BUSINESSออกสินค้าใหม่ทีไรหน้าตาก็เหมือนเดิม! ...

ออกสินค้าใหม่ทีไรหน้าตาก็เหมือนเดิม! เข้าใจกลยุทธ์ “MAYA” ของ Apple ที่ทำให้ขายดีแม้ไม่แปลกใหม่

‘Think Different’

สโลแกนของ Apple ที่ดูเรียบง่ายแต่ทรงพลัง ที่จะสื่อเพียงแค่ว่าพวกเขานั้นเป็นบริษัทที่ “คิดต่าง” จากคนอื่นๆ

แต่สิ่งที่ทำให้ใครหลายคนสงสัยก็คือ แม้ว่าพวกเขาจะบอกว่าตัวเองเป็นบริษัทที่คิดต่าง แต่ทำไมสินค้าใหม่ๆ ของพวกเขากลับมีรูปร่างหน้าตาคล้ายของเก่าอยู่ทุกปี จะเปลี่ยนอะไรแต่ละทีก็แค่นิดเดียว แบบนี้มันเป็นการทำตามสโลแกนที่บอกว่า Think Different ตรงไหน?

ซึ่งเมื่อวันจันทร์ที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมาในงาน WWDC 2022 ทาง Apple ก็ได้เปิดตัวสินค้า และฟีเจอร์ใหม่มากมาย และสำหรับเหล่าสาวกของ Apple แล้ว งานแถลงข่าวเปิดตัวประจำปีของ Apple คือช่วงเวลาอันน่าตื่นเต้นที่พวกเขาเฝ้ารออยู่ทุกๆ ปีว่าจะมีสินค้าอะไรใหม่ๆ มาให้ยลโฉมกันบ้าง แต่สำหรับใครก็ตามที่ไม่ได้ติดตาม Apple อยู่เป็นประจำ ก็คงจะมีความมึนงงเล็กน้อยว่าสินค้าที่สาวก Apple นับล้านฮือฮากันโครมๆ นั้น มันต่างจากของเดิมเมื่อปีที่แล้วตรงไหน?

หน้าตาดูไปดูมาก็เหมือนเดิม การใช้งานก็คล้ายเดิม บางปีเปลี่ยนแค่มีปุ่มเพิ่ม เอาปุ่มออก ลดช่องเสียบ หรือบางทีก็แค่มีสีเยอะขึ้น แต่ทำไมกันนะ คนถึงยังรุมซื้อจนของหมดได้ทุกปี ทำไม Apple ยังสามารถขายสินค้าใหม่ที่มีดีไซน์หน้าตาละม้ายคล้ายของเดิมแต่ก็ยังขายดีเป็นเทน้ำเทท่าได้ทุกปี?

บางที เคล็ดลับของ Apple นั้นอาจจะอยู่ในรหัสลับที่มีชื่อว่า ‘MAYA’

MAYA เป็นตัวอักษรย่อมาจากประโยคภาษาอังกฤษว่า ‘Most Advanced Yet Acceptable’ แปลตรงตัวได้ว่า “มีความก้าวหน้ามากที่สุด แต่ก็ยังสามารถยอมรับได้” มันคือหลักการที่ว่าด้วยเรื่องของความเข้าใจในความต้องการของผู้บริโภค ว่าอันที่จริงแล้วผู้บริโภคมักจะชื่นชอบสิ่งที่พวกเขามีความคุ้นเคยอยู่แล้ว แต่ก็มีคุณลักษณะใหม่ที่สามารถเข้าใจและนำไปใช้ได้ง่ายนั่นเอง

หลักการ MAYA ได้รับการคิดค้นจาก เรย์มอนด์ โลวี่ (Raymond Loewy) นักออกแบบลูกครึ่ง ฝรั่งเศส-อเมริกัน ที่โด่งดังในช่วงปี 1960s โดยผลงานโดดเด่นของเขามีหลากหลายชิ้นด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบขวดน้ำอัดลม Coca-Cola, ซองบุหรี่ Lucky Strike, หรือ โลโก้เปลือกหอยในตำนานของ Shell โดยงานเหล่านี้ของ Loewy นับว่ามีอิทธิพลอย่างมากในวัฒนธรรมการออกแบบ Pop Culture ยุคปัจจุบัน จนทำให้เขาเป็นที่รู้จักในฐานะบิดาแห่งการออกแบบเชิงอุตสาหกรรม (Industrial Design)

Loewy ได้บอกถึงเคล็ดลับในการดีไซน์สินค้าต่างๆ ให้มีความทันสมัย โดนใจคนและเป็นที่จดจำเอาไว้ว่า การจะออกแบบอะไรให้ถูกใจผู้บริโภคได้ ต้องคำนึงถึงหลักการ 2 อย่าง ซึ่งก็คือ..

1. Neophilia ความอยากรู้อยากเห็น ตื่นเต้นเกี่ยวกับสิ่งใหม่
2. Neophobia ความกลัวต่อสิ่งที่ใหม่เกินไป เพราะชอบความปลอดภัยอุ่นใจจากอะไรที่คุ้นเคย

ซึ่งเขาได้สรุปหลักการนี้เอาไว้ว่า ผู้บริโภคนั้นจะชื่นชอบสินค้าที่มีความก้าวหน้า มีความเป็นนวัตกรรมในตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นสินค้าที่พวกเขาเห็นแล้วสามารถเข้าใจได้ในทันทีอีกด้วย ซึ่งการออกแบบสินค้าใดๆ ก็ตาม ก็ควรจะหาจุดสมดุลระหว่างความ ‘ใหม่’ และ ‘คุ้นเคย’ ของผู้บริโภค โดยถ้าสินค้าใดสามารถผสมผสานสองสิ่งนี้ด้วยกันได้อย่างลงตัวแล้วล่ะก็ จะขายดิบขายดีและมีความ Iconic เป็นที่จดจำมากเลยทีเดียว

เพิ่มทีละนิด ลดทีละหน่อย ปล่อยสินค้าใหม่ทีไร ก็ปรับแค่นิดเดียว

สำหรับนวัตกรรม และการดีไซน์สินค้าของ Apple นั้น ก็เป็นกรณีศึกษาที่ดีของการหาจุดสมดุลแบบ MAYA ได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างสินค้าที่มีชื่อเสียงที่สุดของ Apple อย่าง iPhone ที่ตอนนี้ได้เดินทางมาถึงรุ่นที่ 13 แล้ว

ซึ่งในการปล่อยสินค้า iPhone รุ่นใหม่ออกมา ในแต่ละรุ่นก็มีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเพียงครั้งละนิดเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น ปุ่มโฮมที่หายไป เปลี่ยนพอร์ตสายชาร์จ หรือการนำรูหูฟังออก โดยส่วนใหญ่เป็นการอัปเกรดคุณลักษณะใหม่บางส่วนเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งจะสามารถสังเกตได้เลยว่าถึงแม้ iPhone ในยุคปัจจุบันนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปเท่าไหร่ เราก็สามารถเห็นถึงความคล้ายคลึง และชวนให้นึกถึง iPhone รุ่นแรกที่ออกมาได้ดีทีเดียว

iPod รุ่นแรก ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีของวิธีที่ Apple นำหลักการ MAYA มาใช้ เนื่องจากในการอัปเกรดแต่ละครั้งของ iPod แต่ละรุ่นนั้น Apple จะค่อยๆ นำเอาฟีเจอร์ ‘ปุ่มกด’ ออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ จนเจ้า iPod รุ่นล่าสุดมีลักษณะการใช้งานที่คล่องตัวมาก ซึ่งเป็นไปได้มากว่าการพัฒนาทีละน้อยของ iPod เครื่องแรก ทำให้ iPhone เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคเมื่อเปิดตัวในปี 2007 ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าสมาร์ตโฟนไม่ควรมีปุ่มโฮมเพียงปุ่มเดียว

หัวใจของการดีไซน์ ที่ไม่ทำให้ลูกค้า “กลัว” แต่กลับสร้าง “ความคุ้นเคย”

การดีไซน์สินค้าโดยที่ค่อยๆ ขยับปรับเปลี่ยนคุณลักษณะของมันเพียงทีละน้อยแบบนี้ ถึงแม้ว่ามันจะดูไม่มีความก้าวหน้า หรือกล้าหาญในเชิงนวัตกรรม แต่สิ่งที่มันมีก็คือ ผลต่อจิตใจของผู้บริโภค เพราะ iPhone ไม่ทำให้ผู้บริโภค “กลัว” แต่กลับมีความ “คุ้นเคย” ว่า iPhone เครื่องนี้จะมอบอะไรให้กับพวกเขาได้บ้าง แต่ก็มีความแปลกใหม่มากพอที่จะทำให้ผู้บริโภคตื่นเต้นจนอยากได้มาครอบครอง

ซึ่งในช่วงปี 1960s นั้น MAYA มันเป็นแนวถือได้ว่า ‘แปลก’ มากๆ ในขณะนั้น แต่มันก็ได้กลายมาเป็นมาตรฐานของการออกแบบแทบทุกสิ่งในยุคปัจจุบัน

โดยอีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การที่ Spotify แพลตฟอร์มสตรีมมิงเพลงชื่อดัง ชอบเสนอเพลย์ลิสต์รายสัปดาห์ส่วนบุคคลที่เรียกว่า Discover Weekly ซึ่งจะรวมเพลงที่ผู้ใช้ ‘เคยฟัง’ และ ‘ไม่เคยฟัง’ มาก่อนอยู่ในเพลย์ลิสต์เดียวกัน โดยหากไม่มีการผสมผสานของเพลงที่คุ้นเคย Spotify พบว่าผู้ฟังจะรู้สึก ‘หวั่นใจ’ กับเพลงที่ไม่คุ้นหู หรือไม่เคยได้ฟังมาก่อนที่เยอะเกินไป สุดท้ายก็อาจจะไม่ยอมกดเข้าไปฟัง

แต่ในท้ายที่สุดแล้ว MAYA นั้นก็คงจะไม่ใช่คำตอบตายตัวของการออกแบบสินค้ายอดนิยม เพราะว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรตายตัว เพียงแต่แก่นของหลักแนวคิดแบบ MAYA ก็คือการหา ‘จุดสมดุล’ ระหว่างความก้าวหน้าและความคุ้นชินของผู้บริโภคเท่านั้น

พอดแคสต์ที่มีเนื้อหาคล้ายกัน
3 กลยุทธ์ความสำเร็จของ “Crocs” รองเท้าที่ไม่สวยแต่ขายดี https://bit.ly/3aRFVKh

อ้างอิง:
https://bit.ly/3aRbfJp
https://bit.ly/3xr63Dq
https://bit.ly/3NJJTTP

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#business

writer : Natchapol Nademahakul

Advertisements
Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า