ปฏิเสธไม่ได้เลยครับว่าในช่วงเวลานี้ สถานการณ์เงินเฟ้อในบ้านเรานั้นน่ากังวลมากๆ ทำให้วันนี้ผมจะมาไล่เรียงถึงสถานการณ์ ณ ปัจจุบันว่ามีอะไรบ้าง โดยทั้งหมดจะมีอยู่ 6 ข้อด้วยกัน ตั้งแต่เรื่องปากท้องภายในประเทศไปจนถึงสถานการณ์โลกที่ส่งผลต่อชีวิตของเรา
อัตราดอกเบี้ย
เป็นที่แน่นอนว่าอัตราดอกเบี้ย ณ ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ภายใต้ภาวะที่ทั้งรัฐบาล ภาคธุรกิจและภาคประชาชนก่อหนี้ไว้จำนวนมากในการต่อสู้กับโควิด-19 มาสองปีกว่าๆ พอดอกเบี้ยมาเริ่มขึ้นในช่วงนี้ ทำให้ภาระต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นอย่างมากและอาจจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ และแน่นอนสำหรับหนี้ครัวเรือนที่สูง ก็จะส่งผลต่อกำลังซื้อในตลาดที่จะหดตัวลงอีกด้วยเช่นกัน
ค่าเงินบาท
ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับ USD จากนโยบายดอกเบี้ย และ Quantitative Tightening (QT) ของ FED ซึ่งค่าเงินบาทที่อ่อนลงจะส่งผลให้การนำเข้าพลังงานและวัตถุดิบต่างๆ แพงขึ้น และประเทศไทยก็เป็นประเทศที่พึ่งพาพลังงานจากการนำเข้าเยอะ ดังนั้นการอ่อนตัวของค่าเงินบาทจึงส่งผลโดยตรงกับต้นทุน
ราคาสินค้า
ราคาสินค้าเรียกว่าต้องใช้คำว่า “พาเหรด” กันขึ้นราคา ตั้งแต่น้ำมันปาล์มที่กำลังเป็นประเด็นเพราะอินโดนีเซียจะระงับการส่งออกชั่วคราว ส่งผลให้น้ำมันปาล์มซึ่งเป็นน้ำมันพืชที่คนบริโภคมากที่สุดราว 40% ของน้ำมันทั้งหมด ปรับตัวสูงขึ้น เพราะอินโดนีเซียเป็นประเทศส่งออกน้ำมันปาล์มอันดับหนึ่งของโลก มากไปกว่านั้นยังอาจส่งผลต่อราคาสินค้าอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นไปด้วย เพราะน้ำมันปาล์มเป็นต้นทุนของสินค้าอื่นๆ ด้วย เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป สบู่ ช็อกโกแลต คุกกี้ หรือแม้แต่เครื่องสำอาง
นอกจากนี้ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ มีการขึ้นราคาเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน เพราะต้นทุนเพิ่ม เช่น ข้าวสาลีปีนี้ปรับขึ้นมาแล้ว 42%, กาแฟ 57% และ น้ำตาล 11% เป็นต้น จนตอนนี้หลายคนเริ่มกังวลแล้วว่าจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า Commodity Price Shock (ภาวะที่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างรวดเร็วในเวลาสั้นๆ) ไหม ซึ่งนี่ยังไม่รวมสินค้าจำพวกโลหะ อาหารสัตว์ รวมถึงปุ๋ยที่ราคาก็ขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน
ราคาพลังงาน
ในเดือนนี้ ทั้งราคาของน้ำมัน แก๊ส และไฟฟ้า จะถูกปรับขึ้นทั้งหมด โดยน้ำมันดีเซลจะปรับเป็น 32 บาท และจะทยอยปรับขึ้นทุกสัปดาห์จนไปถึงเพดานที่ 35 บาท ที่สำคัญคือ ราคาที่ขึ้นนี้จะส่งผลกระทบกับต้นทุนสินค้าอีกทาง เพราะน้ำมันเป็นต้นทุนแฝงของสินค้าเกือบทุกประเภท
