“eVTOL” รถบินได้ที่ไม่ใช่แค่ของเล่นของคนรวย แต่เป็นอนาคตการเดินทางของทุกคน

1035
eVTOL

หากเรากำลังพูดถึง “รถแห่งโลกอนาคต” เราจะนึกถึงอะไรบ้าง?

มีปีก ลอยฟ้าได้?

ไม่ต้องมีคนขับ?

Advertisements

หรือต้องขับเคลื่อนได้รวดเร็ว?

จินตนาการทั้งหมดอาจกลายเป็นความจริง! เมื่อโลกเรากำลังจะปฏิวัติวงการการขนส่ง เพราะฉะนั้น ลืมภาพเฮลิคอปเตอร์หรือเครื่องบินที่เราต้องมานั่งรอคนขับหรือผู้โดยสารคนอื่นๆ ไปได้เลย!

ในบทความนี้เราจะมาเดินทางเข้าสู่ “โลกแห่งการโดยสารทางอากาศอันก้าวหน้า (Advanced Air Mobility – AAM)” กับเรื่องราวอันน่าสนใจของ “Advanced Air Mobility in 2030” ผ่านบทสัมภาษณ์จาก 3 ผู้เชี่ยวชาญด้าน Aerospace and Mobility จาก McKinsey 

นวัตกรรมใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้ มีชื่อว่า “eVTOL (อี-วี-โทล)” ซึ่งย่อมากจากคำว่าอากาศยานแบบ Electric Vertical Take Off and Landing พร้อมอัปเดตการขนส่งทางอากาศที่อาจจะเกิดขึ้นในปี 2030 กันดีกว่า

1. eVTOL คืออะไร?

รวมๆ แล้ว eVTOL ก็คือ “แท็กซี่แบบบินได้” เป็นอากาศยานที่เรานั่งได้สบายๆ แบบรถแท็กซี่ แต่สามารถบินเหนือถนนเพื่อเข้าตามตรอกตามซอยเล็กๆ ได้เหมือนนั่งมอเตอร์ไซค์วิน ซึ่งการจะเดินทางไปจุดเรียกอากาศยานนี้ก็ง่ายมาก แค่ไปรอป้ายจอดรับเหมือนเรากำลังจะโบกรถเมล์เท่านั้นเอง

และจากเทรนด์ผู้บริโภคที่กำลังมาแรงคือ “การรักษ์โลก” eVTOL จึงออกแบบมาให้รองรับการใช้ไฟฟ้าแบบเต็มรูปแบบ เพราะพาหนะจะต้องไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากการเผาไหม้

2. รถในอนาคตจะไม่มีคนขับได้จริงๆ เหรอ?

“ถ้ารถไม่มีคนขับ แล้วเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินล่ะ เราจะเชื่อใจในระบบได้เหรอ” นี่คือคำถามที่หลายๆ คนกำลังคิด หากรู้ว่า เราจะต้องโดยสารไปกับรถที่มีแค่เรานั่งอยู่โดยที่เราไม่สามารถควบคุมรถได้เลย เชื่อว่าหลายคนก็คงยังไม่เชื่อใจรถไม่มีคนขับแบบ 100% ทำให้นี่จึงเป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่บริษัทผลิตยานยนต์ต่างๆ จะต้องแก้ให้ได้ แม้ว่าอาจจะต้องใช้เวลาเป็นทศวรรษก็ตาม

“แต่ผมพูดได้เลยว่า การที่เรา ‘บิน’ อยู่เหนือถนน มันปลอดภัยมากกว่าการที่เราต้องขับรถร่วมกับผู้อื่นบนถนนซะอีก” Benedikt Kloss พาร์ตเนอร์ร่วมจาก McKinsey’s Frankfurt Office ยังกล่าวเสริมถึงความเชื่อมั่นในระบบควบคุม “ผมเชื่อมั่นว่า เราจะสามารถปฏิวัติเทคโนโลยีการขับยานยนต์ได้อย่างแน่นอน เราจะย้ายคนขับให้ไปควบคุมพาหนะจากภาคพื้นดิน โดยจะใช้ระบบควบคุมทางไกลแบบ 1-1 คือ หนึ่งคนขับต่อหนึ่งพาหนะ ซึ่งก็แทบไม่ต่างอะไรกับการมีคนขับในพาหนะ แต่สามารถสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ที่ต้องโดยสารเพียงตัวคนเดียวได้มากกว่า”

