BUSINESSโลก ชีวิต และการทำงานในปี 2030 จะเปลี่ยนไปอย่างไร? จากมุมมองของ ท๊อป - Bitkub

โลก ชีวิต และการทำงานในปี 2030 จะเปลี่ยนไปอย่างไร? จากมุมมองของ ท๊อป – Bitkub

ทุกคนคิดว่าโลกในปี 2030 จะต่างจากตอนนี้แค่ไหนกัน?

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้โลกของเรากำลังหมุนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการเข้ามาของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยขึ้นทุกวัน ในทางหนึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ชีวิตของเราง่ายขึ้น แต่ในอีกทางหนึ่งก็ทำให้เราในฐานะคนทำงานต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด ทั้งการเข้ามาของ AI, เทคโนโลยี Blockchain หรือ Web 3.0 ที่จะเข้ามาเปลี่ยนโลกแห่งการทำงาน การเงิน การดำเนินธุรกิจ หรือแม้แต่วิถีชีวิตของเราอย่างสิ้นเชิง

“จากวันนี้จนถึงปี 2030 การทำงานของเราจะเปลี่ยนแปลงไปเร็วกว่า 50 ปีที่เราผ่านมาในอดีตเสียอีก”

แต่เมื่อพูดถึงการก้าวเข้าสู่โลกเทคโนโลยีแห่งอนาคต ก็ทำให้เราอดคิดไม่ได้เลยว่าสรุปแล้วเทคโนโลยีจะเข้ามาเป็น “ส่วนหนึ่ง” หรือจะ “แทนที่” การทำงานของเรากันแน่? เราจึงจะพาทุกคนมาทำความรู้จักโลกแห่งการทำงานในอีก 10 ปีข้างหน้าผ่านการสัมภาษณ์กับคุณ “ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา Fouder & Group CEO Bitkub” ที่ได้มีการพูดถึง 7 ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับอนาคตของโลก ชีวิต และการทำงาน

Info Bitkub
โลก ชีวิต และการทำงานในปี 2030 จะเปลี่ยนไปอย่างไร? จากมุมมองของ ท๊อป – Bitkub

1. AI จะไม่ทุ่นแค่แรง แต่ทุ่นความคิดด้วย

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การพัฒนาของเทคโนโลยีและ AI เริ่มเข้ามา “ทุ่นแรง” ของเรา​ และในปัจจุบันเราก็เริ่มที่จะเห็นการ “ทุ่นความคิด” เข้ามาแล้วบ้างประปราย แต่ในอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะได้เห็น “การทุ่นความคิด” อย่างเต็มรูปแบบมากยิ่งขึ้น ซึ่งหมายความว่างานที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ วันหนึ่งอาจจะไม่ต้องทำแล้วก็ได้ เพราะ AI จะเข้ามาทดแทนเรามากขึ้นเรื่อยๆ และยังสามารถที่จะทำงานได้ “ฉลาดขึ้นเรื่อยๆ” จนวันหนึ่ง AI เหล่านี้อาจจะสามารถคิดได้ดีกว่ามนุษย์

หากยกตัวอย่าง “รถที่ขับเองได้” ลองนึกถึงโอกาสที่ AI กับมนุษย์จะขับรถชนคน ทุกคนคิดว่าอะไรจะมีโอกาสมากกว่ากัน? อีลอน มัสก์ เคยกล่าวไว้ว่า ถ้ารถที่ขับขี่อัตโนมัติเกิดอุบัติเหตุครั้งหนึ่ง ก็จะมีการอัปเดตซอฟต์แวร์ครั้งหนึ่งทั่วโลก ก็จะยิ่งทำให้ปลอดภัยทั่วโลกภายในทีเดียว ซึ่งเมื่อ AI ฉลาดขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถ “ทุ่นทั้งแรงและความคิด” โลกของเราจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า “Holiday Free From Survivor Type” หรือคือการที่เราประหยัดเวลาที่เราเคยใช้ ไปสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นมา เพื่อทำให้ชีวิตของเราดีขึ้นไปอีก ซึ่งสุดท้ายก็จะทำให้การเติบโตของเทคโนโลยีในอีก 10 ปีข้างหน้า จะเติบโตแบบก้าวกระโดดกว่าที่เราเคยพัฒนามากว่า 50 ปีเสียอีก

2. ได้สิ่งที่อยากได้ โดยไม่ต้องลำบากมาก

อีก 10 ปีข้างหน้า “การขาดแคลน” จะลดลง ทุกคนอาจจะสงสัยว่า แล้วการขาดแคลนจะลดลงได้อย่างไร? ในปี 2030 คนเราจะสามารถเข้าถึงสิ่งพื้นฐานได้ เข้าถึงสิ่งที่ต้องการได้แทบจะหมดแล้ว เพราะว่ามนุษย์เราเก่งมากในการสร้างสิ่งที่ขาดแคลน เช่น เมื่อก่อนเราขาดแคลนการสื่อสาร มนุษย์ก็สร้างเทคโนโลยีขึ้นมา หรืออาจจะบอกว่าอาหารเป็นสิ่งที่ขาดแคลน ในปัจจุบันเราก็สามารถที่จะปลูกเนื้อเหมือนปลูกผักได้แล้ว และถ้าบอกว่าน้ำขาดแคลน ทุกวันนี้เราก็มีเทคโนโลยีที่สามารถดึงน้ำจากอากาศได้แล้ว

ซึ่งนี่แปลว่า คนอยากจะได้อะไรก็จะได้ โดยที่ไม่ต้องลำบากมากขนาดเหมือนแต่ก่อนที่กว่าจะได้อะไรมาสิ่งหนึ่ง มนุษย์จะต้องใช้เวลามหาศาลในการได้มันมา เช่น เมื่อก่อนในการที่จะได้เทียนไขมาใช้ มนุษย์เราจะต้องใช้เวลาทั้งหมดรวม 60 ชั่วโมง ออกไปล่าปลาวาฬและนำมาสร้างเทียนไข ซึ่งในปัจจุบันและอนาคต เราไม่ต้องใช้เวลามากและลำบากขนาดนั้นแล้วนั่นเอง

Advertisements

3. มนุษย์จะเจ็บป่วยและชราช้าลง

ตามปกติแล้วเมื่อกาลเวลาผ่านไปร่างกายของเราก็เริ่มที่จะเจ็บป่วยมากขึ้น เริ่มแก่ลงจากเซลล์ที่สึกหรอเป็นธรรมดา แต่ในอีก 10 ปีข้างหน้า มันมีโอกาสที่เราจะ “ไม่แก่หรือแก่ช้าลง” จากเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี Biohacking ที่เปรียบเสมือนกับการแฮกร่างกายให้ทำงานได้ตามที่เราต้องการ หรือจะเป็นเทคโนโลยี Bioengineering วิศวกรรมชีวเวช ที่เป็นการนำองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมมาใช้กับทางการแพทย์ เช่น การสร้างอวัยวะเทียม เป็นต้น

นี่ยังรวมไปถึงการนำ DNA ของเราไปฝากไว้ใน Biobank ที่เมื่อเราเจ็บป่วยเมื่อไร ก็จะมีการนำข้อมูลตรงนี้มาปลูกใส่สเต็มเซลล์ใหม่ของอวัยวะในร่างกายของเรา ทำให้สามารถเปลี่ยนอวัยวะได้เลยไม่ต้องรอการบริจาคอีกต่อไป และเพราะว่าร่างกายของเราทุกคนต่างกัน เรายังสามารถที่จะดูข้อมูลร่างกายของเราตั้งแต่แรกได้เลยว่า จะทำอย่างไรให้ร่างกายเราสุขภาพดีตลอดเวลา ควรกินอะไร ไม่ควรกินอะไร หรือควรนอนกี่โมง ทำให้โดยรวมแล้วมนุษย์นั้นมีโอกาสที่จะเจ็บป่วยและชราน้อยลงนั่นเอง

4. ความเหลื่อมล้ำจากการเข้าถึงดิจิทัลจะมากขึ้น

ในขณะที่โลกโดยรวมของเรานั้นมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่เมื่อมองไปที่สิ่งที่เรียกว่า “Relative Property” ที่ทำให้คนที่เข้าใจเทคโนโลยีจะได้ประโยชน์อย่างมหาศาลจากการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา ในขณะที่คนที่ไม่เข้าใจเทคโนโลยี ก็จะไม่ใช่คนที่ได้ผลประโยชน์ตรงส่วนนี้ ทำให้โลกของเราเกิดสิ่งที่เรียกว่า “Digital Divide” หรือความเหลื่อมล้ำจากการเข้าถึงดิจิทัลขึ้นมา ซึ่งความเหลื่อมล้ำตรงส่วนนี้จะทำให้เกิดโลกสองใบ ใบแรกเป็นใบที่ธุรกิจต้องตัดงบพนักงาน ไล่พนักงานออก ลดราคาเพื่อที่ความอยู่รอด และใบที่สองคือใบของกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในโลกดิจิทัล ที่ธุรกิจนั้นเติบโตเป็นพันเปอร์เซ็นต์จนรับสมัครพนักงานแทบไม่ทัน

นอกจากนี้ Digital Divide ยังทำให้คนที่ไม่เข้าใจเทคโนโลยีเสี่ยงต่อการ ‘ไม่มีงานทำ’ มากขึ้น เพราะทักษะของพวกเขาไม่ตอบโจทย์กับงานที่ตลาดต้องการ ในส่วนของคนที่ทำงานมานานก็ยิ่งต้องพัฒนาและอัปสกิลอยู่ตลอดเวลา

Advertisements

5. Web 3.0 ทำให้โมเดลธุรกิจเปลี่ยนไป

การเข้ามาของ Web 3.0 ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคต เนื่องจากสิ่งต่างๆ จะถูกเชื่อมโยงเข้ากับ Internet of Things โดยเฉพาะการเข้ามาของ AI ที่ทำให้ในโลกอนาคตจะเป็นแบบ 3D ไม่ใช่ 2D อีกต่อไป อีกทั้งการเข้ามาของเทคโนโลยี Blockchain จะทำให้มีการกระจายอำนาจ (Decentralized) มากขึ้น เรียกได้ว่าเราจะสามารถแบ่งผลกำไร (Co-Benefit) ร่วมกัน

ในอนาคตธุรกิจหลายๆ วงการจะหันมาอยู่ในรูปแบบ X to Earn มากขึ้น (X คือ ใส่คำลงในช่องว่าง) เพราะการหมุนเวียนทางการเงินที่เป็นอิสระอย่าง DeFi ดังนั้นในอนาคตธุรกิจแบบ Play To Earn หรือ Wacth to Earn จะมีมากขึ้น หรือแม้กระทั่งธุรกิจในรูปแบบ NFT รูปแบบธุรกิจจึงต้องหันมาอยู่บนโลกออนไลน์อย่างเลี่ยงไม่ได้

6. บริษัทที่ปิดกั้นเทคโนโลยีจะหายไป

ในอนาคตโลกแห่งธุรกิจจะขับเคลื่อนด้วยซอฟต์แวร์และเทคโนโลยี ส่งผลในปี 2030 บริษัทที่ไม่ปรับเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้จะหายไป 40% เลยทีเดียว ในขณะที่บริษัทใหม่ๆ ที่เป็น Tech Company กลับมีมากขึ้น ธุรกิจจึงต้องลองทำอะไรใหม่ๆ เพราะบริษัทที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีจะมีต้นทุนเข้าใกล้ 0 บาทมากขึ้น ในขณะที่บริษัทที่ไม่ปรับตัวตามกลับต้องใช้ต้นทุนการผลิตในราคาที่สูง และมีแนวโน้มที่จะหายไปจากตลาดในอนาคตด้วยเช่นกัน 

7. ทักษะสำคัญที่สุดของคนทำงานคือ AQ

ในปัจจุบันและอนาคต เราจะเห็นได้ว่าโลกของเราเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทำให้คนทำงานอย่าคิดว่า “ฉันเก่งแล้ว ฉันโอเคแล้ว ไม่เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมแล้ว” เพราะสถานการณ์รอบตัวเราเปลี่ยน เรายิ่งต้อง Unlearn และ Relearn ให้เป็น โดยคนที่เปลี่ยนได้จะมีความเสี่ยงที่น้อยกว่าคนไม่เปลี่ยน และมากไปกว่าใน ในปี 2030 IQ และ EQ จะไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดอีกต่อไป แต่คือ AQ (Adversity Quotient) หรือความฉลาดในการรับมือกับปัญหาต่างๆ เพราะธุรกิจหรือองค์กรอาจเจอกับปัญหาที่ไม่อาจคาดคิดได้ ดังนั้น AQ จึงจำเป็นสำหรับคนทำงานในโลกอนาคต

และนี่ก็คือ 7 ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับบทบาทของเทคโนโลยีที่จะเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดในอีก 8-10 ปีข้างหน้า ที่จะส่งผลมหาศาลต่อโลก ชีวิต ธุรกิจ และการทำงานในอนาคต หากใครอยากรับฟังประเด็นการพูดคุยกันแบบเต็มๆ กับ “ท๊อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา Founder & Group CEO, Bitkub” สามารถเข้าไปรับฟังได้ที่ https://bit.ly/3a2KhxP

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#business

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า