ค่าแรงค่าแรง
เมื่อค่าครองชีพสูงขึ้นค่อนข้างมากเช่นนี้ ผมเชื่อว่าอีกไม่นานค่าแรงจะต้องปรับขึ้นตาม อย่างไรก็ดี ค่าแรงที่ปรับขึ้นอาจจะไม่สามารถชดเชยราคาสินค้าที่ขึ้นไปได้
สถานการณ์โลก
จะมีสองจุดใหญ่ๆ ที่ส่งผลกระทบกับเราโดยตรง คือเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครนกับการปิดเมืองจีน
จากปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เชื่อได้ว่าเราจะเผชิญกับเงินเฟ้อที่ค่อนข้างสูงไปอีกระยะนึง และเมื่อคนส่วนใหญ่คิดเหมือนกันเรื่องเงินเฟ้อ อีกสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาและน่ากังวลมากคือ Perceived Inflation หรือปรากฏการณ์ที่ผู้ประกอบการสามารถขึ้นราคา เพราะกังวลเรื่องเฟ้อ จึงยิ่งทำให้เงินเฟ้อหนักขึ้นไปอีก
แน่นอนว่าสภาวะแบบนี้การทำธุรกิจหรือการดำเนินชีวิตคงไม่ง่ายนัก วันนี้เลยอยากจะชวนคิดครับว่าเราจะทำอย่างไรดีในสภาวะนี้
ขอเริ่มต้นจากผู้ประกอบการ SMEs ก่อนนะครับ เพราะสำหรับเจ้าใหญ่ๆ ผมคิดว่าไม่น่าห่วงเท่าไร เพราะอัตราการทำกำไรยังคงดีอยู่ แต่สำหรับผู้ประกอบการรายเล็กๆ นี่แหละครับที่น่าห่วง ซึ่งผมคิดว่าสิ่งที่ควรมีอยู่ 8 อย่างด้วยกัน
ปรับโครงสร้างและกระบวนการขององค์กร
โอกาสแบบนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีในการปรับโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ภายใต้โลกธุรกิจและการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป เรียกว่าเป็นการ “ผ่าตัดองค์กร” เพื่อรับโจทย์ที่ท้าทายมากๆ ของอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการปรับทีมงาน จำนวนคน ตำแหน่งหน้าที่ และอีกมากมาย ยกตัวอย่างเช่น ที่ศรีจันทร์เราก็มีทีมการตลาดที่แยกออกมา เพื่อดูเรื่องการจัดการ Performance บนช่องทางโซเชียลมีเดียอย่างเดียว ซึ่งสมัยก่อนงานนี้จะรวมอยู่กับงานของทีมการตลาดหลัก แต่ด้วยเดี๋ยวนี้ลักษณะงานมีความจำเพาะเจาะจงมากขึ้นทักษะที่เราต้องการก็เปลี่ยนไป แต่การผ่าตัดองค์กรไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องค่อยๆ ทำ ดังนั้นเราจึงต้องมีความอดทนครับ
กิจกรรมที่สร้างเงินสด
ช่วงเวลาแบบนี้ “Cash is King” จริงๆ ดังนั้นกิจกรรมอะไรที่สร้างเงินสด ต้องพยายามทำให้ได้มากที่สุดและแน่นอนว่ากิจกรรมที่ลดเงินสดที่ไม่จำเป็นก็อย่างพึ่งทำ
สิ่งที่เราควรทำในตอนนี้ เช่น การลดสินค้าคงคลังโดยเฉพาะสินค้าที่ขายยากๆ, การหาแหล่งเงินกู้สำรอง และการลดค่าใช้จ่ายเรื่องการเดินทาง เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เมื่อเอามารวมกัน ถือว่าเยอะมากครับ ส่วนกิจกรรมที่ลดเงินสดที่อาจจะยังไม่จำเป็นในตอนนี้ อย่างโครงการที่ไม่ได้มี Time Sensitive แต่ความเสี่ยงสูง งานอะไรแบบนี้อาจจะต้องพิจารณาเลื่อนไปก่อน
พิจารณาเรื่องการใช้เทคโนโลยี
เพิ่มประสิทธิภาพและ Output ทั้งระบบภายใน รวมถึงการขายกับลูกค้าภายนอก การใช้เทคโนโลยีอาจมองได้จากสองมุมคือเพิ่มประสิทธิภาพหรือลดต้นทุน แนวทางที่ผมใช้พิจารณาการเลือกเทคโนโลยีจะอยู่ในกรอบสองข้อ คือ
1) Will it delight our customers – เทคโนโลยีที่ว่าจะช่วยให้ลูกค้ามีชีวิตที่ดีขึ้นหรือไม่ มีความสุขมากขึ้นหรือไม่
2) Will it enable our workforce – เทคโนโลยีที่ว่าจะช่วยให้การทำงานของทีมงานเราง่ายขึ้นหรือไม่
ถ้าเราสามารถตอบได้อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ถือว่าควรรับไว้พิจารณาไว้ครับ
ปรับพอร์ตโฟลิโอ
ในยามที่ธุรกิจไปได้ดีซื้อง่ายขายคล่องเราอาจจะไม่ค่อยได้คิด แต่เมื่อยามฝืดเคืองเราต้องมาดูจริงๆ ครับว่า สินค้าหรือบริการของเราแต่ละตัวนั้นสร้างกำไรให้เราอย่างไร เมื่อเก็บข้อมูลมาแล้วพิจารณาอย่างดี บางทีเราอาจจะพบว่าสินค้าบางตัวขายได้เยอะมาก แต่ยิ่งขายยิ่งขาดทุน ถ้าไม่มีเหตุผลดีๆ ที่ควรเก็บไว้ก็ควรที่จะตัดออก
ในทางกลับกัน สินค้าบางตัวที่กำไรเยอะ เราต้องหาวิธีให้ขายได้มากขึ้น ลองพิจาณาดูเมนูในร้านอาหารก็ได้ครับ การลดต้นทุนในหลายร้านเริ่มต้นที่เมนู ต้องมาดูว่าอะไรไม่น้อยเกินไปไม่มากเกินไป ตัวไหนยิ่งขายยิ่งขาดทุนหรือเป็นภาระก็ควรตัดออกครับ
วิธีทำการตลาด
มีความเป็นไปได้ว่าเราอาจจะไม่ได้ทำการตลาดที่ใช้เงินคุ้มที่สุดอยู่ ลองดูว่าเราสามารถปรับให้แม่นยำขึ้นได้ไหม เช่น การนำ Data มาใช้เพื่อให้การทำโฆษณาของเราแม่นยำมากที่สุด
ละเอียดกับข้อมูล
ลองรื้อสิ่งที่ทำอยู่ว่ายังสามารถทำได้ดีกว่านี้อีกไหม เช่น การจัดซื้อของเรามีประสิทธิภาพสูงสุดหรือยัง เป็นต้น จริงๆ ข้อมูลมีประโยชน์กับทุกเรื่องครับ ดังนั้นการเริ่มเอามาใช้จะช่วยได้มาก
ขายของที่ไม่จำเป็นออกไป
กระแสเงินสดสำคัญ บางอย่างที่ไม่จำเป็นต่ออนาคตของบริษัท ลองพิจารณาขายของที่เราไม่ได้ใช้ตอนนี้ออกไปก็อาจจะเป็นเรื่องที่ดีต่อองค์กรครับ
Collaboration
อีกหนึ่งทางเลือกที่ดีในช่วงเวลานี้ ถ้าการเริ่มทำอะไรใหม่มันแพงเกินไป ยากเกินไป บางทีการ Collaborate ในช่วงนี้ถือว่าเป็นจังหวะที่ดี เพราะต่างฝ่ายต่างมีความเชี่ยวชาญที่ไม่เหมือนกัน บางทีมารวมกัน 1+1 = 3 ได้ครับ
ต้องรู้ถ้าถึงเวลาถอย
ธุรกิจก็คล้ายๆ รถแข่ง บางทีเราต้องใส่หมด บางทีต้องเข้าโค้งด้วยจังหวะที่เหมาะสม จะเร็วไปก็จะแหกโค้ง ช้าไปก็แพ้ บางทีก็ต้องหยุดใน Pitstop เพื่อเปลี่ยนยางเติมน้ำมัน เวลาทำธุรกิจก็เช่นกันครับ มีเวลาที่ต้องเร่งให้เร็ว มีเวลาที่ต้องช้าให้เป็น มีเวลาที่ต้องทนอยู่เฉยๆ ให้ได้
สุดท้ายนี้ ผมขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านนะครับ เดี๋ยวตอนต่อไปผมจะชวนคุยเรื่องว่า แล้วในฐานะปัจเจกบุคคล จะสามารถปรับตัวอย่างไรได้บ้างในสภาวะนี้