“เราไม่มีทางปล่อยให้ระบบอัตโนมัติภายในพาหนะทำหน้าที่ตัดสินใจเองทุกอย่าง เช่น เลือกเส้นทางหรือเร่งความเร็ว เห็นได้จาก เวลาเราขับเครื่องบิน เรายังต้องพึ่งพาฝ่ายภาคพื้นดินให้พวกเขาตัดสินใจเลือกเส้นทางบินให้ ซึ่งนี่คงจะเป็นสิ่งที่เราจะยังเห็นในอนาคตอยู่” Kersten Heineke พาร์ตเนอร์จาก McKinsey’s Future Mobility ใน Frankfurt ได้กล่าวสนับสนุนความปลอดภัยของพาหนะแบบ eVTOL ที่จะเกิดขึ้น

Advertisements

“พาหนะจะต้องมีความปลอดภัย ลดเวลาเดินทางให้ผู้โดยสาร และมีความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม” Kloss ได้สรุปหัวใจสำคัญ 3 ข้อที่จะทำให้ผู้คนตัดสินใจใช้การขนส่งนั้นๆ ในอนาคต

3. โอกาสทองของธุรกิจการบิน

Kloss กล่าวว่า ปัจจุบันผู้โดยสารทั่วโลกใช้เงินมากกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปกับค่าแท็กซี่ทุกปี และเสียเงินประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับแอปฯ เรียกรถ เช่น Grab หากแท็กซี่แบบบินได้สามารถเจาะตลาดและกลายเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของผู้คน นี่คือโอกาสที่ธุรกิจจะสามารถกอบโกยได้หลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว

ในช่วงต้นปี 2030 เราอาจจะได้เห็นเงินสะพัดหลายหมื่นล้านในตลาดทั่วโลก แต่หากเราสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด เราอาจเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ 

โดย Robin Riedel พาร์ตเนอร์ของ McKinsey จาก Bay Area Office ได้ประเมินว่า เราอาจจะได้เห็นบริษัทต่างๆ ประมาณ 10-20 เจ้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยียานยนต์ แต่ตลาดอาจจะรองรับได้แค่ 5 เจ้าดังๆ เท่านั้น เช่น Joby Aviation จากประเทศสหรัฐฯ Lilium กับ Volocopter จากประเทศเยอรมนี และอื่นๆ

4. อุตสาหกรรมที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนและสามารถครอบคลุมการขนส่ง

มีประชากรน้อยกว่า 1% จากทั่วทั้งโลกที่มีโอกาสใช้เฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว เราจะสามารถทำให้ทุกคนมีโอกาสโดยสารทั้งสองสิ่งนี้ ที่อาจเป็นความฝันของใครหลายๆ คนได้ไหม? แน่นอนว่า มันเป็นไปไม่ได้ แต่พาหนะแบบ eVTOL สามารถทำได้

เพราะพาหนะที่จะออกมารองรับผู้คนจะต้องไม่ใช่แค่ของเล่นของคนรวย แต่ต้องมีคุณค่าต่อคนจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบัน มีอีกหลายคนที่ไม่แม้แต่จะมีโอกาสได้ขึ้นเครื่องบิน นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ eVTOL อาจต้องมีราคาเท่าแท็กซี่เพื่อให้เข้าถึงคนหมู่มากได้ง่ายขึ้น

การมีอยู่ของพาหนะแบบ eVTOL จึงไม่ใช่แค่เปลี่ยนแปลงวงการการขนส่งทางอากาศเท่านั้น แต่อาจเปลี่ยนทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง เพราะสามารถประหยัดเวลาผู้ใช้และมีราคาที่ถูกมาก ทำให้การขนส่งอื่นๆ อาจต้องกลับไปขบคิดและเตรียมแผนรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเข้ามาถึงในอนาคตอันใกล้นี้

ส่วนผู้บริโภคอย่างเรา ก็เตรียมแค่ใจและเงินจำนวนหนึ่งเพื่อรอใช้พาหนะสุดไฮเทคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แล้วยังเป็นมิตรต่อกระเป๋าตังค์เราอีกด้วย!

แปลและเรียบเรียง
https://mck.co/3oeahLz

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#business

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่