือนอย่างรุนแรงรู้สึกดีขึ้นในที่ทำงาน อีกทั้งการที่บริษัทอนุญาตให้พนักงานลาปวดประจำเดือนยังสื่อถึงการที่บริษัทให้ความสำคัญกับผู้หญิงที่เป็นประจำเดือน รวมถึง LGBTQ+ หรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งมันดีมากๆ”

นอกจากนี้ Emperikal เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการลาปวดประจำเดือน นโยบายนี้ช่วยให้ผู้หญิงสมัครงานในบริษัทมากขึ้น ข้อมูลทรัพยากรบุคคลแสดงให้เห็นว่าอัตราส่วนของผู้หญิงกับผู้ชายในการสมัครงานเพิ่มขึ้นจาก 10:90 เป็น 60:40 ภายในสามปี Michelle Ding ผู้อำนวยการฝ่าย Creative Content ของ Emperikal กล่าวว่า “การขจัด ‘อคติในการคัดเลือก’ ระหว่างผู้สมัครนั้นส่งผลดีต่อบริษัทเป็นอย่างมาก เนื่องจากการมีประจำเดือนเป็นสิ่งที่บริษัทยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของบรรทัดฐานมากกว่าที่จะเป็นข้อเสียเปรียบในการจ้างพนักงานหญิง และเราเห็นว่าการมีนโยบายนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลดีต่อบริษัทที่จะทำให้เราสามารถเข้าถึงผู้มีความสามารถด้านความคิดสร้างสรรค์ได้มากขึ้นได้”

สรุปแล้ว แม้ว่าจะมีบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการบังคับใช้นโยบายการลาปวดประจำเดือนในองค์กร เนื่องจากพวกเขาคิดว่านโยบายนี้ไม่มีความจำเป็นต่อองค์กรและพนักงาน แต่จากหลายๆ การวิจัยและบริษัทที่ใช้นโยบายนี้ ทำให้เราเห็นว่ามันมีผลดีมากกว่าที่คิด และเพื่อให้นโยบายนี้ถูกบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม ภาครัฐและผู้บริหารองค์กรจำเป็นต้องตระหนักและให้ความสำคัญมากกว่านี้ 

อ้างอิง
https://bit.ly/3jDNndI
https://bit.ly/3Gm6zX2
https://bit.ly/3mmDH9n

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#business
#society

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements